• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

งูกัด

งูกัด

งูเป็นสัตว์ที่คนทั่วไปกลัวมากที่สุด เพราะความเชื่อถือที่เล่าต่อๆ กันมาถึงพิษ และความพยาบาทของงู รูปร่างและลวดลายตลอดจนการเคลื่อนไหวที่ปรูดปราด ล้วนสร้างความไม่ไว้วางใจระหว่างคนกับงูมากขึ้น บางคนเพียงแต่เห็นงูก็แทบช็อคแล้ว แท้จริงงูในโลกนี้มีมากกว่า 3,000 พันธุ์ จำแนกเป็นชนิดต่างๆ ได้กว่า 13,000 ชนิด แต่เป็นงูพันธุ์ที่มีพิษอยู่เพียง 500 กว่าชนิดเท่านั้นเอง และในบ้านเราก็มีงูพิษที่พบได้บ่อยอยู่เพียง 7 ชนิดเท่านั้น คือ งูจงอาง งูเห่า งูแมวเซา งูกะปะ งูสามเหลี่ยม งูทะเล และงูเขียวหางไหม้

ในจำนวนงูพิษนี้ก็เถอะ ไม่ใช่ว่ากัดแล้วต้องตายทุกครั้งไป ประมาณกันว่าในคนที่ถูกงูพิษกัดแล้วไม่ได้รับการรักษาอะไรเลยนั้น 10 คน มีตายเพียง 6 คนเท่านั้น ในคนที่ได้รับการรักษาทันท่วงที ไม่เคยปรากฏว่ามีใครตายเลย และแม้คนที่ไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที แต่ถ้าได้ทำการปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง ก็ทำให้ผ่อนหนักเป็นเบาลงไปได้มาก คนที่ถูกงูพิษกัดอาการจะไม่เกิดทันที โดยมากจะใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที จึงเริ่มมีอาการตื่นเต้นตกใจ เอะอะโวยวาย หรือออกกำลังแม้แต่เดินหรือวิ่ง จะทำให้อาการเกิดเร็วและรุนแรง ในทางตรงกันข้าม ถ้าสงบและออกกำลังให้น้อย เช่น นอนสงบเฉยๆ อาการเกิดจะช้าและไม่รุนแรง บทความต่อไปนี้เป็นข้อแนะนำว่าควรปฏิบัติต่อตัวเอง หรือช่วยเหลือผู้อื่นในระยะเริ่มแรกอย่างไรบ้างเมื่อถูกงูพิษกัด

ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าถูกงูพิษกัด

1.ตรวจผู้ถูกงูกัด

1.1 สังเกตรอยเขี้ยวที่ถูกกัด รอยเขี้ยวงูสามารถบอกชนิดของงูได้ การที่มีรูเขี้ยวปรากฏที่ผิวหนังจะเป็นรูเดียวหรือสองรู หรือมีรอยฟันเป็นแถวประกอบด้วยก็ตามทำให้เราบอกได้ว่าผู้ป่วยอาจถูกงูพิษกัด ถ้าประกอบกับมีอาการต่างๆ ปรากฏด้วยเราก็สามารถแน่ใจได้มากขึ้น รอยเขี้ยวงูทะเลมักไม่ชัดเจน เราไม่ควรรอช้าจนเกิดอาการเสียก่อนจึงจะช่วยเหลือ

1.2 อาการเจ็บปวดตรงรอยงูกัด ถ้ามีอาการเจ็บปวดตรงรอยเขี้ยว มักเชื่อได้ว่าเป็นแผลงูพิษกัด ถ้าไม่มีอาการเจ็บปวดและไม่บวมเลย ประกอบกับไม่มีอาการอย่างอื่นก็เชื่อได้ว่าไม่ใช่งูพิษกัด

1.3 บวม พวกถูกงูประเภทที่มีพิษต่อเลือด (Viper หรือ Pitviper) เช่น งูแมวเซา งูเขียวหางไหม้ งูกะปะกัด อาการบวมจะมีชัดเจนกว่างูชนิดอื่น

1.4 อาการอ่อนเพลีย วิงเวียน ซึม กล้ามเนื้อกระตุกและชาหมดแรงเป็นอัมพาตเหล่านี้เป็นอาการของพิษที่มีต่อระบบประสาท ( เช่น งูเห่า งูจงอาง) อย่าลืมว่า แม้ไม่ได้ถูกงูพิษกัด คนก็อาจตกใจและโน้มน้าวให้มีอาการดังกล่าวมาแล้วนี้ได้ แต่เพื่อความไม่ประมาท ถ้ามีอาการดังกล่าวให้ถือว่าถูกงูพิษกัดไว้ก่อน

2. ตรวจดูลักษณะของงู ซึ่งจะกล่าวถึงเกี่ยวกับงูในครั้งต่อไป

เมื่อถูกงูกัดเราจะทำอย่างไร

การช่วยเหลือถ้าได้ทำโดยเร็วให้ทันการ และทำโดยถูกวิธีจะสามารถช่วยชีวิตผู้ที่ถูกงูพิษกัดได้ เช่นเดียวกันกับการปฐมพยาบาลในกรณีที่เกิดบาดเจ็บและอุบัติเหตุอย่างอื่นๆ คนทั่วไป เมื่อถูกงูกัดจะมีพิษ หรือไม่มีก็ตามมักจะตกใจ กระวนกระวาย บางครั้งบางคราวคล้ายกับคลุ้มคลั่ง ความตกใจและตื่นตระหนกนี้จะช่วยให้พิษงูถูกดูดซึมแพร่เข้าสู่ร่างกาย และออกฤทธิ์เร็วและแรงขึ้น แท้ที่จริงคนที่ถูกงูที่มีพิษที่สุดกัด ถ้าได้รับการปฐมพยาบาลที่ถูก และทันท่วงทีแล้วหายากมากที่จะเสียชีวิต ดังนั้นบุคคลทั่วไปควรจะรู้วิธีปฐมพยาบาลการถูกงูพิษกัด

การทำปฐมพยาบาล

1. ตีงูให้ตายและเก็บเอาไว้ เพราการให้ยาแก้พิษงูเฉพาะชนิดจะได้ผลดีที่สุด การตีงูควรตีด้วยไม้ทอดนอนขนานกับพื้น ไม่ควรตีที่ส่วนหัว แต่ค่อนไปทางข้างหัว ไม่ควรเสียเวลานานกับการตีงู ถ้าตียากหรือทำไม่ได้ ไม่ควรเดินห่างจากที่ถูกกัดมากกว่า 2-3 ก้าว

2. พยายามทำใจให้สงบ และนั่งลงหรือนอนราบ ในกรณีที่มีผู้อื่นช่วย ถ้าไม่แน่ใจว่าจะเป็นงูพิษ ให้ถือเสมือนงูพิษกัด ถ้าแน่ใจว่างูไม่มีพิษ ให้ทำความสะอาดแผลด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น สบู่ สำลี แอลกอฮอล์ ฯลฯ และไปหาหมอ

3. พักส่วนที่ถูกกัด โดยให้ห้อยอยู่ที่ต่ำกว่าหัวใจ เช่น นอนหรือนั่งห้อยเท้า (หรือมือในกรณีที่ถูกกัดที่มือ) โดยมากตำแหน่งที่ถูกกัดหาง่าย เพราะจะมีความเจ็บปวด

4. ใช้สายยาง เชือก หรือผ้า (สุดแต่จะหาได้ในขณะนั้น แต่สายยางนับว่าดีที่สุด) รัดเหนือบริเวณที่ถูกกัด ควรรัดแต่เพียงไม่ให้เลือดดำไหลผ่านเข้าตัว ไม่ใช่รัดให้แน่นจนเลือดแดงไหลไปเลี้ยงร่างกายไม่ได้ และควรรัดทั้งส่วนที่สูงกว่ารอยเขี้ยว และต่ำกว่ารอยเขี้ยวสัก 3-5 ซ.ม. ดังรูป

ในตำราที่เขียนก่อน ปี พ.ศ. 2508 แนะนำให้รัดให้แน่นจนกระทั่งเลือดแดงก็ไม่สามารถไหลผ่านได้ การกระทำดังกล่าวได้รับการพิสูจน์ต่อมาว่าให้ผลร้ายมากกว่าผลดี

5. การใช้มีดกรีดและใช้ปากหรือเครื่องมือดูด ชาวบ้านธรรมดาจะใช้มีดกรีดได้ก็ต่อเมื่อมีดนั้นสะอาด ปราศจากเชื้อโรคเสียก่อน หรืออาจใช้ฆ่าเชื้อโรคเสียก่อน โดยการเผาไฟให้ร้อนแล้วทิ้งไว้ให้เย็น บริเวณที่จะกรีด ต้องทำให้สะอาดด้วยการใช้ยาฆ่าเชื้อ ถ้าดูดด้วยปากควรทำความสะอาดปากเสียก่อน ด้วยวิธีที่เหมาะสม และเราจะทำก็ต่อเมื่อแน่ใจว่างูที่กัดเป็นงูพิษจริง และกัดมาแล้วไม่เกิน 10 นาที ถ้าเกิน 30 นาที การกระทำอันนี้จะไร้ผล การกรีดใช้มีดกรีดไปตามยาวของแขนหรือขา ตรงตำแหน่งที่ถูกกัดไม่เกินครึ่ง ซ.ม. คือ ให้ลึกใต้ผิวหนังเท่านั้น ความมุ่งหมายก็คือ เพื่อที่จะดูดพิษที่ยังไม่ซึมซ่านไปให้ออกมา โดยทั่วไปจะดูดอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง

ยังมีความไม่ลงรอยกันอยู่มากในการรักษาโดยวิธีนี้ เพราะแม้แต่หมอที่ไม่เคยทำมาก่อนก็อาจทำได้ยาก ยิ่งสอนให้คนธรรมดาทำด้วยความมุ่งหมายเพียงเพื่อปฐมพยาบาลแล้วยิ่งยากขึ้นไปอีก อันตรายจากการทำมีมาก ตั้งแต่แผลเป็นหนอง แผลอักเสบ จนกระทั่งไปตัดถูกหลอดเลือดเส้นประสาท ฯลฯ ทำให้พิการโดยไม่จำเป็น มีท่านผู้รู้หลายท่านไม่เพียงแต่กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวไม่มีประโยชน์เท่านั้น ซ้ำยังห้ามไม่ให้ทำอีกด้วย เพราะมีแต่โทษ

6. ในกรณีเกิดการหายใจไม่สะดวก (ซึ่งเกิดจากพิษที่มีต่อระบบประสาท) เช่น งูเห่า งูจงอาง หรือหายใจไม่ออกต้องช่วยหายใจ ด้วยวิธีเป่าลมเข้าทางปากหรือทางจมูก อาจต้องช่วยการหายใจนานถึงสองชั่วโมงหรือนานกว่านั้น

7. ให้ยาแก้พิษงู (Antivrenin) ให้เร็วได้เท่าไรยิ่งดี พนักงานอนามัยผดุงครรภ์ พยาบาล และผู้ช่วยแพทย์ หรือผู้ฝึกหัดมาเพื่อการนี้สามารถให้ยาแก้พิษงูได้ (ถ้ามีแพทย์อยู่ในที่นั้น ควรปรึกษาแพทย์เสียก่อน)

ก่อนให้ยาแก้พิษงู ผู้ให้จะต้องตรวจดูให้แน่ว่ายานั้นแก้พิษตรงกับที่งูกัด และผู้ที่ถูกงูกัดอาจแพ้ยาได้ ดังนั้นจึงควรทำการทดลองการแพ้ยาเสียก่อน ดังนี้

1. ใช้หลอดฉีดยาชนิด ทูเบอร์คูลิน (1.0 มิลลิลิตร) ดูดยา 0.1 มิลลิลิตร และเตรียม 05. มิลลิลิตรของ 1: 1000 แอดรีนาลีนไว้ในกระบอกฉีดยาอีกอันหนึ่ง

2. ฉีด 0.1 มิลลิลิตร ของยาแก้พิษงูที่เตรียมไว้เข้าใต้ผิวหนังและรอดูอาการสัก 10 นาที ถ้าผู้ป่วยแพ้จะมีอาการคัน บวมแดงที่รอยฉีดอาจมีเหงื่อออกและหน้ามืด อาการที่เกิดภายหลัง 15 นาที น่าจะเป็นอาการของพิษงูมากกว่ายาแก้พิษงู

3. ถ้ามีอาการแพ้มักจะเป็นการแพ้น้ำเหลืองหรือซีรั่มของม้า (Horse Serum) ให้แก้โดยฉีดแอดรีนาลีน 1: 1000 ที่เตรียมไว้แล้ว 0.3-0.5 มิลลิกรัม ทันที

4. พวกที่แพ้ยาแก้พิษงู เราจำเป็นต้องฉีดยาแก้พิษงูเฉพาะในรายที่เชื่อแน่ว่าถูกงูกัดจริง และงูนั้นเป็นงูมีพิษแน่ การฉีดควรแบ่งฉีดครั้งละน้อยๆ หลายๆ ครั้ง

5. ถ้าผู้ป่วยไม่แพ้ยาแก้พิษ ให้ฉีดยาแก้พิษงูเลย โดยฉีดยาทั้งหมดในครั้งเดียว ตามขนาดของยาที่เขียนติดไว้กับคู่มือการใช้ยา ซึ่งใส่มาในกล่องยา

ตาอักเสบจากพิษงู

มีงูสองชนิดในอาฟริกา และเคยมีผู้พบในประเทศไทย ได้แก่ งูเห่าพ่นพิษ (Spitting Cobra) ริงคาล (Hemachates hacmachatus) สามารถพ่นพิษออกไปได้ไกลถึง 3-4 เมตร โดยมากมักจะพ่นเข้าหาลูกตาของผู้บุกรุก พิษจะทำให้เกิดการเจ็บปวดอย่างมาก อาจมีอาการตาบอดชั่วขณะ เพื่อที่มันจะได้หลบหนีไปได้

การแก้ไข

โดยการล้างตาด้วยน้ำสะอาด ปริมาณมากๆ อาจใช้น้ำเกลือ 0.9% (นอร์มัล) หรือน้ำยาบอริค 3% ก็ได้ และป้ายตา หรือหยอดตาด้วยยาที่มีส่วนผสมของสเตอรอยด์ เช่น เตคาตรอน อายดรอพ โดยมากอาการอักเสบจะหายไปภายใน 2-3 วัน โอกาสของพิษที่จะถูกดูดซึมเข้าไปทำอันตรายแก่ร่างกายถึงตายนั้นยังไม่ปรากฏ

การรักษาเมื่อถูกงูกัด

การรักษาเมื่อถูกงูกัดยังมีความเห็นที่ไม่ลงรอยในส่วนปลีกย่อยมาก ทั้งนี้เพราะการทดลองค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องงูได้กระทำในสัตว์แทบทั้งสิ้น และยังไม่ปรากฏการศึกษาเปรียบเทียบผลทีได้จากการรักษาวิธีต่างๆ ในคน แม้แต่วิธีการซึ่งปฏิบัติกันทั่วไป เช่น การกรีดรอยแผล การตัดเอารอยแผลออกหลังถูกกัดทันที การดูดพิษ การใช้สายวัด การใช้ความเย็น (Hypothermia) ประคบ การให้ยาปฏิชีวนะ ยาเสริมการแพร่กระจาย (Hyaluronidase) ยาแก้ภูมิแพ้ (Antihistamine) ยาพวกสเตอรอยด์ และแม้กระทั่งยาแก้พิษงู (Antuvenom)

รายงานผลของการรักษามักจะมาจากที่ต่างๆ กันทั่วโลกปละเกิดจากงูต่างชนิดกัน ซึ่งงูแต่ละอย่างมีพิษที่ไม่เหมือนกันนัก รายงานที่มีประสบการณ์จำนวนมากมาจากอินเดีย ซึ่งมีงูชนิดที่คล้ายคลึงกับประเทศไทยพอจะสรุปวิธีปฏิบัติเมื่อถูกงูกัดได้ ดังนี้

1.ให้การปฐมพยาบาลทันทีที่ถูกงูกัดตามวิธีต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วเกี่ยวกับเรื่องการปฐมพยาบาล

2. ให้ยาแก้พิษงู ถ้ารู้ว่าถูกงูอะไรกัด ควรให้ยาแก้พิษเฉพาะสำหรับงูชนิดนั้นๆ ซึ่งจะทำให้ได้ผลดีที่สุด ถ้าไม่ทราบว่างูชนิดไหนกัด ควรดูอาการว่าบ่งชี้ไปทางไหน เช่น ถ้ามีอาการเกี่ยวกับระบบประสาท ควรให้ยาแก้พิษงูเห่า ถ้ามีอาการทางโลหิตก็ใช้ยากิพิษงูแมวเซา (การสังเกตอาการได้กล่าวไว้พอเป็นแนวทางแล้ว ในหัวข้อที่ว่าด้วยพิษของงู อ่านตอนต่อไปฉบับที่ 8)

การให้ยาควรคำนึงถึง การแพ้ซีรั่ม (Serum sickness) และถ้ามีเวลาควรจะได้ทดสอบดูเสียก่อนตามรายละเอียดที่กล่าวมาแล้ว

ในผู้ที่ไม่แพ้ยาแก้พิษ การฉีดยาครั้งแรกต้องฉีดให้มีขนาดมากพอ คือ ประมาณ 50 มิลลิลิตร ถ้าผู้ป่วยมีอาการมาก อาจเพิ่มยาได้ถึง 200 มิลลิลิตร โดยแบ่งฉีดเข้าหลอดเลือด 50 มิลลิลิตร อีก 150 มิลลิลิตรฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรืออาจแบ่งครึ่งต่อครึ่ง ในผู้ที่เป็นอัมพาตหมดสติ หยุดหายใจด้วยพิษงูเห่าอาจต้องใช้ยาแก้พิษงูเห่ามากถึง 500 มิลลิลิตร (50 ขวด) ก็ได้ การให้ยาในปริมาณมากๆ เช่นนี้ อาจผสมกับน้ำเกลือนอร์มัลหรือกลูโคส ร้อยละ 5 หรือในน้ำยา ริงเกอร์แล็คเตทแล้วหยดเข้าหลอดเลือดได้

เกี่ยวกับการให้ยาแก้พิษยังมีข้อโต้แย้งกันบ้าง เคยเชื่อกันว่าให้ยาแก้พิษเร็วเท่าไรก็ได้ผลดีเท่านั้น ความเชื่อเช่นนี้เป็นความจริง ถ้าเราทราบแน่ว่างูพิษชนิดใดกัด และกัดเข้า (หมายความว่า กัดแล้วปล่อยพิษเข้าไปในร่างกายได้) แต่ถ้าไม่แน่ใจ การรอไว้จนเกิดอาการก็ไม่สายเกินไปโดยเฉพาะในรายที่ถูกงูประเภทมีพิษทางเลือด (เช่น งูแมวเซา งูกะปะ งูเขียวหางไหม้) กัด ยาแก้พิษสามารถแก้พิษได้แม้จะให้ภายหลังถูกกัดแล้วหลายวัน

3.ให้ยาปฏิชีวนะ ทั้งนี้ด้วยเหตุผล 2 ประการ

3.1 เราพบว่าในบาดแผลของงูกัดมีเชื้อจุลชีพ และมีหลายที่อาจทำให้เกิดชนิดโรคติดเชื้อ

3.2 แผลที่ถูกงูกัด อาจมีเนื้อตายเน่าและเป็นแผลวงกว้าง ซึ่งทำให้มีโรคติดเชื้อเกิดขึ้นได้ง่าย ซึ่งเมื่อเกิดแล้วมักลุกลามและมีอาการมาก

4. ให้ยาป้องกันบาดทะยัก ในผู้ที่เคยฉีดท็อกซอยด์กันบาดทะยักมาแล้วเกินกว่า 4 ปี อาจให้ท็อกซอยด์เสริมซ้ำอีกครั้ง

5. การให้ยาประเภทสเตอรอยด์ การใช้ยาสเตอรอยด์ ได้ผลดีในผู้ป่วยถูกงูที่มีพิษทางเลือดมากกว่าผู้ป่วยที่ถูกงูที่มีพิษทางระบบประสาทกัด การให้สเตอรอยด์ร่วมกับยาแก้พิษงูได้ผลดีมาก เพราะ

5.1 ทำให้ลดการแพ้ ซีรั่มลง

5.2 ทำให้การฟื้นตัวเร็วขึ้น การให้สเตอรอยด์อาจให้ไปในรูปของเด๊กซ่าเมธาโซน 10-5 มิลลิกรัมทุก 2 ชั่วโมงภายใน 12 ชั่วโมงแรก

6. รักษาการหายใจเป็นอัมพาต พิษที่มีต่อระบบประสาทของงูเห่าและงูจงอางจะทำให้ศูนย์หายใจเป็นอัมพาตได้ในเวลาอันรวดเร็ว วิธีที่จะช่วยได้อย่างเดียวคือ ช่วยการหายใจโดยวิธีเหมาะสมตามแต่จะหาได้ในขณะนั้น ในบางรายอาจต้องช่วยหายใจนานถึง 2-3 วันก็มี

7. รักษาการเสียดุลน้ำและเกลือแร่ ในผู้ที่หมดสติไม่ได้อาหารและน้ำทางปากอาจต้องให้สารน้ำและเกลือแร่ทางหลอดเลือด ในผู้ป่วยที่มีเลือดออกและเม็ดเลือดแดงถูกทำลายมากอาจต้องให้เลือด ทั้งนี้ให้พิจารณาตามอาการและสภาพของผู้ถูกงูกัด

8. รักษาไตเสีย การให้สารน้ำให้พอ และการให้ยาขับปัสสาวะในชนิดและขนาดที่เหมาะสมตั้งแต่แรกจะช่วยป้องกันภาวะไตล้ม (ไตทำงานไม่ได้) ไปได้มาก การรักษาเมื่อเกิดภาวะไตล้มแล้วได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร เมื่อมีภาวะไตล้มเกิดขึ้นต้องรักษาโดยการถ่ายของเสียทางช่องท้อง (Peritoneal dialysis) หรือใช้ไตเทียม (Artificial kidney) โดยมากภาวะนี้จะมีอยู่เป็นเวลา 2-10 วัน หลังจากนั้นจะมีปัสสาวะอยู่หลายวันจนกว่าจะเป็นปกติ

9. การรักษาโดยวิธีอื่นๆ ซึ่งยังไม่ได้รับการยืนยันว่ามีผลดี จะกล่าวถึงเพียงเพื่อให้เรื่องสมบูรณ์เท่านั้น เช่น

9.1 การใช้ยาแก้พิษงู ใส่ในหลอดเลือดและไหลเวียนอยู่ภายในอวัยวะที่ถูกกัด โดยแยกออกจากการไหลเวียนของร่างกาย หรือที่ฝรั่งเรียกว่า ไอโซเลชั่น เปอร์ฟิวชั่น (Isolation perfusion)

9.2 การใช้ความเย็นประคบ

9.3 การถ่ายเลือดหมดตัว

9.4 การตัดเอารอยแผลถูกกัดออก ซึ่งกระทำทันทีหลังถูกงูกัด

เมื่อถูกงูกัดอะไรบ้างที่เราไม่ควรทำ

1. ในคนที่มีความดันเลือดสูงขี้ตกใจกลัว และกระวนกระวาย มักจะมีอาการเร็วและมาก ฟื้นตัวจากการช่วยเหลือแบบปฐมพยาบาลได้น้อย ดังนั้นไม่ควรตกใจหรือตื่นเต้น

2. อย่าให้ดื่มเหล้า หรือยาประเภทมีเหล้าเจือปน เพราะจะเสริมฤทธิ์ของพิษงู

3. ไม่ใส่ยาอะไรลงไปที่แผล นอกจากยาฆ่าเชื้อเพื่อทำความสะอาดแผล เพราะไม่เกิดประโยชน์ แต่จะทำให้เจ็บปวดมากขึ้น

4. ห้ามใช้ยาประเภทมอร์ฟีน เพราะจะทำให้การหายใจเป็นอัมพาตเร็วขึ้น

5. อย่าตีงูด้วยความโกรธแค้น เพราะจะทำให้ดูไม่รู้ว่าเป็นงูชนิดใด

6. ไม่ควรใช้มือง้างปากงูเพื่อดูเขี้ยวแม้มันตายแล้ว เพราะอาจถูกงูงับเมื่อเราปล่อยมือที่ง้างและเขี้ยวมันปล่อยพิษเข้าสู่ร่างกายอีกได้

7. ไม่ควรจับงูด้วยมือเปล่า ไม่ว่าในกรณีใดๆ

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับงู

งูส่วนใหญ่จะกลัวคน และพยายามที่จะหลบหนีไป ควรหลีกเลี่ยงการประจันหน้าเพื่อให้โอกาสหลบหนีแก่มัน งูส่วนใหญ่ออกหากินเวลากลางคืน ดังนั้นการเดินในที่มืดในท้องถิ่นที่มีงูชุกชุมควรหลีกเลี่ยง

งูชอบอยู่ในที่ที่เย็นๆ เช่น ตอไม้หรือใต้ขอนไม้ผุๆ ใต้ซอกหิน และในที่ลับตาอื่นๆ

งูเวลาถูกรบกวนเมื่อกัดจะปล่อยพิษออกมามากกว่าเวลากัดเมื่อมันตกใจจะหนี

งูทั่วไปว่ายน้ำเก่ง และดำอยู่ใต้น้ำได้เป็นเวลานานๆ งูฉกในน้ำได้ไม่ว่องไวเท่าที่อยู่บนบก แต่ถ้ากัดถูกที่จะสามารถปล่อยพิษออกได้รุนแรงเท่ากับอยู่บนบก

ข้อควรรู้เมื่ออยู่ในท้องถิ่นที่มีงูชุกชุม

1. ไม่ควรล้วงมือเข้าไปตามซอกหิน หรือใต้แผ่นไม้ในโพรงไม้เวลาตอนเช้างูมักจะชอบมานอนผึ่งแดดใต้ซอกหิน

2. ควรใส่รองเท้าหนังหุ้มข้อเวลาเดินเสมอ

3. เวลาจะนั่งตามโคนไม้ หรือตามขอนไม้ โปรดสังเกตให้ทั่วเสียก่อนว่าไม่มีงูอยู่

4. ไม่ควรกางกระโจมนอนใกล้กองหิน หรือกองไม้ที่น่าจะมีงูอาศัยอยู่

5. ไม่ควรนอนกับพื้นดิน ถ้าสามารถทำยกพื้น เพื่อเป็นที่นอนได้ก็ให้ทำเสีย

6. ถ้าต้องการพลิกขอนไม้หรือแผ่นหิน ควรงัดแผ่นหินหรือไม้เข้าหาตัว เพราะถ้ามีงูข้างใต้แผ่นหินและแผ่นไม้จะเป็นโล่ห์บังไม่ให้ฉกเราได้

7. ควรเดินให้ห่างจากซอกหินพอสมควร เพราถ้ามีงูแอบซ่อนอยู่จะได้ไม่สามารถฉกเราได้

8.ไม่ควรเดินคนเดียว เพราะถ้าเวลาเราถูกงูกัดจะได้มีผู้ช่วยทำการปฐมพยาบาลได้สะดวกและดีกว่าทำเอง

9. ควรใส่เสื้อผ้าและรองเท้าที่งูกัดไม่เข้าหรือกัดได้ลำบาก

10. งูพิษที่ตายแล้ว เวลาจะจับต้องควรระวัง เพรางูอาจยังมีปฏิกิริยาสะท้อนหรือรีเฟล็กซ์ และอาจปล่อยพิษใส่บาดแผลได้ แม้ไม่ถึงตายก็ทำให้ลำบากได้มาก

11. ถ้าเราไม่มีความรู้เรื่องงูพอสมควร อย่าพยายามจับงูเป็นๆ ด้วยมือเปล่า

ข้อมูลสื่อ

6-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 6
ตุลาคม 2522
รศ.นพ.เกษียร ภังคานนท์