• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บูรณาการ

ตามที่กล่าวมาแล้ว 9 ตอน จะเห็นได้ว่าสำนักสวนโมกข์ ธรรมกาย และสันติอโศกมีจุดเด่นที่ต่างกัน กล่าวคือ

สวนโมกข์ = ปัญญา
ธรรมกาย = สมาธิ
สันติอโศก = ศีล


ทั้งนี้มิได้หมายความว่าแต่ละสำนักจะปราศจากซึ่งอีก 2 สิกขา แต่กล่าวโดยจุดเน้นหรือจุดเด่นที่สาธารณะได้รับรู้เท่านั้น

ไตรสิกขา อันได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องมีครบทั้ง 3 เรื่องอย่างเชื่อมโยงกันจึงจะทำให้บุคคลพ้นทุกข์ได้

การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะเริ่มต้นด้วยศีล หรือด้วยสมาธิ หรือด้วยปัญญา ตามแต่จริตของตน เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ทั้งสิ้น เสมือนเป็นประตูต่างๆกัน ทำให้สามารถเข้าไปสู่สิ่งเดียวกัน แต่ต้องเข้าไปสู่สิ่งเดียวกันให้ได้ ไม่ใช่ไปติดอยู่ที่ประตู และต้องไปให้ถึงปัญญาจึงจะแก้ปัญหาได้สมบูรณ์
ที่กล่าวเรียงจากสวนโมกข์ ธรรมกาย สันติอโศก นั้นเรียงตามอาวุโสแห่งสำนักนั้นๆ คราวนี้จะขอกล่าวทวนย้อนกลับ

สันติอโศก

มีผู้เขียนมาว่า เรื่องเกี่ยวกับสวนโมกข์ ธรรมกายนั้นวิเคราะห์ดีแล้ว* แต่เรื่องเกี่ยวกับสันติอโศกและพระโพธิรักษ์นั้นเข้าใจว่าข้อมูลคงคลาดเคลื่อนไปมาก และผู้ที่เขียนมาว่ารู้ “กำพืด” พระโพธิรักษ์ดี!

ดังที่ผมเกริ่นไว้ตั้งแต่แรกว่า ความรู้สึกของประชาชนเกี่ยวกับ 3 สำนักนี้ขัดแย้งกันมาก พวกที่ชอบก็ชอบจริงๆ พวกที่ไม่ชอบก็ชิงชังเอาเลย

ผมขอเรียนว่าที่มาเขียนเรื่องนี้มิใช่เพื่อเขียนเอามัน! แต่เขียนเพื่อหวังผลทางบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาที่แก้ไขได้ยากในสังคม และโดยหวังผลระยะยาว

ผมอยากชี้ให้เห็นประเด็นที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับศีลของชาวอโศกกับปัญหาสังคมอันมีลักษณะพิเศษ
เราอาจจะว่าศีลจะไปแก้ปัญหาอะไรได้ ทั้งๆที่พระท่านก็ให้ศีลวันละหลายหมื่นเที่ยว และมีคนปวารณารักษาศีลตามวัดต่างๆ และตามบ้านต่างๆจำนวนมาก สังคมมันก็เลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ นี้เราจะต้องจับหลักให้ได้ว่าเป็นเพราะอะไร

ที่ทำอะไรๆก็แก้ไขปัญหาชีวิตและสังคมส่วนใหญ่ไม่ได้เพราะประเทศไทยถือเอาเงินเป็นใหญ่ มิได้เอาธรรมเป็นใหญ่

เรื่องเงินได้ครอบงำจิตใจ วิธีคิด และการปฏิบัติอย่างเป็นระบบและเป็นวิถีชีวิต
สังคมที่เอาเงินเป็นใหญ่นั้น มีความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อน สังคมแต่เดิมนั้น มนุษย์แต่ละคนสัมพันธ์กับธรรมชาติโดยตรง คือ สัมพันธ์กับป่า กับสัตว์ กับไร่ กับนา กับน้ำ กับปลา และหากินกับธรรมชาติโดยตรง

ในสังคมที่เอามนุษย์ไปสัมพันธ์กับเงินแทนธรรมชาติ มนุษย์จะหากินกับมนุษย์ๆๆไปหลายทอด เช่น โรงงานผลิตสินค้ามาราคา 10 บาท ขายให้บริษัทหนึ่งไป 20 บาท และขายช่วงต่อๆไป เป็นยี่ปั๊ว ซาปั๊ว สี่ปั๊ว ห้าปั๊ว กว่าจะถึงชาวไร่ชาวนาผู้บริโภค ราคาอาจตก 100 บาท ตอนขายออกก็เช่นเดียวกัน สมมติว่าราคาสุดท้ายที่ขายได้ 1,000 บาท ชาวไร่ชาวนาอาจได้ 5 บาท ที่เหลือคนอื่นเอาไปหมด
ในระบบเช่นนี้จะทำให้คนส่วนน้อยมีโภคทรัพย์มาก อาจเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน ในขณะที่คนส่วนใหญ่ยากจนเหลือ 0 หรือติดลบ

ในสภาพอย่างนี้เงินจึงมีอำนาจมาก เช่น
- เอาไปซื้อเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- เอาไปซื้อเสียงเป็นรัฐมนตรี
- เอาไปซื้อเสียงผู้แทนราษฎรให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง
- ทำให้มีโสเภณีเป็นแสนๆหรือเป็นล้านรวมทั้งโสเภณีเด็ก
- ทำให้มีการใช้แรงงานเด็กโดยไม่สมควร
- อพยพเข้าเมืองเกิดสลัม
- เกิดอาชญากรรมทั่วไป และมีการฆ่ากันตายด้วยอัตราสูงเป็นที่สองในโลก
ฯลฯ
ผู้คนพลเมืองล้วนหายใจเป็นเงินๆ ๆ คิดอยู่แต่ว่าฉันจะได้อะไรบ้าง
ถ้าจะเกิดสภาพเช่นนี้ขึ้นในสังคม ท่านจะคิดว่าอย่างไร คือ
- ตำรวจคิดว่าฉันจะรีดไถใครได้บ้าง
- ข้าราชการคอยจะคอร์รัปชั่นฉ้อราษฎร์บังหลวง
- หมอคอยคิดว่าทำอย่างไรฉันจะได้เงินจากคนไข้มากๆ (กินเปอร์เซ็นต์จากการส่งตรวจคอมพิวเตอร์ก็เอา)
- พระคอยจะหาเงินเข้าวัด และเข้าตัวเอง
- พ่อค้าคอยคิดว่าทำอย่างไรฉันจะได้กำไรมากที่สุด
- ผู้พิพากษาและอัยการถือว่าเงินคือความยุติธรรม
- ทหารคอยกินคอมมิสชั่นการซื้ออาวุธ
ฯลฯ ฯลฯ

ถ้าเกิดสภาพเช่นนี้สังคมก็วิบัติ และท่านลองคิดดูว่ามันเกิดขึ้นบ้างหรือไม่
สังคมที่ถือเอาเงินเป็นใหญ่ ไม่เอาธรรมเป็นใหญ่ ไม่ใช่สังคมพุทธ และจะเกิดวิปริตอาเพศทั่วไป
กระแสแห่งความวิปริตอาเพศนี้รุนแรงยิ่งนักยากที่จะแก้ไขเป็นส่วนรวมได้ โดยบอกว่า
- วันนี้ฉันทำบุญตักบาตรแล้ว
- วันนี้ฉันภาวนาพุทโธแล้ว
- วันนี้ฉันเห็นธรรมกายแล้ว
- วันนี้ฉันไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว

ที่กล่าวนี้ไม่ได้แปลว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ดีไม่ควรทำ แต่ว่าระบบชีวิตและสังคมที่เอาเงินเป็นใหญ่นี้มันรุนแรงยิ่งนัก เกินกว่าการที่ทำอะไรๆเป็นปัจเจกบุคคลจะต้านทานได้

เปรียบเสมือนว่าถ้าชุมชนสงบเรียบร้อยเป็นปึกเป็นแผ่น ถ้ามีโจรเกิดขึ้นคนสองคนก็คงแก้ปัญหาได้ไม่ยาก

แต่ถ้ามีโจรเป็นกองทัพ มีการจัดองค์กรเป็นระบบ เข้าปล้นฆ่าฟันในสินบนจนชุมชนและเมืองลุกเป็นไฟ

ขณะที่ไฟกำลังลุกท่วมเมืองอยู่นั้น คนส่วนใหญ่ถูกไฟลวกตายบ้าง ถูกโจรฆ่าบ้าง กลายเป็นพวกโจรบ้าง ยากที่จะมีโอกาสบำเพ็ญ ทาน ศีล ภาวนา จะทำได้ก็ไม่กี่คน แก้ปัญหาของสังคมส่วนใหญ่ไม่ได้
ในเมื่ออำนาจเงินมันเข้ามาครอบงำจนเกิดระบบชีวิตด้วยเงิน
การที่จะแก้ไขปัญหาได้ก็ต้องมีระบบชีวิตด้วยธรรม

เรื่องนี้ต้องเข้าใจวินัยหรือศีลที่พระศาสดาบัญญัติ
ศีลหรือวินัยเป็นเครื่องกำหนดระบบชีวิตของชุมชน ดังเช่นชุมชนสงฆ์ซึ่งมีลักษณะพิเศษต่างจากชุมชนอื่น

ชุมชนสงฆ์ในอุดมคติที่พระพุทธเจ้าทรงสร้างให้เป็นตัวอย่างนั้นไม่ถือวัตถุหรือเงินเป็นใหญ่ แต่ถือธรรมเป็นใหญ่

สมาชิกของชุมชนสัมพันธ์กันด้วยธรรม มิใช่ด้วยอำนาจอันเกิดจากวัตถุและเงิน จึงเป็นชุมชนที่มีอิสรภาพหรือสันติ

แต่ระบบชีวิตในสังคมทุกวันนี้ มนุษย์มีความสัมพันธ์กันด้วยอำนาจของวัตถุแล้งเงิน ฉะนั้นถึงจะว่า “วันนี้พระให้ศีลแล้ว” หรือ “วันนี้ฉันรับศีลแล้ว” ก็ดูจะแก้ปัญหาสังคมไม่ได้ เพราะศีลยังไม่ใช่เครื่องกำหนดระบบชีวิตของสังคม

ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมในประเทศไทย ทั้งๆที่พระให้ศีลวันละหลายหมื่นเที่ยว ความชั่วก็เกิดขึ้นเต็มประเทศไปหมด และดูจะเพิ่มขึ้น จำเป็นที่จะต้องศึกษาเรื่องความหมายของศีลหรือวินัยในฐานะเป็นเครื่องกำหนดชีวิตของชุมชน

ในความเห็นของผู้เขียน ความสำคัญสูงสุดของขบวนการสันติอโศกมิได้อยู่ที่การกินมังสวิรัติ แต่อยู่ที่การสร้างชุมชนที่มีศีลเป็นระบบชีวิตให้มีความสัมพันธ์กับธรรมชาติ ไม่กดขี่ขูดรีด ไม่ทำโดยหวังกำไร แต่แบ่งปันช่วยเหลือกันเป็นบุญนิยม ทำให้ชุมชนสงบเย็น

สันติอโศกกำลังทดลองชีวิตชุมชนเช่นนี้อยู่ เช่นที่ปฐมอโศก การทดลองเช่นนี้มีความสำคัญ เพราะเป็นการสร้างระบบชีวิตที่กลับไปหาพระพุทธเจ้า

ปัญหามีว่าจะทำได้สำเร็จมากน้อยแค่ไหนในระดับมหภาค ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องเฝ้าดูกันต่อไป

ฉะนั้น ไม่ควรโจมตีพระโพธิรักษ์ด้วยเรื่องหยุมหยิม แต่ควรสนับสนุนให้ท่านสร้างชุมชนด้วยลัทธิบุญนิยมของพระพุทธเจ้า แต่ถ้าท่านจะเพลาการวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นด้วยความรุนแรงลงบ้างก็อาจจะมีคนมาสนับสนุนแนวทางของท่านมากขึ้น

งานที่สันติอโศกกำลังทำเป็นเรื่องสำคัญแต่ยาก จึงต้องการแนวร่วม แนวร่วมนี้ไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกันแต่ไปทางเดียวกัน

ธรรมกาย
ในขณะที่วัดส่วนใหญ่ทำตัวเองสกปรก ทั้งในเรื่องบริเวณ สถานที่ และบุคคล รวมทั้งติดต่อกับคนสมัยใหม่ไม่รู้เรื่อง

วัดพระธรรมกายเป็นตัวอย่างที่ดีของการแก้ไขสิ่งต่างๆเหล่านั้น ทำให้คนสมัยใหม่หันมาเข้าวัด นี้ควรจะเป็นบทเรียนแก่วัดทั้งหลายที่จะต้องปรับปรุง

สมาธิเป็นของดีที่ให้ทิพยสุขซึ่งมนุษย์ควรจะได้รับ และส่งต่อไปให้เกิดปัญญา
การทำสมาธิมีหลายวิธี และอย่าไปติดอยู่ในสมาธิ ต้องต่อไปที่ปัญญา ทั้งปัญญาทางสังคม และปัญญาที่จะนำไปสู่นิพพาน

สวนโมกข์
สัตว์ถูกกำหนดโดยธรรมชาติทางวัตถุที่เป็นสมองให้ทำได้เท่าที่สัตว์จะทำได้อย่างนั้นๆ โดยไม่มีบาปมีบุญ

มนุษย์ต่างจากสัตว์ที่วัตถุ โครงสร้างของสมองสามารถส่งผลให้เกิดนามธรรมอันไปพ้นอำนาจของวัตถุ จึงเกิดมีเรื่องบาปบุญคุณโทษและมีศักยภาพทางปัญญาอันไม่มีที่สิ้นสุด

มนุษย์ควรจะมีโอกาสที่พัฒนาทางปัญญาไปให้ไกลที่สุดเท่าที่ศักยภาพของมนุษย์จะพึงเอื้ออำนวย แต่มนุษย์ส่วนใหญ่กลับจมอยู่ในความมืดมิดของอวิชชา เพราะยึดถือในสิ่งที่ผิดๆ และถูกปิดบังครอบงำด้วยประการต่างๆในชีวิตและสังคม

บทบาทที่ยิ่งใหญ่ของพุทธทาสภิกขุ คือท่านมาปลดปล่อยมนุษย์ออกจากความมืด ทำให้อยู่ในฐานะที่จะพัฒนาปัญญาไปให้เต็มตามศักยภาพได้

ด้วยปัญญาเท่านั้นที่จะบรรลุธรรม ปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากความเป็นทางทั้งปวงได้ และด้วยปัญญาเท่านั้นจึงจะเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร

ในอนาคตยิ่งโลกมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ยิ่งต้องการปัญญาที่จะทำให้สามารถจัดระบบสังคมที่เอื้ออำนวยต่อสันติได้

คำอุทธรณ์ต่อชนชาติไทย
เราชนชาติไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นหลัก พระพุทธศาสนาแท้นั้นเป็นของประเสริฐที่สุด
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงคิดค้นและสร้างพระพุทธศาสนาเป็นมหาบุรุษอันมีพระปัญญาธิคุณยอดเยี่ยมในโลก ที่หลายพันปีจะมีอุบัติขึ้นสักคนหนึ่ง

ความคิดในพระพุทธศาสนาสามารถนำไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหาชีวิตและสังคมที่แปรผันไปในสภาพต่างๆ หากมีปัญญาพอที่จะติดตามหรือดักหน้าความแปรผัน (อนิจจัง) ของเหตุการณ์ต่างๆอันขึ้นกับเหตุปัจจัยอันสลับซับซ้อนที่หนุนเนื่อง (อิทัปปัจจยตา) ให้เกิด

ชีวิตและสังคมมีวิวัฒนาการหรือบางครั้งก็มีอภิวัฒนาการมาจนสลับซับซ้อน ซึ่งต้องการปัญญาอันยิ่งที่จะมองให้เจาะทะลุ มนุษย์จึงจะสามารถสร้างสังคมที่มีสันติสุข ถ้าไปติดอยู่ในความโง่เขลาด้วยเหตุใดก็ตาม แล้วไซร้ ย่อมแก้ปัญหาไม่ได้ และยิ่งทำให้เกิดความทุกข์ยากมากขึ้น

ในช่วง 100 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ละทิ้งพระพุทธศาสนาหันไปจับแนวทางตะวันตก แต่จับได้เฉพาะส่วนที่เป็นวัตถุ มาเป็นหลักในการพัฒนาประเทศ

แม้ประเทศจะมีวัตถุมากขึ้น แต่ปรากฏความเสื่อมโทรมทั่วไป ทั้งทางจิตใจ ชีวิตครอบครัว ชีวิตชุมชน
เศรษฐกิจของชาวชนบทพังทลายทั้งประเทศ

วัฒนธรรมชุมชนอันเป็นระบบสวัสดิการสังคมทั้งทางเศรษฐกิจและจิตใจแตกสลาย

ชีวิตผู้คนระหกระเหิน ความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูกแปรผันไปทางที่เป็นโทษอันร้ายแรงต่อสุขภาพจิต
ลูกผู้หญิงและเด็กของเราต้องไปเป็นโสเภณี
ป่าไม้และสิ่งแวดล้อมของเราถูกทำลาย
อาชญากรรมระบาดจนเมืองไทยไม่น่าอยู่

ประเทศไทยต้องทำตัวเป็นลูกน้องต่างประเทศ ซึ่งก็มิได้มีพลังทางจริยธรรมสูงส่งแต่อย่างใด ล้วนเป็นพวกจิตเล็ก ที่คอยเอารัดเอาเปรียบและแสวงหาลูกน้องใหม่อยู่ในอาณัติตน ทำให้ประเทศไทยเศร้าหมองหมดศักดิ์ศรีลง

พุทธัง สรณัง คัจฉามิ

เราเอาแต่สวด แต่มิเคยเอามาคิดอย่างจริงจังว่า พระพุทธเจ้าจะช่วยเราได้อย่างไร เราคิดถึงแต่การช่วยแบบอิทธิปาฏิหาริย์ พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธการพึ่งพาอิทธิปาฏิหาริย์ ทรงชี้ไปที่ปัญญาว่า

นตฺถิ ปญฺญา สมาอาภา

เราควรจะหันกลับมาศึกษาพุทธธรรมอย่างจริงจังให้เกิดปัญญา เพื่อนำมาเป็นหลักในการสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมในเชิงพุทธขึ้น ให้เป็นสังคมที่หลุดพ้นจากความเศร้าหมอง มีสันติสุข มีประกายสดใสด้วยพลังทางจริยธรรม มีศักดิ์มีศรี เป็นตัวอย่างและเป็นผู้นำในโลก

สมัยนี้หากต้องการศึกษาพุทธธรรมในทางที่จะทำให้เกิดปัญญาก็เป็นการง่ายแล้ว เพราะท่านพุทธทาสภิกขุ และท่านพระราชวรมุนีได้สร้างงานทางนี้ไว้มาก สมควรที่ชาวไทยและชาวโลกจักเสพศึกษาให้คุ้มกับการที่เกิดมาร่วมสมัยกับบุคคลเช่นพระเถระทั้งสอง

ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะสถาบันทางพระพุทธศาสนาว่า เรามีวัดประมาณ 30,000 วัด มีพระกว่า 200,000 รูป มีเณรกว่า 100,000 รูป เป็นทรัพยากรอันมโหฬารของสังคม คือมีทั้งที่ดิน อาคารสถานที่ อุปกรณ์ บุคลากร งบประมาณ คือเงินและข้าวของที่มีผู้ถวาย อีกทั้งศรัทธาของประชาชนซึ่งไม่ใช่เป็นการง่ายที่จะสร้างให้เกิดขึ้น ทั้งหมดจะต้องนำมาเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาสังคม

เรื่องนี้รัฐบาลกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยังไม่ค่อยให้ความสนใจ เพราะมัวไปสนใจพ่อค้าและการค้าขายเป็นสำคัญ

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างหัวข้อที่อาจนำมาพิจารณาในเรื่องสถาบันทางพุทธศาสนากับการพัฒนา

1. สิ่งแวดล้อมทางกายภาพของวัด
วัดควรดูแลให้บริเวณวัดสะอาด ปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น มีบรรยากาศแห่งความสงบ สำหรับประชาชนใช้เป็นที่พักผ่อนจิตวิญญาณอันเมื่อยล้าจากสภาพสังคมปัจจุบัน
พระเณรไม่ควรจะอยู่ว่างๆหรือมั่วสุมกันสูบบุหรี่ ดูโทรทัศน์
ฝ่ายบ้านเมืองและฝ่ายพระควรจะมีการรณรงค์เรื่องนี้กันอย่างจริงจัง

2. การศึกษาของพระสงฆ์และสามเณร
พระสงฆ์และสามเณรส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อย ไม่เข้าใจพุทธธรรมอย่างลึกซึ้ง และไม่เข้าใจสภาพสังคมปัจจุบัน จึงสื่อกับประชาชนไม่ได้ และเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณไม่ได้ ความสัมพันธ์ระหว่างพระกับประชาชนเป็นเพียงพิธีกรรมเป็นส่วนใหญ่

การที่มีพระสงฆ์ที่เข้าใจพุทธธรรมลึกซึ้งและเข้าใจชีวิตและสังคมในปัจจุบัน และมีความสามารถในการสื่อ มีความสำคัญต่อประเทศไทยและต่อโลกมาก สมควรที่รัฐบาลและทางการคณะสงฆ์จะให้ความสนใจต่อเรื่องนี้ให้มากที่สุด

3. บทบาทของพระสงฆ์
พระพุทธเจ้าทรงสร้างพระสงฆ์ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์หลักสองประการคือ
(1) เพื่อให้บรรลุนิพพาน
(2) เพื่อช่วยสังคม
ในสภาพปัจจุบันพระสงฆ์มีบทบาทช่วยสังคมได้หลายอย่าง เช่น

3.1 ในทางความคิด

ทุกวันนี้สังคมไทยพบทางตันหลายอย่าง เช่น ทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง ทางการศึกษา ทางการพัฒนาเด็ก ทางสาธารณสุข เป็นต้น บ้านเมืองไม่มีสมองหรือสติปัญญาพอ คณะสงฆ์ควรเป็นสมองให้บ้านเมือง โดยเฉพาะถ้ามีการส่งเสริมการศึกษาของพระสงฆ์ในข้อ 2 เราจะมีพระสงฆ์ที่ฉลาดปราดเปรื่อง เป็นกำลังทางสมองให้ประเทศอีกทางหนึ่ง และน่าจะเป็นสติปัญญาที่เป็นกลางยิ่งกว่าที่ได้จากนักวิชาการทางโลก ซึ่งจำนวนมากมีอคติเพราะผลประโยชน์

3.2 ในทางการให้การศึกษาแก่ประชาชน
ถ้าพระเข้าใจปัญหาของประชาชน และมีความสามารถในการสื่อ ปรับปรุงวิธีการสื่อให้มีประสิทธิภาพจะเกิดประโยชน์แก่สังคมเป็นอย่างมาก

3.3 สอนสมถะวิปัสสนา

พระจะต้องสอนการเจริญสติ สมาธิ และวิปัสสนาได้ทุกองค์ เพราะเรื่องนี้อยู่ในมรรค 8 หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นพระไม่ฝึกจิตไม่ได้ เป็นชาวพุทธไม่ฝึกจิตไม่ได้ ฝึกแล้วจะได้รับทิพยสุขซึ่งมนุษย์สมควรจะได้รับ และสามารถแก้ปัญหาพฤติกรรมได้ จึงเป็นมรรควิธีที่สำคัญในการพัฒนาชีวิตและสังคม

3.4 พัฒนาชุมชน
ขณะนี้มีพระที่เป็นผู้นำในการพัฒนาชุมชนอย่างได้ผลดี ทำให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจ และตั้งอยู่ในความดี ทั้งนี้โดยรัฐบาลไม่ต้องเสียเงินเลย สมควรจะเป็นแนวทางหลักอีกแนวหนึ่งในการพัฒนาชุมชน

3.5 สังคมสงเคราะห์

ขณะนี้ประชาชนมีปัญหาสารพัดซึ่งรัฐบาลไม่มีคำตอบ เช่น ลูกคนจนในเมืองที่พ่อแม่ต้องทำงานทั้งคู่ ไม่มีใครเลี้ยงลูก ลูกคนงานก่อสร้างที่ไม่ได้เรียนหนังสือ เรื่องเด็กกำพร้า เรื่องคนแก่ เรื่องคนพิการ ฯลฯ
ถ้าวัดและพระสงฆ์จะเข้ามารับรู้ศึกษาปัญหาเหล่านี้ ก็อยู่ในฐานะที่จะบรรเทาทุกข์ดวงวิญญาณอันบอบช้ำของคนจำนวนมากเหล่านี้

4. การบริหารจัดการวัด

วัดมีเรื่องที่จะต้องบริหารจัดการมากทั้งในเรื่องวัสดุ อาคารสถานที่ คน เงิน และบริหารเพื่อการพัฒนา
หลวงตาแก่ๆที่ไม่ค่อยมีความรู้ความสามารถคงจะทำไม่ได้ หรือทำไม่ดี คงจะต้องมีการคิดพัฒนาการบริหารจัดการวัดกันใหม่ ให้วัดสามารถเป็นส่วนในการพัฒนาชีวิตและสังคมได้อย่างเต็มที่

5. สื่อมวลชนกับพระพุทธศาสนาในการพัฒนา

หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ควรออกไปดูงานที่ดีๆของพระรูปต่างๆที่กำลังทำอยู่ และนำมาเสนอต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ให้เกิดความตระหนักรู้ทางสาธารณะถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนาต่อการพัฒนา

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างและหัวข้อ มีอย่างอื่นๆและมีรายละเอียดอีกมาก
รัฐบาลควรจะเข้าใจถึงศักยภาพของสถาบันทางพระพุทธศาสนาในการพัฒนา แผนพระพุทธศาสนากับการพัฒนาน่าจะเป็นแผนหนึ่งและแผนสำคัญ แผนอื่นๆรัฐบาลต้องใช้เงินมาก

แผนนี้รัฐบาลเกือบจะไม่ต้องใช้เงินเลย เพราะมีเงินหมุนเวียนเกี่ยวกับทางศาสนาจำนวนมาก แต่ไม่ออกมาในทางที่จะสร้างคุณค่าแก่ชีวิตและสังคมของไทย

สมควรที่รัฐบาล คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนจะร่วมกันคิดและเคลื่อนไหวให้พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็น สรณัง คัจฉามิ โดยเนื้อหาสาระจริงๆมิใช่โดยสวดเป็นพิธีกรรมเท่านั้น

ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะประกาศความเป็นไททางความคิดในการพัฒนา
พระพุทธศาสนาจะเป็นธงชัยของเรา


*นี้ว่าตามที่เขาว่าเท่านั้น สำหรับผู้เขียนเองคิดว่าคงมีส่วนที่ดีบ้าง และไม่ดีบ้าง
 

ข้อมูลสื่อ

103-020
นิตยสารหมอชาวบ้าน 103
พฤศจิกายน 2530
ศ.นพ.ประเวศ วะสี