• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แก้ว

แก้ว

  • ชื่ออื่น

แก้วเขา (ไทย), ตะไหลแก้ว, แก้วพริก, จ้าพริก (พายัพ), แก้วลาย (สระบุรี), แก้วขี้ไก่ (ยะลา), กะมูนิง (มลายู), เกาหลีเฮียง (จีน-แต้จิ๋ว)

  • ชื่อวิทยาศาสตร์

Murraya paniculata (L) Jack. วงศ์ Rutaceae พวกส้ม มะนาว

  • ลักษณะต้น

เป็นไม้พุ่ม เนื้อไม้แข็ง สูง 7-8 เมตร

ใบ เป็นใบประกอบ มีใบย่อย 3-9 ใบ ออกสลับกันเรียงตัวแบบขนนก ปลายมีใบย่อยใบเดียว มีใบดกเขียวตลอดปี ใบย่อยใบหนึ่งยาว 2-7 ซ.ม. กว้าง 1-3 ซ.ม. ปลายใบแหลมเล็กน้อย ฐานใบเรียวลงมาจนถึงก้านใบ

ดอก มีกลีบสีขาว มีกลิ่นหอมมาก ในตอนเย็นและค่ำ มีกลีบดอก 5 กลีบ เกสรตัวผู้มี 10 อัน ก้านเกสรตัวเมียมี 1 ก้าน ปลายเป็นตุ่มสีเหลืองเขียว ผลทรงกลม ที่ปลายแหลมเล็กน้อย เมื่อสุกมีส้มถึงแดง

มักพบปลูกเป็นไม้ประดับ ตามสถานที่ราชการและวัดต่างๆ

  • วิธีเก็บมาใช้

ก้านและใบ เก็บได้ตลอดปี ใช้สดหรือตากแห้งเก็บไว้ใช้ก็ได้

ราก เก็บในฤดูหนาว เอาดินออกล้างสะอาด หั่นเป็นแผ่น ตากแห้ง เก็บไว้ใช้

  • สรรพคุณ

ก้านและใบ ใช้เป็นยาชาระงับแก้ปวด แก้ผิวหนังเป็นผดผื่นคันที่เกิดจากความชื้น แก้แผลเจ็บปวดเกิดจากการกระทบกระแทก ต้มอมบ้วนปากแก้ปวดฟัน

ราก ใช้แก้ปวดเอว แก้ผดผื่นคันที่เกิดจากความชื้น และผดผื่นที่เกิดจากแมลงกัด

  • วิธีและปริมาณที่ใช้

ก้านและใบ ใช้ใบสดหนัก 10-15 กรัม ต้มน้ำหรือแช่เหล้ากิน

ใช้ภายนอก ใช้ตำพอก หรือคั้นเอาน้ำทาบริเวณที่เป็น หรือใช้ใบแห้งบดเป็นผงใส่บาดแผล

ราก ใช้รากแห้งหนัก 10-15 กรัม (รากสดใช้หนัก 30-60 กรัม) ต้มน้ำกิน

ใช้ภายนอก ใช้ตำพอก หรือต้มเอาน้ำทาบริเวณที่เป็น

ข้อมูลสื่อ

5-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 5
กันยายน 2522
ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ