• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกาย (ตอนที่ 2)

“ประชาชนทั่วไปสามารถจะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเอง และญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อยๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่พิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” จะชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองจนเป็นหมอได้ เราจะเสนอท่านเป็นประจำ เริ่มลงตั้งแต่ฉบับที่ 1 ปีที่ 1”

การตรวจร่างกาย (ตอนที่ 2)

ก. การตรวจร่างกายทั่วไป (ต่อ)

เมื่อเราใช้ตาสังเกตอากัปกิริยาและลักษณะของคนไข้ว่า เป็นคนไข้ที่กำลังเจ็บหนักดังที่ได้กล่าวถึงในครั้งก่อนแล้ว เราก็จะต้องรีบให้การดูและรักษาคนไข้ทันที อย่ามัวไปเสียเวลาซักประวัติหรือตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพราจะทำให้คนไข้ถึงแก่กรรม (ตาย) ได้ เช่น

ถ้าเราเห็นคนไข้ถูกหามเข้ามาหาเราโดยไม่รู้สึกตัวเลย (หมดสติ หรือโคม่า) ต้องรีบจับชีพจรที่ขาหนีบ หรือที่ข้างคอทันที เพื่อดูว่ายังมีชีพจรที่ขาหนีบ หรือที่ข้างคออยู่หรือไม่ (ดูรูปที่ 1 และ 2)

ถ้าไม่มี ให้ถือว่าหัวใจหยุดเต้น รีบทุบลงตรงหน้าอกแรง ๆ สัก 1-2 ที ถ้าทุบแล้ว คนไข้ยังไม่รู้สึกตัว หรือยังคลำชีพจรไม่ได้ รีบเป่าปากช่วยการหายใจ และช่วยนวดหัวใจ (ดูรูปที่ 3) จนกว่าหัวใจของคนไข้จะเต้นได้เอง จนคลำชีพจรได้

ถ้าคนไข้ยังมีชีพจรอยู่ แต่หมดสติและไม่รู้สึกตัวเลย ควรจะฉีดน้ำตาลกลูโคสเข้าเส้นทันที (ฉีดกลูโคส 50% ประมาณ 100 ซี.ซี. เข้าเส้นทันที) ถ้าไม่มีกลูโคส 50% อาจให้น้ำเกลือ (น้ำเกลือที่มีน้ำตาลกลูโคสอยู่ด้วย) เข้าเส้นหรือถ้าคนไข้ยังพอกลืนเองได้โดยไม่สำลัก ให้ใช้น้ำหวานหรือน้ำละลายน้ำตาลให้คนไข้กินไปก่อนทันที

ถ้าคนไข้เลือดออกมาก ให้ใช้นิ้วมือหรือส้นมืดกดลงบนบาดแผลที่มีเลือดออกนั้นจนเลือดหยุด

ถ้าคนไข้มีไข้สูง ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัวให้คนไข้ และอาจใช้พัดลมช่วยเป่าด้วย

ถ้าคนไข้ไม่หายใจ หรือหายใจลำบาก ก็ต้องช่วยหายใจ โดยการใช้พัดลม หรือการเป่าปากหรืออื่นๆ

 

 

การดูแลรักษาคนไข้ที่มีปัญหาต่างๆ จะกล่าวถึงอย่างละเอียดในภาคที่ 3 เมื่อภาคการซักประวัติและการตรวจร่างกายได้สิ้นสุดลงแล้ว

เมื่อเราใช้ตามองดูคนไข้แล้วไม่เห็นลักษณะหนึ่งลักษณะใดที่จะเข้าได้กับลักษณะของการเจ็บหนัก เราก็ใช้ตาและหูของเราตรวจคนไข้ต่อไปโดยดู

1. กิริยาท่าทางของคนไข้ เช่น

1.1 ลักษณะการเดิน การเดินของคนปกติเป็นอย่างไร คงจะได้สังเกตกันอยู่แล้ว บางคนอาจจะเดินขาถ่าง บางคนอาจจะเดินหนีบขา บางคนเดินแบบทหาร บางคนเดินแบบขย่มธรณี (เดินเขย่งปลายเท้า) และอื่นๆ การเดินเช่นนี้ย่อมถือได้ว่าเป็นสิ่งปกติที่แตกต่างกันได้ในแต่ละคนเหมือนกับรูปร่างหน้าตาของคนเราที่แตกต่างกัน แต่ถ้าเมื่อใด ลักษณะการเดินนั้นแปลกออกไปมาก เช่น

การเดินเข้าถ่าง (เดินเข่าถ่างออกจากันมาก) เหมือนพวกโคบาล (เคาบอย) ที่ขี่ม้าเป็นประจำตั้งแต่เด็กๆ ก็จะเดินเข่าถ่างได้ เพราถูกท้องม้าดันไว้ พวกนี้ถ้าให้ยืนตรงขาชิดกัน ก็จะเห็นได้ว่าเข่าห่างจากกันมาก แต่ส่วนใหญ่แล้ว อาการเข่าถ่างเกิดจากเมื่อตอนเล็กๆ เป็นโรคกระดูกอ่อน เพราะกินนมหรืออาหารที่มีวิตามินดีน้อยเกินไป หรือเป็นโรคอื่น (ดูรูปที่ 4)

การเดินเข่ากระทบกัน (เวลาเดินเข่าจะกระทบกัน) เพราะขาส่วนเข่าโค้งเข้า พวกนี้จะยืนตรงให้เท้าชิดกันไม่ได้เพราะเข่าจะเกยกัน เวลายืนตรงให้เท้าชิดกัน จึงต้องงอให้เข่าหนึ่งอยู่ข้างหน้า เข่าหนึ่งอยู่ข้างหลัง ส่วนใหญ่แล้วเกิดเพราเมื่อตอนเล็กๆ เกิดเป็นโรคกระดูกอ่อนแล้วงอเข้า แทนที่จะถ่างออก (ดูรูปที่ 5)

การเดินกะเผลก มักจะเกิดจากขาข้างหนึ่งผิดปกติ ซึ่งอาจจะเกิดจากการอักเสบหรือการพิการตั้งแต่เท้าขึ้นไปจนถึงข้อสะโพก เอว หรือ หลัง ไม่ที่ใดก็ที่หนึ่ง

การเดินแปะๆ คือ การเดินที่ต้องยกเท้าขึ้นสูง นั่นคือ เดินแบบยกเท้าขึ้นสูง และเวลาวางเท้าลงกับพื้น ส่วนปลายเท้าจะแตะพื้นก่อน ทำให้เกิดการเดินที่มีเสียงแปะๆ อาจจะเป็นเพียงเท้าข้างเดียว หรือทั้งสองเท้าก็ได้ เกิดจากเส้นประสาทที่ใช้ยกปลายเทาเป็นอัมพาตไป (การเดินตามปกติ จะเอาส้นเท้าลงพื้นก่อนทำให้เกิดเสียงดังตึกๆ )

การเดินลากขาหรือเหวี่ยงขา แสดงว่าขาข้างหนึ่งถูกลาก หรือต้องใช้แรงเหวี่ยงอย่างมาก แสดงว่าขาข้างนั้นเป็นอัมพาต ถ้าในขณะเดินแขนข้างเดียวกันก็ไม่แกว่งไกวด้วย แสดงว่าแขนข้างนั้นคงจะเป็นอัมพาตด้วย เกิดเป็นสภาพที่เรียกว่าเป็นอัมพาตครึ่งซีก ซึ่งมักเกิดจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองส่วนหนึ่งเกิดตีบ ตัน หรือ แตก ทำให้สมองที่ควบคุมแขนขาข้างนั้นเสียไป

การเดินเซไปเซมา เดินไม่ตรงทาง หรือเวลาเดินต้องก้มหน้ามองดูพื้นตลอดเวลา แสดงว่าสมองส่วนที่ควบคุมการทรงตัวทำงานผิดปกติไป ซึ่งอาจเกิดจากการเมาเหล้า เมายา หรือสมองส่วนที่ควบคุมการทรงตัวได้รับเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอหรืออื่นๆ

1.2 ลักษณะการเคลื่อนไหว คนเราบางคนจะทำอะไรดูเชื่องช้า บางคนทำอะไรดูพรวดพราดฉุกละหุก ถ้าหัดสังเกตเป็นเวลานานๆ เราก็เรียนรู้เองได้ว่า ช้าได้ถึงแค่ไหนหรือเร็วได้ถึงแค่ไหนที่ยังถือว่าเป็นปกติ ซึ่งในคนแต่ละอายุแต่ละวัยจะไม่เหมือนกัน เช่น

ในเด็ก ถ้าปล่อยไว้ตามลำพังแล้ว แกจะเคลื่อนไปทางโน้นทางนี้ หยิบโน่นหยิบนี่ เดินหรือวิ่งอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่เดินหรือวิ่งได้แล้ว เรียกว่า ไม่ยอมอยู่นิ่งได้ง่ายๆ นอกจากเวลาหลับ เหมือนกับที่เราเรียกกันว่า “จับปูใส่กระด้ง” บางครั้ง พ่อแม่ หรือคนเลี้ยงต้องวิ่งตามจนหอบ

ถ้าในวัยเด็กเช่นนี้ เด็กกลับอยู่เฉยๆ แบบที่พ่อแม่คนเลี้ยงอาจจะชอบเพราะเด็ก “ไม่ซน” ทั้งที่ควรจะซนเช่นนี้ ต้องถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติและต้องเสาะหาสาเหตุ และจัดการแก้ไขเสีย

ในทางด้านตรงกันข้าม คนอายุ 60-70 ปี กลับ “ซน” ขึ้นมา นั่นคือ ชอบทำโน่นทำนี่จนผิดสังเกต ทำอะไรก็รวดเร็วพรวดพราด ต้องถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติและต้องเสาะหาสาเหตุเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะถ้าก่อนหน้านั้นไม่ได้มีนิสัยแบบนี้อยู่

อาการสั่น ของศีรษะ ลำตัว แขนขา มือเท้า ถ้ามีก็จะต้องสังเกตว่าเกิดขึ้นเวลาไหนเวลาอยู่เฉยๆ หรือเวลาจะทำอะไร

อาการกระตุก ที่หนังตา ที่หน้า ที่แขนขา มือเท้า ก็เป็นการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติเช่นเดียวกัน

1.3 การพูดจา วิธีการพูดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนพูดเร็ว บางคนพูดช้า บางคนพูดกล้ำคำ บางคนพูดไม่ชัด บางคนพูดชัดถ้อยชัดคำ แตกต่างกันออกไป ให้สังเกตไปเรื่อยๆ จนสามารถบอกได้ว่า ขนาดไหนที่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ การพูดที่ผิดปกติ เช่น

การพูดช้ามากจนทิ้งช่วง บางครั้งเราคิดว่าคนไข้พูดจบประโยคไปแล้ว แต่พอคนไข้พูดอีกครั้ง กลับต่อเข้าเป็นประโยคเดิม เช่นนี้มักเกิดจากความผิดปกติในสมอง

การพูดที่เร็วสั่นแต่ชัดเจน คล้ายกับว่าพูดอย่างรีบร้อน และกิริยาท่าทางก็ค่อนข้างจะร้อนรนด้วย มักจะเกิดในภาวะที่ต่อมธัยรอยด์ (ต่อมคอพอก) ทำงานมากเกินไป นั่นคือ ภาวะคอพอกเป็นพิษ

การพูดช้าและเสียงแหบซ่า ร่วมด้วยหน้าตาแขนขาและรูปร่างฉุๆ ก็มักจะเกิดจากต่อมคอพอกทำงานน้อยเกินไป

การพูดตะกุกตะกัก พูดติดอ่าง พูดลำบาก (จะพูดแต่ละคำต้องใช้เวลาคิดตั้งนานทั้งที่เป็นคำง่ายๆ) มักจะเกิดจากความผิดปกติในสมอง หรือจิตใจ

การพูดที่มีเสียงดังกังวาน มักแสดงถึงสุขภาพของร่างกาย โดยเฉพาะปอดและสุขภาพของจิตดี (กำลังภายในดี)

การพูดที่มีเสียงค่อยมาก ฟังยาก ต้องเงี่ยหูฟัง มักแสดงว่า สุขภาพกายและจิตใจไม่ค่อยดี เป็นต้น

1.4 กิริยามรรยาท คำพังเพยที่ว่า สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล เป็นสิ่งที่นำมาใช้ได้ในการตรวจรักษาคนไข้

คนไข้ที่พูดสำเนียงเหน่อเป็นแบบชาวเหนือ ชาวอีสาน ชาวใต้ หรือชาวอื่นๆ จะทำให้เรารู้ว่าคนไข้เป็นคนในท้องถิ่นไหน และท้องถิ่นนั้นมีโรคที่พบบ่อยอะไรบ้าง จนบางครั้งแทบไม่ต้องซักประวัติหรือตรวจร่างกายอย่างอื่นเลย ก็พอเดาได้ว่าป่วยเป็นอะไร เช่น คนไข้ที่มีกำเนิดเป็นชาวอีสาน เดินมาหาเราด้วยท่าทางอ่อนเพลีย ตัวเหลืองตาเหลืองและท้องโต ส่วนใหญ่มักจะป่วยด้วยโรคตับ โดยเฉพาะโรคพยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งจะทำให้ตับแข็ง หรือมะเร็งในตับหรือท่อน้ำดีได้

คนไข้ที่เข้ามาหาเราแล้วมีกิริยามรรยาทเรียบร้อย และค่อนข้างเก็บตัว แบบที่เรียกว่า เป็นผู้ดีชาววัง จะทำให้เราต้องระวังตัวกลัวใช้คำพูดที่เป็นชาวบ้านเกินไป เพราะอาจจะทำให้กระทบกระเทือนใจของคนไข้ คนไข้จำพวกนี้มักจะเปราะบางและมักจะให้ประวัติที่ไม่ตรงไปตรงมาเพราะได้รับการอบรมมาแบบนี้ จึงต้องทบทวนประวัติกลับไปกลับมาหลายครั้ง โดยใช้คำถามที่ไม่ตรงเกินไป และไม่ให้คนไข้จับได้ว่าเรากำลังถามซ้ำถามซากคล้ายกับว่าไม่เชื่อใจคนไข้

คนไข้ที่เข้ามาหาเราแล้วมีกิริยามรรยาทร่าเริง เปิดเผย ตรงไปตรงมา จะทำให้เราเชื่อใจในประวัติที่ซักได้มากขึ้น และจะทำให้การตรวจรักษาง่ายขึ้นมาก

คนไข้ที่มีกิริยาหุนหัน ฉุนเฉียว ใจร้อน ก็ต้องทำให้เราระวังตัวเช่นกัน เพราะการซักประวัติที่ผิดหูเพียงเล็กน้อย หรือการตรวจร่างกายที่คนไข้อาจจะเห็นเป็นการประเจิดประเจ้อ หรือไม่พอใจปาสักนิด อาจจะทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทหรือคนไข้อาจจะทำร้ายเอาก็ได้

การตรวจกิริยาท่าทางของคนไข้ที่เข้ามาหาเราจึงช่วยเราหลายอย่าง เช่น ช่วยให้รู้จักคนไข้ว่าเป็นคนประเภทใด ควรจะเป็นโรคประเภทไหน และควรจะแก้ปัญหาโดยใช้ไม้นวม ไม้แข็ง หรือใช้คำพูด และกิริยาท่าทางอย่างไร เพื่อจะให้คนไข้ศรัทธาและสนิทสนมกับเราในระยะเวลาที่สั้นที่สุด

ข้อมูลสื่อ

8-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 8
ธันวาคม 2522
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์