• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พังพวย

พังพวย

“สมุนไพรที่นำเสนอนี้ ผู้เขียนได้แปลและเรียบเรียงจากหนังสือ “พจนานุกรมสมุนไพรจีน” ของประเทศจีน ขนาดน้ำหนักของสมุนไพรที่ใช้นี้แปลและคิดคำนวณมาจากที่จีนบันทึกไว้ ซึ่งเป็นขนาดใช้ในผู้ใหญ่ ดังนั้นเวลานำมาใช้จึงต้องดัดแปลงน้ำหนักของยาให้เหมาะสมกับอายุ น้ำหนักและสุขภาพของผู้ใช้ด้วย เริ่มลงตั้งแต่ฉบับที่ 1 ปีที่ 1”

ชื่ออื่นๆ

พังพวย (ไทย) ผักปอดน้ำ (พายัพ) ก้วย นั่งจั้ว จุ่ยเล้ง ปี่แป่ฉ่าย ชื่อเผื่อเข่า (จีน-แต้จิ๋ว)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Jussiaea repens Linno วงศ์ Onagraceae

ลักษณะต้น

เป็นพืชที่ลอยอยู่ในน้ำหรือที่ชื้นแฉะ มีราก พยุงช่วยให้ลอยน้ำอยู่ได้ เป็นรูปทรงกระบอกกลมสีขาว ยาวประมาณ 1.5-5 ซ.ม. ตามข้อมีรากเป็นเส้นฝอยๆ มากมาย

ใบ ออกตรงกันข้าม ยาว 1.5-5 ซ.ม. กว้าง 0.5-2.5 ซ.ม. ปลายใบกลมมน ค่อยๆ เรียงเล็กลงมาที่ฐานใบ มีก้านยาวประมาณ 0.3-1 ซ.ม.

ดอก ออกข้างใบ ดอกเดี่ยว ก้านดอกยาว มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ แหลมยาวประมาณ 7 ม.ม. ด้านนอกมีขนอ่อนๆ กลับดอก กลีบดอกมี 5 กลับ หลุดร่วงได้ง่าย มีสีขาว โคนกลีบสีเหลืองอ่อน ยาวประมาณ 12 ม.ม. เกสรตัวผู้มี 10 อัน รังไข่มี 5 ก้อง มีก้านเกสรตัวเมีย 1 อัน ปลายเป็นตุ่มมีรอยแยกตื้น 5 รอย

ผล เป็นฝักทรงกระบอกตรง อาจมีขนหรือไม่มีก็ได้ ยาว 2-3 ซ.ม. เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 ม.ม. มีเมล็ดมาก เมล็ดเรียบเป็นมัน ออกดอกตอนปลายฤดูหนาว มักพบขึ้นตามท้องนา บ่อ สระน้ำ หรือแหล่งน้ำต่างๆ

วิธีเก็บมาใช้

เก็บในตอนที่กำลังออกดอก และลำต้นงอกงามดี ล้างให้สะอาดตากแห้งเก็บเอาไว้ใช้ หรือใช้สดๆ ก็ได้

ลักษณะยาแห้งที่ดี

ควรมีลักษณะลำต้นยาวและอวบอ้วน กว้างประมาณ 3-5 ม.ม. สีออกน้ำตาลแดงมีรอยย่นทั้งตามยาวและตามขวาง มีเนื้อนิ่ม ตามใต้ข้อๆ มีรากแห้งเป็นฝอยสีดำคล้ายเส้นผม กลับมันร่วงง่าย มักร่วงหายหมดไป

สรรพคุณ

ทั้งต้นมีรสจืด เย็นจัด ใช้ดับร้อน ขับปัสสาวะ แก้บวม แก้พิษ แก้ไอแห้งๆ แก้ดีซ่านอันเกิดจากพิษสุรา แก้โรคหนองใน หัด ผื่นคัน และแผลอักเสบอื่นๆ

วิธีใช้และปริมาณที่ใช้

ใช้ต้นแห้งหนัก 15-30 กรัม ต้มน้ำกิน หรือใช้ต้นสดคั้นเอาน้ำกิน

ใช้ภายนอก ใช้ตำพอกหรือสุมไฟให้เป็นถ่านผสมพอก

ตำรับยา

1.แก้ดีซ่านเกิดจากพิษสุรา ใช้พืชนี้ขณะที่ยังสด 1 กำมือ คั้นเอาน้ำผสมน้ำผึ้งเดือน 5

2. แก้หนองใน ปัสสาวะเป็นหนอง ใช้พืชนี้ขณะที่ยังสด 30 กรัม น้ำตาลกรวด 15 กรัม ผสมน้ำต้มกิน หลังอาหารวันละ 2 ครั้ง

3. แก้งูกัด สุนัขบ้ากัด ใช้พืชนี้ขณะที่ยังสด 1-2 กำมือ ล้างให้สะอาด ตำคั้นเอาน้ำกิน แล้วเอากากมาพอกแผล

4. แก้หวัด ตัวร้อน ไอแห้งๆ ใช้พืชนี้ตอนที่แห้งแล้ว หนัก 15-30 กรัม ต้มน้ำกิน

5. แก้แผลหกล้ม แผลเน่าเปื่อย ใช้พืชนี้ขณะที่ยังสดตำพอก

6. แก้เด็กเป็นฝี มีหัวกลัดหนอง ยังไม่แตก เอาพืชนี้ต้มเอาน้ำล้างและเอาต้นสดๆ ตำพอก

7. แก้กลากน้ำนม ใช้พืชนี้ตำพอก

8. แก้ปวดฟัน ใช้พืชนี้ 60 กรัม ต้มน้ำกิน

9. แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ท้องผูก ใช้พืชนี้สดๆ ตำคั้นเอาน้ำ 60-120 กรัม ผสมน้ำผึ้งเดือนห้าอุ่นให้อุ่นแล้วกิน

10. แก้ผดผื่นคัน หัด หลังจากหัดออกแล้วไข้ไม่ลด ใช้พืชนี้สดๆ หนัก 30-60 กรัม คั้นเอาน้ำแล้วต้มกิน

หมายเหตุ

ในไทยและอินโดจีน เอายอดแพงพวยมาเป็นผักจิ้มน้ำพริก ในมาเลเซียใช้พอกแก้โรคเกี่ยวกับผิวหนังและโรคแผลเรื้อรังต่างๆ

ข้อมูลสื่อ

6-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 6
ตุลาคม 2522
ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ