• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการปวดข้อ (ต่อ)

นอกจากอาการปวดไหล่ อาการปวดข้อที่ไม่ฉุกเฉินในบริเวณแขนที่พบบ่อย คือ

2. ปวดข้อศอก : อาการปวดข้อศอกไม่ฉุกเฉิน คืออาการปวดข้อศอกที่ไม่มีอาการปวด บวม แดง ร้อนที่ข้อศอก หรือมีกระดูกหักบริเวณนั้น ผู้ป่วยกลุ่มที่ปวดข้อฉุกเฉินควรไปโรงพยาบาล

ส่วนอาการปวดข้อศอกแบบไม่ฉุกเฉิน ที่พบบ่อยที่สุด คือการอักเสบของเอ็นที่ยึดติดกับปุ่มกระดูกข้อศอกด้านนอก (ดูรูป) ที่เรียกกันว่า ข้อศอกนักเทนนิส (Tennis elbow) เพราะมักเกิดในนักเล่นเทนนิส ซึ่งมักใช้กล้ามเนื้อและเอ็นกล้ามเนื้อนี้มากในการตีลูกเทนนิส การใช้กล้ามเนื้อในงานอื่นๆ เช่น การตีที่นอน การตัดต้นไม้ ก็ทำให้เกิดอาการแบบเดียวกันได้

ที่พบรองลงมา คือการอักเสบของเอ็นที่ยึดติดกับปุ่มกระดูกข้อศอกด้านใน (ดูรูป) ที่เรียกว่า ข้อศอกนักเล่นกอล์ฟ (golfer’s elbow) เพราะมักเกิดในนักเล่นกอล์ฟ แต่ก็เกิดในการทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อและเอ็นนี้มาก

อาการที่เกิดขึ้น คืออาการเจ็บปวดและกดเจ็บตรงจุดที่เอ็นกล้ามเนื้อไปยึดเกาะกับปุ่มกระดูก และเวลาที่ใช้กล้ามเนื้อนั้นทำงาน จะเจ็บแปลบขึ้นมาทันทีในท่าที่เฉพาะของมัน

สาเหตุ : เกิดจากการใช้กล้ามเนื้อเหล่านี้ผิดสุขลักษณะ ทำให้จุดที่เอ็นยึดติดกับปุ่มกระดูกฉีก หรือดึงเยื่อหุ้มปุ่มกระดูกนั้นแยกออกจากกระดูก จึงเกิดอาการเจ็บและกดเจ็บขึ้น

การรักษา :
ให้พักการใช้ข้อศอก (แขน) ในท่าที่จะทำให้เจ็บและในระยะที่เพิ่งปวดและปวดมาก ให้ใช้น้ำแข็งประคบ หรืออาจฉีดยาสเตอรอยด์ตรงบริเวณที่กดเจ็บมากที่สุด แต่ต้องระวังอย่าฉีดยาเข้าในเอ็นโดยตรง ให้ฉีดยารอบๆเอ็น เอ็นจะได้ไม่อ่อนและฉีกขาดง่ายในภายหลัง

เมื่อพ้นระยะแรกแล้ว ให้ใช้ของร้อนประคบ และพยายามระวังการใช้แขนในท่าที่เคยทำให้เจ็บ การใช้ยาแก้ปวดหรือยาแก้ข้ออักเสบมักจะไม่ค่อยจำเป็น แต่ใช้ได้ถ้าปวดมาก ที่สำคัญคือการระวังไม่ใช้แขนและข้อศอก ในท่าที่ทำให้เจ็บ

3. ปวดข้อมือ :
เช่นเดียวกับข้อศอก ถ้าปวดบวมแดงร้อนมากหรือมีกระดูกหัก ถือว่าฉุกเฉินและควรไปโรงพยาบาล 

                                                          

ส่วนอาการปวดข้อมือที่ไม่ฉุกเฉิน ก็เช่นเดียวกับข้อศอก มักเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อและเอ็นที่ใช้ในการกระดกมือ และกระดกนิ้ว เช่น ในชาวไร่ชาวนา โดยเฉพาะคนตัดอ้อย มักจะเกิดอาการในฤดูตัดอ้อย จึงมีผู้เรียกว่า โรคคนตัดอ้อย (Cane Cutter’s disease) ซึ่งจะเจ็บและกดเจ็บบริเวณด้านหลังของข้อมือและเวลาใช้มือตัดของหรือยกของ

ที่พบบ่อยมากทั่วไป คืออาการปวดข้อบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือ ตรงบริเวณข้อมือ (ดูรูป) ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยเพราะกล้ามเนื้อกระดกนิ้วหัวแม่มือต้องทำงานบ่อยและรับน้ำหนักมาก ทำให้เอ็นอักเสบ ถ้าเป็นอยู่นานๆจะเกิดการบีบรัด ทำให้กระดกนิ้วลำบาก เกิดโรคโคนหัวแม่มือปวด (de Quervain’s disease) และเวลาหยิบของหรือจับของ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วต้องใช้นิ้วหัวแม่มือช่วย อาจจะเกิดอาการเจ็บทันที จนทำให้ต้องปล่อยมือ ทำให้ของตกจากมือได้

สาเหตุ : มักเกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อดังกล่าวมากเกินไป หรือใช้มือทำงานแบบกระแทกกระทั้น เช่น ตัดอ้อย ต่อยหิน เป็นต้น

การรักษา :
ในระยะแรกที่เป็นมากหรือเพิ่งเป็น ให้พักการใช้มือข้างนั้น อาจใช้น้ำแข็งประคบ และใช้ยาแก้ปวด ในระยะหลังให้ใช้น้ำร้อนประคบ และพยายามบริหารข้อมือให้แข็งแรงขึ้น และหลีกเลี่ยงจากการทำงานที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการดังกล่าว ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นอาชีพเดียวที่ทำได้ ก็ควรใช้สนับข้อมือ (ผ้ายางรัดข้อมือให้ข้อมือแข็งแรงขึ้น เวลาจะทำงานที่ต้องใช้นิ้วมือและข้อมือมาก)

อาการปวดข้อมืออีกแบบหนึ่งที่พบมาก คือพบที่ด้านฝ่ามือ และด้านหน้าของข้อมือ ซึ่งเกิดจากการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อ ที่ใช้ในการงอนิ้วมือ (การกำมือ) เอ็นกล้ามเนื้อเหล่านี้จะลอดมาตามช่อง (อุโมงค์) แคบๆ หน้าข้อมือ

ถ้าเอ็นเหล่านี้อักเสบบวม จากการใช้งานมาก การบาดเจ็บ หรือสาเหตุอื่น เช่น ตั้งครรภ์ การใช้ยาคุมกำเนิด ต่อมธัยรอยด์พร่อง เป็นต้น ก็จะไปเบียดกดเส้นประสาทกลางฝ่ามือ (median nerve) ซึ่งผ่านมาตามช่อง (อุโมงค์) ที่แคบๆ ด้วยกัน หรืออาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้สาเหตุว่าทำไมเส้นประสาทกลางฝ่ามือนี้จึงถูกเบียดกด ทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณฝ่ามือตรงโคนหัวแม่มือ โคนนิ้วชี้ และนิ้วกลาง และอาจปวดร้าวไปที่นิ้วทั้งสามนี้ได้ และในบางครั้งอาจจะเสียวร้าวไปที่นิ้วนางด้วย

อาการมักจะเป็นมากเวลากลางคืน จนปลุกผู้ป่วยตื่นขึ้น และต้องลุกขึ้นมาสะบัดมือและแขนสักพัก อาการจึงจะทุเลาและหายไป กล้ามเนื้อบริเวณเนินพระศุกร์ (โคนหัวแม่มือ) อาจจะลีบเล็กลง และอ่อนแรงในระยะหลัง

เวลาเคาะที่ตรงกลางข้อมือด้านหน้า (ดูรูป) หรือเวลางอข้อมือจะทำให้เกิดอาการปวดแสบ ปวดร้อนในบริเวณดังกล่าวข้างต้น เรียกโรคนี้ว่า โรคอุโมงค์ข้อมือ (carpal tunnel syndrome)

สาเหตุ : ส่วนใหญ่มักไม่รู้สาเหตุ ส่วนน้อยที่รู้สาเหตุอาจเกิดจากการอักเสบ การบาดเจ็บ การฉีดยา การตั้งครรภ์ การใช้ยาคุมกำเนิด ต่อมธัยรอยด์พร่อง เป็นต้น

การรักษา :
ถ้ารู้สาเหตุ เช่น การใช้ยาคุมกำเนิด ต่อมธัยรอยด์พร่อง การบาดเจ็บ ให้รักษาสาเหตุ เช่น หยุดยา กินธัยรอยด์ฮอร์โมนรักษาการบาดเจ็บตามลำดับ จะทำให้โรคนี้ดีขึ้นเอง

ส่วนที่เกิดจากการตั้งครรภ์ ให้ใช้เฝือกไม้ หรือเฝือกปูน พักข้อมือไว้ในท่ากระดกข้อมือเล็กน้อย โดยเฉพาะในระหว่างนอนหลับตอนกลางคืนก็จะเป็นการเพียงพอ และเมื่อคลอดแล้ว โรคนี้ก็จะหายเอง
ในกรณีที่ไม่รู้สาเหตุ นอกจากใช้วิธีการแบบในการตั้งครรภ์แล้ว อาจใช้การบริหารข้อมือ และการใช้ของร้อนประคบ ถ้าปวดมากอาจต้องฉีดยาสเตอรอยด์เข้าไปในบริเวณอุโมงค์ที่รัดเส้นประสาท ถ้ากล้ามเนื้อโคนหัวแม่มือเริ่มอ่อนแรงหรือลีบควรผ่าตัดเพื่อเปิดให้ช่องอุโมงค์นี้กว้างขึ้น

4. ปวดมือและนิ้วมือ : ส่วนหนึ่งเกิดจากการปวดร้าวมาจากอาการเจ็บปวดที่ข้อมือ ดังได้กล่าวไว้แล้วในข้อ 3 อีกส่วนหนึ่งเป็นอาการปวดที่มือและนิ้วมือโดยตรงซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอาการปวดที่ข้อนิ้วมือตั้งแต่ข้อปลายสุดจนถึงข้อโคนนิ้ว

                                            

ส่วนใหญ่ของอาการปวดข้อนิ้วมือ มักเกิดจากโรคข้อเสื่อม (degenerative joint discase หรือ osteoarthritis) และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis)

โรคข้อนิ้วมือเสื่อม มักจะเป็นที่ข้อปลายสุดของนิ้ว และอาจเป็นข้อเดียวหรือหลายข้อก็ได้ แต่ไม่เป็นพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง (เช่น ถ้าเป็นที่ข้อนิ้วชี้ซ้าย ก็จะไม่เป็นที่ข้อนิ้วชี้ขวาในเวลาพร้อมๆกัน หรือใกล้เคียงกัน) มักจะเกิดอาการนิ้วแข็ง (กำมือไม่ค่อยได้ ถ้าไม่ได้ใช้มือข้างนั้นนาน) เวลาตื่นนอนตอนเช้าก็เป็นได้ พอใช้มือสักพักแล้วอาการจะหาย ต่อมาจึงค่อยๆมีอาการเจ็บปวดมากขึ้นๆ ใช้เวลาหลายวันกว่าจะปวดเต็มที่ ถ้าเป็นเรื้อรัง ปุ่มกระดูกของข้อบริเวณปลายนิ้วจะโตและโปนออกมา ที่เรียกว่า ปุ่มกระดูกงอกข้อนิ้ว (Heberden’s node) (ดูรูป)

การรักษา :
ให้พยายามกำมือแบมือบ่อยๆ ในน้ำร้อน หรือน้ำอุ่น อย่าใช้นิ้วทำงานที่หักโหมหรือกระแทกกระทั้น ถ้าปวดมากให้กินยาแก้ปวด หรือยาแก้ข้ออักเสบ (ซึ่งได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องปวดข้อไหล่) แต่โดยทั่วไป มักไม่จำเป็น

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ มักเป็นกับข้อต้นๆของนิ้ว โดยเฉพาะข้อโคนนิ้ว มักเป็นพร้อมกันหลายข้อ และเป็นกับข้อเดียวกันทั้ง 2 ข้าง (เช่น ถ้าเป็นที่ข้อนิ้วชี้ และนิ้วนางซ้าย ก็มักจะเป็นที่ข้อนิ้วชี้ และนิ้วกลางขวาด้วย) อาการมักจะเริ่มด้วยอาการนิ้วแข็ง (กำมือไม่ค่อยได้) ในตอนตื่นนอนเช้า ประมาณครึ่งชั่วโมง พอกำมือ แบมือ หรือสะบัดมือสักพัก อาการนิ้วแข็งจะหายไป ต่อมา (กินเวลาเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน) จะมีอาการปวดข้อนิ้วมือมากขึ้น ข้อนิ้วมือจะบวมเหมือนลูกสมอหรือลูกรักบี้ จะปวด แดง และร้อน (ในบางคน อาการปวด บวม แดง ร้อน ของข้อนิ้วมืออาจเกิดขึ้นทันทีก็ได้) ถ้าเป็นเรื้อรังจะเกิดอาการนิ้วมือบิดหรือเบี้ยว เป็นความพิการถาวรได้ (ดูรูป)

การรักษา :
ในระยะแรกๆ ให้รักษาเช่นเดียวกับโรคข้อมือเสื่อม แต่ถ้ามีอาการปวดบวมแดงร้อนของข้อ ควรกินยาแก้ข้ออักเสบ เช่น แอสไพริน ครั้งละ 3-4 เม็ด หลังอาหารทันที 3 มื้อ และกินยาลดกรดร่วมด้วย ถ้าอาการดีขึ้นให้กินยาติดต่อกันจนอาการปวดบวมแดงร้อนหายสนิท ประมาณ 2-3 สัปดาห์ แล้วค่อยๆลดยาลง ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหลังกินยาแอสไพรินดังกล่าวข้างต้นอยู่ 4-5 วัน หรือมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ต้องไปโรงพยาบาลทันที

สำหรับอาการปวดนิ้วมืออีกอย่างหนึ่งที่พบบ่อย คืออาการที่งอนิ้วมือเข้ามาแล้ว จะเหยียดออกไม่ได้ ถ้าเหยียดออกได้ จะสะบัดไปข้างหน้าทันที เรียกว่า โรคนิ้วไกปืน (Trigger finger) คนไข้มักจะมาหาด้วยอาการงอนิ้วมือนิ้วหนึ่งนิ้วใด แล้วเหยียดออกไม่ได้ ต้องออกแรงอย่างมาก นิ้วจึงจะสะบัด (กระเด้ง) ออก ถ้าเป็นมากขึ้นๆจะเหยียดออกเองไม่ได้ ต้องใช้มืออีกข้างหนึ่งช่วยดึงนิ้วให้เหยียดออก อาจมีอาการปวดเล็กน้อยบริเวณฝ่านิ้วตรงจุดที่เอ็นติด

                                                      

โรคนิ้วไกปืนนี้ ไม่ได้เกิดที่ข้อนิ้วมือ แต่เกิดที่เอ็นที่ใช้งอนิ้ว ซึ่งอยู่บริเวณที่ฝ่ามือและฝ่านิ้วมือเกิดการอักเสบ และต่อมาเป็นปุ่มเป็นปมขึ้น ทำให้เกิดการสะดุดเวลาจะเหยียดนิ้ว

การรักษา :
ในระยะแรก ให้รักษาเช่นเดียวกับโรคข้อนิ้วมือเสื่อม โดยแช่มือในน้ำร้อน (น้ำอุ่น) แล้วกำมือแบมือบ่อยๆจะช่วยให้หายได้ แต่ในกรณีที่เป็นมาก มักจะต้องผ่าตัดเพื่อให้งอและเหยียดนิ้วได้ใหม่

อาการปวดข้อที่พบบ่อยในส่วนไหล่ แขน และมือ จะมีเพียงเท่าที่กล่าวไว้นี้ ที่สำคัญที่จะต้องเน้นเรื่องการรักษาและป้องกันการปวดข้อ ก็คือ

1. อย่าใช้ข้อทำงานที่หนักหรือหักโหมเกินไป โดยเฉพาะถ้าไม่ได้เตรียมข้อนั้นไว้สำหรับงานหนักหรืองานหักโหมมาก่อน

2. อย่าใช้ข้อให้ผิดท่า (ผิดสุขลักษณะ) ของข้อ เช่น ข้อมือ จะใช้สำหรับกระดกมือและงอมือเท่านั้น อย่าใช้ข้อมือออกแรงในท่าผิด เช่น เวลาเหวี่ยงของ เวลาตีลูกเทนนิส เพราะจะทำให้ข้ออักเสบ หรือพลิกได้ง่าย

3. พยายามบริหาร (ออกกำลัง) และเคลื่อนไหวข้อต่างๆอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้อยู่เฉยๆ จะทำให้ข้อเสื่อมและอักเสบง่ายเวลาออกกำลัง

4. พยายามหลีกเลี่ยงยาแก้ข้ออักเสบ อย่าใช้ถ้าไม่ปวดมาก หรือข้อไม่อักเสบมาก เพราะยาเหล่านี้มักระคายกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดโรคกระเพาะ หรือตกเลือดในกระเพาะลำไส้ได้ง่าย ถ้าจำเป็นต้องใช้ควรกินยาลดกรดร่วมด้วย

 

ข้อมูลสื่อ

104-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 104
ธันวาคม 2530
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์