• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โอ๊ย! ปวดฟัน

โอ๊ย! ปวดฟัน

ปัญหาส่วนใหญ่ที่หมอฟันมักได้ยินจากคนไข้ส่วนมาก คือ การปวดฟัน ซึ่งความจริงแล้ว การปวดฟันนี้เป็นอาการของโรคที่อาจเกิดได้จากสาเหตุหลายประการ เช่น การมีฟันผุที่ลึก และมีการสูญเสียเนื้อฟันไปมาก ฟันผุลึกจนถึงโพรงประสาทฟัน ฟันแตกหัก ฟันเป็นโรคเหงือก (รำมะนา) ฟันขึ้นผิดปกติ (ฟันคุด) ฟันกำลังขึ้น

ท่านจะทำอย่างไรเมื่อมีอาการปวดฟัน

ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจกับผู้อ่านเสียก่อนว่า โรคในช่องปากส่วนมากเป็นโรคที่ไม่สามารถหายเองได้โดยธรรมชาติ ซึ่งการรักษานี้จึงต้องให้หมอฟันเป็นผู้รักษา ดังนั้น ข้อแนะนำที่จะกล่าวต่อไปจึงเป็นเพียงแต่ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดเท่านั้น มิใช่เป็นรักษาให้โรคนั้นหายขาดไปได้

การปวดฟันมีด้วยกันหลายประเภท ประเภทแรกเป็นการปวดฟันแบบเสียวจี๊ดๆ เมื่อเวลากินของเย็น ของหวาน หรือเมื่อเวลาเคี้ยวอาหาร และอาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อหยุดกินอาหารดังกล่าวแล้วภายในไม่กี่นาที ลักษณะการปวดเช่นนี้เกิดจากฟันผุหรือฟันบิ่นจนถึงเนื้อฟันชั้นใน (มีสีเหลืองเข้มกว่าผิวฟันชั้นนอก) ซึ่งทำให้ความเย็นหรือแรงจากการเคี้ยวอาหารมีโอกาสกระตุ้นเส้นประสาทที่อยู่ในโพรงประสาทใต้เนื้อฟันได้มากกว่าปกติ จึงเกิดความรู้สึกเสียวฟันทุกครั้งเมื่อมีการกินอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทของเย็นจัด เมื่อท่านพบว่าลักษณะการปวดฟันเป็นดังที่กล่าวมาแล้วก็ขอให้หลีกเลี่ยงการกินอาหารชนิดที่เป็นสาเหตุนั้นเสีย พร้อมทั้งพยายามให้ฟันซี่นั้นมีโอกาสเคี้ยวอาหารให้น้อยที่สุด แล้วไปหาหมอฟันเพื่อรับการรักษาโดยการอุดเสริมเนื้อฟันที่เสียหรือครอบฟันให้ ในกรณีที่มีการสูญเสียเนื้อฟันไปมาก เพื่อป้องกันไม่ให้ประสาทฟันได้รับการกระทบกระเทือนต่อไป และสามารถปรับตัวเข้าสู่สภาพปกติในที่สุด

การปวดฟันอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งมีความรุนแรงกว่าชนิดแรก คือ การปวดเป็นจังหวะ ตุ๊บๆ ซึ่งอาจปวดโดยอยู่เฉยๆ ก็ปวด หรืออาจปวดมากขึ้นเวลากินของเย็นหรือร้อน หรือเวลาเคี้ยวอาหาร และอาการปวดนี้มิได้หายไป แม้จะเลิกกินอาหารเหล่านั้นแล้ว เพราะมีการผุจนทะลุถึงโพรงประสาทภายในฟัน การปวดนี้สามารถบรรเทาได้ โดยหลีกเลี่ยงการกินอาหารประเภทดังกล่าว พร้อมทั้งกินยาแก้ปวดที่เราหาซื้อกินเองได้ เช่น ยาเม็ดสีชมพู ยาแอสไพริน หรืออาจใช้สำลีสะอาดก้อนเล็กๆ ชุบน้ำมันกานพลูพอหมาดๆ ใส่ลงไปในบริเวณรูฟันผุ ซึ่งช่วยให้หายปวดได้มากกว่าการกินยาแก้ปวด

ยาแก้ปวดฟัน ยาหม่อง กอเอี๊ยะ ช่วยแก้ปวดฟันได้หรือไม่

ยาแก้ปวดฟัน ชนิดเป็นน้ำที่มีขายทั่วไปมักมีน้ำมันกานพลูเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย จึงอาจใช้ได้ในกรณีปวดฟัน แต่ยาประเภทนี้มักผสมสารอื่นลงไปด้วย จึงอาจทำให้ฟันตายได้ หากใช้ไปนานๆ หรืออาจทำให้เหงือกเป็นแผล ถ้าใช้มากจนล้นออกมานอกรูฟันผุ ส่วนยาหม่องหรือกอเอี๊ยะนั้น มิได้ช่วยลดการปวดฟันได้เลย

ข้อควรระวัง

1.การกินยาแอสไพริน ต้องกินหลังอาหาร เพราะยาชนิดนี้มีความเป็นกรดอยู่ การกินเมื่อท้องว่างอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้

2. อย่าใช้ยาแอสไพรินชนิดผง หรือเม็ด หรือยาแก้ปวดชนิดอื่นๆ ใส่ลงไปในรูฟันผุ เพราะนอกจากจะไม่ได้บรรเทาการปวดฟันแล้วความเป็นกรดอาจทำให้แก้ม และเหงือกบริเวณใกล้เคียงเป็นแผล

3. ควรที่จะไปปรึกษาหมอฟัน เพื่อทำการรักษาแบบถาวรต่อไป

การปวดฟันอันเนื่องมาจากโรคเหงือก (รำมะนา) มักพบได้เสมอๆ ถึงแม้ว่าฟันจะไม่มีการผุหรือบิ่นเลยก็ตาม สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เกิดจากเหงือกและกระดูกที่หุ้มรากฟันได้รับการกอักเสบจากเชื้อโรคบางชนิดในช่องปาก แล้วทำให้เหงือกในบริเวณนั้นแดงช้ำกว่าบริเวณอื่นๆ พร้อมทั้งมีการร่นของเหงือกจึงทำให้ดูเหมือนฟันยาวขึ้นเรื่อยๆ แต่แท้จริงส่วนที่ยาวเพิ่มขึ้นนั้นก็คือ รากฟันซึ่งปกติมีเหงือกและกระดูกหุ้มไว้ และเมื่อกินอาหารประเภทเย็นหรือหวานจัดไปกระทบรากฟันนั้น ก็จะทำให้รู้สึกปวดฟันแบบเสียวจี๊ดๆ และอาการปวดจะหายไปเมื่อหยุดกิน โรคนี้เมื่อทิ้งไว้นานๆ จะลุกลามเกิดหนองขึ้นที่บริเวณนั้น ฟันจะโยกเยก และปวดมากเมื่อเวลาเคี้ยวอาหารแล้วไปกระทบกับฟันซี่นั้น การแก้ไข คือ หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่ทำให้ปวด และพยายามอย่าใช้ฟันซี่นั้นเคี้ยวอาหาร หากปวดมากๆ อาจใช้ยาแก้ปวดเข้าช่วยบ้าง แต่มักไม่ค่อยได้ผลมากนัก จากนั้นก็ตามเคยครับ คือ ไปปรึกษาหมอฟันเสียแต่เนิ่นๆ

การปวดฟันเมื่อมีฟันคุด

การปวดเช่นนี้มักเกิดกับคนวัยหนุ่มสาว โดยเกิดจากการที่ฟันกรามซี่สุดท้ายขึ้นไม่ตรงที่ และอาจเอียงไปดันฟันข้างเคียงแล้วทำให้เกิดอาการเจ็บปวดได้ ประกอบกับบริเวณเหล่านี้มักทำความสะอาดกันได้ไม่ทั่วถึง จึงทำให้มีเศษอาหารไปตกค้างอยู่จนอาจเกิดหนองรอบๆ ฟันคุดได้ การรักษาคือ ต้องถอนฟันคุดนั้นเสีย เพราะการขึ้นลักษณะเช่นนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีในการเคี้ยวอาหารกับเจ้าของฟันเลย แต่กลับสร้างความเจ็บปวดให้อีกด้วย แต่เมื่อมีการเจ็บปวดดังกล่าวแล้วยังไปพบหมอฟันไม่ได้ ก็อาจทำให้ทุเลาความปวดได้โดยกินยาแก้ปวดทุก 4-6 ชั่วโมง (อาจเป็นแอสไพริน หรือพาราเซตามอล) บ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ (เกลือครึ่งช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 แก้วธรรมดา) จากนั้นใช้น้ำแข็งห่อผ้าวางที่บริเวณแก้มภายนอก การทำดังกล่าวนี้อาจทำให้ความเจ็บปวดหายได้ แต่จะไม่หายขาดถ้าไม่ถอนฟันคุดที่เป็นสาเหตุออก

การปวดฟันขณะฟันขึ้น

ในวัยเด็ก มักมีการเจ็บปวดฟันเป็นครั้งคราว สาเหตุหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ การปวดอันเนื่องมาจากฟันขึ้น ในขณะที่ฟันขึ้นอาจมีเหงือกอักเสบร่วมด้วย ซึ่งการปวดนี้จะหายไปเองเมื่อฟันโผล่พ้นเหงือกแล้ว แต่ถ้าเจ็บมากก็ให้บ้วนน้ำเกลือบ่อยๆ และกินแอสไพรินสำหรับเด็ก 1-2 เม็ด การเจ็บปวดมักจะทุเลาและหายไปเองภายใน 2-3 วัน

แล้วผมจะไปหาหมอฟันได้ที่ไหน

ในเวลาราชการท่านอาจไปปรึกษากับหมอฟันได้ที่

  • แผนกทันตกรรมของโรงพยาบาล
  • คณะทันตแพทยศาสตร์จุฬา (ถนนอังรีดูนังต์ ตรงข้ามสนามม้าปทุมวัน)
  • คณะทันตแพทยศาสตร์ มหิดล (ถนนโยธี เขตพญาไท)
  • คณะทันตแพทยศาสตร์ เชียงใหม่
  • ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.
  • คลินิกเอกชน

ถ้านอกเวลาราชการ ก็เห็นจะต้องไปปรึกษาหมอที่คลินิกเอกชนแล้วครับ เพราะเท่าที่ทราบยังมิได้มีการเปิดรักษาทางทันตกรรมนอกเวลาราชการในหน่วยงานของรัฐเลยครับ เป็นอันว่าบทความที่เกี่ยวกับปวดฟันเห็นจะต้องจบลงเพียงนี้ ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า ทำไมแนะนำทีไรลงท้ายต้องให้ไปหาหมอฟันซะเรื่อย ถ้าไม่ให้ไปหาจะไม่ได้หรือ ก็ดังที่กล่าวไว้แล้วว่า โรคฟันมักแสดงอาการให้ทราบก็ต่อเมื่อโรคนั้นลุกลามเกินกว่าที่จะรักษาเองได้แล้ว ดังนั้น การแนะนำของผมจึงเป็นเพียงแต่ช่วยทุเลาการเจ็บปวดเท่านั้น แต่อีกไม่นานอาหารปวดนั้นก็จะกลับคืนมาอีกได้ เพราะสาเหตุของโรคที่แท้จริงยังไม่ถูกขจัดออกไป หมอฟันซึ่งมีหน้าที่รักษาสุขภาพภายในช่องปากของท่านจะช่วยกำจัดสิ่งเหล่านั้นออกไป ซึ่งจะสำเร็จได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากตัวท่านเองด้วย

ข้อมูลสื่อ

6-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 6
ตุลาคม 2522
ฟันดีมีสุข
ทพ.สิทธิชัย ขุนทองแก้ว