• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กสามขวบถึงสี่ขวบ

การเลี้ยงดู

320. หนังสือภาพแบบไหนดี

เราไม่มีการสำรวจสถิติออกมาว่าหนังสือเล่มแรกที่เด็กได้ดูนั้นมีอิทธิพลอย่างไรต่อชีวิตของเด็กในภายหลัง ในความเป็นจริง เด็กบางคนซึ่งสมัยอายุ 3-4 ขวบเคยดูแต่หนังสือซึ่งอาจจะไม่ดีนัก หรือบางคนไม่เคยมีหนังสือเลยก็เติบโตขึ้นมาเป็นผู้เก่งกล้าสามารถในภายหลังได้

เราไม่มี “สารบบ” ของหนังสือซึ่งควรให้เด็กอ่าน เพื่อที่จะได้เติบโตขึ้นมาเป็นคนดีคนเก่ง และไม่มีบัญชีรายชื่อหนังสือซึ่งเหมาะกับเด็กทุกวัยด้วย เพราะคนเราวัดความเก่ง ความดีด้วยมาตรฐานต่างกัน ดังนั้นพ่อแม่จะต้องเป็นผู้กำหนดเอาเองว่าจะเลือกหนังสือแบบไหนให้ลูก

สำหรับคำถามที่ว่าควรให้เด็กได้ดูหนังสือเมื่ออายุเกิน 33 ขวบหรือไม่? ก็ขอตอบว่าน่าจะลองดู เพราะมีเด็กจำนวนมากที่สนุกสนานกับภาพในหนังสือ และชอบให้อ่านหนังสือให้ฟังส่วนจะเลือกหนังสือแบบไหนให้นั้นต้องแล้วแต่พ่อแม่ หนังสือบางเล่มมีแต่ภาพไม่มีข้อความอยู่เลย อย่างไรก็ตาม เด็กชอบฟังเรื่องเล่าและนิทาน ถ้าได้ดูภาพไปพลาง ฟังเรื่องไปพลางเด็กจะสร้างจินตนาการได้มากขึ้น

งานอ่านข้อความในหนังสือคือหน้าที่ของพ่อแม่ สำหรับผู้อ่านย่อมอยากอ่านหนังสือที่มีภาพดี ข้อความดีและถูกต้อง ถ้าพ่อแม่สามารถวาดภาพตนเองในวัยเด็ก และอ่านหนังสือให้ลูกฟังด้วยเสียงและท่วงทำนองซึ่งเหมาะกับโลกของเด็ก ลูกๆย่อมฟังด้วยความสนุกสนาน

หนังสือสำหรับเด็กควรเป็นหนังสือที่สะอาด บริสุทธิ์ และผู้ผลิตมิได้มุ่งทำเพื่อค้ากำไร ความสวยงามของภาพ ความสละสลวย และความถูกต้องของภาษาก็สำคัญมาก ถ้าหากพ่อแม่ต้องอ่านไปพลาง แก้ไขภาษาผิดๆไปพลาง ย่อมทำให้การอ่านนั้นสะดุดและหมดสนุก

เด็กบางคนสนใจหนังสือภาพมาก แต่บางคนก็ไม่สนใจ เด็กที่สนใจดูหนังสือและชอบให้อ่านให้ฟังบ่อยๆ พออายุเกิน 3 ขวบก็เริ่มจะอ่านเองได้บ้าง เวลาแกสนใจถามว่าตรงนี้อ่านว่าอย่างไร พ่อแม่ควรสอนให้รู้ทันที

อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรบังคับให้เด็กจำตัวอักษรเพื่อจะได้อ่านหนังสือออกและชอบอ่านหนังสือ เพราะการอ่านออกและความชอบนั้นเป็นคนละเรื่องกัน แม้ว่าเด็กบางคนจะอ่านหนังสือได้เร็วแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแกจะเก่งกว่าคนอื่นไปตลอดชีวิต

เด็กบางคนไม่ชอบหนังสือนิทานภาพ ชอบดูแต่ภาพรถหรือภาพสัตว์จริงๆซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าแกจะกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ในอนาคต เด็กที่เคยดูแต่หนังสือรวมภาพของจริง โตขึ้นกลายเป็นนักประพันธ์ก็มี
หนังสือประเภท จงเป็นเด็กดี จงแปรงฟันให้ถูกวิธี จงรักชาติ จงกวาดขยะ ฯลฯ แม้ว่าจะเป็นหนังสือดีที่ผู้ใหญ่ชอบอ่านให้เด็กฟัง แต่สำหรับเด็กไม่ว่าเด็กเล็กหรือเด็กโตย่อมไม่ชอบหนังสืออบรมศีลธรรมที่ปราศจากศิลปะ ถ้าซื้อแต่หนังสือแบบนี้ให้ลูก แกจะกลายเป็นคนเกลียดหนังสือไปเลย หนังสือสำหรับเด็กควรเป็นของสนุกสำหรับเด็กด้วย

321. เจ้าหนู “ทำไม”

เด็กอายุ 3-4 ขวบนี้มีคำถาม “ทำไมคะ?” “ทำไมฮะ?” ให้คุณแม่ปวดหัวได้ทั้งวัน เช่น “ทำไมฝนถึงตกล่ะคะ?” “ทำไมน้ำตาลมันหวานล่ะฮะแม่?” ฯลฯ

สำหรับเด็กเล็ก ชีวิตสภาพแวดล้อมรอบตัวเป็นสิ่งแปลกใหม่น่าประหลาดใจทั้งสิ้น เด็กพยายามอธิบายสิ่งที่แกค้นพบด้วยคำพูด แต่เมื่อไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไรจึงหันมาพึ่งแม่

คุณแม่ควรสนับสนุนความอยากรู้อยากเห็น ความต้องการค้นหาสิ่งใหม่ของเด็ก แต่บางครั้งคำถามของลูก คุณแม่ตอบไม่ได้ก็มี ทางด้านเด็กเองก็มิได้ต้องการคำตอบอย่างรอบรู้ทุกคำถาม คุณแม่ไม่ควรทำตนเป็นสารานุกรมเคลื่อนที่ ตอบคำถามของลูกอย่างละเอียดถี่ถ้วนทุกคำถามเนื่องจากจะทำให้เด็กติดนิสัยไม่ยอมคิดเอง เพราะรู้ว่าถามคุณแม่เอาก็ได้ ง่ายดี ไม่ต้องเสียเวลาคิด เวลาตอบคำถามลูกควรตอบแบบที่ทำให้เด็กคิดเองด้วย

เวลาถูกถามปัญหาที่คุณแม่ไม่รู้ จะทำอย่างไร? เด็กไม่ได้ต้องการคำตอบแบบวิทยาศาสตร์เสมอไป คุณแม่อาจตอบแบบกวีก็ได้ เช่น “ทำไมฝนตก? - ก็กบมันร้อง” “ทำไมน้ำตาลมันหวาน? - ก็มดมันชอบ ” สิ่งสำคัญคือ อย่าตอบบ่อยว่า “ไม่รู้ซี” หรือ “แม่ลืมไปแล้วจ้ะ” จนกระทั่งเด็กจดจำเป็นตัวอย่าง เวลาถูกถามอะไรก็ขี้เกียจตอบ พูดแต่คำว่า “ไม่รู้ซี” “ลืมไปแล้วฮะ” เหมือนคุณแม่

ถ้าหากคุณแม่ตอบคำถามลูกไม่ได้จริงๆอาจจะขอติดเอาไว้ก่อน โดยบอกว่า “เอาไว้เราถามคุณพ่อดูนะ” หรือ “แม่ไม่รู้ ขอค้นสารานุกรมดูก่อนนะ” เพื่อให้เด็กรู้ว่ายังมีทางค้นหาคำตอบจากที่อื่น

ในกรณีที่เด็กถามปัญหาซึ่งแกควรจะคิดได้เอง คุณแม่ควรย้อนถามว่า “แล้วลูกคิดว่ายังไงล่ะ?” เพื่อจูงใจให้แกคิดเองบ้าง ข้อสำคัญเวลาลูกถามอะไร ห้ามเอ็ดตะโรว่า “แม่กำลังยุ่ง อย่าซักถามอะไรไม่เข้าเรื่องได้มั้ย” เพราะจะทำให้เด็กใจฝ่อไม่กล้าถามอะไรอีก

ผู้ใหญ่บางคนเห็นเด็กจำเก่งจึงพยายามยัดเยียดความรู้ทั้งหลายแหล่ในโลกนี้ใส่หัวเด็ก เพื่อปั้นให้เป็นนักปราชญ์อัจฉริยะ ความรู้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตความเป็นอยู่ก็จริง แต่จะมีประโยชน์ต่อเมื่อเรานำมาใช้ ชีวิตที่หมกมุ่นอยู่กับการกอบโกยความรู้เพื่อเก็บกักเอาไว้หาความสดใสร่าเริงไม่ได้

เด็กที่ชอบดูโทรทัศน์มากๆมักจะไม่ถามว่า “ทำไม?” เพราะรายการโทรทัศน์ส่วนใหญ่จะมีคำตอบเบ็ดเสร็จอยู่แล้ว เด็กจึงคุ้นเคยกับการได้รับคำตอบแบบสำเร็จรูป ไม่เกิดความสงสัยหรือเกิดความรู้สึกอยากค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเอง

ข้อมูลสื่อ

103-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 103
พฤศจิกายน 2530