• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการปวดข้อ (ต่อ)

นอกจากอาการข้อไหล่ ข้อศอก ข้อมือ และข้อนิ้วมือที่ได้กล่าวถึงในฉบับก่อนๆแล้ว อาการปวดข้อที่พบบ่อยคล้ายๆกันคือ อาการปวดข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อเท้า และข้อนิ้วเท้า ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป

5. ปวดข้อสะโพก :
อาการปวดข้อสะโพกที่ไม่ฉุกเฉิน คืออาการปวดเมื่อยในข้อสะโพก เดินแล้วเจ็บในบริเวณสะโพก ทำให้เดินไม่ถนัดหรือเดินกะเผลก (ถ้าเจ็บมากจนเดินไม่ได้หรือขยับขาไม่ได้ หรือเกิดหลังหกล้มโดยเฉพาะในคนชรา ให้ถือเป็นอาการปวดข้อฉุกเฉิน ควรให้นอนนิ่งๆ และนำส่งโรงพยาบาล)

อาการปวดข้อสะโพกที่ไม่ฉุกเฉิน มักเกิดจากข้อเสื่อมตามอายุ (osteoarthritis) แต่ก็เกิดจากการอักเสบได้ เช่น โรคข้อรูมาตอยด์ ( rheumatoidarthritis) โรคกระดูกสันหลังอักเสบแข็ง (ankylosing spondylitis) เป็นต้น

อาการปวดข้อสะโพกที่เกิดจากการอักเสบ มักจะมีไข้ (ตัวร้อน) และหรือมีลักษณะของการอักเสบ (ปวด บวม แดง ร้อน) ที่ข้ออื่นๆด้วย

อาการปวดข้อที่มีลักษณะเช่นนี้ จำเป็นต้องใช้ยาแก้อักเสบ เช่น แอสไพริน กินครั้งละ 3-4 เม็ด วันละ 3-4 ครั้งหรืออินโดเมทาซิน (indomethacin) กินครั้งละ 1-2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง

ยาทั้ง 2 ชนิดนี้ควรกินพร้อมกับอาหารหรือหลังอาหารทันที เพื่อป้องกันการระคายกระเพาะอาหารและในคนที่ชอบปวดท้องเวลาหิวหรือเวลาอิ่ม หรือเป็นโรคกระเพาะอยู่ไม่ควรใช้ยานี้ ถ้าจำเป็นต้องใช้เพราะปวดมาก ต้องกินยาลดกรดครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ หรือ 2 เม็ด 1-2 ชั่วโมงหลังอาหาร และเวลาท้องว่างหรือปวดท้องด้วย

ส่วนอาการปวดข้อที่เกิดจากข้อเสื่อมตามอายุ จะไม่มีไข้ (ตัวร้อน) และไม่มีลักษณะของการอักเสบที่ข้ออื่นๆ อาหารปวดข้อสะโพกจากข้อเสื่อมมักเกิดจากความอ้วน (น้ำหนักมากเกินไป) การใช้ข้อสะโพกรับน้ำหนักในท่าที่ไม่เหมาะสม เช่น นั่งยองๆ การกระโดด การแบกของหนักๆ เป็นต้น

ดังนั้น การรักษาที่ดีคือ การหลีกเลี่ยงจากท่าทางหรือกิริยาที่ทำให้ข้อสะโพกเจ็บ พยายามใช้ข้อสะโพกข้างที่เจ็บให้น้อยลง และถ้าปวดมากอาจกินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือแอสไพรินได้
เมื่ออาการปวดดีขึ้นแล้ว ให้พยายามบริหารข้อสะโพก เช่นการนอนหงาย แล้วยกขาในท่าเหยียดขึ้นจนเกือบตั้งฉากกับลำตัวหรือพื้น ในระยะแรกอาจยกทีละข้างสลับกัน เมื่อแข็งแรงขึ้นแล้วให้ยกขาทั้งสองข้างขึ้นพร้อมๆกัน (ดูรูป) 

                                                

นอกจากนั้น ควรบริหารข้อสะโพกด้วยการถีบจักรยานอยู่กับที่ หรือถีบจักรยานในอากาศ ( นอนหงายยกขาทั้ง 2 ข้างขึ้น แล้วทำท่าถีบจักรยาน โดยไม่ต้องมีจักรยานจริงๆ ) และที่สำคัญที่สุดคือ การลดน้ำหนักลง (ไม่ให้อ้วนหรือท้วมเด็ดขาด)

6. ปวดข้อเข่า : อาการปวดข้อเข่าที่มีอาการปวด บวม แดง ร้อน ที่ข้อเข่า หรือปวดมากจนเดินไม่ได้หรืองอเข่า เหยียดเข่าไม่ได้ ให้ถือว่าเป็นอาการปวดข้อฉุกเฉิน ให้พักข้อเข่า (ให้ข้อเข่าข้างนั้นอยู่นิ่งๆ แล้วรีบส่งโรงพยาบาล)

ส่วนอาการปวดข้อเข่าที่ไม่มีอาการอักเสบ (บวม แดง และร้อน) ร่วมด้วย มักเกิดจากโรคข้อเข่าเสื่อม
(osteoarthritis) เช่นเดียวกับโรคข้อสะโพก แต่มักพบบ่อยกว่าข้อสะโพก เพราะข้อเข่ามักถูกบิดหรือรับน้ำหนักผิดท่าได้บ่อยกว่าข้อสะโพก

คนอ้วนมักจะเกิดอาการเข่าเสื่อมได้ง่ายกว่าคนผอม โดยในระยะแรกมักจะเกิดจากเจ็บแปล๊บในขณะที่ลุกจากท่านั่ง เป็นท่ายืนโดยไม่ได้ระวังตัว ทำให้เข่าบิดและเจ็บแปล๊บทันทีจนต้องนั่งลงใหม่ และต้องพักสักครู่จนกว่าจะลุกขึ้นเดินได้ใหม่ หรือบางครั้งจะเกิดอาการเช่นนั้นในขณะที่ขึ้นหรือลงบันไดโดยไม่ได้ระวังตัว

ต่อมาเมื่อเป็นมากขึ้นๆ เข่าจะบวมจนผิดรูปผิดร่าง และทำให้ลักษณะการเดินผิดปกติ
การรักษา : เช่นเดียวกับโรคข้อสะโพกเสื่อม ในขณะที่เจ็บให้พักข้อเข่า (ให้ข้อเข่าอยู่นิ่งๆ) อาจใช้น้ำเย็นประคบในระยะแรก หรือน้ำร้อนประคบในระยะต่อมา เช่นเดียวกับอาการข้อเคล็ด ข้อแพลง อาจใช้สนับเข่า (เหมือนที่นักบาสเกตบอลหรือนักฟุตบอลใช้ สนับเข่าหรือปลอกเข่าเป็นปลอกยางยืดหุ้มด้วยผ้าที่ใช้สวมเข้าไปให้รัดเข่าให้แน่นพอดี เวลาเดินหรือวิ่งเข่าจะไม่บิดจนทำให้เกิดอาการปวดเข่า)

ถ้าปวดมาก อาจกินยาแก้ปวด
ห้ามนั่งยองๆ นั่งพับเพียบหรือนั่งขัดสมาธิเด็ดขาด เพราะจะทำให้ปวดเข่าได้ง่าย

เมื่ออาการเจ็บดีขึ้นแล้ว ให้บริหารเข่า โดยการยกขาขึ้น กระดกเท้า และเกร็งขา ให้ต้นขาและปลายขาแข็งเหมือนท่อนไม้ นับ 1 ถึง 10 ช้าๆ แล้วจึงหยุดการเกร็งขาข้างนั้น (ดูรูป ) และทำการบริหารขาอีกข้างหนึ่ง สลับกันไปมาจนเมื่อยจึงเลิก

                                                    

ควรจะทำการบริหารเช่นนี้วันละหลายๆครั้ง ครั้งละอย่างน้อย 10-20 หน สำหรับขาแต่ละข้าง ประมาณ 1-2 เดือนต่อมา อาการปวดข้อเข่าจากเข่าเสื่อมจะดีขึ้น

7. ปวดข้อเท้า : อาการปวดข้อเท้ามักเกิดจากข้อพลิก ข้อแพลง ข้อเคล็ด หรือจากการอักเสบอื่นๆ ให้การรักษาแบบข้อพลิก ข้อแพลง ข้อเคล็ด หรือจากการอักเสบอื่นๆ ให้การรักษาแบบข้อพลิก ข้อแพลง ข้อเคล็ด

ดังที่กล่าวไว้ในมาเป็นหมอกันเถิดในหมอชาวบ้านฉบับที่ 56 ถ้าข้อปวดบวม แดงร้อนมากควรพักข้อ และส่งโรงพยาบาล

8. ปวดส้นเท้า : มักปวดเวลาเดิน โดยเฉพาะถ้าเดินลงส้น ส่วนมากเกิดจากการอักเสบของเอ็นและกระดูกบริเวณส้นเท้า ซึ่งมักเกิดจากการที่บริเวณนั้นถูกกระแทก เช่น กระโดดแล้วส้นเท้าลงไปกระแทกกับก้อนหิน หรือเกิดจากรองเท้าที่ใช้ทำให้ส้นเท้าได้รับการกระทบกระเทือนมาก

ถ้าปวดมาก การฉีดสเตอรอยด์เข้าบริเวณที่กดเจ็บมากจะช่วยให้อาการหายเร็วได้ แต่โดยทั่วไปการหยุดใช้ส้นเท้าข้างนั้น และการประคบส้นเท้าข้างนั้นด้วยความร้อน เช่นวางส้นเท้าไว้บนถุงน้ำร้อนที่ห่อผ้าไว้อีกชั้นหรือหลายชั้น หรือจะวางส้นเท้าไว้บนใบพลับพลึงที่อังไฟจนนุ่มแล้วก็ได้

การเปลี่ยนรองเท้าให้ส่วนที่รองรับส้นเท้านั้นนุ่ม และจุดที่กดเจ็บที่สุดไม่กระทบกับพื้นแข็งของรองเท้าโดยให้ส่วนอื่นของเท้ารอบๆจุดที่กดเจ็บเป็นส่วนที่รับน้ำหนักแทน

9. ปวดนิ้วเท้า :
ที่มักปวดรุนแรงและเป็นทันที มักเป็นกลางคืนและมักเป็นที่โคนหัวแม่เท้า เกือบทั้งหมดจะเกิดจากโรคเกาต์ ให้ดูการรักษาอาการปวดข้อแบบเกาต์เฉียบพลันในมาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 56

ส่วนอาการปวดข้อนิ้วเท้าอื่นๆ ถ้ามีอาการปวดบวมแดงร้อนของข้อนิ้วเท้าด้วย จะเกิดจากการอักเสบ เช่นจากโรคข้อรูมาตอยด์ หรืออื่นๆ ให้กินยาแก้อักเสบ เช่น แอสไพริน หรืออินโดเมทาซิน ดังที่กล่าวไว้ในเรื่องข้อสะโพก และถ้าไม่ดีขึ้น หรือถ้ามีโอกาส ควรไปโรงพยาบาลเพื่อการตรวจวินิจฉัยให้แน่นอน
ฉบับหน้าอ่านการตรวจวินิจฉัยปัญหาปวดข้อ

 

ข้อมูลสื่อ

105-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 105
มกราคม 2531
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์