• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หินปูน – หินน้ำลาย

“คุณเคยขูดหินปูนบ้างไหม?”
“คุณได้รับการขูดหินปูนครั้งสุดท้ายเมื่อไร?”

ท่านที่เคยไปหาหมอฟันคงจำได้ว่า บ่อยครั้งที่ทันตแพทย์มักจะถามท่านด้วยคำถามข้างต้น ซึ่งครั้งแรกๆท่านคงจะแปลกใจ และไม่แน่ใจว่าทันตแพทย์หมายถึง “หินปูน" ที่บริเวณไหน

บางท่านอาจนึกถึง “หินปูน” ตามธรรมชาติ ที่หมายถึง หินตะกอนเนื้อละเอียดสมานแน่น เกิดจากการตกตะกอนของเกลือแคลเซียมคาร์ไบเนตจากสารละลาย

บางท่านอาจนึกถึง “หินปูน” ที่เกิดจากตะกรันของน้ำในหม้อต้มน้ำที่ใช้เป็นเวลานานๆ
หรือในชนบทอาจนึกถึง คราบหินปูนสีขาวที่เกาะตามภาชนะดินเผาที่ใช้บรรจุน้ำกิน

บางท่านที่มีอาชีพในทางการแพทย์และสาธารณสุข อาจนึกถึง “หินปูน” ในร่างกายของคนเรา เช่น นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ในไต ในถุงน้ำดี ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นสภาวะที่ไม่ต้องการ อันเกิดจากการตกตะกอนของเกลือแคลเซียมชนิดต่างๆ

แต่เนื่องจากหมอฟันเป็นผู้ตังคำถามเกี่ยวกับ “หินปูน” ท่านก็คงจะสันนิษฐานได้ว่า ต้องเกี่ยวข้องกับปากและฟัน และถ้าท่านเป็นผู้นิยมเฝ้ารายการต่างๆในโทรทัศน์ ท่านคงจะได้เคยเห็นโฆษณา ที่แสดงถึงภาพจำลองของ “หินปูน” ในลักษณะของการก่อกำแพงบนตัวฟัน ซึ่งทันตแพทย์ต้องใช้เครื่องมือพิเศษในการแซะออกไป

มาถึงขั้นนี้ หลายท่านคงจะได้ไปส่องกระจก สำรวจดู “หินปูน” บนฟันในปากของตนเองหรือผู้ใกล้ชิด เพื่อให้ได้รู้จักลักษณะที่แท้จริงของ “หินปูน” ในปาก ซึ่งอาจจะมีมากน้อยต่างกันตามการสะสม ในแต่ละบริเวณของฟันในปากและแต่ละคนด้วย นอกจากนี้หน้าตาและสีสันของ “หินปูน” ก็อาจต่างกันด้วย

“หินปูน” ในปาก มีต้นกำเนิดมาจากน้ำลาย บางท่านจึงเรียกว่า “หินน้ำลาย” ทั้งนี้เนื่องจากน้ำลายในปากของคนเรา มีสารและแร่ธาตุต่างๆอยู่หลายชนิด ที่สำคัญก็คือแคลเซียมและฟอสเฟต ซึ่งสามารถตกตะกอนได้ในสภาวะความเป็นกรด-ด่างที่เหมาะสม ประกอบกับปริมาณและความเข้มข้นของธาตุเหล่านี้จากอาหารที่ผ่านเข้ามาและอาจตกค้างอยู่ในปาก เป็นผลให้ความเข้มข้นของแคลเซียมและฟอสเฟตมากเกินกว่าที่จะละลายตัวในน้ำลาย และโน้มน้าวให้เกิดการตะกอนของเกลือแคลเซียมฟอสเฟตบนตัวฟัน ที่บริเวณขอบเหงือก และที่พื้นผิวที่ขรุขระไม่เรียบโดยทั่วไป

เป็นที่น่าสังเกตว่า “หินปูน” นี้จะเกาะมากบนซี่ฟันที่อยู่ใกล้รูเปิดของต่อมน้ำลาย คือที่บริเวณฟันด้านล่างด้านลิ้น ซึ่งใกล้รูเปิดของต่อมน้ำลายใต้ลิ้น และที่บริเวณฟันกรามซี่แรกบนด้านแก้ม ซึ่งใกล้รูเปิดของต่อมน้ำลายพาโรติด (Parotid salivary gland)

ดังนั้น “หินปูน” จึงเกิดบนตัวฟันในปริมาณที่ไม่เท่ากันในฟันแต่ละซี่ และแม้ในฟันซี่เดียวกันก็ยังคงไม่เท่ากัน ในแต่ละด้านของฟันซี่นั้นๆด้วย ขึ้นอยู่กับว่าบริเวณดังกล่าวถูกน้ำลายอาบอยู่บ่อยเพียงใด และได้รับการสัมผัสจากธาตุในน้ำลายมากน้อยเพียงใดด้วย

การตกตะกอนของเกลือแคลเซียมฟอสเฟต จนเกิดเป็น “หินปูน” บนฟันนั้น จะต้องมีจุดตั้งต้นจากคราบจุลินทรีย์บนตัวฟันก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณขอบเหงือกซึ่งมักเป็นที่อยู่ที่เหมาะสมของคราบจุลินทรีย์ “หินปูน” จึงเกิดได้ดีที่บริเวณนี้

นอกจากนี้ คงเป็นที่สังเกตว่า “หินปูน” ไม่เกิดบนเหงือกที่ไม่มีฟัน แต่เกิดได้บนฟันปลอม ซึ่งเป็นที่เกาะของคราบจุลินทรีย์ ยิ่งถ้าพื้นผิวไม่เรียบ การเกาะตัวของคราบจุลินทรีย์และการตกตะกอนของ “หินปูน” ก็มากตามไปด้วย

ปัจจัยอีกประการหนึ่งของการเกิด “หินปูน” ในปาก ก็คือ สภาวะความเป็นกรด-ด่างของน้ำลาย กล่าวคือ การตกตะกอนของเกลือแคลเซียมฟอสเฟต จะเกิดได้ดีในน้ำลายเป็นด่าง ซึ่งนอกจากจะเป็นเหตุให้เกิดเป็น “หินปูน” แล้ว สภาวะความเป็นด่างดังกล่าวยังมีส่วนเสริมสร้างแร่ธาตุกลับบนฟันที่เริ่มผุ เป็นการป้องกันโรคฟันผุตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม จึงมักจะพบว่า คนที่มี “หินปูน” มาก ฟันจะไม่ผุ หรืออีกนัยหนึ่ง คนที่ฟันไม่ผุเลยจะพบ “หินปูน” มากกว่าคนที่ฟันผุ

ทั้งนี้ยกเว้นคนที่ฟันผุมาก จนเมื่อเคี้ยวอาหารหรือเศษอาหารไปกักที่ฟันผุแล้วเจ็บ จึงไม่ใช้ฟันข้างนั้นเคี้ยวอาหารเป็นเวลานานๆ “หินปูน” เกิดพอกหนาบนฟันผุที่ไม่ใช้เคี้ยวนั้น และฟันคู่สบของฟันผุซี่นั้น ตลอดจนฟันซี่ข้างเคียงทั้งบนและล่าง ก็จะพบมี “หินปูน” หนาด้วย

ทั้งนี้เนื่องจากฟันที่ไม่ได้ใช้บดเคี้ยวจะไม่สะอาด จึงเป็นที่กักของคราบจุลินทรีย์และตกตะกอนของ “หินปูน” ในที่สุด แต่ในกรณีนี้ “หินปูน” เกิดมากในด้านบดเคี้ยวของฟันและลามไปทั่วทุกด้านของฟันที่ไม่ได้ใช้เคี้ยวอาหารนั้น จะเห็นได้ว่า ฟันที่ไม่ได้ใช้เคี้ยวอาหารตามหน้าที่กลับไม่ดี และมี “หินปูน” เกาะมากกว่าปกติด้วย

“หินปูน” ที่เกิดใหม่ๆจะยังไม่แข็งมากและมีสีเหลือง แต่เมื่อสะสมมากขึ้นและนานขึ้น คุณสมบัติทางกายภาพก็เปลี่ยนตามไปด้วย เช่น จะแข็งมากขึ้น และสีคล้ำจนดำ อันเกิดจากการทับถมของเกลือแคลเซียมมากขึ้น เป็นผลให้แข็งคล้ายหิน ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “หินปูน” นั่นเอง ส่วนที่สีเปลี่ยนไปจนเป็นสีดำในที่สุดเป็นการสะสมสีจากอาหารที่ผ่านเข้ามาในปาก

ในขณะที่ คราบจุลินทรีย์เป็นจุดกำเนิดของ “หินปูน” ในขณะเดียวกัน “หินปูน” จึงเป็นที่กักของคราบจุลินทรีย์ด้วย เนื่องจาก “หินปูน” มีพื้นผิวที่ไม่เรียบ การจับตัวของคราบจุลินทรีย์จึงเกิดง่ายขึ้นด้วย และคราบจุลินทรีย์มากมายบน “หินปูน” ที่บริเวณขอบเหงือกนี้เอง เป็นต้นเหตุให้เหงือกอักเสบ

นอกจากนี้ “หินปูน” ที่เกิดนานๆจะพอกหนาขึ้นในทุกๆด้าน คือขยายตัวขึ้นไปบนตัวฟันและยืดลงไปใต้ขอบเหงือก ซึ่ง “หินปูน” ที่อยู่ใต้เหงือกนี้ เป็นตัวสำคัญในการไปทำลายเนื้อเยื่อรอบฟัน ทั้งเหงือก เอ็นยึด จนถึงกระดูกเบ้าฟันที่รองรับฟันในที่สุด เป็นผลให้ฟันโยกคลอนและสูญเสียฟันไปโดยใช่เหตุ การขูดหินปูน จึงเท่ากับการป้องกันโรคเหงือกอักเสบ และเก็บฟันไว้ชั่วชีวิต

ถ้าเช่นนั้น คนที่ไม่เคยได้รับการขูด “หินปูน” ฟันมิโยกคลอนไปหมดทุกคนหรือ?

โชคดีที่ร่างกายคนเรามีระบบป้องกันตัวเองที่สมบูรณ์แบบ กล่าวคืออัตราการเกิดและการขยายตัวของ “หินปูน” ในปาก ไม่เท่ากันในแต่ละคน คนที่มีอัตราช้า อันตรายจาก “หินปูน” ก็น้อยกว่า

นอกจากนี้ ร่างกายยังมีระบบภูมิคุ้มกัน ที่ทำหน้าที่ต่อต้านสารพิษจากเชื้อจุลินทรีย์ในคราบจุลินทรีย์ที่สะสมอยู่บนพื้นขรุขระของ “หินปูน” ซึ่งไม่เท่ากันในแต่ละคนเช่นกัน จึงพบได้ว่า บางคนแม้จะมี “หินปูน” มากอาจไม่มีอันตรายมากเท่ากับเพื่อนที่มี “หินปูน” ใกล้เคียงกัน แต่อาจมีภูมิคุ้มกันน้อยกว่ากัน ดังนั้นเหงือกอักเสบจาก “หินปูน” จึงอาจเกิดได้มากกว่าและรุนแรงกว่า

เนื่องจาก “หินปูน” เกิดจากน้ำลายซึ่งมีอยู่เป็นประจำในปากของคนเรา ดังนั้นแม้จะได้รับการขูดหินปูนแล้ว “หินปูน” ก็กลับเกิดขึ้นได้อีกเป็นระยะๆ จากน้ำลายนั่นเอง ในทางทฤษฎีได้มีข้อแนะนำให้ไปรับการขูดหินปูน ปีละ 1-2 ครั้ง

แต่ถ้าคนไทยทุกคน เฉพาะผู้ใหญ่ที่ “หินปูน” สะสมได้ง่าย ไปรับการขูดหินปูนปีละครั้ง จะต้องใช้กำลังคนและกำลังงานของทันตแพทย์และบุคลากรข้างเคียง ที่คอยให้บริการขูดหินปูนนี้อย่างเดียวจำนวนหลายหมื่นคน ซึ่งยังไม่เป็นจริงในปัจจุบันนี้

เพื่อเป็นการป้องกันตนเองตามหลักการของ “หมอชาวบ้าน” จึงใคร่ขอเสนอแนะวิธีการลดอัตราการเกิดและการขยายตัวของ “หินปูน” ให้น้อยลง เพื่อป้องกันโรคเหงือกอักเสบและการสูญเสียฟัน ดังนี้

- แปรงฟัน-แปรงเหงือกทุกครั้งที่แปรงฟันต้องให้ขนแปรงอ่อนนุ่มให้กระทบขอบเหงือก เพื่อกระตุ้นให้เลือดมาเลี้ยงเหงือกดี และเป็นการนำภูมิคุ้มกันจากเลือดมาต่อสู้สารพิษจากคราบจุลินทรีย์ด้วย

- การแปรงฟัน ต้องเน้นที่บริเวณขอบเหงือกเป็นพิเศษเพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์และ “หินปูน” ใหม่ให้น้อยลงเท่าที่จะทำได้ และที่สำคัญ คือ “หินปูน” ที่เกิดขึ้นแล้ว ถ้าได้รับการแปรงและขัดสีดีพอแล้วจะเรียบขึ้น ทำให้โอกาสของคราบจุลินทรีย์และ “หินปูน” ใหม่เกิดได้ยากขึ้นด้วย

- เน้นการแปรงฟันมากเป็นพิเศษ ที่บริเวณฟันโดยเฉพาะด้านที่อยู่ใกล้รูเปิดของต่อมน้ำลาย ซึ่งมีโอกาสเกิด “หินปูน” มากกว่า อันได้แก่ ฟันหน้าล่างด้านลิ้นและฟันกรามซี่แรกบนด้านแก้ม

- การใช้ยาสีฟัน หรือยาอมบ้วนปากที่ช่วยกำจัดคราบจุลินทรีย์ หรือลด “หินปูน” เกิดใหม่ อาจช่วยได้บ้าง แต่ทั้งนี้การแปรงฟันที่ถูกวิธีดังกล่าวข้างต้นย่อมสำคัญกว่า

ข้อมูลสื่อ

106-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 106
กุมภาพันธ์ 2531
ทพ.ประทีป พันธุมวนิช