• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การช่วยคนเป็นลมหมดสติ (ตอนที่ 1)

“การเป็นลม” เป็นอาการเนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอชั่วคราว ทำให้ไม่รู้สึกตัวไประยะหนึ่ง มีได้หลายสาเหตุ เช่น หิว เหนื่อย ร้อนมาก กังวลใจ ตกใจ กลัว มีความเครียดอย่างรุนแรง เสียเลือด และมีการกระทบกระเทือนที่สมองอย่างรุนแรง

ลักษณะของผู้ที่เป็นลม
ในระยะแรกผู้เป็นลม อาจมีความรู้สึกที่บอกได้ว่า รู้สึกเวียนศีรษะ ตาพร่า หน้ามืด ใจสั่น มือเท้าไม่มีแรง จากนั้นจะหมดความรู้สึก แต่บางคนอาการต่างๆเหล่านี้เกิดอย่างรวดเร็ว อยู่ดีๆก็ล้มหรือหมดความรู้สึกไปเฉยๆ ส่วนมากมักจะเกิดกับผู้ที่ยืนหรือนั่งมากกว่านอน บุคคลที่กินยาบางอย่าง เช่น ยาระงับประสาท ยาลดความดันเลือด ยาลดน้ำตาลในเลือด ก็อาจเป็นลมหมดสติได้เช่นกัน

“ลักษณะอาการของคนเป็นลม ที่สังเกตได้
1. หน้าซีด ปากซีด
2. มีเหงื่อออกตามหน้าผาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ตัวเย็น
3. หายใจตื้น บางคนหายใจหอบ
4. บางคนล้มลง ไม่รู้สติแต่ไม่มีอาการชัก
5. ถ้าจับชีพจรจะรู้สึกว่าเต้นเบา และเร็ว

การคลำชีพจรได้ และชีพจรแรงดี การเป็นลมน่าจะเกิดจากความอ่อนเพลีย ความหิว การยืนตากแดดในท่าเดียวนานๆ ในภาวะอากาศร้อนอบอ้าว เป็นต้น

การดูแลคนเป็นลม เมื่อชีพจรและการหายใจปกติ
1. ห้ามคนมุงดู ให้ผู้เป็นลมนอนราบในที่ร่ม บนพื้นแห้ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก
2. คลายเครื่องรดกุมออก เช่น ปลดกระดุมเสียทั้งนอกและใน แกะเข็มขัดออก เปิดเสียให้กว้าง ควรถอดรองเท้าและถุงเท้าด้วย
3. อาจใช้พัดโบกด้วยลมอ่อนๆ
4. ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามหน้า ตัว หน้าผาก แขนขา ไม่ควรเช็ดที่ท้อง เพราะความเย็นจะทำให้ลำไส้หดตัว อาจอาเจียนได้
5. อาจใช้พิมเสน หรือการบูรขยี้ให้ละเอียด ทาลงบนริมฝีปากบน ถ้าไม่มีอาจใช้ยาหม่องทาบางๆ ถ้ามีแอมโมเนียอาจชุบสำลีพอหมาดๆ แกว่งไปมาใกล้ๆจมูก (ไม่ควรเอาไปรอที่จมูกเพราะอาจฉุนเกินไป)
6. อาจใช้วัสดุใกล้ๆตัว เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า ย่าม กระสอบ ที่นุ่มๆรองขาให้สูง เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้เพียงพอ
7. ถ้าอากาศเย็นหรือหนาวควรให้อยู่ในที่อบอุ่น หรือเมื่อคลายเครื่องรัดกุมแล้ว อาจใช้ผ้าคลุมตัวไว้
เมื่อฟื้นแล้วควรไต่ถามถึงสาเหตุ ถ้าสงสัยว่าจะเป็นโรคที่ต้องรักษา ควรไปขอคำแนะนำจากแพทย์
 

ข้อมูลสื่อ

105-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 105
มกราคม 2531
พยาบาลในบ้าน
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์