• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฉีดยาดีไหมคะคุณหมอ

กล่าวนำ

หมอชาวบ้านนอกจากจะมีความแตกต่างกันในเรื่องภาษาพูดแล้ว ยังมีความแตกต่างกันในเรื่องความเชื่อ ความเข้าใจ อารมณ์ความรู้สึกอื่นๆ อันเป็นผลมาจากพื้นเพการศึกษาและฐานะทางสังคมที่แตกต่างกัน จึงก่อให้เกิดช่องว่างและข้อขัดแย้งขึ้นหลายๆ อย่าง ดังปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์อยู่เป็นประจำ เราหวังว่าคอลัมน์นี้มีส่วนช่วยลดช่องว่างระหว่างหมอกับชาวบ้านได้บ้างไม่มากก็น้อย

ฉีดยาดีไหมคะคุณหมอ

“คุณหมอคะช่วยฉีดยาให้ด้วยนะคะ ลูกคนนี้เป็นอะไรต้องฉีดยาทุกทีเลยค่ะ”

“คุณหมอครับ พรุ่งนี้ผมจะต้องไปสอบ เอาเข็มเดียวให้หายเลยนะครับ”

“คุณหมอคะ เด็กคนนี้ไม่เคยยอมทานยาดีๆ เลยค่ะ ต้องกรอกกันทุกที คุณหมอฉีดยาเลยนะค่ะ”

การฉีดยา เป็นวิธีการรักษาอย่างหนึ่งของทางการแพทย์ยาแผนปัจจุบัน ในสมัยแรกที่การแพทย์แผนปัจจุบันเริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยนั้นประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก ไม่นิยม และไม่ให้ความเชื่อถือโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่มีความเชื่อถือยาเม็ด เห็นว่ายาเม็ดเล็กนิดเดียวจะมีผลในการรักษาอย่างไร สู้ยาหม้อยาต้มไม่ได้ ต้มกันทีละหม้อใหญ่ๆ กินกันทีละหลายๆ หม้อยาเยอะๆ จะได้รักษาโรคได้เร็วๆ ต่างกับสมัยปัจจุบัน ถ้าให้กลับไปกินยาทีละหม้อเห็นทีจะมีคนเอาด้วยน้อยเต็มที

ในยุคนั้น ก็ได้ยาฉีดนี้แหละที่แสดงประสิทธิภาพในการรักษาสร้างความเชื่อถือและศรัทธาการแพทย์แผนปัจจุบัน หมู่ประชาชนจนเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง

ความนิยมในยาฉีดนั้นมีมากถึงขนาดว่าเมื่อไปหาหมอ แสดงว่าไปฉีดยา มิฉะนั้นละก็ซื้อยากินเอาดีกว่า

คนไข้บางคนไปหาหมอเพื่อการตรวจและรักษา หมอตรวจแล้วให้ยามากิน ไม่ฉีดยาให้เพราะเห็นว่าเหตุผลข้อบ่งชี้ของการฉีดยา แม้จะได้อธิบายถึงเหตุผลของการที่ไม่ฉีดยาแล้วก็ตามที ก็ยังโกรธกระฟัดกระเฟียดเดินออกมาพ้นหน้าหมอ โยนห่อยาทิ้งทันที ไปหาหมอคนโน้นดีกว่า หมิคนโน้นฉีดยาให้ทุกที

บางคนยิ่งกว่านั้นอีก บอกตั้งแต่แรกเห็นหน้าหมอเลยว่า ยากินไม่เอานะ ขอยาฉีดอย่างเดียว

แสดงว่า ความนิยมเชื่อถือในยาฉีด ฝังแน่นจริงๆ

ลองมาพิจารณากันดูดีกว่า ยาฉีดและการฉีดยานั้นมีข้อดีและข้อเสียอย่างไรบ้าง และทำไมคนไข้บางคนจึงไม่ชอบฉีดยากันนัก และทำไมหมอบางคนจึงไม่ใคร่ฉีดยาให้คนไข้ยกเว้นในรายที่เป็นคนไข้ที่มีอาการหนักจริง

ว่ากันถึงข้อดีก่อน ข้อดี หรือ หมายถึงเหตุผลข้อบ่งชี้ในการฉีดยา

1. ยาฉีดบางชนิดออกฤทธิ์ได้เร็ว เร็วกว่ายากิน ทั้งนี้เพราะกลไกในการที่ยาฉีดจะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดนั้น เป็นการดูดซึมจากกล้ามเนื้อบริเวณที่ฉีดยาโดยตรง ไม่ต้องผ่านกรรมวิธีย่อยและดูดซึมจากลำไส้ ซึ่งใช้เวลานานกว่าและยิ่งในกรณีที่ คนไข้มีอาการค่อนข้างมาก การทำงานของระบบทางเดินอาหารจะเลวลงเป็นผลให้ดูดซึมยาจากลำไส้จะยิ่งช้ามากขึ้น ดังนั้น หมอจึงนิยมที่จะใช้ การฉีดยารักษาในกรณีของคนไข้ที่มีอาการหนักซึ่งต้องการการรักษาที่รีบด่วน อาทิ เช่น คนไข้โรคติดเชื้ออย่างรุนแรง คนไข้ที่มีอาการแพ้ยา คนไข้ที่กำลังจะตายและต้องทำการนวดหัวใจ เป็นต้น

การที่บอกว่า ยาฉีด ออกฤทธิ์เร็วกว่ายากินนั้น ไม่จริงเสมอไป เพราะการดูดซึมยาบางชนิดจากลำไส้กลับเป็นไปได้อย่าวรวดเร็วและสมบูรณ์ คือ ดูดซึมได้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ตัวอย่างของยาประเภทนี้ก็มีอาทิ เช่น คลอแรมเฟนิคอล ไดอาซีแพม เป็นต้น ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับชนิดของยาด้วย ว่าจะไห้ทางไหนดี จะไห้โดยการกินดีกว่า หรือจะให้โดยการฉีดดีกว่า

นอกจากนี้ การที่ยาฉีดออกฤทธิ์ได้เร็วกว่านั้น หมายความว่า ยาฉีดจะออกฤทธิ์ได้เร็วด้วย ยาส่วนใหญ่จะอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 4-6 ชั่วโมง แล้วจะถูกขับออกจากร่างกายโดยทางตับหรือไต มียาจำนวนไม่มากนักที่จะออกฤทธิ์ได้นานถึง 12-24 ชั่วโมง ดังนั้นไม่ว่าจะใช้วิธีกินหรือฉีด ก็จะต้องกินหรือฉีดยาทุกๆ ชั่วโมงเป็นอย่างช้า ถ้าคุณไม่สบายเล็กน้อย เช่น เป็นหวัด คุณจะยอมให้ตัวคุณเอง หรือลูกของคุณฉีดยาทุก 6 ชั่วโมง ละหรือ

ในกรณีที่คุณเป็นหวัดอย่างธรรมดา มีอาการไข้ ไอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว แล้วไปหาหมอฉีดยา 1 เข็ม ได้ยามากินอีกหลายซองนั้น ยาฉีดมาประโยชน์ต่อคุณน้อยนิดเดียวเพราะอีกไม่เกิน 6 ชั่วโมงต่อมา ยาที่คุณฉีดไว้ก็จะหมดฤทธิ์ การที่คุณมีอาการดีขึ้น เป็นผลจากการกินยาอย่าสม่ำเสมอต่างหาก หรือมิฉะนั้นก็เป็นเพราะโรคหายไปเอง เนื่องจากหวัดเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสและจะหายไปได้เองโดยธรรมชาติ

2. ยาฉีดเหมาะสำหรับคนไข้ที่กินไม่ได้ อาทิเช่น คนไข้ไม่รู้สึกตัว คนไข้ก่อนหรือหลังการผ่าตัด คนไข้อาเจียนมาก คนไข้ที่ระบบการทำงานของลำไส้เสียไปจนไม่อาจดูดซึมยาเข้าไปได้ เป็นต้น ส่วนกรณีเด็กไม่ยอมกินยาต้องใช้วิธีกรอกยานั้น เป็นของปกติวิสัยสำหรับเด็ก ซึ่งต้องการการแก้ไขแบบอื่น ไม่ใช่การฉีดยาซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียต่อเด็กอีกหลายอย่าง

3. ยาบางชนิดผลิตออกมแต่ยาฉีด ไม่มีชนิดที่ใช้กิน อาทิเช่น วัคซีนป้องกันโรคัด คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก พิษสุนัขบ้า ยารักษาโรค เบาหวานบางชนิด (อินซูลิน) ยารักษาโรคติดเชื้อบางชนิด (คานามัยซิน) ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาเหล่านี้ก็ต้องใช้วิธีฉีดเท่านั้น

แต่ยาบางชนิดกลับมีแต่ชนิดที่ใช้กิน ไม่มียาฉีด และยาบางชนิด การกินยากลับได้ผลดีกว่าฉีด เช่นวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ เป็นต้น

4. เป็นการประกันได้อีกอย่างหนึ่งว่าคนไข้จะได้รับยาในขนาดที่กำหนดไว้อย่างแน่นอน คนไข้บางประเภทบางคน มีความกลัวอะไรก็ไม่ทราบ หมอสั่งยาให้กินครั้งละ 1 เม็ด ก็กินแค่ครึ่งเม็ด ในขณะที่อีกประเภทหนึ่งกลับกินเสีย 2 เม็ดเลย บางคนลืมกินยาเสมอๆ บางคนกลัวว่า จะลืมกินเลยกินเผื่อมื้อหน้าไว้เลย บางคนอีกเหมือนกันกินยาแล้วลืมไป นึกว่ายังไม่ได้กิน จึงกินเสียอีกครั้ง

มีเรื่องเล่าสนุกๆ ในกลุ่มหมอว่า มีคนไข้คนหนึ่งไปรับการตรวจ หมอก็จ่ายยาไปให้ 20 เม็ด สำหรับกิน 5 วัน โดยสั่งไว้ว่า ให้กินครั้งละ 1 เม็ด วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน อีก 3 วันต่อมา คนไข้คนนั้นกลับมาหาหมอบอกว่ายาหมด หมอแปลกใจว่ายาหายไปไหน ซักถามดูก็เลยได้ความว่า คนไข้กินยาหลังอาหารตามที่หมอสั่งจริงๆ แต่กินอาหารวันละหลาย ๆ มื้อเพราะหิวบ่อยๆ จึงกินยาไปมากกว่าวันละ 4 ครั้ง ยาจึงหมดเร็ว

หันมาดูข้อเสียของการฉีดยาบ้างมีหลายประการดังต่อไปนี้

1. แพ้ยา อาจถึงตายได้แล้วแต่ชนิดของยา แน่ละยากินก็แพ้ได้แต่อาการรุนแรงน้อยกว่า มีโอกาสเยียวยารักษามากกว่า ยาฉีดที่ทำให้มีอาการแพ้รุนแรง ได้แก่ เพนนิซิลลิน เตตร้าซัยคลีน ยาแก้ปวดลดไข้ทั้งหลาย และแม้แต่วิตามินบางชนิดก็ทำให้แพ้ได้

2. ฝีหัวเข็ม หรือแผลฉีดยาเป็นหนอง ซึ่งมักจะเกิดจากฉีดยากันเองและเข็มไม่สะอาดพอ ทำให้เกิดอาการไข้และเจ็บปวดอย่างมาก นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดโรคบาดทะยักซึ่งมีอัตราการตายสูงมากได้

3. โรคตับอักเสบหรือโรคดีซ่าน ชาวบ้านธรรมดารู้จักโรคนี้ไม่มากนัก ทราบแต่เพียงว่าเป็นดีซ่าน โดยไม่รู้ว่ามาจากสาเหตุอะไรมีผลต่อตับและต่อชีวิตในระยะยาวอย่างไร หมอที่ทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญทางโรคตับทุกคน จะเกลียดการฉีดยาที่ไม่มีเหตุผลข้อบ่งชี้อย่างมากเพราะการฉีดยาคือ สาเหตุหนึ่งของการเป็นโรคนี้ และหมอผู้เชี่ยวชาญโรคตับยังพบด้วยว่า คนไข้โรคตับอักเสบบางรายซึ่งมาอาการของโรคน้อยมากจนไม่รู้สึกตัว ในอนาคตอาจเป็นโรคตับแข็งตายได้ ในปัจจุบันเราพบแล้วว่าคนไทยที่เป็นโรคตับแข็งนั้นมีสาเหตุมาจากโรคตับอักเสบนี้มากกว่าที่จะเกิดจากการกินเหล้าเหมือนในตำราฝรั่ง

4. ขาลีบ ใครๆ ทราบว่า โปลิโอทำให้ขาลีบเป็นอัมพาต แต่น้อยคนที่จะทราบว่า คนไข้โปลิโอส่วนน้อยเท่านั้นที่จะขาลีบ ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่มากถึงขนาดขาลีบ แต่ถ้าระหว่างที่กำลังเป็นโรคนี้อยู่แล้วไปฉีดยา ขาข้างฉีดยาก็จะลีบเป็นอัมพาตขึ้นได้ ดังนั้นในระหว่างที่มีโรคโปลิโอระบาด อย่าให้เด็กของท่านฉีดยาเป็นอันขาด นอกจากจะพิสูจน์อย่างแน่ชัดแล้วว่าไม่เป็นโรคโปลิโออยู่ โรคจากเชื้อไวรัสบางอย่าง เช่น โรคตาแดง ถ้าฉีดยาเข้าก็อาจทำให้ขาลีบเป็นอัมพาตได้เช่นกัน

นอกจากนี้อาการขาลีบ ก็ยังอาจเกิดจากฉีดถูกเส้นประสาท ทำให้เส้นประสาทอักเสบ หากรักษาไม่ถูกต้อง อาจกลายเป็นคนพิการได้เช่นเดียวกัน

5. มีอันตรายในระยะยาว เนื่องจากยาสะสมอยู่ในร่างกายและไม่มีทางขับออก เช่น ยาบำรุงเลือดที่เข้าธาตุเหล็ก เพราะเหล็กจะไปสะสมอยู่ที่ตับ ม้าม ผิวหนังและอื่นๆ ทำให้เกิดโรคได้ ในทางตรงข้าม ถ้าใช้วิธีกินยาที่มีธาตุเหล็กแทน เหล็กก็จะไม่ถูกดูดซึมไปมากกว่าที่ร่างกายต้องการ จึงไม่มีอันตราย

6. เจ็บตัวโดยใช่เหตุ ผู้ที่เคยถูกฉีดยาแล้วคงทราบดีว่าการฉีดยานั้นเจ็บปวดแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กๆ ที่ยังไม่เข้าใจอะไรมากนัก เมื่อมาตรวจกับหมอแล้วต้องเจ็บตัวเพราะการฉีดยาเข้า วันต่อๆ ไปก็จะเข็ด กลัวหมอ เห็นหน้าหมอก็จะร้องไห้แลไม่ยอมให้ตรวจอีก ซึ่งเป็นผลให้การตรวจวินิจฉัยโรคกระทำได้ยาก และเด็กก็จะกลัวหมอไปเรื่อยๆ จนกว่าจะโต

ผู้ใหญ่ที่ชอบขู่เด็กว่า จะพาไปหาหมอฉีดยานั้น จงรู้ไว้ด้วยเดว่ากำลังผิดอย่างมากทีเดียว เพราะเป็นการสร้างสิ่งดำมืดขึ้นในจิตใจขอเด็กทำให้เด็กกลัวหมออย่างไม่มีเหตุผลต่อไปเมื่อต้องพาเด็กไปรับการตรวจ เด็กจะยอมร่วมมือให้ตรวจดีๆ หรอก ซึ่งมีผลให้การวินิจฉัยโรคกระทำได้ยากลำบากขึ้น และการรักษาก็จะยากขึ้น

7. เสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้นโดยจำเป็น สำหรับท่านผู้มีอันจะกิน ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นคงไม่มีความหมายอะไร แต่สำหรับคนจนๆ ค่าฉีดยาที่เพิ่มขึ้นครั้งละ 10-20 บาทนั้น หมายถึงอาหารสำหรับครอบครัวทั้งมื้อ หรือทั้งวันทีเดียวล่ะ

จะเห็นได้ว่า การฉีดยานั้นข้อดีมีมาก และข้อเสียก็มีมากเช่นกัน ความคิดที่ว่า จะต้องฉีดยาหรือไม่ยอมฉีดยาเป็นอันขาด จึงเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง ควรพิจารณาเป็นรายๆ ไปว่า ควรจะให้การรักษาแบบใดจึงจะเหมาะสมสำหรับคนไข้นั้นๆ คนไข้บางคนชอบฉีดยาแต่บางคนก็ชอบฉีดยามาก บางคนก็ไม่ใคร่จะฉีด ถ้าไปพบหมอคนที่เอาแต่จะฉีดยาโดยมีเหตุผลและไม่ยมชี้แจง ก็ควรหลีกเลี่ยงเสีย

ถ้าถามว่า ฉีดยาดีไหมคะคุณหมอ

ก็ต้องตอบว่า บางครั้งก็ดี แต่บางกรณีกินยาดี ดีกว่านะครับ

ข้อมูลสื่อ

2-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 2
มิถุนายน 2522
พูดคนละภาษา
รจน์ วิพากษ์