• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เลือดบวก (เทียม) เชื้อบวก (ปลอม) (ตอนที่ 3)

2 ฉบับที่ผ่านมาได้พูดถึงการตรวจหรือการทดสอบทางการแพทย์ว่า จะให้ผลบวก (ถ้าบ่งบอกว่าเป็นโรค) และผลลบ (ถ้าไม่ได้บ่งบอกว่าเป็นโรค) ซึ่งแปลผลได้เป็น 4 ทางได้แก่
1. ผลบวกแท้ คนที่เป็นโรคและถูกตรวจว่าเป็นโรค
2. ผลบวกเทียม คนปกติ แต่ถูกตรวจว่าเป็นโรค
3. ผลลบแท้ คนปกติ และถูกตรวจว่าปกติ (ไม่เป็นโรค)
4. ผลลบเทียม คนที่เป็นโรค แต่ถูกตรวจว่าปกติ

การทดสอบทางการแพทย์ที่ดีจะต้องให้ผลบวกแท้และผลลบแท้ให้ได้มากที่สุด และให้ผลบวกเทียมและผลลบเทียมให้น้อยที่สุด

การทดสอบที่เลวก็คือ ให้ผลบวกเทียม หรือผลลบเทียมค่อนข้างมาก ซึ่งทำความเสียหายทั้งคู่

ผลบวกเทียม เป็นการปรักปรำคนปกติให้เป็นคนไข้ นอกจากจะทำให้เสียเงินเสียทองในการรักษาโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังต้องเสี่ยงต่ออันตรายจากการแพ้ยาหรือการผ่าตัด ซ้ำร้ายกว่านั้นคือ ความกระทบกระเทือนทางจิตใจของคนที่ถูกหาว่าเป็นโรค ( เช่น ถูกหาว่าเป็นมะเร็งทั้งๆที่ไม่ได้เป็น หรือถูกหาว่าเป็นโรคเอดส์ทั้งๆที่ไม่ได้เป็น) รวมทั้งญาติๆ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอันตีค่าเป็นเงินทองไม่ได้

ส่วนผลลบเทียม เป็นความสะเพร่าที่ปล่อยให้คนไข้ไม่ได้รับการเยียวยารักษาที่ทันกาล เพราะถูกตรวจว่าปกติ ย่อมทำให้โรคลุกลามยากแก่การรักษา หรือต้องเสียเวลาและเงินทองในการรักษาโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นตามมา เช่น คนไข้มาลาเรีย ก็จะไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจนกลายเป็นมาลาเรียขึ้นสมอง ผลลงเอยถ้าไม่ตายก็ต้องให้การรักษาที่ยุ่งยากซับซ้อนยิ่งขึ้น

โดยหลักทางการแพทย์มีอยู่ว่าความถูกต้องแม่นยำของการทดสอบต่างๆย่อมขึ้นกับความไว (Sensitivity) และความจำเพาะ (Specificity) ของการทดสอบนั้นๆ

จำเป็นหลักง่ายๆว่า ถ้าการทดสอบมีความไวสูง คนที่เป็นโรคส่วนมากก็จะถูกตรวจพบว่าเป็นโรค (ผลบวก) กล่าวคือ จะให้ผลบวกแท้มากและผลลบเทียมน้อย เช่น ถ้าการทดสอบมีความไว 90% ก็หมายความว่า ใน 100 คนที่เป็นโรค จะตรวจพบผลบวก (แท้) 90 คน และผลลบ (เทียม) 10 คน ถ้าหากมีความไวต่ำก็จะให้ผลบวกแท้น้อยและผลลบเทียมมาก นั่นคือคนที่เป็นโรคจำนวนมากจะได้รับการวินิจฉัยที่ผิดพลาดว่าไม่เป็นโรค อุปมาดุจดั่งศาลตัดสินปล่อยคนร้ายจำนวนมาก เพราะพยานหลักฐานไม่สามารถยืนยันว่าเป็นคนร้าย

ถ้าการทดสอบมีความจำเพาะสูง คนที่ปกติจำนวนมากก็จะตรวจไม่พบว่าเป็นโรค (ผลลบ) กล่าวคือจะให้ผลลบแท้มากและผลบวกเทียมน้อย เช่น ถ้าการทดสอบมีความจำเพาะ 95 % ก็หมายความว่า ในคนปกติ 100 คน จะตรวจพบผลลบ (แท้) 95 คน และผลบวก (เทียม) 5 คน ถ้าหากมีความจำเพาะต่ำ ก็จะให้ผลลบแท้น้อยและผลบวกเทียมมาก อุปมาดุจดั่งศาลพิพากษาคนดีจำนวนมากให้เป็นคนร้าย เพราะพยานหลักฐานบ่งชี้ไปเช่นนั้น

ดังนั้นการทดสอบที่ดี จะต้องมีทั้งความไวสูง และความจำเพาะสูง ยิ่งใกล้ 100% ทั้งคู่ยิ่งดี
แต่การทดสอบแบบนั้นย่อมทำได้ยาก และราคาแพง

ในทางปฏิบัติ โรคแต่ละชนิดจะมีวิธีทดสอบมากกว่า 1 วิธีขึ้นไป ซึ่งย่อมมีความไวและความจำเพาะต่างๆกันไป

ในการตรวจขั้นต้น มักจะเลือกใช้วิธีทดสอบที่มีความไวสูงไว้ก่อนแต่จะมีความจำเพาะไม่สูงนัก ในกรณีเช่นนี้ การทดสอบจะได้ผลบวกแท้มาก ผลลบเทียมน้อย (เพราะมีความไวสูง) แต่จะได้ผลบวกเทียม (เพราะมีความจำเพาะต่ำ) ติดร่างเหมาด้วย อุปมาดุจดั่งศาลสามารถพิพากษาคนร้ายให้เป็นคนผิดได้เกือบทุกคน แต่ขณะเดียวกันก็พลอยพิพากษาเอาคนดีบางส่วนให้เป็นคนร้ายไปด้วย

ดังนั้น ในการวินิจฉัยโรค แพทย์จะใช้ข้อมูลจากผลการตรวจหรือการทดสอบหลายๆอย่างมาประกอบ เพื่อให้ผิดพลาดน้อยที่สุด เช่น เมื่อผู้เขียนถูกเอกซเรย์พบว่า มีก้อนคล้ายมะเร็งที่กระเพาะอาหาร ก็จำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมด้วยการเอาเครื่องมือส่องดูกระเพาะโดยตรง ก็บอกได้แน่ชัดว่าไม่ได้เป็นมะเร็ง หรือคนที่สงสัยเป็นไข้มาลาเรีย แม้จะตรวจไม่พบเชื้อในเลือด แต่ถ้าหากมีประวัติอาการที่ชวนให้คิดว่าไม่น่าจะเป็นโรคอื่น แพทย์ก็จะให้ยารักษามาลาเรียไปเลย โดยจะไม่เชื่อตามผลการตรวจเลือดเพียงอย่างเดียว เป็นต้น

เวลานี้มีคนนิยมตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งใน 100 คน จะพบว่าเป็นโรคอยู่เพียงไม่กี่คน สมมติว่ามีสัก 10 คนที่เป็นโรค ที่เหลืออีก 90 คนเป็นคนปกติ ถ้าหากการตรวจเลือดหรือเอกซเรย์มีความจำเพาะต่ำ สมมติว่ามีความจำเพาะสัก 70% ดังนั้นในบรรดา 90 คนที่ปกติจะพบว่าเป็นผลลบแท้เสีย 63 คน (70% ของ 90 คน) และเป็นผลบวกเทียมเสีย 27 คน (30 % ของ 90 คน) ถ้าไปยึดเอาผลการทดสอบเพียงอย่างเดียวเป็นตัวชี้ขาด ก็จะมีคนปกติที่ถูกหาว่าเป็นโรคถึง 27 คน

ถ้าเป็นเรื่องของการตรวจโรคเอดส์ หรือโรคมะเร็ง ความเสียหายย่อมเกิดขึ้นอย่างมหาศาล ดังกรณีของนางแบบสาวที่ถูกหาว่าเป็นโรคเอดส์ เป็นต้น

เรื่องนี้ออกจะเป็นวิชาการไปสักหน่อย หากยังงงๆอยู่ก็ขอให้อ่านทบทวนให้เข้าใจจะได้ไม่ต้องถูก “ผลบวกเทียม” และ “ผลลบเทียม” หลอกหลอนเอา

 

 

ข้อมูลสื่อ

105-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 105
มกราคม 2531
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช