• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคอะไรที่ไอร้อยวัน

โรคอะไรที่ไอร้อยวัน

ข้าพเจ้า ได้ออกไปตรวจผู้ป่วยในอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยนัดให้ผู้ป่วยมาตรวจ และรับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง พบว่ามีเด็กหลายคนที่มานั่งรอรับการตรวจอยู่ที่อาการไอมาก บางคนไอติดต่อกันเป็นเวลานาน กระทั่งตัวงอและอาเจียนหน้าตาแดงแทบจะไม่หายใจ เห็นเส้นเลือดโป่งออกมา บางคนไอมากจนเส้นเลือดฝอยที่ใต้เยื่อบุตาแตกเห็นเลือดแดงเป็นปื้นที่บริเวณตาขาว บางคนหนังตาบวมเนื่องจากมีการคั่งของเลือด มีเด็กทารกอายุ 2 เดือนคนหนึ่ง มีอาการไอติดต่อกัน ไม่นานนักก็ชักเกร็ง หยุดหายใจหน้าเขียว พวกเราต้องรีบช่วยกันผายปอด ใช้สายยางดูดเสมหะออกจากคอ รีบนำส่งโรงพยาบาลทันทีหลังจากเหตุการณ์อันน่าตกใจนี้ผ่านไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงถามแม่เด็กที่เป็นโรคไอทั้งหลายว่า ทราบไหมเด็กที่มีอาการไอมากเหล่านี้ เป็นโรคอะไร ปรากฏว่าไม่มีใครทราบ มีบางคนตอบว่า เป็นหวัดใหญ่ เพราะไอน้อยๆ ก็เรียกว่า หวัด ถ้าไอมากก็เรียกว่า หวัดใหญ่

โรคนี้ทางหมอเราเรียกว่า โรคไอกรน ภาษาจีนรียกว่า “แป๊ะ ยิด เส่า” ซึ่งแปลว่า ไอร้อยวัน แสดงว่าเป็นนานมาก สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งเรียกว่า Hemophilus pertussis (หรือจะเรียกเป็นไทยๆ ว่า “เชื้อไอกรน” ก็ได้) เชื้อนี้จะอยู่ในคอเด็กซึ่งเป็นโรคนี้ เชื้อโรคจะปรากฎอยู่ในระยะแรกขอองโรคเท่านั้น ต่อมาเชื้อจะหมดไปเองโรคจะกระจายติดต่อไปยังเด็กอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็วทางเสมหะระหว่างไอ

อาการของโรค

ระยะแรกจะมีอาการไอเล็กน้อยคล้ายเป็นหวัดต่อมาจะมากขึ้น และอาจมีอาการแทรกซ้อนดังที่ได้บรรยายในผู้ป่วยที่อำเภอสองพี่น้องดังกล่าวที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ในเด็กที่ฟื้นไข้แล้ว ถ้ามองดูใต้ลิ้นอาจเห็นพังผืดใต้ลิ้นขาดหรือเป็นแผล เนื่องจากเวลาไอมากๆ ฟันจะมากระทบกับพังผืดให้ลิ้นทำให้ขาดหรือเป็นแผลได้ โรคนี้มักเกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ในเด็กทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี เป็นระยะที่อันตรายมาก เนื่องจากเกิดความผิดปกติที่สมอง ทำให้ชักและหยุดหายใจได้

โรคนี้เมื่อเป็นแล้วรักษายากมาก การใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ เพื่อรักษาโรคนี้มักจะไม่ได้ผล นอกจากในระยะหลังที่มีโรคแทรกซ้อนทางปอด โดยทั่วไปเด็กจะมีอาการไอประมาณเดือนครึ่งถึงสองเดือนแล้วหายไปเอง แต่ถ้ามีโรคแทรกของทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบ หรือ ปอดอักเสบ อาจจะไอต่อไปอีก 1-2 เดือนก็ได้ คนจีนจึงเรียกว่า ไอร้อยวัน

ผู้ป่วยที่เป็นโรคบางอย่างอยู่ก่อนแล้ว เช่น วัณโรค โรคหัวใจ หรือ ไส้เลื่อน จะทำให้โรคเหล่านี้กำเริบขึ้น อาจเป็นอันตรายได้

การป้องกัน

โรคนี้สำคัญอยู่ที่การป้องกัน คือ การวัคซีนปัจจุบันนี้มีวัคซีนรวม 3 อย่าง คือ วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก เริ่มฉีดเมื่อเด็กอายุ 2 เดือน และฉีดซ้ำอีก 1 ครั้ง หลังจากฉีดครั้งแรก 2 เดือน บางแห่งอาจฉีด 3 ครั้ง เพื่อให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้น หลังฉีดแล้วระยะหนึ่งภูมิคุ้มกันจะต่ำลง จึงต้องฉีดกระตุ้นเมื่อเด็กอายุได้ปีครึ่งและสี่ปี

ปัญหาสำคัญก็คือ เด็กที่เป็นโรคนี้ยิ่งอายุน้อยก็ยิ่งมีอันตราย และโรคแทรกมากขึ้น เช่น เด็กอายุ 2 เดือน ดังกล่าวข้างต้น ในเด็กขนาดนี้แม้ว่าจะให้วัคซีนตามกำหนดก็ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน และมักมีอาการรุนแรง อันตรายสูงมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ การให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมกับเชื้อในระยะฟักตัวของโรค หรือภายในอาทิตย์แรกของโรคจะทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง สามารถลดโรคแทรกซ้อนและอัตราการตายได้ ฉะนั้น เมื่อเกิดโรคไอกรนขึ้น ควรให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมกับเชื้อแก่ทารก ซึ่งใกล้ชิดเด็กที่เป็นโรค ทั้งที่ยังไม่มีอาการ และมีอาการไม่เกิน 1 อาทิตย์ เช่น ให้กินเตตร้าซัยคลีนชนิดน้ำเชื่อม (ราคาขวดละ 10 บาท) หรืออีริโธรมัยซิชนิดน้ำเชื่อม (ราคาขวดละ 18-20 บาท) ให้ขนาดวันละ 3-4 ครั้ง อาการในระยะนี้อาจมีแค่น้ำมูกไหลหรือไอเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การให้ยาปฏิชีวนะควรให้ประมาณอาทิตย์ก็พออยู่นาน อีกวิธีหนึ่งคือ การให้ซีรั่มเฉพาะสำหรับโรคนี้ แต่ราคาแพงมาก และผลที่ได้ก็ไม่แน่นอน

เด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้ ต้องแยกจากเด็กอื่นๆ เป็นเวลา 4 อาทิตย์

การรักษา

การรักษาที่สำคัญคือ ให้อยู่ในที่อากาศปลอดโปร่ง ดูแลเรื่องอาหารและน้ำให้เพียงพอ เพราะเด็กที่ไอมากๆ อาจมีอาการอาเจียน จึงต้องให้อาหารทีละน้อยๆ อาหารควรจะข้น ถ้าอาเจียนต้องให้อาหารทดแทนใหม่ การให้น้ำจะทำให้เสมหะใส ร่างกายสามารถขับเสมหะออกได้สะดวก แม่เด็กควรอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย คอยปรนนิบัติ และปลอบโยนให้ความมั่นใจโรคนี้ดีขึ้นในเร็วๆ นี้

การให้ยาแก้ไอกรนและยาปฏิชีวนะ มีประโยชน์น้อยมากนอกจากในระยะแรกหรือระยะที่มีโรคแทรกทางปอดเท่านั้น ที่ควรให้ยาปฎิชีวนะ เลือดที่ออกได้เยื่อบุตาจะหายไปเองโดยไม่ต้องรักษา จะเห็นได้ว่า โรคนี้สำคัญอยู่ที่การป้องกันเท่านั้น คือ ป้องกันด้วยวัคซีน หรือป้องกันด้วยยา ในเด็กที่อยู่ใกล้ชิดเด็กที่เป็นโรค ฉะนั้นโปรดนำบุตรหลานของท่านไปรับการป้องกันตามกำหนด และอย่าละเลยไปรับการกระตุ้นให้ครบถ้วน

 

ภาพที่ 1 , 2 ไอกรน ไอจนมีเลือดออกใต้ตาขาว

 

ข้อมูลสื่อ

3-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 3
กรกฎาคม 2522
นพ.ปรีชา วิชิตพันธ์