• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หัวใจ กับการไหลเวียนของเลือด

หัวใจ กับการไหลเวียนของเลือด

 

1 เส้นเลือดแดงที่คอ

2 เส้นเลือดดำที่คอ

3 เส้นเลือดแดงที่แขน

4 เส้นเลือดแดงใหญ่เอออร์ตา (ส่วนโค้ง)

5 เส้นเลือดดำใหญ่บน

6 เส้นเลือดในปอด

7 หัวใจ

8 เส้นเลือดดำที่แขน

9 เส้นเลือดดำใหญ่ล่าง

10 เส้นเลือดที่ไต

11 เส้นเลือดแดงใหญ่เอออร์ตา (ส่วนล่าง)

12 เส้นเลือดแดงที่ปลายแขน

13 เส้นเลือดดำที่สะโพก

14 เส้นเลือดแดงที่สะโพก

15 เส้นเลือดแดงที่ต้นขา

16 เส้นเลือดดำที่ต้นขา

 

 

 

 

รูปที่ 1 ระบบไหลเวียนของเลือด ประกอบด้วยหัวใจกับเส้นเลือด(สีแดง) และ เส้นเลือดดำ(สีน้ำเงิน) ซึ่งมีความยาวรวมกันทั้งสิ้น 96,500 กิโลเมตร

 

รูปที่ 2 ทิศทางการไหลเวียนของเลือด (ตามลูกศร)
 



เลือดดีหรือเลือดแดง(สีแดง) ที่มีออกซิเจนมากออกจากหัวใจซีกซ้าย →เส้นเลือดแดงใหญ่ →เส้นเลือดแดง →เส้นเลือดแดงเล็ก → เส้นเลือดฝอย (ที่บริเวณนี้จะมีการแลกเปลี่ยนอาหารและอ๊อกซิเจนกับของเสียและคาร์บอนได้อ๊อกไซด์→กลายเป็นเลือดเสียหรือเลือดดำ (สีน้ำเงิน) ที่มีคาร์บอนได้อ๊อกไซด์มาก ออกจากเส้นเลือดฝอย → เส้นเลือดดำเล็ก →เส้นเลือดดำ →เส้นเลือดดำใหญ่บน(จากศีรษะกับแขน)และล่าง(จากขากับลำตัว) →หัวใจซีกขวา → ปอด (ทำหน้าที่ฟอกเลือดดำให้กลายเป็นเลือดแดง) →หัวใจซีกซ้าย


รูปที่ 3 หัวใจ มี 4 ห้องและ 4 ลิ้น
 


เลือดดำจากทั่วร่างกายไหลกลับเข้าหัวใจ ทางเส้นเลือดดำใหญ่บน 1 กับเส้นเลือดดำใหญ่ล่าง 2 เข้าสู่ห้องบนขวา 3 ผ่านลิ้นไตรคัสปอด (ลิ้น 3 แฉก) 4 ลงสู่ห้องล่างขวา 5 แล้วผ่านเส้นเลือดแดงปอด 6 ไปยังปอด เมื่อฟอกเป็นเลือดแดงแล้วจะไหลผ่านเส้นเลือดดำปอด 7 8 กลับเข้าสู่หัวใจทางห้องบนซ้าย 9 ผ่านลิ้นไมทราล (ลิ้น 2 แฉก) 10 ลงสู่ห้องล่างซ้าย 11 แล้วเลือดจะถูกส่งไปเลี้ยงทั่วร่างกายโดยผ่านทางเส้นเลือดแดงใหญ่ (เอออร์ตา12)
 

รูปที่ 4 หัวใจทำหน้าที่เหมือนเครื่องปั๊ม

1 ห้องบนขวา

2 ห้องล่างขวา

3 ห้องบนซ้าย

4 ห้องล่างซ้าย
 

รูปที่ 5 ส่วนประกอบของเลือด
 

ก. ชั้นของพลาสม่า

ข. ชั้นของเม็ดเลือดขวาและเกร็ดเลือด

ค. ชั้นของเม็ดเลือดแดง

1,2,3,4,5,6 เม็ดเลือดขาวชนิดต่าง ๆ

7 เกร็ดเลือด (เพลตเลต)

8 เม็ดเลือดแดง
 

: หัวใจกับการไหลเวียนของเลือด

ในปี พ.ศ. 2171 นายแพทย์วิลเลียม ฮาร์วี แพทย์ชาวอังกฤษเป็นคนแรกที่ตั้งข้อสรุปว่า “เลือดมีการไหลวนเป็นวงกลม” ซึ่งในสมัยนั้นนับเป็นข้อสรุปที่ค่อนข้างแปลกเอามากๆ เพราะว่าในเวลานั้นมนุษย์เรายังไม่มีความรู้เกี่ยวกับระบบเส้นเลือด และออกซิเจนแต่อย่างใด

หน้าที่ของเลือด

สิ่งมีชีวิตทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นชนิดต่ำหรือชนิดสูง ล้วนต้องมีระบบไหลเวียนที่นำอาหารกับพลังงานไปหล่อเลี้ยงชีวิต และกำจัดของเสียออกจากร่างกาย ในร่างกายมนุษย์สิ่งที่ทำหน้าที่อันนี้ ก็คือ ของเหลวชนิดหนึ่งที่เราเรียกว่า “เลือด” นั่นเอง ซึ่งจะมีอยู่ประมาณ 5 ลิตรในร่างกายของผู้ใหญ่ เลือดนี้จะแทรกซึมไปทุกส่วนของร่างกาย เพื่อนำออกซิเจน และอาหารไปหล่อเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ให้มีชีวิต พร้อมกับนำคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ (ซึ่งเป็นอากาศเสีย) และของเสียต่างๆ ไปกำจัดออกทางปอดและไตตามลำดับ

หัวใจประกอบด้วยกล้ามเนื้อชนิดพิเศษที่แข็งแรงมาก ทำหน้าที่เป็นเหมือนเครื่องปั๊มที่สูบฮีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายหัวใจมี 4 ห้อง ห้องบน 2 ห้องเรียกว่า “เอเตรียม” ห้องล่าง 2 ห้องเรียกว่า “เวนตริเคิล” เลือดที่ไหลผ่านหัวใจ จะถูกควบคุมโดยลิ้นหัวใจ 4 ชุดด้วยกัน (ดูรูปที่ 3 และ 4 ประกอบ) ส่วนจังหวะการเต้นของหัวใจจะถูกควบคุมด้วยตัวกระตุ้นที่เป็นกล้ามเนื้ออยู่ภายในหัวใจนั้นเอง แต่ทำหน้าที่จุดชนวนให้หัวใจบีบตัวโดยเริ่มจากห้องบนก่อนแล้วจึงลงมาที่ห้องล่าง

หัวใจทำงานได้อย่างไร

หัวใจเป็นเหมือนเครื่องปั๊มหรือเครื่องสูบที่มีวงจร 2 วงจร ในการเต้นของหัวใจแต่ละครั้ง เลือดดีจากปอด (ที่มีอ๊อกซิเจนมาก) ซึ่งเข้าสู่หัวใจทางซีกซ้าย จะถูกขับดันออกจากหัวใจไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ขณะเดียวกัน เลือดเสีย (ที่มีคาร์บอนได้อ๊อกไซด์) จากร่างกายที่กลับเข้าสู่หัวใจทางซีกขวาจะถูกขับดันไปสู่ปอดเพื่อฟอกให้เป็นเลือดดี (ดูรูปที่ 4 ประกอบ)

หัวใจมีขนาดเท่ากำปั้นของเจ้าของจะเริ่มทำงานตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ได้ 4 อาทิตย์ ไปจนตลอดชีวิต ในผู้ใหญ่หัวใจเต้นนาทีละ 70-80 ครั้ง แต่อาจจะเพิ่มมากกว่านี้ถึงสองเท่าครึ่งหลังออกกำลังกายหรือร่างกายมีอาการเครียดจัด หัวใจเต้นแต่ละครั้งนั้นจะทำให้เกิดแรงในขนาดที่ว่า ถ้าเราตัดเส้นเลือดแดงใหญ่ (มีชื่อว่า “เอออร์ตา”) ส่วนต้นให้ขาดแล้วละก็ เลือดจะสามารถพุ่งไปได้ไกลถึง 2 เมตรเชียวแหละ

เลือดดี (เลือดมีอ๊อกซิเจนมาก) จะถูกส่งออกจากหัวใจไปทั่วร่างกายทางเส้นเลือดแดง ซึ่งมีกล้ามเนื้อและผนังหนา และมักฝังตัวอยู่ในส่วนลึกของร่างกายเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนในบริเวณที่เส้นเลือดแดงอยู่ใกล้ผิวผนัง เช่น ที่ข้อมือนั้น เราก็เห็นการเต้นของชีพจรไปตามจังหวะการบีบตัวของหัวใจ เส้นเลือดแดงจะแตกสาขาเป็นเส้นเลือดแดงเล็ก ซึ่งจะแตกเล็กลงไปอีกเป็นเส้นเลือดฝอยที่เป็นเหมือนตาข่ายอันสลับซับซ้อน เส้นเลือดฝอยนี้จะแทรกซึมไปทั่วทุกส่วนของร่างกายเพื่อนำเอาสารที่จำเป็นสำหรับชีวิต คือ อาหารกับออกซิเจน (หรืออากาศดี) ไปให้เซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกายและรับเอาคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ (หรืออากาศเสีย) กับของเสียต่างๆ กลับออกมาจากเซลล์ เลือดที่มีอากาศเสียและของเสียนี้จะเดินทางกลับมาตามเส้นเลือดดำเล็กเข้าสู่เส้นเลือดดำ และในที่สุดจะไหลไปรวมกันที่เส้นเลือดดำใหญ่ ซึ่งมีอยู่ 2 เส้น คือ เส้นเลือดดำใหญ่บนและเส้นเลือดดำใหญ่ล่าง ทั้ง 2 เส้นนี้จะมารวมกันก่อนเข้าสู่หัวใจห้องบนขวา (ดูรูปที่ 1 และ 2 ภาพประกอบ)

เลือดที่ออกจากร่างกายใหม่ๆ จะมีลักษณะข้น เมื่อถูกอากาศจะแข็งตัวอย่างรวดเร็ว ในห้องทดลองเราสามารถแยกเส้นเลือดออกเป็น 2 ชั้นใหญ่ ๆ คือชั้นของพลาสม่า ซึ่งเป็นน้ำสีเหลืองใสๆ มีอยู่ประมาณ 55% โดยปริมาตร และชั้นของเม็ดเลือดเห็นเป็นสีน้ำตาลแดง (ดูรูปที่ 5 ประกอบ)

พลาสม่า เม็ดเลือด และน้ำเหลือง

พลาสม่า เป็นสารละลายของเกลือกับโปรตีน ซึ่งเป็นของเหลวที่จำเป็นสำหรับเซลล์ที่มีชีวิต

ซีรั่ม เป็นของเหลวไม่มีสี ซึ่งไหลซึมออกจากแผลถลอกที่ผิวหนัง มีส่วนประกอบเหมือนพลาสม่าเกือบทุกอย่าง ยกเว้น ไฟบริน ที่เป็นสารโปรตีนชนิดหนึ่ง ซึ่งช่วยให้เลือดแข็งตัว

ส่วนในชั้นข้นๆ ของเลือดนั้นประกอบด้วย เม็ดเลือดแดงเป็นส่วนใหญ่นอกนั้นจะเม็ดเลือดขาว ซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรค และเกร็ดเลือด (เพลตเลต) ซึ่งทำหน้าที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว

เม็ดเลือดแดง สร้างจากไขกระดูก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า หนึ่งในร้อยมิลลิเมตร จัดว่าเป็นเซลล์ขนาดเล็กที่สุดในร่างกายชนิดหนึ่ง เม็ดเลือดแดงจะประกอบด้วย สารชนิดหนึ่งเรียกว่า ฮีโมโกลบิน (ประกอบด้วยสารโปรตีนกับเหล็ก) ถึงหนึ่งในสาม ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวพา ออกซิเจนไปตามกระแสเลือด ออกซิเจนจะถูกปล่อยออกจากฮีโมโกลบินแล้วซึมผ่านผนังของเส้นเลือดฝอยไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่างๆ

เม็ดเลือดขาว จะมีขนาดใหญ่กว่าเม็ดเลือดแดง 2-3 เท่าแต่มีจำนวนน้อยกว่าเป็นพันเท่า ตัวมันเองไม่มีสีและใส มีหน้าที่ค่อยข้างแตกต่างจากเซลล์อื่นๆ สามารถแทรกตัวผ่านเข้าออกเส้นเลือดรวมตัวยังบริเวณที่มีการอักเสบหรือบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บได้ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเหมือนทหารในการต่อสู้กับเชื้อที่เข้าสู่ร่างกาย ในขณะเดียวกัน ในบริเวณที่บาเจ็บ ก็จะมีเกร็ดเลือด ซึ่งเป็นเป็นเกล็ดของเม็ดเลือดขนาดเล็กๆ มาจับตัวกันเพื่อให้เลือดแข็งตัว

นอกจากนี้ยังมีระบบน้ำเหลืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบเลือดอย่างใกล้ชิด น้ำเหลือง เป็นของเหลวที่อาหารและสิ่งจำเป็นต่อเซลล์ชีวิต ซึ่งจะซึมผ่านเส้นเลือดฝอยไปหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อที่อยู่โดยรอบ ประกอบด้วยพลาสม่าเป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่จะมีสารโปรตีนน้อยกว่ากันเท่านั้น มันจะอาบอยู่รอบๆ เซลล์ และจะไหลไปตามตาข่ายเส้นน้ำเหลือง ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นระบบน้ำเหลือง น้ำเหลืองนี้ยังมีของเสียต่างๆ เช่น แบคทีเรีย เซลล์ที่ตายแล้ว และเศษเนื้อเยื่อ มันจะไหลเข้าสู่เลือดที่บริเวณโคนของเส้นเลือดดำที่คอ (เส้นเลือดดำจูกูล่าร์) 2 เส้น นอกจากนี้ระบบน้ำเหลืองยังมีหน้าที่ในการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บอีกด้วย

ข้อมูลสื่อ

2-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 2
มิถุนายน 2522