• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกาย (ตอนที่ 12 )

การตรวจร่างกาย (ตอนที่ 12 )


ข. การตรวจสิ่งแสดงชีพ
นอกจากการตรวจชีพจรและการหายใจ ดังที่ได้กล่าวถึงในฉบับก่อน ๆ แล้ว การตรวจสิ่งแสดงชีพยังหมายถึง การตรวจ


3. ความร้อนเย็น (อุณหภูมิ
)
ของร่างกาย (body temperture): การตรวจความร้อนเย็นของร่างกายอาจจะทำได้ง่ายๆ โดยใช้ฝ่ามือหรือหลังมือไปแตะที่หน้าผาก ซอกคอหรือรักแร้ของคนไข้ หรือใช้หลังมือไปสัมผัสกับลมหายใจออกใกล้ๆ กับปากหรือจมูกของคนไข้ถ้าจากการแตะหรือสัมผัสนั้น เรารู้สึกร้อน และความร้อนนั้นคงอยู่ (ไม่หายไป) ก็แสดงว่าคน ๆ นั้นเป็นไข้ตัวร้อน
แต่ถ้าพอเริ่มสัมผัสรู้สึกร้อน ต่อมาสักพักหนึ่งกลับรู้สึกธรรมดาๆ (ไม่ร้อนอีกแล้ว) ก็แสดงว่าไม่ร้อนจริง คือไม่ได้เป็นไข้ตัวร้อนจริง
เพราะความเย็นหรืออุณหภูมิของคนเราปกติจะใกล้เคียงกัน ดังนั้นเวลาสัมผัสไว้นาน ๆ จึงไม่รู้สึกร้อนหรือเย็นกว่ากันมากนัก แต่ในการสัมผัสตอนแรกอาจจะรู้สึกร้อนหรือเย็นต่างกันมาก เพราะในระยะแรกที่สัมผัสมือของเราอาจจะร้อนหรือเย็นกว่าผิวหนังของคนที่เราตรวจได้

เช่น ถ้าเราเพิ่งล้างมือ (ด้วยน้ำเย็น) หรือเพิ่งจะอาบน้ำเย็นขึ้นมาใหม่ๆ มือของเราจะเย็นกว่าปกติ เวลาไปแตะหรือสัมผัสคนอื่น เราก็จะรู้สึกว่าตัวเขาร้อน แต่เมื่อสัมผัสนานๆ จนมือเราอุ่นขึ้นเท่ากับตัวเขา เราก็จะไม่รู้สึกร้อนอีก แต่ถ้าเขาเป็นไข้ตัวร้อนอยู่ แม้เราจะสัมผัสตัวเขานานๆ เราก็จะยังรู้สึกร้อนอยู่
หรือถ้าคนไข้เพิ่งเช็ดตัวหรืออาบน้ำเย็นมาใหม่ ๆ แล้วเราไปแตะหน้าผากหรือรักแร้ของเขา เราจะรู้สึกเย็น และอาจจะคิดว่าเขาไม่มีไข้ แต่ถ้าเราได้สัมผัสนานออกไปสักหน่อย เราจะรู้สึกร้อน และความร้อนนั้นจะคงอยู่ เพราะความร้อนในร่างกายของคนไข้จะโผล่ออกมาแทนที่ความเย็นที่เกิดจากการเช็ดตัวหรืออาบน้ำ
การแตะหรือการสัมผัสนี้ ทำให้เรารู้ว่าคนที่เราตรวจนั้นเป็นไข้ตัวร้อนหรือเปล่าอย่างคร่าวๆ แต่ถ้าจะให้ละเอียดและแน่นอนแล้ว เราก็ควรจะใช้เครื่องมือวัดที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “ปรอท” หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า เทอร์โมมิเตอร์ (thermometer)

รูปที่ 1 ปรอทวัดไข้หรือเทอร์โมมิเตอร์วัดไข้
             ก. ปรอทวัดไข้ทางปากหรือทางรักแร้ รูปแบนใหญ่ อ่านง่ายวัดทั้งเป็นองศาเซลเซียส ( C )และองศาฟาเรนไฮต์ ( F )
             ข. ปรอทวัดไข้ทางปากหรือทางรักแร้  รูปแท่งสามเหลี่ยม อ่านยาก วัดเป็นองศาเซลเซี่ยสหรือองศาฟาเรนไฮต์ เพียวอย่างเดียว( ในรูป วัดเป็นองศาเซลเซียส
             ค. ปรอทวัดไข้ทางก้น มีแต่รูปแท่งสามเหลี่ยมเพียงอย่างเดียว ในรูปวัดได้เป็นองศาเซลเซียสอย่างเดียว
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ปรอท หรือเทอร์โมมิเตอร์มีหลายชนิด เช่น ชนิดที่ใช้วัดความร้อนเย็น (อุณหภูมิ) ของอากาศ ชนิดที่ใช้วัดความเย็นของน้ำแข็ง ชนิดที่ใช้วัดความร้อนของเตาไฟ
แต่ที่เราใช้ในทางแพทย์ คือปรอทหรือเทอร์โมมิเตอร์ สำหรับวัดความร้อนเย็น (อุณหภูมิ) ของร่างกาย ซึ่งจะแตกต่างกับปรอทหรือเทอร์โมมิเตอร์แบบอื่น เช่น ที่ใช้วัดอุณหภูมิอากาศ วัดอุณหภูมิน้ำแข็งน้ำเดือด เพราะ

1. ปรอทวัดไข้จะวัดความร้อนเย็นได้ไม่มาก (ไม่กี่องศา) เนื่องจากปรอทวัดไข้จะวัดความร้อนเย็นที่จะพบได้ในคนดีและคนป่วยเกือบทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้น ส่วนใหญ่ที่ใช้ จะวัดได้ระหว่าง 35-42 องศาเซลเซียส (º ซ) หรือ 95-107.6 องศาฟาเรนไฮต์ (º ฟ) (ดูรูปที่ 1 ประกอบ)

ความร้อนเย็น (อุณหภูมิ) ของร่างกายปกติจะอยู่ระหว่าง 36-37º ซ หรือ 96.8-98.6º ฟ ถ้าสูงกว่านี้ จะถือว่ามีไข้
ถ้าอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 37-38º ซ หรือ 98.6-100.4º ฟ (หรือบางคนก็ใช้ค่าระหว่าง 37-38.5º ซ) มักจะถือว่า มีไข้ต่ำ ๆ
ถ้าอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 38-39º ซ หรือ 100.4-102.2º ฟ (หรือบางคนก็ใช้ค่าระหว่าง 38.5-39º ซ) มักจะถือว่า มีไข้ปานกลาง
ถ้าอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 39-40º ซ หรือ 102.2-104º ฟ มักจะถือว่า มีไข้สูง
ถ้าอุณหภูมิสูงกว่า 40º ซ หรือ 104º ฟ มักจะถือว่ามีไข้สูงมาก



2. ปรอทวัดไข้มีรอยคอด ที่จะป้องกันไม่ให้ปรอทซึ่งขยายตัวขึ้นไปตามหลอดกลวงข้างในสามารถหดกลับลงไปสู่กระเปาะปรอท มิฉะนั้น เวลาดึงปรอทออกจากปากหรือก้นคนไข้ ปรอทจะถูกกับอากาศเย็นนอกร่างกาย และจะหดตัวกลับเข้าสู่กระเปาะปรอท ทำให้อ่านอุณหภูมิ (ความร้อนเย็น) ของคนไข้ผิดไปได้
รอยคอดนี้จะป้องกันไม่ให้ปรอทหดตัว กลับเข้าสู่กระเปาะเพราะฉะนั้นก่อนใช้ปรอทวัดไข้ของคนไข้ จะต้องสลัดปรอท (ดูรูปที่ 2) ให้ลำปรอทลงต่ำกว่าขีด 35º ซ หรือ 96º ฟ เสียก่อน ในผู้ป่วยที่ตัวเย็นจัด อาจจะต้องสลัดปรอทให้ลงไปสู่กระเปาะจนหมด แล้วค่อยใช้วัด เพราะอุณหภูมิของผู้ป่วยที่ถูกเย็นจัด อาจจะต่ำกว่า 35º ซ หรือ 96º ฟ ได้

วิธีวัดไข้ด้วยปรอท : นำปรอทวัดไข้ (ซึ่งทำให้สะอาดไว้แล้ว) มาวัดอุณหภูมิของไข้ในที่แห่งหนึ่งแห่งใดดังต่อไปนี้

 


1. ทางปาก :
ใช้ปรอทวัดไข้ทางปากหรือทางรักแร้ (ดูรูปที่ 1) มาสลัดให้ลำปรอทลงต่ำกว่าขีด 35 ซํ แล้วให้คนไข้อ้าปากและกระดกลิ้นขึ้น วางกระเปาะปรอทลงใต้ลิ้น (ระหว่างลิ้นกับพื้นปาก) แล้วให้คนไข้ปล่อยลิ้นลงบนพื้นปากตามเดิม และหุบปากไว้ให้แน่นไม่ให้หายใจทางปาก (ดูรูปที่ 3) ให้คนไข้อมปรอทไว้อย่างน้อย 1 นาที (ในระหว่างนั้น เราอาจใช้เวลาไปในการตรวจชีพจรและการหายใจของคนไข้) หลังจากนั้น จึงนำปรอทออกจากปากคนไข้และอ่านอุณหภูมิที่วัดได้ แล้วนำปรอทนั้นไปทำความสะอาดก่อนเก็บเข้าที่เดิม                            
                     

2. ทางรักแร้ : ใช้ปรอทวัดไข้ทางปากหรือทางรักแร้ (ดูรูปที่ 1) มาสลัดให้ลำปรอทลงต่ำกว่าขีด
35 ซํ แล้วให้คนไข้หุบแขนและหนีบปรอทไว้ในซอกรักแร้เป็นเวลาอย่างน้อย 3-5 นาที (ดูรูปที่ 4) จึงจะนำปรอทออกจากซอกรักแร้มาอ่านอุณหภูมิที่วัดได้ แล้วนำปรอทไปทำความสะอาดก่อนเก็บเข้าที่เดิม
การวัดทางรักแร้ จะทำให้ได้ค่าอุณหภูมิต่ำกว่าการวัดทางปากเล็กน้อย (ต่ำกว่าประมาณ 0.3-0.5 ซํ) และค่าที่วัดได้ไม่ค่อยแน่นอนเท่ากับที่วัดได้ทางปาก โดยเฉพาะในคนที่หนีบแขนให้แน่นไม่ได้

                                           

 

3. ทางก้น : การวัดทางก้นนี้มักใช้เฉพาะในเด็ก หรือในคนที่ไม่สามารถวัดทางปากและรักแร้ได้ หรือในคนที่ต้องการวัดอุณหภูมิที่แน่นอน หรือเฝ้าอุณหภูมิของร่างกายตลอดเวลา (ในประการหลังที่ต้องการเฝ้าอุณหภูมิตลอดเวลานี้ มักจะใช้เครื่องมือพิเศษ ไม่ใช้ปรอทวัดไข้ธรรมดา)

ในการวัดทางก้น ให้ใช้ปรอทวัดไข้ทางก้น มาสลัดให้ลำปรอทลงต่ำกว่าขีด 35º ซ แล้วใช้ขี้ผึ้งวาส-ลีนหรือน้ำมันใส่ผมทาตรงกระเปาะปรอท ให้คนไข้นอนตะแคงงอเข่าขึ้นไปจดหน้าอก ดึงขอบบนของผ้า ซิ่นหรือกางเกงลงจนเห็นรูก้น (รูทวารหนัก เสียบกระเปาะปรอทอย่างนุ่มนวลผ่านรูก้นเข้าไปประมาณ 1-2 องคุลี ดูรูปที่ 5) รออย่างน้อย 1 นาที จึงดึงปรอทออกมาอ่านอุณหภูมิที่วัดได้ แล้วนำปรอทนั้นออกมาทำความสะอาดก่อนเก็บเข้าที่เดิม

 

การทำความสะอาดปรอทวัดไข้ : หลังจากใช้ปรอทวัดไข้แล้ว จะต้องทำความสะอาดทุกครั้งก่อนที่จะเก็บเข้าที่เดิม โดย

1. ใช้น้ำเย็นและสบู่ล้างให้สะอาด (ในกรณีที่วัดทางก้น ให้ใช้เศษผ้าหรือเศษกระดาษอ่อน ๆ เช็ดขี้-ผึ้งหรือสิ่งสกปรกที่ติดอยู่ออกก่อน ล้างด้วยย้ำและสบู่)

2. ใช้แอลกอฮอล์ที่ใช้เช็ดผิวหนังก่อนฉีดยา (แอลกอฮอล์ 70%) เช็ดปรอทนั้นซ้ำ หลังจากล้างด้วยน้ำเย็นและสบู่แล้ว

3. สลัดให้ลำปรอทลงไปต่ำกว่า 35º ซ และโบกให้แอลกอฮอล์แห้งก่อนที่จะเก็บปรอทไว้ในกล่องใส่ปรอท หรือในที่เดิมของมัน

หมายเหตุ :
1) ห้ามแช่ปรอทวัดไข้ในน้ำร้อนหรือน้ำเดือดเพราะจะทำให้ปรอทแตกหรือเสีย และใช้การไม่ได้อีกต่อไป
2) การวัดไข้ควรวัดทุก 2-6 ชั่วโมง ถ้าไม่เป็นการรบกวนคนไข้จนเกินไป ทั้งนี้เพื่อจะเห็นลักษณะการขึ้นลงของคนไข้ ซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้
 

 

ลักษณะของไข้ : นอกจากจะแบ่งอาการไข้ (ตัวร้อน) ออกเป็นไข้ต่ำๆ ไข้ปานกลาง ไข้สูง และไข้สูงมากแล้ว อาการไข้ยังอาจแยกออกเป็นชนิดต่างๆ ซึ่งช่วยให้วินิจฉัยโรคได้ว่าง่ายขึ้น เช่น

1. ไข้หนาวสั่น (hectic or septic fever)
 คือ คนที่มีไข้มักจะมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย ส่วนใหญ่อาการหนาวสั่นจะเริ่มขึ้นก่อน คนไข้จะรู้สึกหนาวมากจนคางสั่น ตัวสั่นไปหมด แต่ทั้งที่คนไข้รู้สึกหนาว ตัวคนไข้กลับร้อน และในระยะต่อมาจะร้อนจัด หลังจากร้อนจัดสักพักคนไข้จะมีเหงื่อออก แล้วอาการไข้ตัวร้อนจะลดลง

อาการไข้หนาวสั่นนี้มักพบใน
1) โรคไข้จับสั่น (ไข้ป่าหรือไข้มาลาเรีย)

2) โรคติดเชื้อที่เชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือดเป็นจำนวนมากทันที เช่น โรคปอดบวม ในระยะแรก โรคกรวยไตอักเสบ โรคท่อน้ำดีอักเสบ

3) การได้รับสิ่งเป็นพิษเข้าสู่กระแสเลือด เช่น คนที่ได้รับเลือดหรือน้ำเกลือ แล้วเกิดอาการไข้หนาวสั่น ที่มักเรียกกันว่า “แพ้เลือด” เกิดจากการมีสารเป็นพิษอยู่ในน้ำเกลือ หรือในเลือดนั้น

                           

2. ไข้ลอย (continuous fever)
คืออาการไข้ตัวร้อนที่เป็นอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยกลับสู่ปกติ ความร้อน (อุณหภูมิ) ที่สูงสุด และที่ต่ำสุดต่างกันน้อยกว่า 1º ซ (ดูรูปที่ 6) มักพบในโรคไข้รากสาดน้อย (typhoid fever) ไข้เลือดออก (hemorrhagic fever) หัด (measle) ส่าไข้ (Roseolar infantum) โรคปอดบวม (pneumonia) บางชนิด วัณโรค (tuberculosis) บางระยะ

 

                         

 

3. ไข้ลอยแต่แกว่ง (remittent fever)
คืออาการไข้ตัวร้อนที่เป็นอยู่ตลอดเวลาไม่เคยกลับสู่ปกติ แต่ความร้อน (อุณหภูมิ) ที่สูงสุดและที่ต่ำสุด ต่างกันเกิน 1º ซ (ดูรูปที่ 7) มักพบในโรคติดเชื้อ เช่น โรคปอดบวมบางชนิด ฝีฝักบัวหรือฝีใหญ่ๆ ไฟลามทุ่ง การอักเสบอย่างรุนแรงแบบอื่นๆ ที่อาจไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น โรคลูปัส (Systemiclupus erythematosus)
 

                          

4. ไข้แกว่ง หรือไข้ขึ้นๆ ลงๆ (intermittent fever)
คืออาการไข้ตัวร้อนที่ไข้ขึ้นไปสูง แล้วก็กลับลงสู่ปกต แล้วก็ขึ้นไปสูงใหม่ ขึ้นๆ ลงๆ ไม่แน่นอน (ดูรูป
ที่ 8) มักพบในโรคที่ทำให้เกิดอาการไข้หนาวสั่น (ดูไข้ชนิดที่ 1 ข้างบน)

                                 

5. ไข้เป็น ๆ หาย ๆ (relapsing fever)
คืออาการไข้ตัวร้อนที่เป็นติดๆ กันอยู่ 3-7 วัน แล้วก็หายไป 3-7 วัน แล้วจึงเป็นใหม่ สลับกันไปเช่นนี้ (ดูรูปที่ 9) มักพบในโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น ไข้หนูกัด (rat-bite fever) ไข้โลนกัด เห็บกัด (louse-born or tick-born fever) ไข้มาลาเรียบางชนิด โรคทัยฟัส (typhus) โรคมะเร็งบางชนิดโดยเฉพาะมะเร็งของต่อมน้ำเหลือง

การตรวจวัดความร้อนเย็น (อุณหภูมิ) ของร่างกายจึงช่วยในการวินิจฉัยโรค และช่วยติดตามดูว่าอาการไข้นั้นดีขึ้นหรือเลวลง จะได้ให้การตรวจรักษาที่ถูกต้องได้ต่อไป.

 

ข้อมูลสื่อ

18-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 18
ตุลาคม 2523
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์