• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ใบรับรองแพทย์

ใบรับรองแพทย์

เป็นความจำเป็นเสียแล้ว สำหรับชีวิตมนุษย์ในสมัยปัจจุบันที่จะต้องเกี่ยวข้องผูกพันกับใบรับรองแพทย์อย่างไม่มีทางหลบหลีก

นับตั้งแต่เกิด ก็จะต้องแจ้งการเกิดโดยใช้ใบรับรองจากหมอที่โรงพยาบาลไปแจ้งเทศบาลหรืออำเภอว่า ฉันเกิดแล้วนะ อย่าลืมใส่ชื่อฉันไว้ในทะเบียนนะ มิฉะนั้นจะกลายเป็นคนเถื่อน ไม่มีทะเบียน จะเข้าเรียนหนังสือก็ไม่ได้ โรงเรียนไม่ยอมรับ เพราะไม่มีสูติบัตร เผลอๆ พอโตขึ้น ทำบัตรประชาชนไมได้ เขาจะหาว่าเป็นญวนอพยพละก็ เวรกรรม จนกระทั่งเวลาตาย ก็ต้องมีใบมรณบัตรจากหมอ แสดงว่า ฉันตายไปแล้วนะ ตายจริงๆ ขีดชื่อฉันออกจากทะเบียนเสียด้วย แล้วเวลามีการเลือกตั้ง ไม่ต้องใส่ชื่อฉันลงไปนะ เดี๋ยวคนอื่นจะหาว่ามีผีมาใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงด้วย

ระหว่างเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ ใบรับรองแพทย์ยิ่งเป็นสิ่งจำเป็น จะสมัครเข้าทำงานหรือครับ อย่าลืมใบรับรองแพทย์นะครับ จะมาประกันชีวิตหรือครับ มีใบรับรองแพทย์มาเรียบร้อยหรือยังครับ อ้าว คุณลาป่วยทำไมไม่มีใบรับรองแพทย์ อย่างนี้ถือว่าขาดงานนี่ต้องถูกตัดเงินเดือนละ จะทำอะไรๆ สมัยนี้ ใบรับรองแพทย์ดูจะจำเป็นไปเสียแทบทุกอย่าง แล้วทำอย่างไร จึงจะได้ใบรับรองแพทย์ ก็ต้องไปขอจากหมอน่ะซิ

ใบรับรองแพทย์ ที่ต้องใช้กันอยู่เสมอๆ มีหลายอย่าง ว่ากันทีละอย่างนะครับ

อย่างแรกก็ใบรับรองแพทย์ เพื่อประกอบใบลาป่วย

นักเรียน นิสิต นักศึกษา ข้าราชการ ลูกจ้าง คนทำงานบริษัท ยกเว้นบริษัทของตัวเอง หรือของคุณพ่อ เวลาไม่สบายจะลาหยุดงาน ต้องมีใบรับรองแพทย์ประกอบใบลาป่วย การขอใบรับรองแพทย์ประกอบในกรณีเช่นนี้ไม่ใคร่มีปัญหาอะไร คุณไปรับการตรวจกับหมอทีไหน คุณก็ขอใบรับรองแพทย์จากหมอที่นั่น ใบรับรองแพทย์ชนิดนี้ขอฟรี ไม่ต้องเสียเงินด้วยครับ

วันนี้ลืมขอ วันหลังไปขอก็ยังได้ เพราะเวลาหมอตรวจคุณหมอก็จะบันทึกประวัติการเจ็บป่วยของคุณไว้เป็นหลักฐาน เพื่อว่าวันหลังคุณไม่สบายอีก ไปตรวจใหม่หมอจะได้รู้ว่าเคยเป็นโรคอะไรมาก่อน เคยรักษาอย่างไรมาแล้วบ้าง เพราะโรคบางอย่าง ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต วิธีการรักษา ตลอดจนผลการรักษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำมาประกอบกับการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาต่อไป

เพราะฉะนั้น จึงมีหลักฐานการตรวจรักษา จึงสามารถออกไปรับรองแพทย์แสดงถึงความเจ็บป่วยตลอดระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาให้แก่คุณได้ แต่ทั้งนี้ เฉพาะหมอปริญญาเท่านั้นนะครับ หมอชาวบ้านไม่เกี่ยว เพราะยังไม่มีหน่วยงานไหนยอมรับใบรับรองจากหมอชาวบ้าน

ปัญหาในการขอรับใบรับรองแพทย์เพื่อประกอบใบลาป่วย โดยทั่วไปมีไม่มาก แต่จะเกิดปัญหายุ่งยากขึ้นมาทันทีถ้าคุณไปขอใบรับรองแพทย์ ในกรณีที่คุณไม่ได้ป่วยจริง หรือป่วยจริงแต่ไมได้ไปรับการรักษาจากหมอคนนั้น เพราะเป็นการขอใบรับรองแพทย์เท็จ ไม่มีหลักฐานอะไรที่จะแสดงว่าฉันไม่สบาย และสมควรลาป่วย

บางคนไม่ได้เป็นอะไรหรอกครับ ขี้เกียจทำงานเลยหนีไปเที่ยวเพลินไปหน่อย ลืมส่งใบลากิจไว้เสียด้วย หรือไม่ก็เป็นเพราะต้องรีบไปธุระด่วน รอไมได้ ไม่มีเวลาส่งใบลากิจ ซึ่งกรณีเหล่านี้อาจแก้ไขได้โดยโทรเลขไปลาเอาไว้ก่อน แต่ก็ลืมอีกนั่นแหละ พอกลับมาทำงานเจ้านายเกิดจะเอาเรื่องขึ้นมา คุณขาดงานไปเฉยๆ นี่ ใบลาก็ไม่ส่ง อย่างนี้ถือว่าไม่มีความรับผิดชอบต่องาน มีความผิด ต้องถูกลงโทษ

เอาละสิ ทำอย่างไรดี เห็นท่าจะต้องไปขอใบรับรองแพทย์จากหมอย้อนทีหลัง จะได้ส่งใบลาป่วยแทนใบลากิจเสียเลย เจ้านายอยากเฮี๊ยบนัก หรือบางทีเจ้านายเองนั่นแหละ แนะนำดีนัก แนะนำให้ไปขอใบรับรองแพทย์เสียเอง

ในกรณีเช่นนี้ หมอออกใบรับรองแพทย์ให้ไม่ได้หรอกครับ เพราะถ้าขืนออกใบรับรองแพทย์ให้ไป ใบรับรองแพทย์ใบนั้นก็เป็นใบรับรองแพทย์เท็จ ไม่มีหลักฐานยืนยันการเจ็บไข้ได้ป่วยของคุณ ถ้าแพทย์สภารู้เข้า เกิดมีการสอบสวนกันขึ้นมา ความผิดพลาดของหมอคนที่ออกใบรับรองแพทย์เท็จนั้น มีโทษยึดใบประกอบโรคศิลปะครับ แปลว่าหมอคนนั้นไม่มีสิทธิ์ที่จะทำงานเป็นหมอรักษาคนไข้อีกไป เรียกว่าหมดอาชีพไปเลย และถ้าหมอคนนั้นเป็นข้าราชการ ก็จะได้รับโทษทางวินัยอีกต่างหาก

ครับ! ในกรณีที่หมอคนนั้นเป็นเพื่อนของคุณ เป็นญาติของคุณ หรือคุณรู้จักใกล้ชิดสนิทสนมกันดี ขอร้องไหว้วานให้ช่วยเหลือกันได้ คุณกำลังจะถูกลงโทษตัดเงินเดือนแล้ว ช่วยเหลือกันหน่อยนะ ช่วยออกใบรับรองแพทย์ให้หน่อยเถอะ หมอคนนั้นก็มีความเกรงใจ ไม่อาจปฏิเสธได้ ออกใบรับรองแพทย์เท็จให้ ถ้าไม่มีเรื่องก็แล้วกันไป ถ้ามีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นมาเมื่อไร ก็มีความผิดไป

มีบ่อยไปครับ ที่เจ้านายต้นสังกัดของคุณ เกิดความสงสัยในใบรับรองแพทย์ที่คุณนำไปยื่น เลยส่งเรื่องมาตรวจสอบกับต้นสังกัดของหมอ หมอก็ต้องรับโทษไปตามระเบียบ

ใบรับรองแพทย์ชนิดที่ 2

ใบรับรองแพทย์สมัครงาน หรือสมัครเรียนต่อ เป็นใบรับรองแพทย์ที่แสดงว่า คุณมีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บที่ร้ายแรง จนอาจเป็นเหตุให้ไม่สามารถปฏิบัติงานหรือเล่าเรียนจนสำเร็จได้

ตามกฎหมายกำหนดโรคต่างๆ ซึ่งถือว่าทำให้สุขภาพไม่สมบูรณ์เป็นอุปสรรคในการทำงานหรือเล่าเรียนไว้ 5 โรค คือ

1. โรคเรื้อน

2. วัณโรคระยะอันตราย

3. ติดยาเสพติดให้โทษอย่างร้ายแรง

4. โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการ เป็นที่รังเกียจแก่สังคม

5. โรคพิษสุราเรื้อรัง

ถ้าใครเป็นโรคใดโรคหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนดนี้ ก็สมควรละครับที่จะไม่ได้ทำงานหรือเรียนต่อ เพราะโรคต่างๆ ทั้ง 5 นี้ค่อนข้างจะร้ายแรง และเป็นอันตรายต่อสังคมทั้งสิ้น

และอย่าว่าแต่หมอเลยครับ ที่จะให้การวินิจฉัยโรคเหล่านี้ได้ แม้แต่ชาวบ้านธรรมดาเพียงเห็นก็พอจะดูออกว่าเป็นโรคพวกนี้หรือไม่

ในการขอใบรับรองแพทย์ชนิดนี้ คุณสามารถจะขอจากหมอปริญญาคนไหนก็ได้ หมอบางคนอาจจะทำการตรวจสุขภาพทั่วไป เช่น วัดความดันเลือดจับชีพจร ตรวจหัวใจและปอดให้แล้วก็เขียนใบรับรองแพทย์ให้ หมอบางคนอาจให้คุณไปเอกซเรย์ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะแล้วจึงจะยอมออกใบรับรองแพทย์ให้ พร้อมทั้งเรียกเก็บค่าตรวจเสียแพงหูฉี่

โดยปกติ การขอใบรับรองแพทย์ชนิดนี้ คุณต้องเสียเงินให้หมอใบละ 10 บาทครับ จะเรียกว่า เป็นค่าป่วยการ หรือ เป็นค่าวิชาหรืออะไรก็ไม่ทราบละครับ สรุปว่าต้องเสียเงินใบละ 10 บาทก็แล้วกัน

แต่หมอคนที่ให้คุณเอกซเรย์ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ จะเรียกค่าตรวจแพงกว่านี้มาก ตามจำนวนและชนิดของการตรวจพิเศษเหล่านั้น ทั้งๆ ที่การตรวจพิเศษนี้อาจจะช่วยหรือไม่ช่วยในการวินิจฉัยโรคทั้ง 5 ชนิดนี้เลยก็ได้ แต่ก็จะตรวจ

เคยมีหมอบางคนเขียนบทความแสดงความกังขาว่า มีเหตุผลอย่างไร จึงต้องตรวจกันมากมายให้เสียเงิน เสียทอง โดยที่ก็รู้อยู่แล้วว่าไม่มีประโยชน์ เป็นการเอาการค้ามาปนกับการแพทย์หรือไม่ เป็นการค้ากำไรโดยใช้วิชาชีพแพทย์บังหน้าหรือเปล่า ในขณะที่หมอบางคนเพียงแค่มองหน้า ถามชื่อ ถามแซ่ แล้วก็เขียนใบรับรองแพทย์ให้ได้แล้ว ถ้าไปถามหาเหตุผลจากหมอว่า ทำไมไม่ต้องตรวจเลยล่ะ จะได้รับคำตอบในทำนองนี้

ก็โรคพวกนี้น่ะ อย่างว่าแต่หมอปริญญาเลย ชาวบ้านธรรมดาก็ดูออกว่าเป็นโรคพวกนี้หรือเปล่า จะตรวจอะไรอีกเล่า ใบรับรองแพทย์ต้องการรู้แค่ 5 โรคนี้เท่านั้น ใช้สายตาตรวจก็พอ เคยมีตัวอย่างหมอบางคน นอกจากจะไม่ตรวจแล้วยังไม่มองหน้าคนไข้อีกด้วย เซ็นชื่อในใบรับรองแพทย์ไว้เป็นปึกเลย ทิ้งไว้ที่คลีนิคของหมอนั่นแหละ มีใครมาขอใบรับรองแพทย์ไปสมัครงานหรือครับ คนงานหรือใครก็ได้ที่ร้านหมอสักคนหยิบใบรับรองแพทย์ที่หมอเซ็นชื่อไว้แล้วขึ้นมา กรอกชื่อผู้ขอใบรับรองแพทย์ เท่านั้นเป็นเสร็จพิธี

แพทย์สภารู้เรื่องเข้า ยึดใบประกอบโรคศิลป์เรียบร้อยแล้วครับ

ใบรับรองแพทย์ชนิดที่ 3

สำหรับผู้ประกันชีวิตไว้ เมื่อได้รับบาดเจ็บ จะเป็นการเจ็บเล็กน้อย หรือเจ็บมากขนาดไหนก็ตามที บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินตอบแทนให้ มากหรือน้อยแล้วแต่เงินประกันและขนาดของการบาดเจ็บเรื่องก็เลยต้องมีใบรับรองแพทย์ตามเคย ก็ขอจากหมอคนที่ตรวจรักษาคุณเหมือนกัน โดยมีแบบฟอร์มต่างหาก เป็นแบบฟอร์มของบริษัทประกันชีวิตของคุณเอง ใช้ของบริษัทอื่นไม่ได้

ค่าป่วยการในการขอใบรับรองแพทย์ชนิดนี้ บริษัทประกันชีวิตบางบริษัทจะเป็นผู้จ่ายให้หมอคนเขียนใบละ 100 บาท แต่บางบริษัทไม่ยอมจ่ายให้ แต่จะให้ผู้เอาประกันจ่ายเอง หรือไม่เช่นนั้นบริษัทก็จ่ายให้ก่อน แล้วหักเอาคืนจากเงินทดแทนภายหลัง ก็ไม่ทราบละครับ ว่ากฎหมายหรือระเบียบที่แท้จริงเขาว่าอย่างไร ถ้าผู้เชี่ยวชาญหรือผู้รู้จะเขียนมาเล่าสู่กันฟังบ้างก็จะเป็นการดีทีเดียวครับ

ปัญหาของการเขียนใบรับรองแพทย์ชนิดนี้ อยู่ที่การลงความเห็นเกี่ยวกับระยะเวลาในการพักรักษาตัวครับ เพราะผู้เอาประกันมักจะขอร้องให้แพทย์ลงความเห็นให้ใช้เวลาพักรักษาตัวนานๆ เพื่อว่าเงินทดแทนจะได้สูงๆ หมอเขียนว่ามีบาดแผลอย่างนี้ ให้พักรักษาตัว 10 วัน ก็ขอต่อรองเงินเดือนว่า 1 เดือนไม่ได้หรือ บริษัทประกันชีวิตทุกบริษัทแหละครับ จะมีหมอเป็นที่ปรึกษาของบริษัท และหมอพวกนี้ก็ล้วนแล้วแต่ผู้เชี่ยวชาญด้วยซิครับ มีแผลถลอกนิดหน่อย ขืนลงความเห็นว่าพักรักษาตัว 1 เดือน บริษัทก็มีหวังปฏิเสธการจ่ายเงินทดแทนให้เท่านั้นเอง ขืนจ่ายง่ายๆ จ่ายเยอะๆ ก็ไม่เรียกบริษัทประกันน่ะซิครับ

มีตัวอย่างเหมือนกันครับ หมอลงความเห็นไม่ตรงต่อข้อเท็จจริง ตัดขาคนไข้เพราะเป็นมะเร็ง แต่ลงความเห็นว่าเป็นเพราะอุบัติเหตุ บริษัทประกันสืบพบความจริงเข้า นอกจากจะไม่ยอมจ่ายเงินให้แล้ว ยังฟ้องหมอเข้าด้วย

แพทย์สภาก็ยึดใบประกอบโรคศิลป์ไปตามระเบียบ

ใบรับรองแพทย์ชนิดสุดท้าย

ที่จะเขียนถึงในวันนี้ คือ ใบรับรองการบาดเจ็บ หรือใบชันสูตรบาดแผล หรือใบชันสูตรศพ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย

ใบรับรองชนิดนี้ ประชาชนทั่วไปจะไม่ได้เห็นหรอกครับ เพราะถือว่าเป็นเอกสารทางราชการจะเที่ยวได้เอาไปเผยแพร่มิได้ กล่าวคือ เมื่อมีผู้ได้รับบาดเจ็บจะมีสาเหตุจากการถูกทำร้ายร่างกาย หรืออุบัติเหตุก็ตามที ในทางกฎหมายถือว่าเป็นเรื่องทางอาญาที่จะต้องมีการสืบสวนสอบสวนถึงสาเหตุแห่งการบาดเจ็บนั้นๆ และต้องนำตัวผู้กระทำความผิดนั้นมาฟ้องร้อง และดำเนินคดีตามกฎหมาย

สิ่งหนึ่งที่จะเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีนั้น คือ ใบชันสูตรบาดแผลซึ่งหมอจะเขียนบ่งไว้ถึงสาเหตุของการบาดเจ็บ อวัยวะ และลักษณะของการบาดเจ็บตลอดจนให้ความเห็นว่า จะต้องใช้เวลาในการรักษาตัวนานเพียงไร และจะมีผลเสียในระยะยาง อาทิ เช่น ความพิการหรือไม่อย่างไร

ดังนั้น ทางพนักงานสอบสวนก็จะส่งใบชันสูตรบาดแผลนี้ให้แก่หมอ เมื่อหมอเขียนลงความเห็นแล้วก็จะส่งคืนให้แก่พนักงานสอบสวน โยที่ทั้งผู้ต้องหา และผู้ได้รับบาดเจ็บไม่จำเป็นต้องเข้ามาเดือดร้อนกับใบรับรองแพทย์ชนิดนี้ แต่บางครั้งพนักงานสอบสวนให้ผู้ต้องหาหรือไม่ก็ผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นผู้ดำเนินการนำใบชันสูตรบาดแผลนี้มาเอง โยให้ไปขอจากหมอโดยตรง

ปัญหาอยู่ตรงนี้เอง เพราผู้ต้องหาก็ย่อมจะอยากให้หมอลงความเห็นว่าบาดเจ็บน้อยๆ ในขณะที่ผู้บาดเจ็บก็จะให้ลงความเห็นว่า บาดเจ็บมากๆ เพื่อจะได้เรียกเงินได้มากๆ หรือถ้าไม่ยอมจ่ายเงินก็จะได้ติดคุกนานๆ หมอลงความเห็นไปตามความเป็นจริง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เลยโดนทั้ง 2 ฝ่ายรุมต่อว่า

เป็นไปได้!

ใบรับรองแพทย์ไม่ว่าจะเป็นชนิดไหนละครับ เป็นเรื่องที่สังคมให้เกียรติหมอ เชื่อถือในความเป็นหมอว่าจะมีความซื่อสัตย์ สุจริต และยุติธรรม ดังนั้น ถ้าหมอคนไหนเขียนใบรับรองแพทย์เท็จแล้วถูกจับได้ ก็อย่าเป็นหมอต่อไปเลยครับ เกียรติของตัวเอง ยังไม่รู้จักรักษาไว้ แล้วจะไปรักษาคนไข้ที่ไหนล่ะครับ จริงไหมครับ

ข้อมูลสื่อ

7-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 7
พฤศจิกายน 2522
พูดคนละภาษา
รจน์ วิพากษ์