• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคดีซ่าน ตับอักเสบ การพักผ่อน เป็นการรักษาที่ดีที่สุด

โรคดีซ่าน ตับอักเสบ การพักผ่อน เป็นการรักษาที่ดีที่สุด

โรคตับอักเสบ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ดีซ่าน” เป็นโรคที่พบเสมอ ๆ ในประเทศเรา ซึ่งเกิดได้จากสาเหตุต่าง ๆ กันคือ :-

1. จากเชื้อไวรัส
2. จากการกินเหล้า
3. จากสารเป็นพิษ โรคติดเชื้อและยาชนิดต่างๆ


1. ตับอักเสบจากเชื้อไวรัส


เชื้อไวรัสที่ทำให้ตับอักเสบมีหลายชนิด และเป็นสาเหตุของตับอักเสบที่พบบ่อยที่สุดจัดว่าเป็นปัญหาสำคัญยิ่งทางด้านสาธารณสุขของประเทศ

การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบนี้เกิดขึ้นโดยการกินเข้าทางปากเป็นส่วนใหญ่ กล่าวคือผู้ป่วยกินอาหารที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบปนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอาหารปรุงไม่สุก หรืออาหารทะเล ซึ่งเป็นแหล่งของเชื้อไวรัสตับอักเสบ นอกจากนั้นการเตรียมอาหาร ใช้ถ้วยชามที่ล้างไม่สะอาด ตลอดจนการอาศัยอยู่อย่างแออัดทำให้เชื้อตับอักเสบ แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง และการประกอบอาชีพแพทย์และพยาบาลก็มีโอกาสจะติดเชื้อตับ อักเสบได้มากกว่าผู้อื่น เพราะจะต้องดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นโรคตับอักเสบอย่างใกล้ชิด
การติดเชื้อ อาจติดต่อทางการฉีดยา (โดยเฉพาะในพวกติดยาเสพติด) โดยการใช้เข็มที่ไม่สะอาดและปราศจากการฆ่าเชื้อ ที่ถูกกรรมวิธีทำให้เกิดโรคตับอักเสบขึ้นได้
นอกนั้นอาจได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบจากการให้เลือดที่มีเชื้อตับอักเสบตัวนี้อยู่หรือจากการสัมผัส เช่น การจูบกัน การร่วมเพศ เป็นต้น

ในประเทศไทย จากการสำรวจของศิริราชและสถาบันอื่น ๆ พบว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบอยู่ในคนปกติที่ไม่มีอาการแต่อย่างใด ประมาณร้อยละ 10 คนพวกนี้ จึงเป็นแหล่งแพร่เชื้อ ทำให้คนอื่น ๆ ติดโรคนี้ได้ง่ายหลังจากรับเชื้อไปแล้ว ประมาณ 2-12 อาทิตย์ ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายเป็นหวัด เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนเล็กน้อย มีไข้ต่ำ ๆ อยู่ 2-3 วันแล้วหายไปเอง โดยไม่มีอาการดีซ่านหรือตาเหลือง ตัวเหลืองให้เห็น ผู้ป่วยพวกนี้มักไม่ได้รับการวินิจฉัยโรค นอกจากแพทย์จะตรวจพบโดยบังเอิญ หรือพบในระยะที่มีการระบาดของโรคตับอักเสบ

ผู้ป่วยอีกจำพวกหนึ่งหลัง จากที่ไข้เริ่มลดลง จะเริ่มมีอาการตาเหลืองตัวเหลือง ในบางครั้งเพื่อน หรือญาติจะเป็นคนสังเกตเห็นก่อน ซึ่งชาวบ้านเราเรียกว่า ดีซ่าน ปัสสาวะสีเข้มเหมือนขมิ้น ตั้งทิ้งไว้จะเป็นฟอง เนื่องจากมีน้ำดี ถูกขับออกมาทางปัสสาวะ ส่วนใหญ่จะเหลืองอยู่ประมาณ 2-4 อาทิตย์ก็จะค่อย ๆ หายไป ในระยะนี้อาการเบื่ออาหารจะหายไปเริ่มกินอาหารได้ และรู้สึกแข็งแรงขึ้นอาการเพลียจะเริ่มหมดไประยะเหลืองนี้เองที่จะมีเชื้อไวรัสออกมาทางอุจจาระจำนวนมากๆซึ่งสามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้

ผู้ป่วยบางรายอาการเหลืองจะไม่หาย แต่กลับเหลืองขึ้น ๆ อุจจาระสีซีดลง ผู้ป่วยอาจมีอาการคัน เพลียมากขึ้น ปวดท้อง ท้องบวม ขาบวม สติสัมปชัญญะเลอะเลือน เพ้อ และใช้เวลานานเป็นเดือน ๆ กว่าจะหายเป็นปกติ
                                        

                          
ผู้ป่วยบางคนจะมีอาการดีซ่านมาก ไข้สูง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการทางประสาท เพ้อ จำอะไรไม่ได้ มือสั่น ปัสสาวะสีเข้ม อาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายดำ คัน จ้ำขึ้นตามตัว กลิ่นหายใจหวานเอียน ๆ และถึงแก่ความตายในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากมีอาการอักเสบของตับอย่างรุนแรง จนตับทำงานไมได้ แต่ก็โชคดีที่ผู้ป่วยโรคตับอักเสบส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง มีเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่จะเกิดอาการรุนแรง

เมื่อพูดถึงโรคตับ คนส่วนใหญ่จะนึกถึงตับแข็ง เพื่อนฝูงญาติมิตรจะนึกสรุปเอาเองว่าเกิดจากการกินเหล้า ความจริงกว่าตับจะแข็ง จะต้องมีการอักเสบก่อน ทำให้เกิดการทำลายเนื้อตับทีละน้อย ๆ อยู่ตลอดเวลา เนื้อตับที่เรียบจะมีพังผืดขึ้นมาแทนที่ ทำให้ตับเริ่มแข็งขึ้น ๆ ผิวตับมีลักษณะขรุขระ ตะปุ่มตะป่ำ การเปลี่ยนแปลงนี้กินเวลานาน 1-5 ปี จนทำให้ตับแข็งในที่สุด

สาเหตุของตับอักเสบ ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบ มิใช่เกิดจากเหล้า ดังที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ

ตับอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบเกิน 3 เดือน ยังมีอาการเพลีย เบื่ออาหาร ตาเหลือง ปัสสาวะเหลืองจัดอยู่ในพวกตับอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยพวกนี้มีโอกาสที่จะกลายเป็นตับแข็งได้มาก

ผู้ที่มีอาการดีซ่าน ถ้าหากมีไข้สูง หนาวสั่น ซีด ปวดท้องมาก อาเจียนมาก หรือซูบผอมลงมาก อาจเป็นโรคเลือด โรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคมะเร็งของระบบทางเดินอาหารก็ได้ ควรไปหาหมอ ตรวจให้แน่นอน หมออาจต้องตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอ็กซเรย์ หรือทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ
ผู้ที่มีอาการดีซ่าน โดยไม่มีอาการซีด ซูบผอม หรือปวดท้องมาก โดยเฉพาะถ้าเป็นในเด็กและคนหนุ่มคนสาว สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด ก็คือ โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส การดูแลรักษาก็คือ ให้พักผ่อนที่บ้าน ควรหยุดเรียนหรือหยดงาน ห้ามทำงานหนัก กินอาหารอ่อน ๆ ที่ย่อยง่าย ควรกินอาหารพวกแป้ง ของหวาน ๆ น้ำหวาน น้ำผลไม้ เพราะย่อยและดูดซึม ง่ายไม่ทำให้ท้องอืด การกินอาหาร มันจัดหรือเนื้อสัตว์ จะทำให้คลื่นไส้อาเจียน ท้องอืด ถ้าอาการคลื่นไส้ดีขึ้น อาจจะเปลี่ยนให้กินอาหารอื่นได้ ส่วนยานั้นไม่จำเป็นต้องใช้ยาบำรุงตับหรือยาอื่นใดทั้งสิ้น
โรคนี้จะค่อย ๆ หายไปได้เอง ข้อสำคัญอยู่ที่การปฏิบัติตัวดังกล่าว

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน กินอาหารไม่ได้ มีอาการเพลีย ตัวเหลืองมาก ควรจะต้องพักอยู่ในโรงพยาบาล โดยแพทย์จะให้น้ำเกลือและอาหารทางเส้นเลือด ตลอดจนให้ยาอื่น ๆ ที่จำเป็นในการแก้สารพิษที่เกิดจากตับเสีย และให้การรักษาแบบประคับประคองเพื่อรอให้ตับรักษาตัวมันเองให้ฟื้นคืนมา ในผู้ป่วยที่มีอาการบวม ควรงดอาหารเค็มด้วย

                           


การกลับทำงาน
การที่จะเข้าทำงานเมื่อไรนั้น แพทย์มักจะแนะนำให้ตัวหายเหลืองเสียก่อนจึงไปทำงานได้ แต่ที่สำคัญกว่าคือ ต้องสังเกตอาการอ่อนเพลียอ่อนระโหย หมดแรง ฉะนั้นควรเริ่มกลับเข้าทำงานวันละน้อย ๆ ชั่วโมงก่อน ถ้าอาการเพลียอ่อนระโหยยังมีอยู่ ก็ควรหยุดจะหยุดพักต่อ แต่ถ้ากลับทำงานแล้วแข็งแรงดี ให้เพิ่มชั่วโมง ทำงานจนปกติ

การป้องกัน
เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ได้จากการกินอาหาร ควรเลือกกินอาหารที่มีการปรุงถูกสุขลักษณะ สะอาด น้ำดื่มควรจะต้มให้เดือดเสียก่อน อย่ากินอาหารดิบ ๆ โดยเฉพาะอาหารทะเล
ผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบ ควรจะระมัดระวังการกินอาหารร่วมกับผู้อื่น ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง หลังการเข้าห้องน้ำ เสื้อผ้าเครื่องใช้อื่น ๆ อาจจะทำให้เกิดการติดต่อโรคได้ ต้องแยกทำความสะอาดต่างหาก ห้ามปะปนกับของคนอื่น และควรต้มด้วยน้ำเดือด นอกจากนี้ควรละเว้นการร่วมเพศ

ผู้ป่วยโรคตับอักเสบชนิดเฉียบพลัน จะมีเชื้ออยู่ในอุจจาระประมาณ 1-2 เดือน ส่วนผู้ที่เป็นเรื้อรังหรือผู้เป็นพาหะของโรค จะมีเชื้อไวรัสตับอักเสบอยู่เป็นเวลานาน ทำให้การป้องกันทำได้ลำบากมาก บุคคลที่อยู่ในครอบครัวอาจจะต้องมาฉีดยาป้องกันโยเฉพาะในรายที่เป็นอย่างเฉียบพลันเท่านั้น แต่ถ้าเป็นโรคเรื้อรังหรือผู้เป็นพาหะ ไม่แนะนำให้ฉีดยาป้องกันนี้ เพราะต้องฉีดทุก 4-6 เดือน และอาจเกิดแพ้ยาที่ฉีดได้ นอกจากนั้นเข็มฉีดยาที่ใช้แล้วต้องต้มให้เดือดและนานพอที่จะฆ่าเชื้อไวรัสตับอักเสบ
การรับบริจาคเลือดควรจะตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบในผู้บริจาคเลือดเสียก่อน ถ้าพบก็ไม่ควรรับบริจาค

2. ตับอักเสบจากการดื่มเหล้า


ตับอักเสบที่เกิดจากการดื่มเหล้า พบในผู้ป่วยที่ดื่มเหล้าอย่างน้อยวันละครึ่งขวดใหญ่ และเป็นเวลานานเกิน 10 ปี สาเหตุเนื่องจากเหล้าไปทำลายตับโดยตรง และขาดอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบจากเหล้า จะมีอาการเบื่ออาหาร เพลีย ไม่มีแรง เป็นเวลา 2-3 อาทิตย์ ต่อมาตาจะเหลือง มีไข้สูง ปวดท้อง โดยเฉพาะชายโครงขวา บางครั้งอาการปวดจะรุนแรง บางครั้งท้องบวม ขาบวม อาจมีอาการทางสมอง คือ เพ้อ เลอะเลือก ความจำเสื่อม

ผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบจากเหล้าควรงดดื่มเหล้าโดยเด็ดขาด ให้อาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกายและพักผ่อนให้เพียงพอ อาการต่าง ๆ จะค่อย ๆ ดีขึ้น ถ้าอาการหนักก็ควรพักอยู่ในโรงพยาบาลให้การรักษาเช่นเดียวกับผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบจากเชื้อไวรัสตับอักเสบถ้าผู้ป่วยยังกินเหล้าไม่หยุดจะเกิดอักเสบบ่อย ๆ ทำให้ตับถูกทำลายบ่อย ๆ ในที่สุดก็จะกลายเป็นตับแข็ง


3. ตับอักเสบจากสาเหตุอื่น ๆ


ตับอักเสบอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ นอกจากได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ และกินเหล้า สาเหตุที่พบบ่อยคือ จากการกินยา เช่น ยารักษาวัณโรค ยาลดความดัน ยาดมสลบ ยาถ่าย ฯลฯ กล่าวคือ หลังจากกินยาหรือให้ยาแก่ผู้ป่วยจะเกิดอาการตัวเหลืองตาเหลือง เป็นไข้, เพลีย, เบื่ออาหาร ในพวกที่มีอาการรุนแรงจะหมดสติ และถึงแก่ความตายได้ เพราะฉะนั้นในผู้ป่วยที่มีประวัติกาแพ้ยา ควรจะให้ยาด้วยความระวัง

ในอวัยวะต่าง ๆ ผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อชนิดต่าง ๆ เช่น ปอดบวม มีโพรงหนองในส่วนต่าง ๆ เชื้อแบคทีเรียจะกระจายมาตามหลอดเลือด และอาจจะมีการแพร่กระจายเชื้อมาที่ตับ ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบได้

สารเป็นพิษ มีสารเคมีหลายชนิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การผลิตน้ำมัน ผงซักฟอก และในยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหนู เมื่อผู้ป่วยได้รับเป็นจำนวนมาก ก็อาจทำให้เกิดตับอักเสบขึ้นได้เช่นกัน โดยมีอาการแยกกันยากจากสาเหตุอื่นที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
 

การรักษาคือ การกำจัดสาเหตุของตับอักเสบ และให้การรักษาแบบประคับประคองเพราะในขณะนี้ยังไม่มียาตัวใด ที่สามารถช่วยตับให้หายดีขึ้น นอกจากจะให้เวลาตับฟื้นคืนตัวขึ้นมาเอง โดยที่แพทย์จะให้การรักษาพยาบาลโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง

ข้อมูลสื่อ

23-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 23
มีนาคม 2524
โรคน่ารู้
ผศ.นพ.บุญ วนาสิน