• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ช่วยที...ของติดคอเด็ก

ช่วยที...ของติดคอเด็ก

 

                      

 

ในโรงเรียนแห่งหนึ่งเกิดความโกลาหลกันใหญ่ เพราะเด็กชายน้อย (นามสมมติ) วัย 4 ขวบ มีอาการหายใจไม่ออกขึ้นมาเฉยๆ คุณครูต่างเข้ามาช่วยกันแก้เป็นพัลวัน บางคนเอานิ้วล้วงเข้าไปในคอของน้อย เพราะคิดว่ามีอะไรเข้าไปอุด เมื่อเห็นว่าอาการมีแต่ทรุดลงจึงพาน้อยไปหาหมอ แต่อนิจจา กว่าจะถึงโรงพยาบาลน้อยมีอาการแน่นิ่งไปเสียแล้ว แพทย์บอกว่าเด็กชายน้อยตายก่อนที่จะมาถึงโรงพยาบาลเสียอีก อะไรหนอ เป็นสาเหตุที่พรากชีวิตน้อยๆ ในวัยน่ารักน่าชังไปเสีย โดยที่ไม่มีวี่แววของความเจ็บป่วยมาก่อนเลยจากการตรวจศพ แพทย์พบว่ามีโลหะติดอยู่ที่หลอดลมของพ่อหนูน้อย เมื่อนำชิ้นส่วนนั้นมาพิจารณาจึงรู้ว่าเป็นส่วนของปลายปากกาหมึกแห้งนั่นเอง ขนาดของมันเหมาะเจาะพอดีที่จะอุดหลอดลมเล็กๆของน้อยได้สนิท จนไม่เปิดโอกาสให้น้อยได้รับอากาศหายใจได้เลย
 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของสิ่งที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน เด็กบางคนอาจโชคดีกว่าน้อย ในกรณีที่เมื่อวัตถุแปลกปลอมที่หลุดเข้าไปในปากนั้นลงไปในหลอดอาหารแทนที่จะเป็นหลอดลม หรือบางทีแม้จะตกไปอยู่ในหลอดลม ก็ไม่ถึงกับอุดตันจนสิ้นเชิง กระนั้นก็ทำให้เกิดเรื่องยุ่งยากตามมาอีกมิใช่น้อย
วิธีที่ดีที่สุด จึงน่าจะเป็นการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นว่านี้ขึ้น แต่ใครเล่าจะเป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าว ถ้ามิใช่ท่านผู้อ่านทุกๆคน             

เมื่อมีโศกนาฏกรรมดังเช่นรายของเด็กชายน้อยเกิดขึ้นมาครั้งใด ก็จะมีการหาตัวผู้รับผิดชอบ ซึ่งก็มักหนีไม่พ้นบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดเด็กที่สุดในขณะนั้น ทั้งที่จริงแล้วเป็นความรับผิดชอบของพวกเราเอง ไม่ว่าจะในฐานะพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ตลอดจนผู้ประสบพบเห็นเหตุการณ์ จะต้องช่วยกันป้องกันมิให้มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อีก หรือถ้าหากว่าเกิดขึ้นก็เป็นหน้าที่ของพวกเราอีกนั่นแหละที่จะต้องแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้า หากมัวแต่หวังว่าจะให้แพทย์ช่วยก็คงสายเกินการ เพราะเราอาจมีเวลาแค่ 2-3 นาที ที่จะตัดสินระหว่างความเป็นและความตาย
สถิติบ้านเรายังไม่มีใครทำไว้ แต่ในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีประชากรราว 200 ล้านคน มีคนตายจากของติดคอปีละ 3,000 ราย หนึ่งในห้าของจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบ สำหรับเด็กอายุต่ำกว่าขวบ ของติดคอเป็นสาเหตุการตายจากอุบัติเหตุที่พบบ่อยที่สุด

                                     

ถึงตรงนี้ ขออธิบายให้กระจ่างในความหมายของคำว่า “ติดคอ”
เรามักพูดกันว่า “ของติดคอ” ที่จริงแล้วเป็นความเข้าใจผิด เพราะถ้าเกิดอาการหายใจไม่ออก หรือหายใจลำบาก แสดงว่าวัตถุแปลกปลอมนั้นเข้าไปติดอยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบทางเดินหายใจ ตั้งแต่กล่องเสียงลงไปจนถึงหลอดลม มิใช่ที่คอ ซึ่งน่าจะหมายถึงหลอดอาหารหรือทางเดินอาหาร มากกว่าหลอดลมหรือทางเดินลมหายใจ

อย่างไรก็ดี เพื่อความเข้าใจง่าย ในที่นี้จะอนุโลมใช้คำว่า “ของติดคอ” แต่ขอให้เข้าใจว่าหมายถึงการติดในส่วนของทางเดินหายใจ

 

⇒ อะไรบ้างที่ลงไปติดคอเด็กได้
คำตอบคือ วัตถุสารพัดชนิดตั้งแต่เข็มซ่อนปลาย เหรียญ เม็ดถั่วลิสง เม็ดแตงโม เม็ดน้อยหน่า ลูกโป่งที่ยังไม่ได้เป่าลม เม็ดยา ฝาจุกขวด เปลือกไข่ ชิ้นพลาสติก ก้างปลา กระดูกไก่หรือแม้แต่แป้งโรยตัวเด็ก

 

⇒ เราจะทราบได้อย่างไรว่ามีอะไรลงไปติดคอ
โดยมากแล้วเด็กไม่อยู่ในฐานะที่จะบอกเราได้ ไม่ว่าเนื่องจากเด็กยังเล็กเกินกว่าที่จะสื่อความหมายให้ผู้ใหญ่เข้าใจได้ หรือในกรณีส่วนใหญ่ การที่มีสิ่งแปลกปลอมลงไปอุดหลอดลมอยู่ ทำให้หมดความสามารถในการพูดไปโดยสิ้นเชิง ประกอบกับเด็กเองก็อยู่ในสภาพตื่นตกใจ
ดังนั้น เราจึงต้องเดาเอาจากอาการที่เด็กแสดงออก ได้แก่ อาการไอ หายใจไม่ออก หายใจเสียงดังฮึ๊ดๆ เหมือนคนเป็นหืด บางครั้งพูดไม่มีเสียงออกมาเลย หรือพูดได้ลำบาก เมื่อรวมกับประวัติการกิน อมของไว้ในปาก หรือสำลักก่อนจะเกิดอาการส่อแสดงว่าน่าจะมีของหลุดเข้าไปในทางเดินหายใจ และติดอยู่ที่ส่วนต้นๆซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง จำเป็นที่จะต้องรีบให้ความช่วยเหลือโดยด่วน

 

⇒ ทำอย่างไรดี
แม้ว่าจะยังมีข้อถกเถียงกันอยู่บ้างถึงวิธีการช่วยเหลือที่ดีที่สุด ซึ่งคนทั่วไปที่มิใช่แพทย์จะทำได้ ก็พอสรุปออกเป็นแนวทางได้ดังนี้

1. ไม่ต้องทำอะไร ในกรณีที่เด็กยังไอ หายใจหรือพูดได้ เราไม่ควรจะทำอะไร นอกจากรีบพาเด็กส่งให้แพทย์ตรวจรักษา เหตุผลคือว่า การไอเป็นกลไกการช่วยเหลือตนเองของร่างกายที่ได้ผลยิ่งกว่าวิธีการช่วยเหลือใดๆ (อันจะกล่าวต่อไป) นอกจากนี้การช่วยอาจทำให้เกิดโทษ เช่น ทำให้ของนั้นเข้าไปติดลึกหรือแน่นเข้า

2. ถ้าหากเด็กพูดไม่ได้หรือไม่มีเสียง หายใจไม่ออกหรือหายใจลำบาก จะมีอาการเขียวหรือไม่ก็ตาม จำเป็นที่จะต้องให้การช่วยเหลืออย่างรีบด่วน โดยทำเป็นขั้นตอนดังนี้ 
 

 



รูปที่ 1
วางตัวเด็กให้นอนคว่ำหน้า หัวอยู่ต่ำหว่าลำตัว





 

ก. จับเด็กให้อยู่ในท่านอนคว่ำ หัวต่ำกว่าลำตัว (ดังรูปที่ 1) และตบหลังเด็กด้วยสันมือติดต่อกันเร็วๆ 4 ครั้ง (ดูรูปที่ 2) ในเด็กโตไม่อาจจับไว้ในท่าดังรูป 1 ได้ถนัด อาจวางตัวเด็กคว่ำหน้าพาดบนตัก โดยผู้ทำการช่วยเหลือจะนั่งหรือคุกเข่าลงบนพื้นก็ได้ ระวังให้หัวต่ำกว่าส่วนลำตัว

 

 

 

รูปที่ 2
ตบหลังด้วยสันมือตรงกลางหลังระหว่างกระดูกสะบัก

 

 

 

 

ข. หากการช่วยเหลือในข้อ ก. ไม่ได้ผล คือ เด็กยังคงไม่หายใจหรือหายใจลำบาก ให้พลิกตัวเด็กกลับเป็นท่านอนหงาย และกดใต้ลิ้นปี่ติดต่อกันเร็วๆ 4 ครั้ง (ดังรูปที่ 3) ในเด็กอ่อนเราอาจใช้นิ้วมือเพียง 2 นิ้วกดก็เป็นการเพียงพอ แต่ในเด็กโตอาจใช้นิ้วทั้งสี่ช่วยกด ทั้งนี้เพื่อให้เกิดแรงดันมากพอที่จะทำให้วัตถุแปลกปลอมออกมาได้

 

 

 

รูปที่ 3
การกดหน้าอก ใช้นิ้วมือกดลงไปบนกระดูกหน้าอกเหนือลิ้นปี่หรือจะกดท้องใต้ลิ้นปี่ก็ได้

 

 

 

ค. หากว่าเด็กยังคงไม่หายใจหรือหายใจไม่ออก ควรอ้าปากดู ถ้าหากเห็นสิ่งแปลกปลอม และอยู่ในวิสัยที่จะหยิบออกมาได้ ก็เอาออกเสีย
ห้ามโดยเด็ดขาด : ห้ามไม่ให้ล้วงคอเด็กโดยมิได้อ้าปากดูเสียก่อน เพราะการทำในลักษณะเช่นนั้น อาจผลักให้วัตถุที่ตกลงไปเข้าไปอุดตันหรือลงลึกเข้าไปอีกได้

ง. ถ้าเด็กยังคงไม่หายใจ ให้เป่าลมเข้าไปในปากหรือจมูกเด็ก ตามวิธีการช่วยชีวิตเป็นจำนวน 4 ครั้ง สังเกตดูหน้าอกว่าขยับตามการเป่าลมเข้าไปหรือไม่ ถ้าหากหน้าอกไม่ขยับแสดงว่าการอุดตันยังคงอยู่ ให้เริ่มทำการช่วยเหลือจากข้อ ก. จนถึงข้อ ง. ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

แน่นอนที่ว่า ถ้าถึงขั้นนี้ท่านยังช่วยเหลือเด็กไม่สำเร็จ ก็คงต้องถึงมือแพทย์ ซึ่งจะทำการช่วยเหลือโดยการเจาะคอเพื่อช่วยการหายใจต่อไป หัวใจของความสำเร็จในการช่วยเด็กที่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปอุดหลอดลม อยู่ที่การกระทำซ้ำๆ ตามขั้นตอนที่ให้ไว้ จนกว่าจะได้พบแพทย์ อีกอย่างหนึ่งคือ การฝึกซ้อมให้ชำนาญจนทำได้โดยอัตโนมัติ มิฉะนั้นเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง ท่านอาจจะสับสนจนทำอะไรไม่ถูก

 

⇒ การป้องกัน
สุภาษิตมีอยู่ “กันไว้ดีกว่าแก้” ทำอย่างไรเราจึงจะช่วยกันป้องกันโศกนาฏกรรม เช่น กรณีของเด็กชายน้อยได้

ข้อแรก ระวังของเล่นเด็กที่มีชิ้นส่วนเล็กๆ ที่เด็กอาจหยิบใส่ปากและกลืนลงไปได้ ตัวอย่างเช่น ลูกตาของตุ๊กตา กระดุม ฯลฯ
ในสหรัฐอเมริกามีกฎว่า ของเล่นเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ จะต้องไม่มีชิ้นส่วนที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 1.25 นิ้ว หรือสามารถยัดใส่ลงไปในกระบอกทดสอบความยาว 2.25 นิ้วได้

ข้อสอง อาหารควรตัดหรือแบ่งเป็นคำพอเคี้ยว และควรสอนให้เด็กเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน ไม่ควรอนุญาตให้เด็กเล่น วิ่งในระหว่างการกินอาหาร เพราะอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการสำลักขึ้นมาได้

ข้อสาม ควรสอนให้เด็กรู้ว่าการเอาสิ่งที่มิใช่อาหาร เช่น ตะปู ลวดโลหะใส่ปากเป็นของไม่ดี

ข้อสี่ ไม่ควรให้เด็กเล็กเล่นเหรียญหรือของเล็กๆ ที่อาจลงไปติดคอได้

ข้อห้า ไม่ควรให้เด็กกินอาหารจำพวกถั่วลิสงซึ่งต้องการการบดเคี้ยว เด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบ ยังไม่รู้จักใช้ฟันเคี้ยวอาหารได้ดีนัก นอกจากนี้เม็ดน้อยหน่าเป็นสาเหตุที่พบบ่อยมาก เมล็ดพืชอื่นๆ เช่น เมล็ดแตงโม มะขาม ละมุด ข้าวโพด ก็พบเช่นกัน

ข้อหก ไม่ควรวางเข็มซ่อนปลายไว้ใกล้มือเด็ก โดยเฉพาะเข็มที่ยังอ้าอยู่จะเป็นอันตรายมาก เช่นเดียวกับลูกโป่งที่ยังไม่ได้เป่าลม


เชื่อว่าถ้าเราร่วมใจกันป้องกัน คงไม่ต้องมานั่งเสียใจที่เกิดกรณี “แย่แล้วแก้ไม่ไหว”

 

ข้อมูลสื่อ

85-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 85
พฤษภาคม 2529
เรื่องน่ารู้
นพ.กฤษฎา บานชื่น