• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ข้าวยาช่วยย่อยธรรมชาติ

อาหารสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการหรือโรคที่นำมาเสนอนี้ เป็นการศึกษาของประเทศจีน ซึ่งทางจีนได้มีการค้นคว้าอย่างเป็นระบบ หากท่านผู้อ่านท่านใดได้เคยใช้ในการรักษาอาการ หรือโรคใดและได้ผล กรุณาแจ้งมายัง “หมอชาวบ้าน” เพื่อรวบรวมไว้เป็นข้อมูลศึกษา และเผยแพร่เพื่อให้เป็นประโยชน์ส่วนรวมต่อไป

จีนเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก และเป็นประเทศที่รู้จักการปลูกข้าวก่อนประเทศอื่นๆ

เมื่อประมาณ 5 พันกว่าปีมาแล้ว ในสังคมบุพกาล เซินหนง (จีนถือว่าเป็นบิดาทางการเกษตร) และในยุคจักรพรรดิหวังตี้ ชาวจีนเริ่มรู้จักการหว่านเมล็ดข้าวและเพาะปลูกข้าว ในราชวงศ์อิงและซาง (ประมาณสี่พันปีมาแล้ว) ข้าวได้กลายเป็นอาหารหลักของชาวจีน จนกระทั่งราชวงศ์ถังและซ่ง (ประมาณ 1,000-1,300 ปีมาแล้ว) ข้าวได้กลายเป็นพืชอาหารหลักที่เพาะปลูกมากที่สุดในประเทศจีน

ข้าวจากประเทศจีนได้แพร่ไปยังประเทศต่างๆทั่วโลกตั้งแต่ราชวงศ์โจว (ประมาณ 3 พันกว่าปีมาแล้ว) เนื่องจากภาคใต้ของจีนมีอาณาเขตติดกับเวียดนาม ภาคเหนือติดกับเกาหลี จึงสันนิษฐานกันว่า การแพร่ของข้าวไปยังประเทศต่างๆนั้น ในระยะแรกไปยังประเทศทั้งสองก่อนประเทศอื่น ประมาณในราชวงศ์ฮั่น (สองพันกว่าปีมาแล้ว) จึงได้แพร่เข้าไปในญี่ปุ่น

สำหรับอินเดียนั้น มีการบันทึกถึงการปลูกข้าวว่า มีขึ้นประมาณ 1,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งช้ากว่าจีนพันกว่าปี ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 5 ข้าวจากจีนได้แพร่ไปยังอิหร่าน บาบิโลน หลังจากนั้นก็ไปยังแอฟริกา และยุโรป

สำหรับทวีปอเมริกานั้น มีประวัติสั้นมากคือ 400 กว่าปีนี้เอง ในปีค.ศ.1493 (พ.ศ.2030) โคลัมบัสได้นำพันธุ์ข้าวจากสเปนไปปลูก ชาวทวีปอเมริกาจึงเริ่มรู้จักกินข้าวเป็นอาหาร
ทุกวันนี้ข้าวได้กลายเป็นอาหารหลักที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวโลก
ชื่อวิทยาศาสตร์ Oryza Sativa Linn. วงศ์ Gramineae

สรรพคุณ

ข้าวมีคุณสมบัติเป็นกลาง สรรพคุณบำรุงร่างกาย แก้กระหายน้ำ แก้บิด
ข้าวงอกมีคุณสมบัติร้อน รสหวาน สรรพคุณช่วยย่อย แก้อาการท้องอืดแน่น ไม่อยากกินอาหาร

ตำรับยา
1. อาหารไม่ย่อย : ใช้ข้าวงอกชงดื่มต่างน้ำชาเป็นประจำ
2. เหงื่อออกมากผิดปกติ : ใช้รากต้นข้าวเหนียว 30-60 กรัม ต้มดื่มน้ำ

สารเคมีที่พบ

ข้าวมีแป้งมากกว่า 74% โปรตีน 8% ไขมัน 0.5-1% นอกจากนี้ยังมีวิตามินบีต่างๆอีกจำนวนหนึ่ง ปริมาณของวิตามินในข้าวจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ข้าว ภูมิประเทศตลอดจนดินฟ้าอากาศ
ไขมันในข้าวมี Ester cholesterol, Free cholesterol, Compesterol, Stigmasterol, Sitosterol, Monoglyceride, Diglyceride, Triglyceride, Free Fatty acid, N-Lignoceryl Sphingosyl นอกจากนี้ยังมี Acetic acid, Malic acid, Succinic acid, Glycolic acid, Citric acid, Glucose, Frustose และ Maltose เป็นต้น


 

ข้อมูลสื่อ

104-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 104
ธันวาคม 2530
อาหารสมุนไพร
วิทิต วัณนาวิบูล