• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การช่วยคนเป็นลมหมดสติ (ตอนที่ 2)

บุคคลที่เป็นลม จะต้องได้รับ “การจับชีพจร” ถ้าจับชีพจรที่ข้อมือหรือข้อพับข้อศอกไม่ได้ ให้จับที่คอ ถ้าแน่ใจว่าจับไม่ได้ แสดงถึงสัญญาณอันตรายว่า อาจเกิดจากหัวใจหยุดเต้น ซึ่งจะต้องตรวจให้แน่ใจอย่างรวดเร็วว่า

1. “ดูว่าหมดสติจริงหรือเปล่า”
โดยการเรียกชื่อ หรือหยิกต้นแขนต้นขาแรงๆ หรือใช้ข้อนิ้วมือกดขยี้บนกระดูกหน้าอก ถ้าหมดสติจะไม่แสดงความรู้สึกต่อการกระทำเหล่านี้
2. “ดูว่ายังหายใจอยู่หรือเปล่า” ถ้าหัวใจหยุดเต้น ส่วนใหญ่จะหยุดหายใจด้วย อาจมีอาการ “พะงาบ” นานๆครั้ง

การปฐมพยาบาล
มีหลักใหญ่ๆ 2 ประการ คือ
1. การช่วยการหายใจ โดยเป่าลมเข้าไปในปอด
2. ช่วยให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย โดยการกดกระแทกหน้าอก

ขั้นตอนการปฐมพยาบาล

- ให้ผู้เป็นลมนอนหงายราบบนพื้นแข็ง
- ทำทางเดินหายใจให้โล่ง โดยเอาสิ่งแปลกปลอมในปาก เช่น เสมหะ เศษอาหาร ฟันปลอมออกให้หมด
- จับศีรษะให้หงายหน้าขึ้น เพื่อมิให้ลิ้นตกไปอุดหลอดลม
- ใช้มือข้างหนึ่งประคองผู้เป็นลมไว้ อีกข้างหนึ่งจับหน้าผากให้หงาย เพื่อปากจะได้เผยอเล็กน้อย ผู้ช่วยเหลือหายใจเข้าให้เต็มปอดแล้วก้มประกบปากเป่าลมเข้าในปากผู้เป็นลมจนหมด

ถ้าลมเข้าปอด
หน้าอกจะกระเพื่อมสูงขึ้น เวลาถอนปากออกเอียงหูฟัง จะพบว่ามีลมมากระทบใบหู
ถ้าลมเข้ากระเพาะอาหาร บริเวณท้องจะพองออกจะต้องจัดท่าใหม่ โดยเฉพาะมิให้ลิ้นตกลงไปปิดหลอดลม
- สลับการเป่าลมเข้าไปในปอด ด้วยการกดกระแทกหน้าอกด้วยน้ำหนักพอประมาณให้หน้าอกยุบลงประมาณ 1.5 ถึง 2 นิ้ว เพื่อทำให้หัวใจถูกบีบเอาเลือดออกไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะสมอง ถ้าขาดออกซิเจนเพียง 4 นาที เยื่อสมองจะตาย

หลังจากกดเสร็จแล้วหยุดค้างไว้เล็กน้อย เพื่อให้เวลาที่กดลงเท่ากับเวลาที่ปล่อย กระดูกหน้าอกกลับคืนสู่ที่เดิม และเลือดไหลคืนกลับสู่หัวใจแล้วจึงนวดต่อไป ควรทำประมาณ 50-80ครั้งต่อนาที สลับกับการเป่าลมเข้าปอด จับชีพจรดูด้วย

อย่าลืมว่า การช่วยเหลือต้องรวดเร็ว แต่นุ่มนวล และไตร่ตรอง เพื่อนำผู้หมดสติส่งสถานพยาบาลต่อไป เพราะการช่วยเหลือครั้งนี้เป็นการช่วยรายฉุกเฉินเท่านั้น

ข้อมูลสื่อ

106-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 106
กุมภาพันธ์ 2531
พยาบาลในบ้าน
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์