• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บาดแผล

บาดแผล

เมื่อเร็วๆ นี้มีผู้ป่วยชายอายุ 34 ปี ส่งมาจากโรงพยาบาลจันทบุรี เนื่องจากถูกยิงที่ขาหนีบด้านซ้ายมา 2 วัน ขณะนี้แผลเริ่มอักเสบ และขาซ้ายเริ่มเย็น ผู้ป่วยมีไข้ ได้รับไว้รักษาทันที โดยการทำความสะอาดแผล ซ่อมเส้นเลือดที่ขาดเพราะกระสุนปืน ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ดีและกลับไปบ้านนานแล้ว ป่านนี้คงทำสวนทุเรียนตามอาชีพเดิมก่อนป่วยได้อย่างเรียบร้อยดี

เรื่องของเรื่องก็คือ ชายคนนี้เดินไปหาเห็ด และหน่อไม้ในป่า ไปสะดุดปืนที่ขัดไว้สำหรับยิงหมูป่า ปืนเลยลั่นถูกบริเวณขาหนีบ เขาเล่าให้ฟังว่า ขณะนั้นไม่รู้สึกเจ็บปวดมากนัก แต่เลือดพุ่งออกมาจากบาดแผลยังกับน้ำพุ รีบเอามือกดไว้ เลือดก็หยุด แต่พอปล่อยมือ เลือดก็ออกมาอีก จึงเอานิ้วยัดรูลูกปืนไว้เลย เลือดหยุดสนิท ค่อยๆ เดินบ้าง ลากขามาบ้างจนถึงบ้าน กินเวลา 5-6 ชั่วโมง ญาติจึงนำส่งโรงพยาบาล และได้รับการรักษาจนกระทั่งแผลหาย

ยกเรื่องนี้มาเล่าให้ฟัง เพื่อต้องการแสดงให้เห็นความสำคัญของการรักษาพยาบาลขั้นต้น หรือเริ่มแรกถ้าคนๆ นี้ปล่อยให้เลือดพุ่งออกมาอยู่ตลอดเวลาก็คงจะตายเนื่องจากเสียเลือดตั้งแต่อยู่ในป่า หมอไม่มีโอกาสได้รักษา

มีอีกตัวอย่างหนึ่ง ผลตรงกันข้ามกัน ชายอายุ 24 ปี ถูกส่งมาโรงพยาบาลด้วยรถบรรทุก พอมาถึงโรงพยาบาลตัวเย็นชืด คงจะหัวใจหยุดเต้นมาแล้วไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมงรายนี้ถูกยิงที่ขาหนีบข้างซ้ายเหมือนกันเมื่อมาถึงโรงพยาบาล ในรถมีเลือดนองเต็มไปหมด เสื้อผ้าเปียกเลือกชุ่ม เนื่องจากเป็นเวลากลางคืนและอยู่ในชนบทห่างไกล ชาวบ้านจึงไม่ได้เห็นเลือด จนกระทั่งถึงโรงพยาบาล

ตัวอย่างรายนี้ เป็นเรื่องยืนยันที่สำคัญอยู่ 2 อย่าง ซึ่งทำให้ตายได้

1. เลือดออกมาก

2. เป็นโรคติดเชื้อ จะมีหนองหรือไม่มีหนองก็ได้

ความเจ็บปวดกลับไม่ใช่เรื่องสำคัญในระยะแรก เพราะผู้ป่วยมักมีอาการชาที่บริเวณแผล เลือดออกสำคัญกว่ามาก ถ้าเลือดออกมามากเกินกว่าร้อยละ 50 ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตถ้าออกเกินกว่าร้อยละ 20 ผู้ป่วยจะมีอาการช็อค ซึ่งทิ้งไว้นานจะมีโรคแทรกซ้อนต่างๆ ถ้าไม่เสียชีวิตก็ทำให้การรักษายุ่งยากขึ้นมาก

การรักษาขั้นต้น เมื่อมีบาดแผล

1. ห้ามเลือด

ใช้มือกด วิธีห้ามเลือดที่ดีที่สุด คือ ใช้ผ้าสะอาดกดลงไปบนบาดแผล แล้วพันให้แน่น ที่ว่าดีที่สุดก็เพราะใช้ในกรณีที่มีเลือดออกภายนอกได้เกือบทั่งร่างกาย มีความปลอดภัยมาก และส่วนใหญ่จะห้ามเลือดได้สนิท

วิธีทำ ถ้าเป็นแผลเลือดออกที่แขนขา ให้ใช้ผ้าสะอาดที่สุดเท่าที่จะหาได้ขณะนั้น เช่น ผ้าก๊อสที่นึ่งแล้ว ผ้าเช็ดหน้า ผ้าขนหนูผืนเล็กหรือผ้าขาวม้าที่ซักใหม่ๆ ยังไม่ได้ใช้ พันให้เป็นก้อนขนาดฝ่ามือ หรือใหญ่กว่าแผลเล็กน้อย ปิดลงไปบนแผลแล้วใช้มือกดไว้ ถ้าต้องใช้เวลานานกว่าจะพาผู้ป่วยไปถึงสถานพยาบาลควรจะใช้ผ้าพันแผลหรือผ้า ฉีกออกขนาดเท่าผ้าพันแผล พันทับลงไปให้แน่นจนหยุดไหล (รูปที่ 1)

ผ้าที่ใช้จะเป็นผ้าปิดแผล ถ้าไม่มีผ้าสะอาดดังกล่าว จะใช้ผ้าอะไรก็ได้ไปพลางก่อน แม้เสื้อผ้าที่สวมใส่อยู่ ก็สามารถถอดออกมาฉีกเป็นผ้าปิดแผลพันแผลได้

การพันแผล ควรพันให้แน่นพอที่จะทำให้เลือดหยุดไหลเท่านั้น การพันแน่นเกินไปจะทำให้ เลือดไปเลี้ยงส่วนปลายเลยตำแหน่งที่พันผ้าไม่ได้อาจจะทำให้อวัยวะส่วนนั้นตายได้ ถ้าเลือดยังไม่หยุดไหล แสดงว่าการใช้มือกด หรือผ้าพันนี้ไม่ได้ผลอาจเป็นเพราะกดไม่หนัก หรือพันไม่แน่นพอก็ได้ หรืออาจเกิดจากเลือดออกจากหลอดเลือดแดง มีความดันสูงใช้วิธีนี้ไม่ได้ผลก็ได้ ควรจะหาวิธีอื่นต่อไป เช่น

ยกส่วนที่มีเลือดออกให้สูงขึ้น ถ้ามีบาดแผลของแขนขาทำได้ง่าย โดยใช้ของที่อ่อนนุ่มหนุน เช่น หมอน ผ้าห่มพับ หรือเก้าอี้ ถ้าเป็นที่ศีรษะ ควรให้นั่งพิง ถ้าเป็นในปาก ในจมูก ควรนั่งโน้มตัวมาข้างหน้า เพื่อให้เลือดที่ออกไหลออกมาภายนอก ไม่ให้ตกลงไปอุดคอหอยและทางหายใจ ทำให้สำลัก

ในรายที่พันผ้าไว้แล้วไม่หยุด ถ้าทำร่วมกับยกส่วนนั้นให้สูงขึ้นอาจหยุดได้

การใช้ความเย็น ความเย็นทำให้หลอดเลือดหดตัว โดยเฉพาะหลอดเลือดฝอย ความเย็นเหมาะสำหรับเลือดออกในที่ที่ปิดแผลไม่ได้ และเป็นการออกของหลอดเลือดฝอย ได้แก่ เลือดกำเดาออก เป็นต้น นอกจากนั้นยังใช้ได้กับเลือดออกในกล้ามเนื้อ จากการถูกกระแทกทำให้เกิดรอยช้ำ

การใช้นิ้วกด ให้ใช้นิ้วกดลงไปบนหลอดเลือดใหญ่ที่ไปเลี้ยงอวัยวะที่กำลังมีเลือดออก สามารถช่วยห้ามเลือดได้ แต่การกระทำดังกล่าวไม่สู้จะใช้บ่อย และผู้ทำต้องรู้ตำแหน่งที่จะกด โดยมากจะใช้ต่อเมื่อวิธีห้ามเลือดโดยใช้มือกด หรือผ้าพันทำไม่ได้ถนัด เช่น มือหรือเท้าติดอยู่ในเครื่องจักร ในรถคว่ำ เป็นต้น จึงต้องใช้นิ้วกดที่หลอดเลือดใหญ่ให้เลือดหยุดชั่วคราว จนกว่าจะเอาอวัยวะส่วนนั้นออกมาจากสิ่งที่กดทับอยู่ และสามารถห้ามเลือดโดยวิธีใช้ผ้าพัน หรือมือกดโดยตรงได้

ผู้กระทำต้องศึกษากายวิภาค (วิชาที่ว่าด้วยโครงสร้าง) ของหลอดเลือด (รูปที่ 2) และลองทำดูในคนปกติจนชำนาญเสียก่อน จึงจะใช้ได้ผล

รูปที่ 2 แสดงหลอดเลือดใหญ่ของร่างกาย

ก. หลอดเลือดขมับที่ไปเลี้ยงหนังศีรษะ

ข. หลอดเลือดคอ ไปเลี้ยงสมอง ช่องปาก เพดาน และคอ

ค. หลอดเลือดต้นแขนไปเลี้ยงต้นแขน

ง. หลอดเลือดปลายแขน ไปเลี้ยงปลายแขน

จ. หลอดเลือดที่ข้อมือ ไปเลี้ยงมือ

ฉ. หลอดเลือดที่ขาหนีบ ไปเลี้ยงขา

 

รูปที่ 3 เลือดออกที่หนังศีรษะ

มักจะออกมาก อาจห้ามเลือดได้โดยกดนิ้วลงบนหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหนังศีรษะ ซึ่งอยู่หน้าหูบนกระดูกขมับ โดยมากมักจะได้ผลน้อย เพราะว่าเลือดมาเลี้ยงหนังศีรษะมาจากหลายทางด้วยกัน การใช้ผ้าสะอาดปิด และพันให้แน่นเป็นวิธีที่ดีที่สุด นอกจากในรายที่มีแผลเหวอะหวะ การปิดแผลและพันผ้าในตอนแรกยังทำไม่ได้ถนัด อาจใช้กดหลอดเลือดไว้ชั่วคราวได้

 

รูปที่ 4 เลือดออกในปากเพดาน

เนื่องจากกระดูกหน้าหัก กรามหัก อาจใช้นิ้วมือกดลงไปบนหลอดเลือดของคอ ให้แนบติดกับกระดูกต้นคอ โดยใช้นิ้วมือขนานกับหลอดลม แต่อย่ากดหลอดลม กดบริเวณหลังหลอดลม

วิธีนี้ ต้องฝึกพอสมควร และถ้ากดแรงไปอาจทำให้ผู้ป่วยหมดสติได้เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ในผู้ป่วยบางคนปมประสาทที่อยู่บนหลอดเลือดนี้มีความรู้สึกไวมาก กดเบาๆ ก็เป็นลมได้

 

รูปที่ 5 เลือดออกบริเวณใบหน้า

โดยกดที่หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงใบหน้า หลอดเลือดนี้ทอดผ่านใต้กระดูกขากรรไกรพอดี การกดหลอดเลือดนี้อาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เพราะบริเวณหน้ามีเลือดมาเลี้ยงหลายสายกระดูกขากรรไกรพอดี การกดหลอดเลือดนี้อาจไม่ได้ผลดีเท่าทีควร เพราะบริเวณหน้ามีเลือดมาเลี้ยงหลายสาย

 

รูปที่ 6 หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงต้นแขน และรักแร้

กดตรงแอ่งเหนือกระดูกไหปลาร้า โดยใช้นิ้วเพียง 2 นิ้ว ในคนรูปร่างเล็กและ 3 นิ้ว ในคนรูปร่างใหญ่ ต้องใช้แรงกดมากๆ จนหลอดเลือดที่ทอดผ่านแนบติดกระดูกซี่โครงซี่แรก

 

รูปที่ 7 เลือดออกที่ปลายแขน

ทำได้ค่อนข้างง่าย โดยใช้นิ้วกดลงไปบนหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงปลายแขน คลำได้ง่าย ตรงด้านในของต้นแขน ตรงร่องระหว่างมัดกล้ามเนื้อ โดยกดให้หลอดเลือดแขนติดกับกระดูกต้นแขน

 

รูปที่ 8 เลือดออกที่มือ

ใช้นิ้วกดที่หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงมือ หรือที่ใช้เป็นตำแหน่งคลำชีพจรไม่ค่อยจะได้ผลนัก เพราะมีหลอดเลือดมาเลี้ยงมือ 2 เส้น เส้นหนึ่งอยู่ลึกกดได้ยาก เลือดที่ออกที่มือใช้วิธีพันผ้าหรือขันชะเนาะจะเหมาะกว่า

 

รูปที่ 9 เลือดออกที่ขา

ใช้สันมือกดลงไปบนหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงขา ตรงบริเวณขาหนีบ อาจคลำชีพจรบริเวณนี้ก่อนกด เมื่อพบชีพจรแล้วกดลงไปตรงนั้น หลอดเลือดตรงตำแหน่งนี้ใหญ่ใช้นิ้วกดไม่อยู่ นอกจากเลือดออกมาตรงตำแหน่งนี้เลย อาจใช้นิ้วอุดรูโดยกดลงไปแรงๆ ได้

 

5. วิธีขันชะเนาะ วิธีนี้จะใช้วิธีสุดท้าย เมื่อใช้วิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล คือเลือดไม่หยุด ผู้ปฏิบัติต้องเข้าใจหลักการและวิธีใช้ เพราะถ้าใช้ไม่ถูกต้อง จะเกิดโทษมากกว่าคุณ

หลักในการปฏิบัติ

1. คล้องผ้าที่ใช้ขันชะเนาะ ให้ใกล้แผลมากที่สุด แต่อย่าให้ถูกแผล

2 หมุนลูกชะเนาะให้แน่นพอที่จะให้เลือดหยุดเท่านั้น ถ้าหลวมเกินไปเลือดจะออกมากขึ้น ถ้าแน่นเกินไปเนื้อจะตาย

3 ผ้าที่ใช้ขันชะเนาะ ควรจะขนาดไม่เล็กเกินไปจนกัดเนื้อ และไม่ใหญ่เกินไปจนเกะกะขันไม่ถนัด

 

รูปที่ 10 แสดงวิธีขันชะเนาะ

ห้ามใช้เชือก ลวด หรือของอื่นใดที่กัดเนื้อเวลาขัน ควรจดเวลาที่เริ่มขันชะเนาะลงไปด้วย เดิมเคยเชื่อกันว่า วิธีขันชะเนาะนั้น ควรจะคลายผ้าที่รัดออกทุก 20 นาที เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายต่อส่วนที่ถูกรัด จากประสบการณ์พบว่า การกระทำดังกล่าว เป็นโทษมากกว่าคุณเพราะ

1. เมื่อคลายผ้าที่รัด ลิ่มเลือดจะหยุด ทำให้เลือดออกมาได้อีกมากผู้ป่วยอาจจะช็อค หรือตายได้

2. การคลายผ้าที่รัด ทำให้สารพิษต่างๆ อันเป็นผลจากเนื้อถูกทำลายในบริเวณบาดแผลและใกล้เคียงไหลเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ผู้บาดเจ็บช็อค และอาจตายได้

ดังนั้น เมื่อห้ามเลือดโดยวิธีขันชะเนาะแล้ว ควรจะปล่อยไว้เช่นนั้นรีบนำผู้ป่วยมายังสถานพยาบาล หรือสถานที่ที่จะรักษาบาดแผลโดยเร็วที่สุด

 

2. การป้องกันการติดเชื้อ

การรักษาความสะอาดของแผลเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แผลที่สกปรกหรือมีสิ่งสกปรกเข้าไปในบาดแผลขณะได้รับอันตราย ควรล้างเอาออกเสมอ การกระทำดังกล่าว ควรทำในสถานที่ที่มีความสะดวกพอสมควร เช่น ในโรงพยาบาล สถานพยาบาล หรือสถานีอนามัย และโรงพยาบาลสนาม เป็นต้น ผู้ป่วยที่ได้รับการห้ามเลือด และปกปิดแผลแล้วควรจะส่งกลับมารับการรักษาในสถานที่ที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด

ถ้ามีเวลา และเครื่องมือพอสมควร การปฏิบัติรักษาแผลโดยทั่วๆ ไป ย่อมทำได้เสมอ

การทำความสะอาดแผล

วิธีที่ดีที่สุด คือ ใช้น้ำเกลือนอร์มัล ล้าง (น้ำเกลือนอร์มัล อาจทำได้ง่ายๆ จากนำต้มให้เดือด 1 ลิตร ใส่เกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ) ถ้ายังมีเศษดินทรายเล็กๆ ไม่ยอมออก ควรใช้สำลีสะอาดเช็ดเบาๆ จนออกหมด สิ่งสกปรกที่ไม่สามารถใช้สำลีและนำเกลือล้างออก ไม่ควรทำอย่างอื่น ควรปิดแผลด้วยผ้าสะอาด และให้หมอเป็นผู้ให้การรักษาต่อไป

เมื่อบาดแผลสะอาดดีแล้ว ควรปิดด้วยผ้าก๊อสที่ทำให้ปราศจากเชื้อ ชุบนำเกลือนอร์มัลจนชุ่มแล้วปิดเอาไว้ พันแผลให้พออยู่ หรือพอที่เลือดจะไม่ออกมาก แล้วส่งให้หมอรักษาต่อ

3. การป้องกันบาดทะยัก

ทุกคนควรจะได้รับวัคซีนกันบาดทะยักมาตั้งแต่เด็ก เพราะบาดทะยักอาจเกิดได้โดยบาดแผลเพียงเล็กน้อย การป้องกันบาดทะยัก โดยการฉีดวัคซีนได้ผลดีมาก คนที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อนเลย อาจไปรับการฉีดวัคซีนเสียดังนี้

ฉีดครั้งแรก ใช้เททานัส ท็อคซอยด์ 0.5 ซี.ซี.

ฉีดครั้งที่ 2 ใช้ยาอย่างเดียวกับครั้งแรก ฉีดห่างจากครั้งแรก 6 สัปดาห์

ฉีดครั้งที่ 3 ใช้ยาอย่างเดียวกัน ฉีดห่างจากครั้งที่สอง 6 เดือน

เมื่อฉีดครบ 3 ครั้งแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันโรคบาดทะยักตลอดชีวิต ภูมิคุ้มกันนี้อาจเสื่อมได้ จึงควรจะ ได้มีการเสริมฤทธิ์ทุก 10 ปี โดยฉีดเททานัส ท็อคซอยด์ ในขนาดเดียวกันนี้

ข้อมูลสื่อ

5-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 5
กันยายน 2522
รศ.นพ.เกษียร ภังคานนท์