• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หวัด

หวัด

 

 ความรู้เรื่องการกดจุดเป็นของเก่าแก่และมีมานานหลายพันปีซึ่งเป็นที่ยอมรับของชาวจีน ศาสตร์แห่งการกดจุดได้แพร่หลายไปทั่วโลก ทั้งในอเมริกาและยุโรป โดยเฉพาะในยุโรป Dr.Frank Bahr ท่านเป็นแพทย์ชาวเยอรมัน เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการกดจุดโดยเฉพาะ ท่านได้ศึกษาและเขียนตำราการกดจุดไว้ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีประโยชน์ เหมาะสำหรับนำมาเผยแพร่แก่ประชานชนในการดูแลสุขภาพ เพราะการกดจุดก็คือศาสตร์แขนงเดียวกับการฝังเข็มที่เราๆท่านๆรู้จักกันดี แต่กดจุดเป็นการฝังเข็มโดยไร้เข็ม ทั้งยังไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดเหมือนฝังเข็ม และไม่มีอันตรายใดๆต่อผู้ทำ ถ้าท่านกดได้ถูกวิธีและมีประสิทธิภาพก็จะได้ผลในการรักษา ทั้งยังช่วยเสริมการรักษาของแพทย์ให้หายเร็วขึ้น แต่ถ้าท่านทำแล้วไม่ได้ผล ก็ไม่มีข้อเสียหายอะไร 

หน้าฝนอีกแล้ว ไม่แคล้วต้องเป็นหวัดกันอีก(แน่) ถ้าไม่ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง
โรคหวัดจะเกิดการอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูก ซึ่งเป็นอาการของหวัดธรรมดา ถ้าอาการมากจะนำไปสู่การอักเสบของโพรงไซนัส ซึ่งจะมีอยู่หลายแห่งรอบๆจมูก เมื่อโพรงไซนัสอักเสบจะบวมและปวดในโพรงนี้ ถ้าโพรงไซนัสอักเสบจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ทางหู คอ จมูก เพราะบางรายอาจจะต้องเปิดเจาะโพรงไซนัส เพื่อให้หนองที่ขังภายในโพรงไหลออกมา
อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณใช้วิธีกดจุดรักษาหวัดร่วมกับการรักษาของแพทย์ จะทำให้หวัดหายเร็วขึ้น และยังช่วยไม่ให้เกิดโรคอื่นแทรกซ้อนตามมาด้วย

 

⇒ อาการ
มีไข้ตัวร้อนเป็นพักๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดศีรษะเล็กน้อย คัดจมูก น้ำมูกใส จาม คอแห้ง และเจ็บคอเล็กน้อย ไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะน้อยลักษณะสีขาว
ในผู้ใหญ่อาจไม่มีไข้ มีเพียงอาการคัดจมูก น้ำมูกใส ถ้าเป็นหวัดเกิน 3 วันแล้วไม่หาย อาจมีน้ำมูกข้นสีเหลือหรือเขียว หรือมีเสมหะสีเหลืองหรือเขียว แสดงว่าเกิดการอักเสบซ้ำจากเชื้อแบคทีเรีย ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

 

⇒ สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งมีอยู่กว่า 200 ชนิด ซึ่งผลัดเปลี่ยนกันทำให้เป็นไข้หวัด

                                                          ข้อแนะนำทั่วไปก่อนกดจุด

 1. นั่งหรือนอนในท่าที่สบายมือที่จะกดจุดไม่ควรเย็น ถ้าเย็นควรทำมือให้อุ่นก่อนโดยแช่ในน้ำอุ่น หรือใช้ผ้าห่อมือไว้

2. ถ้าท่านมีผิวหนังที่แพ้ง่าย อาจจะใช้โลชั่นหรือแป้งฝุ่นทาบริเวณที่จะกดจุดก่อนลงมือกดจุด

3. ระหว่าทำการกดจุด บางรายอาจจะมีเหงื่อออกมาก ควรให้พักระหว่างการกดจุดได้

4. .ในวันที่อากาศหนาวเย็น เมื่อกดจุดเสร็จเรียบร้อย ก่อนออกไปนอกบ้านควรสวมเสื้อให้อบอุ่น
 

                                                             ข้อแนะนำก่อนกดจุด

 1. การกดจุด หมายถึงการนวดจุดๆนั้นโดยใช้ปลายนิ้วมือที่เล็บสั้น

2. อ่านและดูรูปที่แสดงตำแหน่งการกดจุดให้เข้าใจ แล้วลองกดจุดที่อยู่บนร่างกาย สำหรับจุดที่อยู่บนใบหูอาจจะใช้กระจกส่องช่วยหาจุด หรือวานให้ใครคนใดคนหนึ่งดูจุดนั้นในรูปแล้วชี้ตำแหน่งให้

3. เมื่อท่านกดถูกจุดๆนั้นจะให้ความรู้สึกได้ดีกว่าบริเวณรอบๆ และควรกดจุดให้แรงพอ

4. นิ้วมือที่นิยมใช้กดจุด มักใช้นิ้วชี้ โดยให้ปลายนิ้วมือตั้งฉากกับผิวหนัง และนวดไปตามทิศทางที่ลูกศรชี้ในภาพ นวด (ถู) ออกไปเป็นระยะทาง 1 นิ้ว การนวดควรนวดประมาณ 30 ครั้ง ต่อ 10 วินาที หรือ 70-100 ครั้งต่อนาที

5. จุดบนใบหูอาจจะใช้ปลายนิ้วก้อยหรือปลายดินสอ ปากกามนๆ นวดได้ เพราะบริเวณใบหูเล็กและแคบกว่าร่างกาย

6. การกดจุดตามหลักของจีนได้กำหนดเวลาในการกดแต่ละครั้งไว้ดังนี้
เด็กอายุ 0-3 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด ½-3 นาที
เด็กอายุ 3-6 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด 1-4 นาที
เด็กอายุ 6-12 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด 1-5 นาที
เด็กอายุ 1-3 ปี ใช้เวลากดทั้งหมด 3-7 นาที
เด็กโต ตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ใช้เวลากดทั้งหมด 5-10 นาที
ผู้ใหญ่ ใช้เวลากดทั้งหมด 5-10-15 นาที

7. จุดที่กดอยู่บนร่างกาย ควรกดหรือนวดทั้ง 2 ข้างของลำตัว (ร่างกายจะแบ่งเป็น 2 ข้าง คือ ข้างขวาและซ้าย)

8. ระยะต่างๆ ที่ใช้ในการวัด จะวัดจากความกว้างของนิ้วมือของผู้กดจุดเอง

 

⇒ ตำแหน่งที่กดจุด
กดจุดที่ร่างกาย

 

                                            

1. จุด “เฉียนเจียว” (chii-chiao)

วิธีหาจุด :
จุดจะอยู่ห่างจากปลายจมูกไปทางด้านข้าง 1 ½ นิ้วมือ ซึ่งจะตรงกับตาดำพอดี
วิธีนวด    :  นวดลงล่าง(ดังรูป)

 

                                            

2. จุด “ซือไป๋” (szu-pai)

วิธีหาจุด  :   จุดนี้จะเป็นแอ่งเล็กๆ อยู่ต่ำกว่าตาดำ 2 นิ้วมือ
วิธีนวด     :   นวดลงล่าง

 


3. จุด “อิ๋งเซียง” (ying-hsing)

วิธีหาจุด :  จุดนี้อยู่บนยอดของปีกจมูก
วิธีนวด    :   นวดเข้าหาสันจมูก

 

                                            

 4. จุด “เหอเจียว” (ho-chiao)

วิธีหาจุด  :  
อยู่ใต้รูจมูก หรืออยู่ห่างจากริมฝีปาก 1 ½ นิ้ว อยู่ติดกับร่องปาก
วิธีนวด     :   นวดออกไปด้านข้าง  (ดังรูป)

                                               

5. จุด “อิ้งถัง” (inn-trang)

วิธีหาจุด  :   อยู่กึ่งกลางระหว่างคิ้วสองข้าง
วิธีนวด     :   นวดลง(ดังรูป)

 

 

6. จุด “จิงหมิง” (ching-ming)

วิธีหาจุด   :   อยู่ที่หัวคิ้วทั้ง 2 ข้าง
วิธีนวด     :   นวดขึ้นบน
 

 

                                      

7. จุด “เหอกู่” (ho-ku)

วิธีหาจุด  :   อยู่หลังมือต่ำกว่านิ้วชี้ประมาณ 2 นิ้วมือ และห่างจากหัวแม่มือประมาณ ½ นิ้วมือ
วิธีนวด     :   นวดเข้าหาข้อศอก(ดังรูป)

 

                                           

 

8. จุด “จั่นจู๋” (ts’uan-chu)

วิธีหาจุด   :   อยู่ใกล้กับหัวตาด้านข้างของสันจมูก
วิธีนวด      :   นวดขึ้นบน(ดังรูป)

 

การกดจุดที่ใบหู

หูขวา
1. จุดบริเวณตีนหู มี 3 จุด (2 จุดอยู่ที่ติ่งหูส่วนบน, ส่วนล่างอีก 1 จุด)

วิธีนวด  :   2 จุดบนให้นวดไปด้านหลัง
1. จุดล่างให้นวดขึ้นและเอียงไปด้านหน้า
2. จุดสันหูส่วนที่โผล่มาจากแอ่งหู

วิธีนวด :  นวดขึ้นตามแนวสันหู(ดังรูป)

                                            

หูซ้าย : นวดในตำแหน่งเดียวกันกับหูขวาแต่ทิศทางตรงกันข้าม

 

การรักษา
ใบหูและร่างกายนวดสลับวันกัน นวดวันละ 1-3 ครั้ง นวดนานครั้งละ 5-10 นาที ขึ้นกับความรุนแรงและสิ่งที่จะลืมไม่ได้ก็คือ เวลาเป็นหวัดต้องใส่เสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่นเสมอ
 



 

 

ข้อมูลสื่อ

86-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 86
มิถุนายน 2529
ลลิตา อาชานานุภาพ