• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เมื่อศีรษะได้รับบาดเจ็บ

เมื่อศีรษะได้รับบาดเจ็บ


มารดาอายุสัก 26-27 ปีอุ้มลูกสาวอายุไม่เกิน 4 ขวบเข้ามาในห้องตรวจโรคหน้าตาบอกถึงความไม่สบายใจ

“แกตกจากโต๊ะเมื่อคืนนี้ค่ะ ปีนขึ้นไปหยิบของในตู้แล้วหงายหลังตกลงมา” แม่พูดเสียงสะอื้นอยู่ในคอ

“แกร้องจนตัวเขียวเลยค่ะ
” แม่พูดต่อ เมื่อเห็นว่าหมอยิ้มๆ ยังไม่ว่าอะไร เพียงแต่คลำที่ศีรษะและจับไม้ของเด็กยกขึ้นยกลง

“เจ็บตรงไหนครับ ตรงนี้ใช่ไหมครับ ตรงนี้เจ็บหรือเปล่าครับ
” คุณหมอพูดไปคลำไป เอาไฟฉายมาส่องที่ตา เมื่อเห็นว่าทุกอย่างปกติดี จึงบอกแม่

“ไหนลองให้แกยืนดูหน่อยซิครับ”

แม่วางลูกลงอย่างไม่ค่อยเต็มใจ เด็กโผเข้ามาหาแม่ไม่ยอมยืน หมอเลยมาประคองเด็กไว้ เด็กเริ่มร้อง

“คุณลองไปที่ประตูซิ” หมอบอก แม่ต้องแกะมือออก ลูกจึงจะยอมปล่อย แม่เดินไปที่ประตูอย่างไม่ค่อยเต็มใจ

“หนูเดินไปหาคุณแม่ซิจ๊ะ” หมอพูดทั้งที่มือยังจับแขนเด็กอยู่ เด็กวิ่งไปกอดขาแม่ และแม่อุ้มขึ้นมานั่งที่เก้าอี้ตรงโต๊ะตรวจโลกตัวเดิม

“แกเป็นอะไรมากไหมคะ’ แม่ถาม

“หัวโนนิดหน่อย เห็นจะไม่เป็นอะไรมาก วันหลังควรระวัง” อย่า....” หมอยังไม่ทันพูดจบ แม่ก็สวนขึ้นทันทีว่า

“หมอเอ๊กซเรย์ดูสมองแกหน่อยได้ไหมคะ สมองแกจะเสียหรือเปล่า แกจะพิการไหมคะ

ที่ละไว้คือคำถามอีกมากมายที่เราได้ยินอยู่ที่ห้องตรวจโรคเป็นประจำ
แม่ย่อมจะรักและเป็นห่วงลูก ดังนั้นคำถามแสดงความกังวลต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องธรรมดา อันควรแก่
การอธิบายให้ฟังด้วยความเห็นอกเห็นใจอย่างยิ่ง คำถามทั้งหมดก็เป็นเหตุเป็นผลและเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

เอ๊กซเรย์เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรคหลายอย่าง แต่เอ๊กซเรย์ธรรมดาสามารถบอก
ความผิดปกติของสมองได้น้อยมาก
ผู้ป่วยหรือญาติมักจะขอเอ๊กซเรย์และแม้แต่แพทย์เองก็ส่งผู้ป่วยไปถ่ายเอ๊กซเรย์เกินกว่าความจำเป็น

ในรายนี้ แพทย์ได้ตรวจดูแล้วพบว่า ไม่น่าจะมีอันตรายต่อสมอง เพราะเด็กพูดจารู้เรื่องดี ประสาทสมองเท่าที่ตรวจพบว่าปกติ และแขนขาไม่อ่อนแรง เอ๊กซเรย์ธรรมดามีส่วนช่วยในการวินิจฉัยน้อย คือ มีข้อเสียมากกว่าข้อดี แต่แพทย์ก็ไม่ประมาท ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะไม่ว่าจะเล็กน้อยสักเพียงไร แพทย์จะให้คำแนะนำก่อนกลับบ้านเสมอ ที่สำคัญคือ ให้สังเกตดูอาการของผู้ป่วย เช่น ซึมลงไป, มิอาการปวดศีรษะ, มีอาเจียน, ตาลอย, มีอาการกระตุกหรือแขนขาอ่อนแรง เป็นต้น ถ้ามีอาการอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าว ให้พาเด็กกลับไปหาแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว

คนที่ได้รับบาดเจ็บตรงศีรษะ จะมีอาการต่าง ๆ ได้ หลายอย่างด้วยกัน
บางคนอาจไม่มีบาดแผลให้เห็น หรือมีก็เล็กน้อย เช่น หัวโน หัวนุ่ม พวกนี้อาจหมดสติไป ขณะที่ได้รับบาดเจ็บ ภายหลังอาจฟื้น และพอรู้สึกตัวขึ้นมาได้บ้าง เช่น รู้สึกตัวขณะอยู่ในรถที่นำส่งโรงพยาบาลหรือมารู้สึกตัวเอาที่โรงพยาบาล เป็นต้น พวกที่มีอาการหมดสติแบบนี้ แสดงว่ามีการกระทบกระเทือนที่สมอง ซึ่งอาจหายเป็นปกติโดยไม่เหลือร่องรอยอะไรไว้เลย หรืออาจทรุดเลวลงไปอีกจนเสียชีวิตไปเลยก็ได้
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในกะโหลกศีรษะที่สำคัญ คือ เลือดออกในกะโหลกศีรษะ
คนที่ได้รับบาดเจ็บ สมองถูกกระทบกระเทือน สลบไปนาน 2-3 นาที แล้วฟื้นขึ้นรู้สึกตัวใหม่ ต่อมากลับค่อย ๆ ซึมลงไปอีก มีอาการปวดหัวมาก อาเจียนพุ่งแรง หรือตาลายเห็นไม่ชัด อาการเหล่านี้ส่วนมากเกิดจากมีเลือดออกในกะโหลกศีรษะ ถ้าเลือดออกเร็ว อาการก็เกิดขึ้นเร็วถ้าเลือดออกช้า อาการก็ปรากฏช้า บางคนมีอาการภายหลังได้รับบาดเจ็บเป็นวัน ๆ ไปแล้วก็มี
 

 

เลือดออกจากไหน ? ออกได้อย่างไร ?
เลือดออกเนื่องจากสมองถูกกระแทก ทำให้มีการฉีกขาดของหลอดเลือดในสมอง หรือตามผิวนอกของสมอง เลือดจะค่อย ๆ ไหลซึมออกมา อาจกินเวลาหลายชั่วโมงกว่าจะมีอาการ บางคนอาจเป็นวัน

                                       
ในคนที่มีกะโหลกศีรษะแตก โดยเฉพาะแตกตรงบริเวณขมับ (ชาวบ้านเรียกว่า ทัดดอกไม้) รอยแยกของกะโหลกอาจทำให้หลอดเลือดแดงในบริเวณนั้นฉีกขาด เลือดจะออกมามากและเร็ว อาการต่าง ๆ ก็มักจะเกิดเร็ว
คนที่ได้รับบาดเจ็บแบบนี้ เอ๊กเรย์นับว่ามีประโยชน์ เพราะจะช่วยบอกได้ว่า กะโหลกแตกตรงบริเวณที่มีความสำคัญหรือไม่

                                    
แท้จริงแล้ว คนที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะรุนแรง ส่วนมากแพทย์มักจะส่งเอ๊กซเรย์กะโหลกศีรษะให้เสมอ
คนที่มีเลือดออกในกะโหลกศีรษะ ต้องการการรักษาอย่างรีบด่วน เพราะถ้าปล่อยไว้ เลือดจะออกมาเบียดเนื้อสมอง เพราะกะโหลกคนเราเหมือนกะลามะพร้าว ซึ่งมีที่จำกัด ถ้าเลือดเข้าไปเบียดเนื้อสมอง เนื้อสมองจะถูกกดเลือดไม่สามารถมาเลี้ยงได้ เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ บางรายเนื้อสมองจะถูกเบียดทะลักลงมาทางรูเปิดของไขสันหลังตรงต้นคอมากดศูนย์ที่ควบคุมการหายใจ ผู้ป่วยก็จะหยุดหายใจแล้วก็ตายไป

                                                 
เนื้อสมองที่ขาดเลือดหรือขาดอากาศไปเลี้ยง มักจะบวมให้คนหมดสติที่มีทางเดินหายใจขัดข้อง จะหายใจไม่ได้ดี สมองจะขาดอ๊อกซิเจนและบวมได้มาก ดังนั้นวิธีช่วยเหลือคนที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะที่ดีคือ ทำทางเดินหายใจให้โล่ง ให้หายใจได้สะดวก ถ้ามีเครื่องให้ออกซิเจน จะให้ด้วยตามวิธีที่เหมาะสมก็ได้

                                                 

คนที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ แล้วหมดสติไป ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่บ้านหรือตามถนนหนทางก็ตาม ควรนำมาให้แพทย์ตรวจเสมอ แม้ฟื้นขึ้นมาแล้ว ก็ควรจะมาให้แพทย์ตรวจ เพราะอันตรายอาจมีได้ตามที่ได้กล่าวไว้แล้ว
ถ้าผู้ป่วยรู้สติดี อาจให้นั่งเอน ๆ มาในรถเก๋งได้ ถ้าไม่รู้สติ ควรให้นอน เนื่องจากบริการรอพยาบาลของบ้านเรายังไม่เพียงพอ และไม่สามารถใช้บริการชนิดนี้ได้ทุกคน จึงอาจใช้รถสองแถว หรือรถกะบะเล็กก็ได้ ควรใช้ที่นอนปูและให้นอนมา ควรมีคนจับคางยกขึ้นให้ทางเดินหายใจโล่งสังเกตดูเสมอว่า ผู้ป่วยยังหายใจได้ดี ถ้าหายใจไม่ดีหรือหยุดหายใจ ให้ทำการช่วยหายใจด้วยวิธีเป่าปาก (ดู หมอชาวบ้าน ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 หน้า 15) ไม่ควรให้นั่งคอตกมาในรถแท็กซี่ แม้จะมีคนประคองคอมาก็จะทำไม่ได้ดีเท่านอนราบมาบนรถกะบะเล็ก

 

 

แพทย์ทำอะไรให้บ้าง?
เมื่อมาถึงโรงพยาบาล แพทย์จะตรวจดูว่า อาการบาดเจ็บที่ศีรษะมีความสำคัญมากน้อยเพียงไร และมีการบาดเจ็บตรงที่อื่นใด ร่วมด้วยหรือไม่
ความสำคัญของการบาดเจ็บที่ศีรษะ มีอยู่อย่างเดียวเท่านั้น คือ เลือดออกในกะโหลกศีรษะ ถ้ามีเลือดออกในกะโหลกศีรษะ แพทย์ต้องบอกได้ เพราะวิธีรักษามีทางเดียวเท่านั้น คือ ผ่าเข้าไปควักหรือดูดหรือล้างเอาออก และถ้ายังมีเลือดออกอยู่ก็ห้ามเลือดเสีย ถ้าทำได้ทันท่วงที ผู้ป่วยจะหายดีเสมอ ถ้าละเลยผู้ป่วยมักจะเสียชีวิต
การที่จะรู้ว่ามีเลือดออกในกะโหลกศีรษะหรือไม่ โดยทั่วไปบอกได้ยาก แต่ถ้ามีความสังเกตและเรียนรู้ ก็พอบอกได้บ้าง ตามธรรมดาแพทย์ต้องอาศัยการตรวจพิเศษ จึงจะบอกได้แน่นอน

 

 

รู้ได้อย่างไรว่าเลือดออกในกะโหลกศีรษะ
โดยมากผู้ป่วยหรือญาติจะบอกกับเราว่า หลังจากได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะแล้วผู้ป่วยมีอาการหมดสติไป ส่วนหมดสติไปนานเท่าไรบางทีก็บอกยาก เพราะจำไม่ได้ โดยมากจะบอกว่ามารู้สึกตัวเอาในรถหรือเมื่อถึงโรงพยาบาลแล้ว คือหมดสติไปชั่วขณะ อาจนาน 1-2 นาที จนถึง 10 กว่านาทีก็มี บางคนหมดสติไปนาน แม้มาถึงโรงพยาบาลแล้ว ก็ยังไม่ฟื้นแบบนี้แสดงว่าสมองได้รับการกระทบกระเทือนรุนแรง หรือมีเลือดออกในสมองอย่างรวดเร็วก็ได้

ผู้ป่วยที่ฟื้นขึ้นมาแล้ว ในระยะแรกอาจมีอาการค่อนข้างปกติจนคิดว่าไม่เป็นอะไรมาก ต่อมามีอาการปวดศีรษะขึ้นมาอีก เวลาอาจห่างจากตอนฟื้นตัวเพียงครึ่งชั่วโมง หรือเป็นวัน ๆ ก็มี นอกจากนั้นอาจซึมไป หรือมีอาการคล้ายนอนหลับ หายใจช้า บางคนมีอาการอาเจียน มือเท้ากระตุก จนในที่สุดหมดสติไปอย่างสิ้นเชิงโดยมากเราจะไม่ปล่อยจนกระทั่งผู้ป่วยหมดสติอย่างสิ้นเชิง เพราะพอเริ่มมีอาการเปลี่ยนแปลง เช่น ปวดหัวมากขึ้น ตาพร่า อาเจียน ซึม ก็ควรจะได้รับการตรวจแล้ว

                               

อาการต่าง ๆ ซึ่งเมื่อมาถึงใหม่ ๆ ดูเหมือนปกติ ตอนนี้จะมีการเปลี่ยนแปลง เช่น รูม่านตาอาจขยายโตขึ้น ถ้าขยายโตข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว แสดงว่าสมองซีกนั้นถูกกด เนื่องจากมีเลือดออกในสมองซีกนั้น ถ้ารูม่านตาขยายโตทั้งสองข้าง อาจแสดงถึงความผิดปกติหลายอย่างซึ่งไม่เฉพาะเจาะจง
แขนขาที่เคยขยับได้ หรือขยับเมื่อทำให้เจ็บแรง ๆ จะไม่ขยับ อาจมีการกระตุ้นทั้ง ๆ ที่ไม่ได้จับต้อง โดยมากถ้ามีอาการกระตุกหรืออ่อนแรงของแขนขาข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว มักจะแสดงว่าสมองซีกตรง กันข้ามถูกกดหรือมีเลือดออก

นอกจากนั้นเราอาจดูได้จากชีพจร ที่มักจะช้าลง เช่น เต้นประมาณ 50-60 ครั้งต่อนาที เป็นต้น และความดันเลือดมักจะสูงขึ้น เช่น สูงกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท เป็นต้น ถ้าพบชีพจรและความดันเลือดแบบนี้ ก็พอบอกได้ว่า เนื้อสมองถูกเบียด ความดันในกะโหลกเพิ่มขึ้น

 

 

เมื่อตรวจพบเช่นนี้ แพทย์จะช่วยอะไรได้บ้าง?
เมื่อมีอาการชัดเจนเช่นนี้ แพทย์ก็สามารถบอกอย่างค่อนข้างจะแน่ใจว่า มีเลือดออกในกะโหลก แต่จะออกตำแหน่งใดต้องค้นคว้าต่อไป

ในผู้ป่วยที่ไม่รีบด่วน คือ อาการยังไม่มาก แพทย์อาจจะรอสืบหาตำแหน่งของเลือดออกก่อน วิธีที่ใช้กันมากในปัจจุบันนี้ก็คือ การฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดแดงข้างคอ เพื่อถ่ายรูปเอ๊กซเรย์ของสมอง ถ้ามีเลือดออกในสมอง รูปถ่ายเอ๊กซเรย์จะแสดงให้เห็นว่าหลอดเลือดของสมองถูกเบียดไปข้างหนึ่ง การดูภาพเอ๊กซเรย์ชนิดนี้ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญพอสมควร จึงจะบอกได้แม่นยำ
อีกวิธีหนึ่งที่กำลังนิยมทำกันคือ เอ๊กซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งบอกได้แม่นยำดี แต่เครื่องมือดังกล่าวยังไม่แพร่หลาย และราคาค่าตรวจยังแพงอยู่มาก

ในกรณีที่ไม่มีเครื่องมือดังกล่าวนี้เลย แพทย์ก็ไม่หมดความพยายามในการรักษา เพียงแต่ยากขึ้นหน่อยเท่านั้น แพทย์จะเจาะกะโหลกเข้าไปตรงตำแหน่งที่คิดว่าน่าจะมีเลือดออกด้วยสว่านเจาะกะโหลก ถ้าไม่มีจะใช้สว่านธรรมดาก็ได้ แต่ต้องทำให้สะอาด ปราศจากทั้งเชื้อโรค, จุลินทรีย์, และสิ่งปนเปื้อนอื่น ๆ โดยเลือกดอกสว่านที่พอเหมาะ อาจเจาะหลายแห่งกว่าจะพบตำแหน่งเลือดออก ถ้าข้างนั้นเจาะแล้วไม่พบตำแหน่งเลือดออก อาจจะต้องเจาะอีกข้างหนึ่งก็ได้ เมื่อพบแล้ว แพทย์อาจขยายช่องกะโหลกให้กว้าง เพื่อจะได้ล้างเลือดออกได้หมด และผูกหรือเย็บหลอดเลือดที่กำลังออกอยู่ให้หยุดสนิท
โดยมากถ้าทำได้ทันท่วงทีหมดจดและถูกวิธี ผู้ป่วยจะหายได้ดีเสมอ บางรายสามารถพูดคุยได้เลย ภายหลังผ่าตัดไม่นาน
การกระทำดังกล่าว ศัลยแพทย์ทั่วไปตามโรงพยาบาลต่างจังหวัด ก็ทำได้ โดยใช้เวลาฝึกฝนเพียงเล็กน้อย
 

                          ข้อควรปฏิบัติ เมื่อพบคนที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ

เมื่อพบคนที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ เช่น หกล้ม ตกจากที่สูง ตกรถ รถชน ฯลฯ ศีรษะได้รับการกระทบกระเทือน ถึงแม้ว่าจะไม่มีบาดแผลให้เห็นหรือรู้สึกสบายดีตั้งแต่แรก ก็จงอย่าได้ประมาทเลินเล่อเป็นอันขาด

ท่านควรจะดูว่า ภายใน 48 ชั่วโมง (2 วัน) หลังได้รับบาดเจ็บ คนที่ได้รับบาดเจ็บนั้นมีอาการเหล่านี้หรือไม่ ?
1. ปวดศีรษะมาก อาเจียนพุ่งแรง
2. เพ้อ คลั่ง เอะอะ พูดจาเพ้อเจ้อ
3. ซึม ไม่ค่อยรู้สึกตัว
4. แขนขาชักกระตุก หรืออ่อนแรง
5. ตามัว ตาพร่า มองเห็นภาพซ้อนกัน
6. ปากเบี้ยว
7. รูม่านตาขยายโต ข้างหนึ่งโตกว่าอีกข้างหนึ่ง
8. คอแข็ง

ถ้าพบว่ามีอาการเพียงอย่างหนึ่งอย่างใด ก็แสดงว่ามีความผิดปกติร้ายแรงเกิดขึ้นในสมอง ควรต้องพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยด่วน


 

ข้อมูลสื่อ

18-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 18
ตุลาคม 2523
รศ.นพ.เกษียร ภังคานนท์