• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาหารเด็กอ่อน

อาหารเด็กอ่อน

พ่อแม่ทุกคนเมื่อเลี้ยงลูก ก็คงมีความหวังว่า จะให้ลูกเติบโตได้ดี มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย และเมื่อเข้าเรียนก็จะมีความสามารถในการศึกษาเล่าเรียน เมื่อเติบใหญ่จะได้มีความรู้เพื่อทำมาหากินเลี้ยงชีพ ทำประโยชน์แก่ตัวเอง ครอบครัวและชุมชน ในการที่เด็กจะเติบโตและแข็งแรงนั้นอาหารมีบทบาทสำคัญที่สุด เพราะเนื้อแต่ละส่วนของร่างกายจะเติบโตใหญ่ได้นั้น ต้องมาจากอาหารทั้งสิ้นอาหารที่เด็กควรจะได้รับนั้น จึงต้องมีทั้งคุณภาพและปริมาณพอเพียงกับที่ร่างกายต้องการในการเติบโต

เด็กปกติ เมื่อแรกเกิดจะหนัก 3 กิโลกรัม ถ้าได้อาหารดีพอ จะมีการเติบโต ดังนี้

  • มีน้ำหนักเป็นสองเท่าของแรกเกิด คือ หนัก 6 กิโลกรัม เมื่ออายุ 5 เดือน
  • หนักเป็นสามเท่า คือ หนัก 9 กิโลกรัม เมื่ออายุ 1 ปี
  • หนักเป็นสี่เท่า คือ หนัก 12 กิโลกรัม เมื่ออายุ 2 ปี

จะเห็นได้ว่า ไม่มีช่วงไหนอีกแล้วในชีวิตที่คนเราจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นรวดเร็วแบบนี้ ฉะนั้น อาหารที่จะให้แก่เด็กนั้น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อตัวเด็กในการเติบโต

ถ้าจะให้ดีแล้ว แม่ควรจะต้องกินอาหารให้ “ถูกถูก” คือ กินให้เป็น ตั้งแต่ระยะตั้งท้อง เพื่อให้เด็กเกิดมาสมบูรณ์ และกินอาหารให้พอในระยะที่ให้น้ำนมลูกด้วย อาหารที่ควรจะกินเพิ่มเติมในระยะนี้ คือ ไข่วันละ 1 – 2 ฟอง นมถั่วเหลืองวันละ 2-3 แก้ว เนื้อสัตว์และผักต่างๆ ก็ควรกินให้มากด้วย

เรื่องอาหารแสลงระยะตั้งท้อง หรือขณะให้นมลูกนั้น การมีความเชื่อถือเรื่องอาหารแสลงนั้นไม่เป็นความจริง ถ้ามัวแต่อดอาหารดีๆ โดยคิดว่าแสลง เช่น อด ไข่ ปลา เนื้อสัตว์ จะทำให้แม่ขาดอาหาร และมีผลทำให้ลูกพลอยขาดอาหารไปด้วย น้ำหนักแรกเกิดจะต่ำกว่า 2.5 กิโลกรัม สำหรับอาหารที่ควรละเว้น ได้แก่ อาหารรสจัด เช่น เค็มจัด เผ็ดจัง และที่ควรงดเลย ได้แก่ เหล้า หรือเครื่องดื่มที่ทำให้มึนเมา

เมื่อเด็กคลอดมาเป็นปกติแล้ว อาหารที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ก็คือ นมแม่ ซึ่งถือว่า เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เพราะทำให้เด็กเติบโตได้ดี สามารถมีน้ำหนักเป็น 6 กิโลกรัม หรือเป็นสองเท่าของแรกเกิดได้ เมื่ออายุ 5 เดือน ทั้งนี้ เพราะนมแม่มีอาหารทุกอย่างพอเพียงกับที่เด็กต้องการไปถึงอายุประมาณ 6 เดือน นมแม่มีภูมิต้านทานโรคต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อท้องเสียหรือเป็นหวัด นมแม่มีความสะอาด กินแล้วปลอดภัย นมแม่ช่วยประหยัด ทำให้ไม่ต้องเสียเงินในการซื้อนมผสม และอุปกรณ์ในการเตรียมนม นอกจากนี้ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะทำให้ทั้งแม่และลูกมีความสุขทางจิตใจ และมีผลต่อตัวแม่อีก คือ มดลูกหดตัวเข้าช่องเชิงกราน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า มดลูกเข้าอู่ได้ดียิ่งขึ้น

ถ้าเด็กเกิดใหม่ ได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่แล้ว การเจ็บป่วยของเด็กในช่วงระยะ 6 เดือนแรก จะมีน้อยมาก โดยเฉพาะการป่วยด้วยโรคท้องเสีย ซึ่งเป็นสาเหตุการตายและสาเหตุของโรคขาดอาหารของเด็กไทยที่ไม่ได้กินนมแม่ เพราะเมื่อแม่บางคนเริ่มหันมาเลี้ยงลูกด้วยนมผสม จะเป็นเพราะแรงจูงใจจากการโฆษณา หรือความเข้าใจผิด ที่คิดว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมผง โก้ดี จะเกิดปัญหาขึ้น เพราะแม่ขาดความรู้ในการเลือกนมผสม ขาดความรู้ในการเตรียม ขาดอุปกรณ์ต่างๆ ทำให้เตรียมนมผิดส่วน อาจจะผสมเข้มหรือจางไปก็ได้ แต่ที่สำคัญที่สุด ก็คือ เตรียมนมไม่สะอาดเลยทำให้ลูกเกิดเป็นโรคท้องเสีย ซึ่งจะทำให้เป็นโรคขาดอาหารตามมา ถ้าท้องเสียเป็นรุนแรงไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที ก็อาจทำให้เด็กเป็นอันตรายถึงตายได้ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยแก้ไขและป้องกันโรคนี้ได้

ในชนบทของประเทศไทย เด็กเกิดใหม่เกือบทุกคน ได้รับการเลี้ยงด้วยนมแม่ ซึ่งเป็นข้อดีอย่างยิ่ง ควรจะผดุงรักษาไว้ให้มีการปฏิบัติต่อไป เราเพียงแต่ช่วยแนะนำให้แม่บำรุงรักษาสุขภาพตัวเองให้ดี โดยการกินอาหารพวก ไข่ ปลา ผักต่างๆ ให้พอเพื่อที่จะให้ลูกได้ประโยชน์จากน้ำนมแม่มากที่สุด แม่บางคนในชนบท เข้าใจผิดคิดว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมผสมนั้นดี และเคยพูดว่า “เพราะตัวเองจนจึงต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ถ้ามีเงินจะเปลี่ยนเป็นนมผง” สิ่งเหล่านี้ อาจจะมีอยู่ในใจของแม่หลายคน เราควรจะได้ช่วยกันขจัดความรู้สึกเหล่านี้ให้หมดไปช่วยกันทำให้แม่เกิดความภูมิใจว่า การที่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น ดีที่สุดแล้ว สำหรับความรักที่ให้ต่อลูก

ในเมืองใหญ่ๆ ครอบครัวที่มีความเป็นอยู่ปานกลางหรือยากจน จะมีส่วนให้ลูกเกิดท้องเสียกันมาก เนื่องจากไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แล้วใช้นมผสมในขณะที่การเตรียมนมผงเป็นไปอย่างไม่ถูกต้อง และไม่สะดวก แม่บางคนอยู่กับบ้าน แต่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมตนเองก็เพราะค่านิยม ความเข้าใจผิดคิดว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมผสมดีกว่านมแม่ ความเข้าใจผิดเหล่านี้ ควรจะได้รับการชี้แจงหรือเผยแพร่ให้เข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อจะได้ทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทางปฏิบัติให้มีมากขึ้น

สำหรับแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้าน ก็ควรจะให้ลูกได้กินนมแม่ในช่วงระยะได้หยุดพักผ่อนหลังคลอด และเมื่อกลับไปทำงาน ก็ควรจะได้ให้นมแม่ตอนเช้าและตอนเย็น สำหรับช่วงระยะเวลากลางวัน อาจจะจำเป็นต้องใช้นมผสมก็ควรใช้ให้ถูกต้อง และเตรียมนมด้วยความสะอาด ประเทศในยุโรป ได้มีการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กันอย่างเต็มที่ โดยบางประเทศอนุญาตให้แม่ได้หยุดพักหลังคลอดนานถึง 6 เดือน เพื่อให้ได้มีโอกาสเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กันอย่างจริงจัง

เมื่อเด็กโตขึ้น อายุได้ 3-4 เดือน ก็ควรที่จะได้รับอาหารเสริมที่เหมาะสมตามวัย รายละเอียดจะได้กล่าวในโอกาสต่อไป

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และการให้อาหารเสริมที่เหมาะสมพอเพียงกับเด็กต้องการ จะทำให้เด็กเติบโตได้ดี มีน้ำหนักเพิ่มตามที่พ่อแม่ทุกคนได้มีความหวังไว้

ข้อมูลสื่อ

6-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 6
ตุลาคม 2522
กินถูก...ถูก
ศ.นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์