• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการปวดข้อ (ต่อ)

ในฉบับก่อนๆ ได้กล่าวถึงอาการปวดข้อตามส่วนต่างๆของร่างกาย ฉบับนี้จะกล่าวถึงการตรวจวินิจฉัยปัญหาปวดข้อให้แน่นอน ที่สำคัญคือประวัติ การซักประวัติให้ดี มักจะช่วยในการวินิจฉัยได้มาก

เมื่อคนไข้เมื่อคนไข้มาหาเรื่องปวดข้อ สิ่งแรกที่จะต้องทำคือการซักประวัติและต้องแยกให้ได้ คือ

อาการปวดข้อนั้นเป็นอาการปวดในข้อ (articular rheumatism) หรือเป็นอาการนอกข้อ (nonarticular rheumatism) ซึ่งเป็นอาการปวดของเอ็น ของกล้ามเนื้อ และของเบาะน้ำ (bursa) ที่อยู่รอบๆข้อนั้น

วิธีแยก ให้ดูตาราง 1 โรคที่ทำให้ปวดในข้อมักจะทำให้ข้อเสียหรือพิการได้มากกว่าและบ่อยกว่าอาการปวดนอกข้อ จึงต้องทำการป้องกันและรักษาอย่างเคร่งครัดมากกว่า

ดังนั้นถ้าไม่แน่ใจว่าอะไรเป็นสาเหตุของอาการปวดข้อ และหรือลองรักษาแล้วไม่ดีขึ้น ควรรีบส่งโรงพยาบาล

เมื่อแยกอาการปวดข้อว่า เป็นอาการปวดในข้อ หรือนอกข้อได้แล้ว ให้ทำการรักษาต่อไป
ถ้าเป็นอาการปวดนอกข้อ เช่น อาการปวดข้อศอกด้านใจของนักเล่นกอล์ฟ (golfer’s elbow) อาการปวดข้อศอกด้านนอกของนักเทนนิส (tennis elbow) ส่วนใหญ่ให้พักข้อที่ปวด และอย่าใช้ข้อนั้นในท่าที่ทำให้ข้อนั้นเจ็บ แล้วอาการปวดจะดีขึ้นเอง และไม่ทำให้เกิดความพิการขึ้น

                                                                                                 

                                   

ถ้าเป็นอาการปวดในข้อ จะต้องพยายามหาสาเหตุต่อไป โดยในระยะแรก ต้องแยกว่า เป็นอาการปวดข้อแบบอักเสบ หรือแบบไม่อักเสบ ดังตารางที่ 2 เพราะอาการปวดข้อแบบไม่อักเสบเป็นสิ่งไม่ฉุกเฉิน และอาจจะลองให้พักข้อ กินยาแก้ปวด และบริหารข้อไปก่อนเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ถ้าอาการไม่ทรุดลง ถ้าอาการทรุดลงต้องรักษาแบบอาการปวดข้อที่อักเสบ

ส่วนอาการปวดข้อแบบอักเสบจำเป็นต้องให้การรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที มิฉะนั้นอาจทำให้ข้อนั้นพิการอย่างถาวรได้

เมื่อคิดว่าคนไข้เป็นอาการปวดข้อแบบอักเสบ ขั้นต่อไปคือ ให้ตรวจดูว่าเป็นข้อเดียว และหรือหลายข้อ และใช้ประวัติในการแยกหาสาเหตุต่อไป ดังตารางที่ 3

ถ้าเป็นที่ข้อเดียว ให้หาสาเหตุ ดังตารางที่ 4

1. การบาดเจ็บ ซึ่งจะมีประวัติได้รับอุบัติเหตุหรือภยันตรายที่ข้อ ทำให้กระดูกแข็ง หรือกระดูกอ่อนในข้อแตกหรือหัก เยื่อบุข้อฉีกขาด ข้อเคลื่อน เป็นต้น รีบพักข้อและดามข้อไว้ ถ้ามีเลือดหรือน้ำสีเหลืองไหลออกจากข้อ ให้ใช้ผ้าสะอาดปิดและกดไว้ แล้วรีบส่งโรงพยาบาล

2. การติดเชื้อภายในข้อ
ทำให้ข้ออักเสบจากเชื้อหรือข้อติดเชื้อ (septic arthritis) ซึ่งจะมีประวัติการติดเชื้อในที่อื่นด้วย เช่น

ถ้ามีประวัติปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะเป็นหนอง หลังมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงโรค ให้นึกถึงการติดเชื้อหนองใน ถ้าไม่มีอาการตาแดง (ตาอักเสบ) หรือผิวหนังเป็นผื่นหรือแผล น่าจะเกิดจากเชื้อหนองในโดยตรง เป็นโรคข้อหนองใน (gonococcal arthritis) ซึ่งจะรักษาโดยการให้ยารักษาเชื้อหนองใน เช่น เพนิซิลลิน สเปกติโนมัยซิน (ถ้าเชื้อดื้อเพนิซิลลิน) หรืออื่นๆ

ถ้ามีประวัติปัสสาวะแสบขัด มีตาแดง หัวองคชาตแดงอักเสบ (แต่ไม่เจ็บ) และหรือมีแผล (ไม่เจ็บ) ในปาก ให้นึกถึงโรคไรเตอร์ (Reiter’s syndrome) ซึ่งจะเป็นโรคภูมิแพ้ที่เกิดตามหลังหรือเกิดขึ้นร่วมกับโรคหนองในเทียม และทำให้ข้ออักเสบได้ ต้องการยารักษาทั้งโรคหนองในเทียมและภาวะภูมิแพ้

ถ้าเป็นที่หลายข้อ ให้นึกถึงสาเหตุดังตารางที่ 3 การหาสาเหตุของภาวะข้ออักเสบหลายข้ออาจทำได้ดังนี้

1. ข้อรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis) : มักจะเป็นกับข้อโคนนิ้วมือและโคนนิ้วเท้า และข้อนิ้วข้อแรก (ใกล้โคนนิ้ว) มักจะปวดบวมแดงร้อนพร้อมกันและเหมือนกันทั้ง 2 ข้าง (ทั้งข้างซ้ายข้างขวา)
อาการปวดมักจะเริ่มช้าๆ แล้วค่อยๆ เป็นมากขึ้น ตอนตื่นนอนตอนเช้ามักจะมีอาการนิ้วแข็ง (morning stiffness) อยู่เป็นเวลานานกว่าครึ่งชั่วโมง

ถ้าอาการไม่มาก ให้กินแอสไพริน ครั้งละ 3-4 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง พร้อมอาหารจนอาการทุเลาแล้วลดยาลง อาจกินยาลดกรดร่วมด้วย เพื่อลดการระคายกระเพาะอาหาร
ถ้าอาการมาก ควรส่งโรงพยาบาล

2. ข้อสันหลังอักเสบแข็ง (ankylosing spondylitis) : มักจะเป็นกับข้อสันหลังบริเวณเอวและคอ (lumbar and cervical joints) และข้อเชิงกราน (sacroiliac joints) ทำให้ข้อสันหลังแข็ง ก้มตัวลำบาก และมีอาการปวดเมื่อยและข้อแข็งเวลาตื่นเช้าเป็นเวลานานกว่าครึ่งชั่วโมง

การรักษา
คล้ายโรครูมาตอยด์

3. โรคไรเตอร์ (Reiter’s syndrome) : พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง มีประวัติเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงต่อกามโรค มีอาการปัสสาวะแสบขัด มักปวดข้อหลายข้อ (แต่อาจปวดข้อเดียวก็ได้) และมักเป็นกับข้อนิ้วมือนิ้วเท้าเหมือนกันทั้งสองข้าง

การรักษา
รักษาภาวะภูมิแพ้และโรคหนองใน

4. โรคสะเก็ดเงิน (psoriatic arthropathy) พบในคนที่เป็นโรคผิวหนังที่เรียกว่าโรคสะเก็ดเงิน มักเป็นหลายข้อ อาจเหมือนหรือไม่เหมือนกันทั้งสองข้าง จะมีจุดบุ๋มหลายๆจุดที่เล็บร่วมด้วย อาการเริ่มช้าๆ แล้วค่อยๆ เป็นมากขึ้น

การรักษา
รักษาโรคสะเก็ดเงินและให้ยาแก้อักเสบ

5. ข้อติดเชื้อ :
มักเป็นข้อเดียว แต่อาจเป็นหลายข้อก็ได้ มักเป็นที่ข้อเข่า มีการติดเชื้อที่อื่นร่วมด้วย มักมีไข้สูง อาการปวดมักเริ่มทันทีร่วมกับอาการไข้ คล้ายโรคเกาต์ แต่คนไข้มักอายุน้อยกว่า (โรคเกาต์มักเป็นในคนอายุมากกว่า 50 ปี และโรคเกาต์เทียม มักเป็นในคนอายุมากกว่า 60 ปี และเป็นที่ข้อเดียว ดังตารางที่ 4)

6. ข้อเสื่อม :
อาจเป็นกับข้อเดียว หรือหลายข้อก็ได้ มักเป็นกับข้อนิ้วมือข้อปลาย ข้อสะโพก ข้อหัวแม่มือและข้อหัวแม่เท้า อาการค่อยๆเป็น (ไม่ปวดฉับพลันทันที) และไม่มีไข้ เมื่อเป็นมากๆจะมีปุ่มกระดูกงอกบริเวณข้อปลายนิ้ว (Heberden’s nodes) ดังรูปที่ 1 หรือเข่าโตผิดรูป เป็นต้น

                                                       

การรักษา
ป้องกันการทำงานหรือการออกกำลังที่ทำให้ข้อถูกกระทบกระเทือน

7. ข้อรูมาติก : มักเป็นในเด็ก หลังมีไข้ เจ็บคอแล้ว 1-2 สัปดาห์ แล้วเกิดอาการปวดข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อศอก มักเป็นที่ข้อหนึ่งข้อใดก่อน พออาการปวดที่ข้อนั้นเริ่มดีขึ้นจะเริ่มปวดที่ข้ออื่นต่อไป เป็นอาการปวดข้อเคลื่อนที่ (migratory joint pain) อาการปวดข้ออาจหายเองได้ภายใน 2-4 สัปดาห์

การรักษา
ให้กินแอสไพรินครั้งละ 3-4 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง พร้อมอาหารจนอาการปวดข้อหายสนิท ในขณะเดียวกันให้กินเพนิซิลลิน (เพนวี) เม็ดละ 25o มิลลิกรัม 1 เม็ด ก่อนอาหารอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงและก่อนนอน (วันละ 4 ครั้ง หรือ 1ooo มิลลิกรัม) เป็นเวลาอย่างน้อย 1o วัน หลังจากนั้นให้กินครั้งละ 1 เม็ดก่อนอาหารเช้าและเย็นไปเรื่อยๆ จนไม่มีอาการเจ็บคอ และหรือปวดข้ออีกอย่างน้อย 5 ปี

จะเห็นได้ว่าอาการปวดข้อส่วนใหญ่ นอกจากโรคข้อติดเชื้อที่ต้องเข้าโรงพยาบาลอย่างรีบด่วนเพื่อเจาะข้อดูว่าเป็นเชื้อชนิดใด เพื่อจะให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมแล้ว อาการปวดข้ออย่างอื่นส่วนใหญ่จะสามารถลองให้การรักษาด้วยการพัก การกินยาแก้ปวด และหรือยาแก้อักเสบ (anti-inflammatory drugs) และการบริหารข้อไปก่อนได้ถ้าอาการไม่ดีขึ้น จึงต้องส่งโรงพยาบาล เพื่อการตรวจรักษาที่ถูกต้องต่อไป

ตารางที่ 1 วิธีแยกว่าอาการปวดข้อเกิดจากการปวดในข้อหรือการปวดนอกข้อ

                          

                                

 ตารางที่ 2 วิธีแยกอาการปวดในข้อว่าเป็นการปวดข้อแบบอักเสบหรือไม่อักเสบ

                        

                                
ตารางที่ 3 วิธีหาสาเหตุของอาการปวดข้อแบบอักเสบที่พบบ่อย

                 

 

ตารางที่ 4 วิธีหาสาเหตุของข้ออักเสบเดี่ยว

                     
 

ข้อมูลสื่อ

106-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 106
กุมภาพันธ์ 2531
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์