• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เลือดบวก (เทียม) เชื้อบวก (ปลอม)

ฉบับที่แล้วได้ทิ้งท้ายไว้ว่า การตรวจหรือการทดสอบทางการแพทย์จะให้ผลบวกถ้าบ่งบอกว่าเป็นโรค และให้ผลลบถ้าไม่ได้บ่งบอกว่าเป็นโรค

คำว่า “ผลบวก” “ผลลบ” นี้ใช้ได้กับวิธีการตรวจทุกชนิด

ถ้าเป็นการตรวจเลือด แล้วให้ผลเป็นบวก ก็นิยมเรียกย่อๆว่า เลือดบวก (ส่วนคำว่าเลือดลบ ปัสสาวะบวก ปัสสาวะลบ เอกซเรย์บวก เอกซเรย์ลบ ฟังแล้วรู้สึกขัดๆ หู จึงไม่เป็นที่นิยมพูดกันในภาษาหมอ)

แต่อย่างไรก็ตาม การทดสอบต่างๆ ก็ใช่ว่าจะมีความถูกต้องแม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ก็หาไม่ ย่อมต้องมีความผิดพลาดด้วยสาเหตุต่างๆไม่มากก็น้อย
ขอยกตัวอย่างจริงๆ สัก 2 เรื่อง

เรื่องแรก เมื่อหลายปีก่อน ผู้เขียนมีอาการปวดท้องเวลาหิวจัดหรืออิ่มจัด เมื่อกินยาลดกรดก็ดีขึ้นเป็นพักๆ เป็นๆ หายๆ อยู่หลายเดือน จึงได้ทำการเอกซเรย์ดูกระเพาะลำไส้ด้วยการกลืนแป้งแบเรียม ผลการอ่านฟิล์มเอกซเรย์โดยรังสีแพทย์ระบุว่า “พบก้อนที่กระเพาะอาหารสงสัยเป็นก้อนมะเร็ง” เล่นเอากินไม่ได้นอนไม่หลับหลายวัน ต่อมาได้ทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยการใช้เครื่องมือส่องเข้าไปในกระเพาะลำไส้ ยืนยันแน่ชัดว่าไม่ได้เป็นมะเร็ง เพียงแต่มีการอักเสบของเยื่อบุผิวกระเพาะเท่านั้นเอง

การตรวจเอกซเรย์ให้ผลบวกว่าเป็นมะเร็ง ทั้งๆที่ผู้เขียนไม่ได้เป็นโรคนี้ จึงเรียกผลการตรวจนี้ว่า “ผลบวกเทียม” (False positive) บางคนนิยมเรียกว่า “ผลบวกปลอม” “ผลบวกลวง” หรือ “ผลบวกหลอก”

เรื่องที่ 2 มีผู้ป่วยรายหนึ่งเป็นป่าไม้จังหวัด ๆ หนึ่ง ต้องเดินทางเข้าป่าเป็นครั้งคราว ต่อมามีอาการเป็นไข้ตัวร้อนอยู่หลายวัน แพทย์สงสัยว่าเป็นมาลาเรีย จึงตรวจเลือดดูแต่ไม่พบเชื้อมาลาเรีย จึงให้การรักษาเป็นไข้ชนิดอื่น ซึ่งไข้ก็ไม่ยอมหาย เป็นอยู่เป็นแรมเดือน ต่อมาได้ย้ายไปตรวจที่ใหม่ ในที่สุดก็พบเชื้อมาลาเรียในเลือด เมื่อให้ยารักษามาลาเรียไข้ก็หายดังปลิดทิ้ง

การตรวจเลือดครั้งแรกให้ผลลบ (ว่าไม่ได้เป็นมาลาเรีย) ทั้งๆผู้ป่วยเป็นไข้มาลาเรีย จึงเรียกผลการตรวจนี้ว่า “ผลลบเทียม” (False negative) จะเรียกผลลบปลอม ผลลบลวง หรือผลลบหลอก ก็ได้

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ผลการตรวจหรือการทดสอบทุกชนิดที่ให้ผลเป็นบวกและลบนั้นแท้จริงแล้วย่อมแปลผลได้เป็น 4 ทางด้วยกัน คือ

1. ผลบวกแท้
(True positive) หรือผลบวกจริง หมายความว่า ผู้ป่วยเป็นโรคจริง และผลการตรวจก็บ่งบอกว่าเป็นโรคชนิดนั้นๆ จริงๆ เช่น เป็นโรคเอดส์ ตรวจเลือดก็ให้ผลเป็นบวกต่อเอดส์

2. ผลบวกเทียม
(False positive) หมายความว่า ผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรค แต่ผลการตรวจกลับบ่งบอกว่าเป็นโรค ดังกรณีของผู้เขียน เป็นอาทิ

3. ผลลบแท้
(True negative) หรือผลลบจริง หมายความว่า ผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรค และผลการตรวจก็บ่งบอกว่าไม่ได้เป็นโรค เช่น ไม่ได้เป็นโรคซิฟิลิส การตรวจเลือดก็ไม่พบเลือดบวกต่อซิฟิลิส

4. ผลลบเทียม
(False negative) หมายความว่า ผู้ป่วยเป็นโรคจริง แต่ผลการตรวจกลับไม่พบผลบวกต่อโรคนั้นๆ ดังกรณีของป่าไม้จังหวัด เป็นอาทิ

สิ่งที่เราปรารถนาก็คือ การทดสอบหรือการตรวจที่ให้ความถูกต้องแม่นยำมากที่สุด กล่าวคือ สามารถให้ผลบวกแท้ และผลลบแท้ให้มากที่สุด และให้ผลบวกเทียม และผลลบเทียมให้น้อยที่สุด
แต่ในความเป็นจริง กาทดสอบแต่ละชนิดนั้นย่อมมีความแม่นยำมากน้อยแตกต่างกันไป แต่ที่จะให้ผลบวกแท้ และผลลบแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยไม่มีผลบวกเทียม และผลลบเทียมเลยนั้นย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นั่นคือย่อมจะต้องเกิดความผิดพลาดไม่มากก็น้อย

ฉบับหน้าคงจะได้กล่าวถึงว่าความแม่นยำของการตรวจขึ้นกับเหตุปัจจัยอะไรบ้าง
พูดจาภาษาหมอตอนนี้ ออกจะเป็นวิชาการไปสักนิด แต่ก็มีความสำคัญ ยิ่งในปัจจุบันทั้งแพทย์และชาวบ้านต่างหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆ ซึ่งราคาแพง ก็ยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องรู้เท่าทันในเรื่องเหล่านี้ให้มาก

หาไม่แล้วย่อมก่อให้เกิดความทุกข์ต่อร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สินของผู้เคราะห์ร้าย และเกิดผลเสียหายต่อสังคมมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของผลบวกเทียม (ความปกติแต่ถูกตรวจว่าเป็นโรค) และผลลบเทียม (คนที่เป็นโรคแต่ถูกตรวจว่าไม่เป็นโรค)
 

ข้อมูลสื่อ

104-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 104
ธันวาคม 2530
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช