• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไข้ป่า : มาลาเรีย

ไข้ป่า : มาลาเรีย

มาลาเรีย เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อมาลาเรีย ผู้ป่วยมักมีอาการหนาวสั่น ดังนั้น จึงเรียกกันว่า ”ไข้จับสั่น” แต่ผู้ป่วยมาลาเรียอาจไม่มีอาการหนาวสั่นก็ได้ นอกจากไข้แล้วผู้ป่วยมาลาเรียอาจีอาการอย่างอื่น เช่น ปวดศีรษะ ไม่รู้สึกตัว หมดสติ หรือ ท้องเดิน ฯลฯ มาลาเรียเป็นโรคที่พบได้บ่อยในชนบทในประเทศไทยโดยเฉพาะในเขตป่าเขา ฉะนั้น ผู้ที่อยู่ในที่ดังกล่าว หรือไปที่นั้น ถ้าเป็นไข้ จึงควรนึกถึงโรคนี้เสมอ ในปี พ.ศ. 2520 มีผู้ป่วยด้วยโรคมาลาเรียกว่า สามแสนคน และเสียชีวิตไม่ต่ำกว่าห้าพันคน เป็นสาเหตุตายอันดับ 7 โรคนี้เป็นโรคที่รักษาได้ ผู้ป่วยมาลาเรียที่ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาถูกต้องทันท่วงที ก็มักจะหาย น้อยรายที่ต้องเสียชีวิต

โรคนี้มียุงก้นปล่องบางชนิดเป็นพาหะนำโรค

สาเหตุ

มาลาเรียเกิดจากเชื้อมาลาเรีย ภาษาวิทยาศาสตร์เรียกว่า พลาสโมเดียม ซึ่งเป็นสัตว์เซลล์เดียว ตัวเล็กมาก ดูด้วยตาเปล่าไม่เห็น ต้องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ เชื้อมาลาเรียอาศัยอยู่ในเม็ดเลือดแดง ตัวอ่อนจะเจริญเติบโต แบ่งตัว เมื่อแก่เต็มที่จะแบ่งเป็นตัวเล็กๆ 10-20 ตัว เม็ดเลือดแดงจะแตก เชื้อตัวเล็กๆ จะออกมาแต่ละตัวก็ไชเข้าเม็ดเลือดแดงใหม่ และเจริญเติบโตไปเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้ว การเจริญพันธุ์แบบนี้จะวนเวียนไปเรื่อย จำนวนเชื้อเพิ่มขึ้น อาการผู้ป่วยจะหนักลง จนเสียชีวิต ถ้าผู้ป่วยได้รับยาฆ่าเชื้อมาลาเรีย เชื้อเหล่านี้จะตายหมดสิ้นไป ผู้ป่วยบางรายร่างกายมีความต้านทานเกิดขึ้น ก็สามารถทำลายเชื้อให้หมดไปได้เช่นกัน ระยะของเชื้อดังกล่าวนี้เป็นระยะที่เรียกว่า “ระยะไร้เพศ” เป็นระยะที่ทำให้มีอาการ “ไข้จับสั่น”

“ระยะไร้เพศ” เชื้อบางตัวจะเจริญไปเป็นเชื้อตัวผู้และตัวเมีย เชื้อมีเพศไม่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการใดๆ เลย เชื้อนี้อยู่ในเม็ดเลือดแดงซึ่งลอยไปในกระแสเลือดจนกว่ายุงก้นปล่องมากัดคน ก็จะได้เชื้อมาลาเรียตัวผู้ตัวเมียเข้าไป เชื้อตัวผู้ผสมพันธุ์กับเชื้อตัวเมีย และเจริญแบ่งตัวเป็นระยะติดต่อซึ่งกินเวลาประมาณ 10 วัน ถ้ายุงตัวนี้ไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อมาลาเรียเข้าคนนั้น เชื้อจะไปเจริญแบ่งตัวในตับแล้วจึงออกเข้าเม็ดเลือดแดง เจริญเติบโตต่อไป ดังที่กล่าวข้างต้น

ยุงก้นปล่องนำเชื้อมาลาเรียที่สำคัญในประเทศไทยมีอยู่ 2 ชนิด ซึ่งมีแหล่งเพาะพันธุ์อยู่บริเวณธารน้ำแหล่งน้ำ ตามภูเขาที่มีป่าปกคลุม ดังนั้นมาลาเรียจึงระบาดอยู่แถบบริเวณดังกล่าวเท่านั้น

เชื้อมาลาเรียที่พบบ่อยในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ

1. เชื้อมาลาเรียฟาลซิปารัม ทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า พลาสโมฟาลซิปารัม ซึ่งมักทำให้เกิดอาการเฉียบพลันรุนแรง และมีอาการแทรกซ้อนบ่อย เมื่อเชื้ออกมาจากตับ จะออกมาหมดแล้วเข้าไปอยู่ในเม็ดเลือดแดง ถ้าให้ยาฆ่าเชื้อโรคในเลือดให้ตายหมด ผู้ป่วยก็หายขาดไม่กลับเป็นไข้ช้ำอีก แต่เชื้อพวกนี้ในปัจจุบันพบว่า ดื้อต่อยาคลอโรควิน ซึ่งเป็นยารักษามาลาเรียที่ใช้กันทั่วโลก

2. เชื้อมาลาเรียไวแวกซ์หรือพลาสโมเดียม ไวแวกซ์ เชื้อมาลาเรียในตับจะออกมาเป็น ทุก 1-2 เดือน เข้าไปอยู่ในเม็ดเลือดแดง ทำให้มีไข้เป็นๆ หายๆ (หรือที่เรียกว่า ไข้กลับ) เป็นระยะ เชื้อพวกนี้ไม่ค่อยรุนแรง มักไม่มีอาการแทรกซ้อน ถ้าจะรักษาให้หายขาดไม่ให้ไข้กลับต้องกินยาฆ่าเชื้อในตับด้วย

อาการ

ผู้ที่ได้รับเชื้อมาลาเรียโดยถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกัด ประมาณ 10-14 วันจะเริ่มไม่สบาย 2-3 วันแรกอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัวเมื่อยหลัง คล้ายไข้หวัดใหญ่ ต่อมาจึงมีอาการ “ไข้จับสั่น” ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของมาลาเรีย การจับไข้แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

1. ระยะหนาว เริ่มด้วยมีไข้ขึ้นหนาว ต่อมาสั่น ผิวหนังมักจะซีด ระยะนี้กินเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง

2. ระยะร้อน ไข้ขึ้นสูงสุด ผู้ป่วยจะรู้สึกร้อน ปวดศีรษะมาก กระสับกระส่าย เพ้อ เด็กมักชัก ผิวหนังแห้ง แดง ร้อนผ่าว กระหายน้ำ ระยะนี้กินเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

3. ระยะเหงื่อออก ผู้ป่วยจะเริ่มเหงื่อออก ไข้ค่อยๆ ลดลงจนผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลีย อาจหลับไป ระยะนี้กินเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง

ผู้ป่วยมาลาเรียฟาลซิปารัม มักจับไข้ทุกวัน ถ้าเป็นมาลาเรียไวแวกซ์มักจับไข้เว้นวัน อาการไข้มาลาเรียไม่จำเป็นต้อง “จับสั่น” ดังกล่าวเสมอไป คล้ายกับไข้อื่นก้ได้ และอาการหนาวสั่นดังกล่าวก็อาจพบในโรคอื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ กรวยไตอักเสบ ปอดบวม ท่อน้ำดีอักเสบ เป็นต้น สรุปได้ว่ามาลาเรียไม่จำเป็นต้องหนาวสั่นไม่จำเป็นต้องเป็นมาลาเรียเสมอไป

ผู้ป่วยมาลาเรียฟาลซิปารัมที่มีอาการมากๆ มักมีภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วย ดังนี้

1. มาลาเรียขึ้นสมอง ผู้ป่วย ซึม ไม่ค่อยรู้สึกตัว หมดสติ อาจเพ้อ กระสับกระส่าย หรือชักก็ได้

2. มาลาเรียลงตับ ผู้ป่วยมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง เบื่ออาหาร อ่อนเพลียมาก บางรายอาเจียนมากด้วย

3. มาลาเรียลงไส้ ผู้ป่วยมีอาการท้องเดิน อาจมีอุจจาระเป็นมูกเลือดเหมือนเป็นบิด

4. มาลาเรียลงไต มีปัสสาวะน้อย ไม่ถึงครึ่งขวดน้ำปลาหรือ 400 ซี.ซี. ในหนึ่งวัน (ปกติผู้ใหญ่จะปัสสาวะประมาณ 2 ขวดน้ำปลา) บางรายไม่มีปัสสาวะเลย ผู้ป่วยอาจตายเพราะไตไม่ทำงาน (หรือที่เรียกว่าภาวะไตล้ม) ทำให้มีการคั่งของของเสียในร่างกายจนเป็นพิษ

5. ซีดและไข้น้ำดำ ผู้ป่วยจะซีดลงอย่างรวดเร็ว เพราะเม็ดเลือดแดงแตก ปัสสาวะสีคล้ำเหมือนน้ำปลาหรือโคคา-โคล่า ตัวเหลืองบ้างอ่อนเพลืยมากภาวะเช่นนี้ส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยที่เม็ดเลือดบกพร่องสาร ‘จี 6 พีดี’ และแพ้ยาบางชนิดที่กินเข้าไป จีงเรียกว่า “ไข้น้ำดำ” เพราะปัสสาวะสีคล้ำ บางรายมีภาวะไตล้มร่วมด้วยและผู้ป่วยอาจเสียชึวิต

6. ช็อค ผู้ป่วยตัวเย็น ซีด ความดันต่ำมาก อาจเสียชีวิตถ้าไม่รับการรักษาทันท่วงที

ภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวอาจมีร่วมกันหลายอย่างก็ได้ เช่น เป็นทั้งมาลาเรียขึ้นสมอง ลงตับ ลงไตด้วย

การเป็นไข้มาลาเรียซ้ำอีก อาจเกิดจากสาเหตุ 2 ประการ

1. ได้รับเชื้อใหม่ คือ ถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกัดอีก

2. เชื้อกำเริบเนื่องจาก

2.1 เชื้อถูกฆ่าไม่หมด เพราะได้ยาไม่พอ (กินไม่ครบชุด)

เชื้อดื้อต่อยา เช่น ในกรณีของมาลาเรีย ฟาลซิปารัมจากเชื้อดื้อยาคลอโรควิน ในกรณีมาลาเรียไวแวกซ์ เกิดจากเชื้อมาลาเรียยังหลบซ่อนอยู่ในตับ และออกมาเข้าเม็ดเลือดอีก

2.2 มีเชื้อสองชนิด บางคนอาจได้รับเชื้อทั้งสองชนิด แต่ปรากฏอาการแต่ละชนิด เช่น มาลาเรียฟาลซิปารัมก่อน เมื่อรักษามาลาเรียฟาลซิปารัมหายไปแล้ว ต่อมาผู้ป่วยเป็นมาลาเรียไวแวกซ์

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยโรคมาลาเรียต้องอาศัย

1. ประวัติผู้ที่เคยเข้าไปในดงมาลาเรีย เกิดอาการตัวร้อนหลังจากวันแรกที่เข้าป่า 10 วันขึ้นไป ควรนึกถึงมาลาเรียเสมอ บางคนอาจช้าเกิดอาการหลังจากเข้าป่าหลายเดือน หรืออาจถึง 1-2 ปีก็ได้ ผู้ที่ได้รับการถ่ายเลือดอาจได้รับเชื้อมาลาเรียจากเลือดนั้นได้ ฉะนั้นหลังจากได้รับการถ่ายเลือด ถ้าผู้ป่วยเกิดเป็นไข้ควรนึกถึงมาลาเรียเสมอ

2. อาการ ผู้ป่วยที่มีอาการไข้หนาวสั่น หรือไข้หมดสติ ไม่รู้สึกตัวและมีประวัติเข้าไปในดงมาลาเรียต้องนึกถึงโรคนี้

3. ตรวจเลือดหาเชื้อมาลาเรีย ถ้าสามารถทำได้ เช่น หน่วยมาลาเรีย สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลที่ตรวจเลือดหาเชื้อมาลาเรียได้ ก็ควรตรวจเสียก่อน จะวินิจฉัยได้แน่นอนและสามารถบอกได้ว่าเป็นมาลาเรียชนิดใดด้วย

การรักษา

ในรายที่สงสัยว่า เป็นมาลาเรียไม่สามารถไปหาหมอหรือที่หน่วยมาลาเรียได้ สำหรบผู้ที่ป่วยที่มีอาการน้อย และไม่แพ้ยาพวกวัลฟาผู้ป่วยอาจรับประทาน แฟนซีดาร์ (ในยาแฟนซีดาร์มีซัลฟาด๊อกซีน 500 มิลลิกรม และไพริเมทามีน 25 มิลลิกรัม ราคาเม็ดละประมาณ 3-4 บาท) 2-3 เม็ด และไพรมาควิน 3 เม็ด (5 มิลลิกรัม) ครั้งเดียว (ราคาเม็ดละ 0.50-1 บาท) และพยายามดื่มน้ำมากๆ ถ้าเป็นเด็กให้ลดขนาดลงตามส่วน ถ้าไข้สูงอาจกินยาลดไข้เช่น แอสไพริน 2 เม็ด (ควรกินหลังอาหาร) หรือใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อยๆ จนกว่าไข้จะลดลง

อาการมาก หรือมีภาวะแทรกซ้อนควรไปหาแพทย์ หรือไปโรงพยาบาล ถ้าไม่สามารถทำได้ ควรกินยาแฟนซีดาร์ 2-3 เม็ด ครั้งเดียว ร่วมกับยาควีนิน 2 เม็ด (ขนาดเม็ดละ 5 เกรน) วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน ถ้าไม่มีแฟนซีดาร์หรือกินยาพวกซัลฟาไม่ได้ ควรกินยาควีนิน 7-10 วัน ไม่ควรฉีดยาควีนินเข้ากล้าม เพราะปวดมากและอาจเป็นฝี กินได้ผลดีกว่าฉีดเข้ากล้าม เมื่อผู้ป่วยทุเลาแล้วควรให้ ไพรมาควิน 3 เม็ด (45 มิลลิกรัม) รับประทานวันละ 1 เม็ด (15 มิลลิกรัม) เป็นเวลา 5 วัน ทั้งนี้เพื่อฆ่าตัวผู้ตัวเมีย และป้องกันการแพร่โรค

ถ้าตรวจเลือดรู้ว่าเป็นมาลาเรียฟาลซิปารัมก็ให้การรักษาตามข้างต้นได้ แต่ถ้าเป็นมาลาเรียวแวกซ์ ควรให้ คลอโรควิน (ราคาเม็ดละ 25 ส.ต.) ครั้งละ 2 เม็ด วันแรกรับประทาน 3 ครั้ง (เช้า กลางวัน เย็น) ต่อไปกินวันละครั้งอีก 2 วัน (รวม 10 เม็ด) เมื่อผู้ป่วยหายไข้แล้วจะป้องกันไข้กลับ ให้ไพรมาควิน เม็ดละ 15 ม.ก. วันละ 1 เม็ด หรือเม็ดละ 7.5 ม.ก. วันละ 2 เม็ดเป็นเวลา 14 วัน ระหว่างนี้ต้องสังเกตอาการถ้ารู้สึกมีอาการอ่อนเพลียปัสสาวะเข้ม หรือตาเริ่มเหลือง ให้หยุดยาทันทีและดื่มน้ำมากๆ เพราะยาไพรมาควินทำให้เม็ดเลือดแดงแตกได้มากๆ ผู้ป่วยจะซีด ปัสสาวะสีคล้ำคล้ายน้ำปลา หรือโคคา-โคล่า ถ้าอาการหนัก ซึดมากรือปัสสาวะน้อยหรือไม่ปัสสาวะเลย ควรรับนำส่งโรงพยาบาล

การป้องกัน

เมื่อเข้าป่าที่มีภูเขา ควรนึกถึงโรคมาลาเรียเสมอ มาลาเรียกำลังระบาดที่ชลบุรี ระยอง ตราด จันทบุรี นครนายก ปราจีนบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี ตาก แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน สระบุรี นครราชสีมา ชัยภูมิ เลย และทางใต้ โดยเฉพาะฝั่งตะวันตก ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ลงไป ควรสอบถามจ้าหน้าที่อนามัยดู

ถ้าจะเข้าไปในดงมาลาเรียควรป้องกันโดย

1. อย่าให้ยุงกัด นอนกางมุง ทายากันยุง ฯลฯ

2. กินยาฟาซีต้าร์ 1 เม็ด ร่วมกับคลอโรควิน 2 เม็ดทุกอาทิตย์ตลอดเวลาที่อยู่ในดงมาลาเรีย และเมื่ออกมาแล้วกินต่ออีก 8 อาทิตย์

แม้จะปฎิบัติตามที่กล่าวข้างต้นแล้วก็ตาม ก็ยังไม่สามารถป้องกันมาลาเรียได้ถึง 100% เพราะยาที่ใช้ยังไม่มีประสิทธิภาพสูงพอ และการก้องกันไม่ให้ยุงกัดก็ทำไม่ได้เต็มที่ เพียงยุงที่มีเชื้อแอบมากัดเพียงครั้งก็สามารถเป็นได้ ถึงกระนั้นก็ดี เราก็ควรป้องกันไว้เพราะช่วยได้ประมาณ 80% ถ้าเป็นไข้หลังจากออกจากป่าก็คงนึกถึงมาลาเรียด้วย

เราควรช่วยกันปราบปรามโรคนี้โดยให้ความร่วมมือแก่เจ้าหน้าที่หน่วยควบคุมมาลาเรียในการพ่นดีดีพี เพื่อปราบยุง เมื่อสงสัยว่าจะเป็นมาลาเรีย ถ้ามีหน่วยมาลาเรียอยู่ไม่ไกลก็ควรไปที่หน่วยเพื่อรักษา ฆ่าเชื้อให้หมดสิ้นไป ไม่แพร่กระจายไปยังผู้อื่นต่อไป

ข้อมูลสื่อ

3-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 3
กรกฎาคม 2522
โรคน่ารู้
นพ.ปรีชา เจริญลาภ