• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ชีพจร

ชีพจร

ชีพจรเกิดขึ้นได้อย่างไร

ชีพจรเกิดจากการบีบตัวของหัวใจเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ทำให้เกิดแรงดันมากระทบผนังของเส้นเลือด เป็นผลให้เส้นเลือดมีการหดและขยายตัวตามจังหวะการบีบตัวของหัวใจ ซึ่งเราสามารถคลำได้ตรงตำแหน่งที่เส้นเลือดแดงวิ่งผ่านหรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ชีพจรคือจังหวะการเต้นของหัวใจ

ชีพจรอยู่ตรงไหน

ชีพจรที่คลำได้ตามร่างกายนั้น จะพบว่ามักจะอยู่ตรงตำแหน่งที่เป็นส่วนข้อต่อของกระดูก เช่น ข้อมือ ข้อพับแขน ขาหนีบ ขมับ และคอ ในผู้ใหญ่นิยมจับชีพจรที่ข้อมือทางด้านหัวแม่มือ หรือที่แขนเพราะคลำได้ง่ายและสะดวก ในเด็กเล็กๆ ที่ข้อมือบางครั้งอาจจะคลำลำบากมาก ดังนั้นจึงนิยมคลำที่ขาหนีบเพราะที่ตำแหน่งขาหนีบจะเป็นตำแหน่งที่คลำได้ชัดทั้งผู้ใหญ่และเด็ก

วิธีจับชีพจร

ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. ให้ผู้ป่วยนั่ง หรือนอนพักหายเหนื่อยก่อนประมาณ 5-10 นาที

2. ในท่านั่งให้ผู้ป่วยนั่งให้สบายที่สุดเหยียดแขนหรือข้อมือให้ตรง ที่แขนควรมีที่รองรับเพื่อให้รู้สึกสบายแขนไม่เกร็ง แต่ถ้าจับในท่าที่คนไข้นอนให้ผู้ป่วยนอนหงายแขนราบกับพื้นหงายฝ่ามือขึ้น

3. วางนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง บนตำแหน่งที่เส้นเลือดแดงผ่าน (ดังรูป) เช่น ที่ข้อมือด้านหัวแม่มือหรือข้อแขน เป็นต้น แล้วกดปลายนิ้วทั้งลงเบาๆ จับเวลา นับจำนวนครั้งในการเต้นของชีพจรนาน 1 นาที ในรายที่เต้นสม่ำเสมออาจจับเวลาเพียงครึ่งนาทีแล้วคูณสอง

ข้อควรระวัง

1. ระวังอย่าใช้นิ้วหัวแม่มือจับชีพจรคนไข้ เพราะจะจับได้ชีพจรของผู้จับเอง เนื่องจากนิ้วหัวแม่มือมีเส้นเลือดใหญ่มาเลี้ยงนั่นเอง

2. ไม่จับชีพจรในขณะที่คนไข้ตื่นเต้นหรือตกใจกลัว หรือภายหลังออกกำลังกายมาใหม่ๆ เพราะขณะนั้นชีพจรจะเต้นเร็วกว่าปกติ ควรรอให้ร่างกายอยู่ในสภาพปกติก่อน

3. ควรใช้นาฬิกาที่มีเข็มวินาทีจับชีพจร เพราะสะดวกในการจับ

ควรจับชีพจรเมื่อใดบ้าง

1. เมื่อมีอาการผิดปกติหรือเจ็บป่วยเกิดขึ้น เช่น เป็นไข้ตัวร้อน ปวดหัว ปวดท้องอย่างรุนแรง ท้องเดิน ซีด เหลือง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หน้ามืด เป็นลม เจ็บหน้าอก ฯลฯ

2. เมื่อมีการเสียเลือด หรือประสบอุบัติเหตุ

3. เมื่อรู้สึกว่าใจสั่น ซึ่งอาจมีสาเหตุจากโรคทางกายจริงๆ หรือโรคทางใจ (โรคประสาท วิตกกังวลคิดมาก) ก็ได้

ชีพจรเต้นอย่างไร

ในคนปกติ ชีพจรจะเต้นแรงเป็นจังหวะสม่ำเสมอ

  • ผู้ใหญ่ เต้นประมาณนาทีละ 60-80 ครั้ง
  • เด็กเต้น ประมาณนาทีละ 90-100 ครั้ง
  • ทารกแรกเกิด เต้นประมาณนาทีละ 120-130 ครั้ง

จะเห็นว่าทารกแรกเกิดชีพจรเต้นเร็วมาก เมื่อยิ่งโตขึ้นอายุมากขึ้นชีพจรจะเต้นช้าลง แต่จะแรงเป็นจังหวะสม่ำเสมอ

การเต้นของชีพจรที่ผิดปกติ

การเต้นของชีพจรที่ผิดปกติ เกิดจากสาเหตุต่างๆ ได้หลายสาเหตุ การเต้นผิดปกติอาจเกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราว นานๆ ครั้ง หรือเกิดขึ้นเป็นประจำ

เราลองมาพิจารณาการเต้นของชีพจรลักษณะต่างๆ ดังนี้

1. ชีพจรที่เต้นแรงและเร็วกว่าปกติ เช่น ผู้ใหญ่เต้นนาทีละ 100-120 ครั้ง ชีพจรแบบนี้จะพบได้ในคนที่เป็นโรคและไม่เป็นโรคก็ได้

ถ้าการเต้นนั้นเกี่ยวข้องกับอาการเหนื่อยง่าย เวลาออกกำลังกายเพียงเล็กน้อยหรือว่าอยู่เฉยๆ หัวใจก็เต้นแรงผิดปกติ รู้สึกเจ็บหน้าอกบ่อยๆ เหนื่อยง่าย อาการที่เกิดขึ้นนี้มักพบในคนที่เป็นโรคหัวใจ

ถ้ามีอาการเหนื่อยง่าย กินจุ แต่ผอมลง คลื่นไส้อาเจียน คอโต หรือตาโปน ก็อาจเป็นโรคต่อมทัยรอยด์ (คอพอกเป็นพิษ)

คนที่มีไข้ตัวร้อน ก็อาจมีชีพจรเต้นแรงและเร็วได้ ตามปกติถ้าไข้ขึ้น 1 ฟ. (องศาฟาเรนไฮท์) ชีพจรจะเต้นเร็วขึ้นอีกนาทีละ 10 ครั้ง

คนที่ซีดโลหิตจาง หรือได้รับยาบางตัว (เช่น ฮะดรีนาลีน ฉีดแก้หืด) ก็มีชีพจรที่เต้นเร็วได้

ในคนที่ร่างกายเป็นปกติ ชีพจรก็อาจเต้นเร็วได้ แต่มักจะมาจากสาเหตุต่างๆ เช่น ออกกำลังอายมาใหม่ๆ ตื่นเต้น ตกใจกลัว แต่เมื่อได้พักหัวใจก็จะเต้นเป็นปกติเหมือนเดิม

2. ชีพจรที่เต้าช้ากว่า 60 ครั้งต่อนาที บางรายอาจไม่แสดงอาการ แต่บางรายก็มีอาการหน้ามืด วิงเวียนเป็นลมได้ มักพบในคนที่มีความผิดปกติของหัวใจ

คนไข้ที่มีก้อนเลือดในสมอง (เช่น ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ) หรือมีสาเหตุอะไรก็ตามที่ทำให้ความดันภายในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น ก็อาจมีชีพจรเต้นช้าลงได้

ในคนที่เป็นนักกีฬาที่มีร่างกาย “ฟิต” เต็มที่ก็จะพบว่าชีพจรเต้นค่อนข้างช้า แต่มีแรงและสม่ำเสมอดีชีพจรแบบนี้เราถือเป็นสิ่งที่ดีมาก

3. ชีพจรเต้นเบาและเร็ว พบในคนที่เป็นลม ช็อค ท้องเดินมากๆ ท้องนอกมดลูก กระเพาะทะลุ ถ้าชีพจรในลักษณะนี้รีบให้การปฐมพยาบาลแล้วส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

4. ชีพจรที่เต้นไม่สม่ำเสมอ

ถ้าเป็นตลอดเวลา จะพบในคนที่เป็นโรคหัวใจ คอพอกเป็นพิษ

ในคนปกติ บางครั้งชีพจรก็เต้นไม่สม่ำเสมอเป็นครั้งเป็นคราวได้ ซึ่งเป็นผลมาจากร่างกายได้รับยาและสารเคมีบางชนิดเข้าไปในร่างกาย เช่น เหล้า บุหรี่ กาแฟ หรือแม้แต่ถ้าพักผ่อนไม่เพียงพอเคร่งเครียด ก็ทำให้ชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอได้

ขอให้ท่านลองฝึกจับชีพจรกันดูเถิด เมื่อจับแล้วไม่แน่ใจว่า เต้นปกติหรือผิดปกติหรือไม่ ท่านอาจจะขอคำแนะนำจากหมอที่ใกล้บ้านท่าน ต่อๆ ไปเมื่อท่านจับชีพจรบ่อยๆ ครั้ง จะเกิดความชำนาญขึ้นสามารถจะแยกออกว่าเต้นปกติหรือผิดปกติได้ จะเป็นประโยชน์ต่อตัวท่านเอง และทุกๆ คนในบ้าน เมื่อเกิดอาการผิดปกติต่างๆ ดังที่กล่าวเป็นข้อๆ ไว้นั้น จะสามารถป้องกันอันตรายขั้นรุนแรงที่จะเกิดกับผู้ป่วยได้

ข้อมูลสื่อ

3-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 3
กรกฎาคม 2522
พยาบาลในบ้าน
ลลิตา อาชานานุภาพ