• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กระดูกหัก ( ตอนที่ 3 )

กระดูกหัก ( ตอนที่ 3 )


ฉบับที่ 16 เราพูดถึงการจัดกระดูกให้เข้าที่
ฉบับนี้มาพูดถึงการตรึงกระดูกให้อยู่กับที่ เพื่อส่งเสริมให้รอยหักติดในตำแหน่งที่ต้องการ และในเวลาที่พอสมควรด้วย

 

กระดูกหักจะตรึงให้อยู่กับที่ได้อย่างไร?
วิธีที่ใช้กันทั่วไป แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ
1. การตรึงกระดูกโดยทางอ้อมหรือจากภายนอก
ได้แก่ การใช้วัสดุแข็งดาม โดยวัสดุไมได้ยึดกับตัวกระดูกโดยตรง แต่ทำให้หยุดการเคลื่อนไหวของตัวกระดูกที่หักโดยการไม่ให้ข้อที่เกี่ยวข้องขยับเขยื้อนและห่อหุ้มผิวหนังตรงรอยหัก เพื่อจำกัดขอบเขตให้มันอยู่กับที่ได้มากที่สุด ได้แก่ การใส่เฝือกปูนหรือเฝือกไม้ เป็นต้น วิธีนี้จะตรึงรอยหักได้ แน่นิ่งเลยทีเดียวไม่ได้

2. การตรึงกระดูกโดยตรงหรือภายใน คือ การใช้วัสดุแข็งดามที่ตัวกระดูกโดยคร่อมรอยหักนั้นไว้ วิธีนี้อาจไม่จำเป็นที่จะต้องจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อที่เกี่ยวข้องกับกระดูกชิ้นที่หัก ถ้าเลือกใช้วัสดุได้ดี อาจตรึงรอยหักได้แข็งแรงและแน่นิ่งอย่างเต็มที่ได้ ซึ่งผลดีแก่ผู้ป่วยที่ทำให้สามารถใช้อวัยวะที่บาดเจ็บนั้นได้รวดเร็วขึ้นและไม่น่ารำคาญเหมือนวิธีแรก ตัวอย่างได้แก่ การใช้แผ่นโลหะดามที่ผิวกระดูก การใช้สกรูยึด หรือการสอดแกนโลหะเข้าไปในโพรงกระดูก เป็นต้น รายละเอียดสำหรับเรื่องนี้อาจเล่าให้ฟังภายหลัง ถ้ามีผู้สนใจอยากทราบว่าแพทย์เขาผ่าตัดใส่โลหะดามกระดูกกันอย่างไร ปัจจุบันวิชานี้เป็นศาสตร์แขนงสำคัญของศัลยศาสตร์ ออร์โธปิดิคส์ มีผู้ทำการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะแพทย์ของกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย

 

⇒ กระดูกหักมีหลักในการใส่เฝือกอย่างไร ?
ผู้อ่านบางท่านคงจะยังไม่ทราบดีนักว่า “เฝือก” เป็นอย่างไร เฝือกคือวัสดุที่ใช้ดามกระดูกจากภายนอก โดยที่เราสามารถหล่อให้เฝือกนั้นเข้าเป็นรูปทรงและคงสภาพเช่นนั้นต่อไปตามความต้องการได้ เฝือกที่ใช้กันทั่วไปในวงการแพทย์สมัยใหม่ คือ เฝือกปูนปลาสเตอร์ ซึ่งจะถูกผลิตขายในลักษณะเป็นแผ่นยาวหรือเป็นม้วน ซึ่งมีปูนปลาสเตอร์ฉาบอยู่บนผ้าโปร่ง ปูนชนิดนี้จะแข็งตัวไวในเวลาประมาณ 5 นาทีหลังจากเปียกน้ำ เวลาแข็งตัวจะมีความร้อนคายออกมาด้วยในตอนแรก เมื่อปูนเริ่มแข็งตัวมันจะจับตัวกันเป็นผลึกซึ่งเปราะพอสมควร ถ้าใช้แรงมากเกินไปจะแตกหักได้ เฝือกจะมีความแข็งแรงที่สุด เมื่อมันแห้งสนิท ซึ่งปกติต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน การที่เราเลือกใช้ปูนปลาสเตอร์เฝือกก็เพราะว่ามันใช้ได้ง่าย มีความแข็งแรงพอเพียงต่อความต้องการ เมื่อแข็งตัวเต็มที่แล้ว ใช้เวลาในการแข็งตัวน้อย และมีน้ำหนักไม่มากนัก คุณสมบัติที่นอกเหนือจากนี้ก็คือ สามารถนำมาหล่อให้เข้ากับส่วนต่างๆ ของร่างกายดังความต้องการได้พอสมควร สำหรับเฝือกไม้ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า “แซก” นั้น เนื่องจากไม่สามารถดัดงอให้เป็นรูปทรงตามต้องการได้ จึงทำหน้าที่เป็นเฝือกได้ไม่ดีนัก ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ไม่แนะนำให้ใช้

สำหรับหลักเกณฑ์ในการใส่เฝือกนั้น ที่สำคัญมีดังนี้
1. ระดับความยาวของเฝือกต้องเพียงพอ ที่จะจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อที่เกี่ยวข้องกับกระดูกชิ้นที่หักได้ ตัวอย่างเช่น ถ้ากระดูกต้นขาหัก ข้อที่เกี่ยวข้องก็ได้แก่ ข้อตะโพกและข้อเข่า ดังนั้น จึงต้องใส่เฝือกครอบคลุมข้อทั้งสองนี้ไว้เพียงพอที่จะไม่ให้มันเคลื่อนไหวได้ หลักการจำง่าย ๆ ก็คือ ใส่เฝือกให้ล้ำหนึ่งข้อเหนือและหนึ่งข้อใต้ต่อกระดูกชิ้นที่หัก สาเหตุที่ต้องทำเช่นนี้ ก็เพราะว่าเราต้องการหยุดการเคลื่อนไหวที่รอยหัก ถ้าปล่อยให้ข้อข้างเคียงเหยียดงอหรือบิดหมุนได้ รอยหักก็ย่อมจะอยู่นิ่งไม่ได้ นี่เป็นสาเหตุที่ว่า ทำไมกระดูกหักที่ปลายแขน แต่ต้องถูกใส่เฝือกจำกัดอิสรภาพขึ้นไปจนถึงต้นแขน ซึ่งผู้เขียนเคยถูกต่อว่าจากคนไข้บ่อย ๆ

                                    

2. อย่าใส่เฝือกกีดกันอิสรภาพของอวัยวะจนเกินความจำเป็น เช่น กระดูกปลายแขนหัก เฝือกที่ใส่ต้องครอบคลุมถึงข้อศอกและข้อมือ แต่อย่าเลยไปถึงข้อโคนนิ้ว (ซึ่งคนใส่เฝือกใหม่ ๆ มักจะทำเช่นนี้บ่อย ๆ ) เป็นต้น เพราะจะทำให้ข้อแข็งโดยไม่จำเป็น

3. ท่าของข้อที่ถูกใส่เฝือกไว้นั้น มักจะไม่ปล่อยให้เหยียดตรงเต็มที่ เพื่อให้ประสิทธิภาพในการจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อดีขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ข้อศอก ถ้าใส่เฝือกในท่าข้อศอกงอ เราจะป้องกันได้ทั้งการเหยียดงอศอกและการคว่ำหงายของปลายแขน แต่ถ้าเป็นท่าข้อศอกเหยียด จะป้องกันการเหยียดงอได้อย่างเดียว จะห้ามการคว่ำหงายของปลายแขนไม่ได้ ดังรูป (ก) สมมติว่าเราสอดไม้ในท่อตรงกับการดัดไม้ในท่องอ เราจะบิดไม้ที่ปลายได้ไม่เท่ากัน

                         
รายละเอียดของท่าต่าง ๆ จะกล่าวเมื่อถึงบทที่ว่าด้วยกระดูกหักเฉพาะที่ นอกจากประโยชน์ที่กล่าวมาแล้ว การจัดท่าในแต่ละแห่งยังช่วยให้ชีวิตประจำวันอยู่ได้สบายขึ้น และเมื่อตัดเฝือกออกแล้ว ทำการฟื้นฟูสมรรถภาพได้รวดเร็ว

4. ต้องหล่อเฝือกให้เข้ากับรูปทรงของอวัยวะที่ใส่ และเน้นหนักพิเศษสำหรับบางจุดที่มีความสำคัญในการตรึงรอยหักให้อยู่กับที่ ทั้งนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าแรงที่ทำให้กระดูกหักนั้นมีกลไกอย่างไร การใส่เฝือกก็ใส่ให้ทวนทิศทางของแรงนั้น เช่น ในรูป (ข) จะเห็นว่า ทิศทางที่เราจะต้องเน้นเฝือกนั้น มีแนวแรงทวนกับแรงที่ทำให้กระดูกหักเนื่องจากจุดที่เน้นจะต้องมี 3 จุด เป็นอย่างน้อย (ตามหลักของกลศาสตร์ เพื่อไม่ให้เกิดการหมุนหรือโมเม้นท์ขึ้น) จึงอาจเรียกว่าเป็น “เทคนิคของการเน้นสามจุด” จะยกตัวอย่างประกอบในตอนต่อไป
 

                  

5. ต้องระวังบริเวณปุ่มกระดูกและเส้นประสาทที่ทอดผ่านได้ผิวหนังตื้น ๆ (คลำได้ชัด) เช่น เข่า ตาตุ่ม ข้อศอก เป็นต้น บริเวณเหล่านี้ต้องใช้สำลีรองใต้เฝือกมากเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เฝือกกดจนผิวหนังเป็นแผลหรือเส้นประสาทเป็นอัมพาต

6. เนื่องจากเฝือกขยายตัวไม่ได้ แต่อวัยวะที่ได้รับการบาดเจ็บจนกระดูกหักนั้น จะบวมขยายตัวได้ ถ้าใส่เฝือกคับในขณะที่กำลังมีการบวมเกิดขึ้น จะทำให้เกิดความดันขึ้นสูงในอวัยวะนั้นๆ จนอาจกดเส้นเลือดหรือเส้นประสาททำให้เสียหน้าที่ได้ ในทางกลับกัน ถ้าอวัยวะส่วนที่ถูกใส่เฝือกนั้นไม่มีการออกกำลังกายเลย กล้ามเนื้อก็จะเหี่ยวเรื่อยๆ จนในที่สุดเฝือกจะหลวมและตรึงกระดูกไม่ได้ ทั้ง 2 อย่างนี้ล้วนแต่เป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ ซึ่งป้องกันได้ด้วยการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อจะแก้ไขได้ทันท่วงที

 

⇒กระดูกหัก มีวิธีใส่เฝือกอย่างไร?
ก่อนใส่เฝือก ควรได้ทำความสะอาดบริเวณนั้น ๆ ก่อน โดยการใช้แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรคทา แล้วใช้แป้งโรยให้ทั่ว เพื่อให้ผิวหนังแห้ง ต่อไปให้เอาแผ่นสำลีที่มีขายเป็นม้วนสำเร็จรูปมาพันรอบส่วนที่จะใส่เฝือกก่อน เพื่อเป็นส่วนรองรับเฝือกอีกทีหนึ่ง สำลีนี้มีประโยชน์ในการป้องกันการกดทับปุ่มกระดูกหรือเส้นประสาทดังกล่าวมาแล้ว และยังช่วยให้การตัดเฝือกทำได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของผิวหนัง วิธีพันให้พันทับเหลื่อมกันไปเรื่อย ๆ ตลอดความยาวที่ต้องการ ตรงไหนที่ย่นก็อย่าพับ เพราะจะเป็นรอยกดบนผิวหนังได้ถ้าใส่เฝือกอยู่นานแต่ให้ฉีกสำลีออกจนตึงแล้วจึงพันต่อ พันให้หนาประมาณ 1-2 ชั้นก็พอ หลังจากนั้นจึงนำเฝือกม้วนมาชุบน้ำเย็นธรรมดา หรือพออุ่น ๆ ต้องรอให้หมดฟองอากาศก่อน จึงเอาขึ้นพ้นน้ำและบีบเบาๆ เพื่อเอาน้ำออกเล็กน้อย ใช้พันเป็นเฝือกได้ทันที วิธีพันทำนองเดียวกับพันสำลี คือ ให้พันเหลื่อมกันไปเรื่อยๆ โดยให้รอบถัดไปทับอยู่บนรอบก่อนประมาณ 1/3ของความกว้าง เนื่องจากเฝือกจะฉีกให้ขาดง่ายๆ ไม่ได้เหมือนสำลี ถ้าย่นก็ให้ใช้วิธีจีบส่วนที่ย่นจนตึง แล้วจึงพันต่อไป ในระหว่างนี้ก็ควรลูบเฝือกตามไปด้วย เมื่อพันได้ความหนาพอสมควร คือประมาณ 6-10 ชั้นแล้ว ให้ลูบเฝือกไปทางเดียวกันเพื่อหล่อให้เข้ากับรูปทรงที่ต้องการ พอเฝือกเริ่มแข็งก็หยุด เพราะตอนนี้มันเริ่มจะเปราะถ้าบีบแรงเฝือกจะเสียไม่มีความแข็งแรงต่อไป

หลังใส่เฝือกควรให้ผู้ป่วยยกส่วนที่หักนั้นให้อยู่เหนือระดับหัวใจ เพื่อช่วยลดบวมถ้าผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดมาก ต้องนึกไว้เสมอว่า เฝือกอาจคับเกินไป อย่าให้แต่ยาแก้ปวดในกรณีเช่นนี้ ให้ตัดเฝือกแยกออกตามแนวยาว เพื่อให้หลวมขึ้นเล็กน้อย ผู้ป่วยจะหายปวดอย่างรวดเร็ว ถ้ายังไม่หายก็ควรพิจารณาปรึกษาผู้รู้ต่อ ๆ ไปโดยด่วน
 

ที่กล่าวมานี้เป็นการรักษากระดูกหักทั่ว ๆ ไป สำหรับกระดูกหักเฉพาะแห่งนั้น จะเลือกเอาเฉพาะที่พบบ่อยมาคุยกันต่อไป เพื่อให้ “หมอชาวบ้าน” สามารถนำไปแก้เหตุการณ์เฉพาะหน้าได้เอง
 

ข้อมูลสื่อ

18-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 18
ตุลาคม 2523
อื่น ๆ
นพ.วิรุฬห์ เหล่าพัทรเกษม