• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

‘อย่าตายก่อนกำหนด’

‘อย่าตายก่อนกำหนด’

สามีของพยาบาลคนหนึ่งที่หน่วยอุบัติเหตุ เป็นวิศวกร อายุเพิ่งจะ 26 วันหนึ่งไปแก้เครื่องสูบน้ำ ถูกไฟฟ้าดูดและถึงแก่กรรมทันที

นักเรียนเล่นน้ำกันในสระว่ายน้ำ อยู่ๆ เพื่อนก็มาสังเกตเห็นว่าหายไปคนหนึ่ง มองหาดูพบว่าจมอยู่ก้นสระ งมเอาขึ้นมาช่วยกันไปตามมีตามเกิด เด็กคนนั้นก็เสียชีวิตในที่สุด

ชายผู้หนึ่งถูกยิงที่ขาหนีบ ญาติรีบนำส่งโรงพยาบาล แต่หนทางมันไกล ขณะมาเลือดออกมาก เมื่อมาถึงโรงพยาบาล ปรากฏเสียชีวิตแล้ว เนื่องจากช็อค

ยังมีตัวอย่างที่ยกมากล่าวได้อีกมากมายของผู้ที่ต้องเสียชีวิตก่อนถึงเวลาอันสมควร

รายแรก กระแสไฟฟ้าไปทำให้หัวใจหยุดเต้น ถ้ารู้วิธีช่วย ทำให้หัวใจเต้นได้เท่านั้น เขาก็จะกลับมามีชีวิตอย่างปกติได้เหมือนไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นเลย เพราะอันตรายจากกระแสไฟฟ้าแบบนี้ เมื่อช่วยให้พ้นออกมาได้ จะไม่เหลือสภาพอะไรไว้ให้ต้องเป็นกังวลอีก

รายที่สอง คนจมน้ำที่ช่วยได้ทัน และถูกวิธีจะฟื้นตัวได้ดีเสมอ แต่ว่าอาจมีผลตามหลังการจมน้ำอยู่หรือก็ไม่เหลือวิสัยที่แพทย์จะเยียวยาได้ เป็นที่น่าเสียดายที่คนอายุยังน้อยที่ต้องมาเสียชีวิตก่อนที่แพทย์จะได้มีโอกาสช่วย

รายสุดท้าย ตายเพราะเลือดออกมาก การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ การห้ามเลือด วิธีธรรมชาติที่สุด คือ ใช้มือหรือนิ้วมือกดลงไปตรงตำแหน่งที่เลือดออก อาจใช้ผ้าสะอาดวาง หรือปิดปากแผลก่อนกดให้เลือดหยุดก็ได้ ถ้าญาติสามารถทำแบบนี้ตั้งแต่แรก รับรองได้ว่าเมื่อมาถึงโรงพยาบาลแล้ว เขาต้องไม่ตายแน่ๆ

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดกับคนในวัยต่างๆ กัน อุบัติเหตุมักเกิดในเด็กและวัยหนุ่มสาว ซึ่งเป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโตไปเป็นกำลังของพ่อแม่และครอบครัว มาเสียชีวิตด้วยเหตุที่พอจะช่วยได้ และไม่ได้ช่วยอย่างนี้เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง

การช่วยที่ได้ผลต้องประกอบด้วย

1. รู้วิธี

2. ทำทันที

รู้วิธีช่วยนี้สำคัญมาก เพราะการช่วยที่ไม่ถูกวิธีอาจทำให้เกิดอันตรายมากขึ้นไปอีกดังในตัวอย่างรายที่ 2

ชาวบ้านตะโกนให้แบกใส่บ่า คือ ให้น้ำออกจากปอด เพื่อนๆ ก็ทำตามแทนที่น้ำจะออกจากปอด อาหารซึ่งอยู่ในกระเพาะกลับไหลออกมาและค้างอยู่ในปากและคอหอย เมื่อผู้จมน้ำหมดสติก็บ้วนออกมาไม่ได้เวลาผายปอด อาหารก็ถูกสูดเข้าไปในหลอดลม ทำให้อากาศเข้าไปไม่ได้ นอกจากนั้นน้ำย่อยจากกระเพาะทำให้หลอกลมอักเสบ เหล่านี้ช่วยให้ผู้ป่วยตายเร็วขึ้นทั้งนั้น

การทำทันที มีความสำคัญอยู่ที่ว่า เหตุบางอย่างมีช่วงเวลาที่พอช่วยได้จำกัด พ้นระยะนั้นไปแล้วโอกาสช่วยได้สำเร็จมีน้อย เพราะเซลล์อาจตายบ้าง เนื้อไตไม่ทำงานบ้าง ดังนั้น การทำเร็วได้เท่าไรดีเท่านั้น การทำเร็วไม่ได้หมายความว่า ทำอย่างลุกลี้ลุกลน แต่ให้เริ่มทำตั้งแต่โอกาสแรก ไม่มีความลังเลหรือคอยดูว่ามีคนอื่นที่เขาอยากทำบ้างหรือไม่ หรือรอให้คนบางคนมาก่อนแล้วค่อยช่วย

การไม่ทำทันทีมีสาเหตุมาจากความไม่แน่ใจมากที่สุด คือ ไม่แน่ใจว่าการกระทำของเราจะได้ผลจริงๆ จำวิธีที่ทำไม่ได้ละเอียด ไม่เคยทำและกลัวทำผิด ถ้าผู้ได้รับอันตรายเกิดตายไปจะมีคนโทษเอาได้ ซึ่งความเป็นจริง การแก้ไขง่ายมาก คือ

1. ต้องรู้จริง รู้อย่างปราศจากข้อสงสัยว่าวิธีนี้ดีที่สุด ช่วยได้จริงจังมีความสงสัยในหลักหรือวิธีการต้องถามไถ่ให้หายสงสัยเสียก่อน

2. ต้องฝึกอยู่เสมอ ยิ่งฝึกมากเท่าไรยิ่งชำนาญมากเท่านั้น และทำให้มีความมั่นใจมากขึ้นด้วย อย่างน้อยก็ควรจะได้ลองทำเองดูสักครั้งหนึ่ง

การตั้งสติของผู้ช่วยเหลือนับเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามไป ในสถานการณ์ฉุกละหุกมักมีเสียงร้องไห้คร่ำครวญ หรือเสียงตะโกนแนะนำต่างๆ ต้องตั้งสติให้ดี ไม่พรวดพราดไปตามเสียงตะโกน ไม่วอกแวก ให้ทำตามที่เราคิดว่าดีที่สุด ค่อยๆ ทำให้นิ่มนวล ไม่แรงเกินไปหรือเบาเกินไป ไม่รีบร้อนจนลุกลี้ลุกลน การตั้งสตินี้ต้องฝึก และฝึกทำบ่อยๆ จะชำนาญไปเอง

วิธีช่วยชีวิตที่ไม่ให้ตายก่อนกำหนดนี้ ไม่มีอะไรสำคัญเกินกว่าการช่วยหายใจ และช่วยให้หัวใจเต้น เพราะคนเราขาดอากาศได้ไม่นานและหัวใจหยุดเต้นก็มีชีวิตอยู่ไม่ได้เลย

เท่าที่ปรากฏพบว่า ถ้าคนปกติหยุดหายใจ หรือหายใจไม่ได้ 2-3นาที จะหมดสติ ถ้าหยุดหายใจนาน 5 นาที หัวใจจะเต้นไม่สม่ำเสมอ หยุดหายใจ 8 นาที หัวใจจะเต้นอ่อนลงมาก ถ้าเกิน 8 นาที ไปแล้ว หัวใจมักจะหยุดเต้น (รูปที่ 1)

ภาวะต่างๆ ที่มักจะทำให้คนหยุดหายใจ หรือหายใจไม่ออก ได้แก่ จมน้ำ เศษอาหาร หรือสิ่งอื่นใดหลุดลงไปในหลอดลม ทำให้อากาศที่ถูกสูดเข้าปอดเข้าไม่ได้ ถูกรัดคอ ถูกรมด้วยแก๊สพิษบางชนิด

ภาวะที่ที่ถูกรัดคอ หรือหายใจไม่ออกเนื่องจากมีสิ่งมากั้นอากาศพบได้ในอุบัติเหตุประจำวัน เช่น เครื่องฉุดระหัดดึงเอาผ้าขาวม้าที่คล้องคออยู่เข้าไปในสายพานลูกระหัดแล้วเลยรัดคอเอาไว้ด้วย คนที่ผูกผ้าผูกคอ (เน็คไท) แล้วถูกฟันเฟืองของเครื่องจักรเหนี่ยวรั้งเข้าไป เป็นต้น ในเด็กที่ชอบเล่นถุงพลาสติกใสโดยเอาครอบศีรษะ พบว่าเมื่ออากาศหมดเด็กก็พอดีหน้ามืด และหมดเรี่ยวแรงที่จะถอดเอาถุงที่ครอบศีรษะอยู่ออกได้

ภาวะเหล่านี้ ถ้าผู้พบเห็นได้ช่วยภายใน 8 นาที โดยมากมักจะฟื้นตัวง่าย เพียงแต่ช่วยให้หายใจได้เท่านั้นก็เป็นการเพียงพอแล้ว ถ้านานเกิน 8 นาทีไปแล้ว มักจะมีหัวใจหยุดเต้น การช่วยต้องช่วยทั้งการหายใจ และช่วยให้หัวใจเต้นด้วย

ในคนที่ถูกไฟฟ้าดูด แล้วหมดสติไปทันที มักจะเกิดจากหัวใจหยุดเต้น คนที่หัวใจหยุดเต้นพอจะมีข้อสังเกตได้ 3 อย่าง คือ

1. หมดสติ เรียกไม่รู้สึกตัว

2. จับชีพจรไม่ได้

3. ไม่หายใจ บางคนอาจมีอาการพะงาบ แต่ไม่ใช่การหายใจปกติ ไม่มีผลต่อการเอาออกซิเจนเข้าไปสู่

ร่างกายได้

คนที่หัวใจหยุดเต้นสมองจะขาดออกซิเจนทันที และผู้ที่หัวใจหยุดเต้น จะหมดสติภายใน 2-3 วินาที

เท่านั้น (รูปที่ 2) ในคนที่แข็งแรง ถ้าหัวใจหยุดเต้นไปเพียง 2-3 นาที แล้วได้รับการช่วยเหลือให้กลับเต้นขึ้นมาใหม่ จะฟื้นตัวได้ดีและหายเหมือนคนปกติ หัวใจที่หยุดเต้นเกินกว่า 4 นาที จะช่วยให้ฟื้นตัวยาก หัวใจที่หยุดเต้นเกิน 8 นาที มักจะมีสมองทำงานไม่ปกติ แม้จะช่วยให้ฟื้นขึ้นมาได้ เคยปรากฏว่าคนที่หัวใจหยุดเต้นไปนานเกิน 15 นาที แล้วยังสามารถช่วยให้กลับเต้นขึ้นมาอีกได้ แต่คนพวกนี้เนื้อสมองบางส่วนจะตาย ไม่สามารถมีความรู้สึกตัวได้เหมือนคนปกติ และการจะมีชีวิตอยู่ได้นาน ต้องอาศัยเครื่องช่วยชีวิตที่ยุ่งยาก ถ้าปล่อยเอาไว้จะเสียชีวิตภายในเวลาไม่นานนัก

จะเห็นได้ว่าช่วงการช่วยชีวิตให้ผลดีมีอยู่ 4 นาที เท่านั้น หลังจากนั้น โอกาสจะลดลงไปเรื่อยๆ 4 นาทีไม่เร็วจนเกินไป ถ้าเรารู้วิธีคุมสติได้และปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง จะทำได้ทันเวลาเสมอ แต่ 4 นาทีไม่ใช่เวลาที่นานพอที่จะรอให้แพทย์หรือบุคลากรทางแพทย์มาช่วยได้ อย่าว่าแต่จะนำผู้ป่วยมาโรงพยาบาลเลย แม้เรียกหาพาหนะมาขนผู้ป่วยก็ใช้เวลาเกินกว่า 4 นาทีเสียแล้ว ดังนั้น การช่วยชีวิตแบบนี้จึงจำเป็นที่ทุกคนต้องรู้ ต้องปฏิบัติได้ เพื่อจะช่วยชีวิตผู้ป่วยใกล้ตัว อันอาจจะเป็นมารดา ญาติพี่น้อง หรือผู้สนิทชิดเชื้อให้พ้นจากความตายก่อนถึงเวลาอันสมควร

การช่วยการหายใจ

การช่วยการหายใจย่อมมาก่อนเสมอ เพราะหายใจหยุดหัวใจอาจยังเต้นอยู่ แต่หัวใจหยุดเต้นจะไม่พบว่ามีการหายใจ (ทีได้ผลดี) เลย

การช่วยการหายใจที่ได้ผลดีควรทำ ดังนี้

 

 

1. ทำทางเดินหายใจให้โล่ง (รูป 3 4 5 และ 6)

2. สูดอากาศเข้าเต็มที่แล้วประกบปากของผู้ช่วยเข้ากับผู้ป่วย เป่าลมเข้าไปเต็มที่ (รูปที่ 7)

3. ถอนปากออกจากปากผู้ป่วย สูดหายใจเข้าเต็มที่แล้วเริ่มเป่าลมเข้าไปทางปากของผู้ป่วยอีก ทำเช่นนี้เรื่อยไปโดยไม่ต้องรีบร้อน

ถ้ากระทำอย่างสบายๆ ไม่ช้าละไม่เร็วจนเกินไป จะได้อัตราการหายใจประมาณ 12-15 ครั้ง ต่อนาที ซึ่งนับว่าเพียงพอแล้ว

มีปัญหาที่ถูกถามเสมอว่า การหายใจเอาลมหายใจที่ใช้แล้ว (ของผู้ที่ทำการช่วยเหลือ) เป่าลงไปในปอดผู้ป่วย จะทำให้ผู้ป่วยได้อากาศ (อ๊อกซิเจน) พอเพียงหรือ

ตอบว่าพอ เพราะลมหายใจที่ใช้แล้ว (ของผู้ที่ช่วยเหลือ) ออกซิเจนยังอยู่อีกมาก ตามปกติคนเราหายใจเอาอากาศเข้าไปเพียง 400-500 มิลลิลิตร (ลูกบาศก์เซนติเมตร หรือ ซี.ซี. เป็นหน่วยที่ใช้เรียกต่างๆ กัน แต่มีความหมายเหมือนกัน) ก็เพียงพอในอากาศที่หายใจเข้าไปนี้จะมีออกซิเจนอยู่ประมาณร้อยละ 20 (หรือ 20เปอร์เซ็นต์) อากาศที่หายใจออกมีออกซิเจนประมาณร้อยละ 16-18 หมายความว่าใช้ไปเพียง 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ยังเหลืออยู่อีกมากและการเป่าลมเข้าปอดนั้น เราสูดอากาศเต็มที่ คือประมาณ 1 ลิตร (มากกว่าปกติเท่าตัว) ดังนั้น จำนวนเปอร์เซ็นต์ของออกซิเจนที่ถูกใช้จะน้อยลงไปอีก ปริมาณของออกซิเจนสุทธิที่ผู้ป่วยได้รับเพิ่มมากกว่าปกติมาก เมื่อถัวเฉลี่ยกับการหายใจโดยการเป่า ซึ่งช้ากว่าปกติ (ปกติคนเราหายใจ 18 ถึง 20 ครั้งต่อนาที) ผู้ป่วยก็ยังได้รับออกซิเจนในประมาณที่เกินพอ

ในคนที่หยุดหายใจโดยสาเหตุที่ไม่ยืดเยื้อ เช่น ไม่ใช่โรคของระบบการหายใจโดยตรง เมื่อช่วยได้ดังนี้ มักจะหายใจเองได้ ภายในเวลา 1-2 นาทีเท่านั้น นั่นคือ เป่าปากไม่เกิน 30 ครั้ง

ตามปกติเราจะเป่าปาก 5 ครั้งแล้วคลำดูชีพจรทีหนึ่ง (ดูรูป 8) ถ้าคลำพบ ผู้ป่วยยังไม่หายใจเอง ก็เป่าต่อไปอีก ถ้าคลำไม่พบ แสดงว่า ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น ต้องช่วยการเต้นของหัวใจ และเริ่มช่วยได้เลยโดยมิชักช้า

การช่วยเหลือทำติดต่อกันไปจากการช่วยหายใจ แม้ในคนที่หัวใจหยุดเต้นโดยไม่ได้เกิดจากมีลมหายใจหยุดนำมาก่อน การช่วยครั้งแรกก็ต้องช่วยหายใจก่อนเหมือนกัน

การกระทำที่ถูกต้องควรทำ ดังนี้

1. ถ้าผู้ป่วยนอนบนเตียงสปริงหรือที่นอนที่มีความนุ่มมาก ควรจะหากระดานแข็งมารองหลัง ถ้าหากระดานแข็งมารองหลังไม่ได้ หรือไม่ได้เตรียมไว้ ไม่ควรเสียเวลาหาช่วยกันหาม หรืออุ้มผู้ป่วยลงมานอนบนพื้น (พื้นบ้าน พื้นเรือน หรือแม้แต่พื้นดินก็ได้)

2. ถ้าถอดเสื้อออกได้ง่ายให้ถอดเสื้อออก โดยการปลดกระดุมทางด้านหน้า ถ้าถอดยากใช้กำลังฉีกเลย เพื่อให้เห็นหน้าอกชัด ถ้าถอดยากฉีกยากอย่าเสียเวลาถอดเสียเวลาฉีก

3. ผู้ช่วยยืนข้างตัวผู้ป่วย (ในกรณีที่ผู้ป่วยนอนบนเตียง) หรือคุกเข่าลงข้างตัวผู้ป่วย (กรณีที่ผู้ป่วยนอนบนพื้น) ให้ระดับสะเอวของผู้ช่วยอยู่เหนือตัวผู้ป่วย เพื่อจะได้ทำได้ถนัด ถ้าเตียงสูงควรจะมีม้ารองเท้าผู้ช่วย เพื่อให้เอวผู้ช่วยสูงกว่าตัวผู้ป่วย

4. วางส้นมือข้างหนึ่งลงบนกระดูกหน้าอก กะเอาตรงกลางอก (รูป 10 11) ในคนสูงหรือรูปร่างใหญ่ ควรวางส้นมือต่ำลงมาจากจุดกึ่งกลางกระดูกหน้าอกเล็กน้อย ใช้ส้นมืออีกข้างหนึ่งวางซ้อนขึ้นไปกดกระดูกหน้าอก โดยใช้น้ำหนักตัว โน้มขึ้นมาบนตัวผู้ป่วย กะให้กระดูกหน้าอกยุบลงไปสัก 3-4 เซนติเมตร (รูป 12) แล้วปล่อยมือขึ้น กดลงไปใหม่ ผ่อนมือขึ้น ฯลฯ ดังนี้

การกดและการผ่อนควรทำให้ได้ผล นั่นคือ ให้กระดูกหน้าอกยุบลงไป 3-4 เซนติเมตร ไม่ควรลุกลี้ลุกลน ให้ทำด้วยความนิ่มนวล ไม่ควรใช้แรงกระแทก เพราะในคนอายุมาก อาจทำให้กระดูกซี่โครงหัก เกิดโรคแทรกซ้อนต่อไปได้อีก

ตั้งจังหวะการทำให้เหมาะ ถ้าทำเนิ่บๆ ตามสบายจะกดได้ราวๆ 50-60 ครั้งต่อนาที ซึ่งเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องจับเวลาให้ตรงเผงในขณะนั้น ถ้าได้รับการฝึกซ้อมมาก่อน จะรู้ได้เองว่าทำขนาดไหนจึงจะพอดี

การกดหัวใจนี้ ต้องทำควบคู่กันไปกับการช่วยหายใจ คือเป่าปากอีกครั้งหนึ่ง กดหัวใจ 3-4 ครั้ง อาจเป่าปาก 2 ครั้ง กดหัวใจ5 ครั้ง ตามอัตราใดที่เห็นว่าเหมาะสมก็ได้ในการทำคนเดียว (รูป 13) ทำอย่างหลังคือเป่าปาก 2 ครั้ง กดหัวใจ 5 ครั้ง จะเหมาะกว่า เพราะไม่ต้องเลื่อนตัวบ่อยนัก ถ้ามีสองคนช่วยกัน (รูป 14) ทำอย่างแรกจะใกล้เคียงธรรมชาติมากกว่า ทั้งนี้ควรพิจารณาดูตามความเหมาะสม

กดหน้าอกทำไม

กดหน้าอกก็เพื่อให้หัวใจซึ่งอยู่ระหว่างกระดูกหน้าอก และกระดูกสันหลังถูกบีบ เหมือนกับบีบลูกยาง เลือดจะได้ถูกฉีดออกไปเลี้ยงร่างกาย เมื่อผ่อนมือขึ้นมา เลือดก็จะไหลจากส่วนอื่นๆ ของร่างกายเข้าสู่หัวใจ และก็ด้วยเหตุนี้แหละ จึงไม่ควรกดเร็วหรือกระแทกแรงเกินไป เพราะเลือดควรจะถูกฉีดออกจากหัวใจเหมือนอย่างธรรมชาติ และควรให้เวลา ให้เลือดไหลเข้าจนเต็มหัวใจ คือหัวใจพองเต็มที่เสียก่อนแล้วจึงกดลงไปอีกครั้งหนึ่ง ถ้ากดถี่เกินไปเลือดยังไม่ทันไหลเข้าหัวใจเต็มที่ก็ถูกกดออกไปอีก จะทำให้ปริมาณเลือดที่ขับออกจากหัวใจน้อย ไม่พอเพียงที่จะไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ

ทำอยู่นานเท่าไร

คำถามนี้ฟังดูเผินๆ ก็รู้สึกว่าไม่น่าถาม เพราะใครก็คงจะตอบได้ว่าทำจนกว่าผู้ป่วยจะฟื้น หายใจได้เอง หัวใจกลับมาเต้นเอง แต่ถ้าทำไปตั้ง 5 หรือ 10 นาทีแล้ว ผู้ป่วยก็ยังไม่ฟื้นจะทำไปอีกนานเท่าไร ปัญหานี้เกิดขึ้นจริง และต้องเตรียมแก้ไขไว้แต่เนิ่นๆ เพราะมิฉะนั้นจะลำบากใจ

ถ้าได้ช่วยตามที่กล่าวมาแล้ว 2 นาที คนไข้ไม่ฟื้นขึ้นมาอย่างที่คิดต้องหาทางนำส่งโรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิก หรือไปตามหมอมาสุดแต่ว่าอย่างไหนจะสะดวก และทำได้ง่าย เพราะถ้าเป็นเล็กน้อย และทำถูกวิธี จะฟื้นภายในเวลา 2 นาที

ขณะที่ส่งมาโรงพยาบาลก็ดี คลินิกก็ดี ต้องช่วยหายใจโดยการเป่าปาก และช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงร่างกาย โดยการกดหน้าอกติดต่อกันไป โดยไม่หยุดยั้ง ในกรณีที่รอแพทย์มาช่วยก็เหมือนกัน ต้องทำติดต่อกันไป กล่าวกันว่า ถ้าทำได้ถูกวิธี แม้ผู้นั้นจะยังไม่หายใจได้เองหรือหัวใจยังไม่สามารถเต้นได้เอง ก็จะยังมีชีวิตอยู่ได้หลายชั่วโมง หรือหลายวัน มีเวลาพอที่จะไปตามแพทย์มาได้ หรือทำให้อวัยวะฟื้นตัวได้

ผู้ป่วยประเภทใดบ้างที่ไม่ควรทำการช่วยชีวิตแบบนี้ มีหลักอยู่ว่า การช่วยชีวิตแบบนี้ควรทำทุกรายที่

1. ผู้ป่วยอายุยังน้อย

2. สาเหตุที่ทำให้หัวใจหยุดเต้นหรือหยุดหายใจ เป็นสาเหตุที่แก้ไขให้หายหรือหายไปเองได้

3. หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นไม่นานจนเกินไป อันจะทำให้เมื่อฟื้นมาแล้ว จะไม่มีความรู้สึกตัว เช่น

ข้อ 1. มองเห็นได้ง่าย

ข้อ 2. บางอย่างก็เห็นได้ง่าย เช่น ถูกไฟฟ้าดูด หรือจมน้ำ บางอย่างก็เห็นได้ยาก หรือรู้ไม่ได้ เช่น คนได้รับยาพิษ หรือเป็นโรคที่รักษาไม่หาย

ข้อ 3. นั้นลำบากใจที่สุด เพราะไม่แน่ว่าเวลาที่หยุดหายใจ หรือหัวใจหยุดเต้นไปกี่นาทีกันแน่ ถ้าไม่รู้หรือไม่แน่ใจให้ช่วยไว้ก่อน ส่วนผู้ที่ไม่ควรให้การช่วยเหลือนั้น มีข้อถกเถียงกันอยู่มาก หลายคนกล่าวว่าในคนอายุมากควรปล่อยให้ไปเถิด อย่าเอาท่านไว้ทรมานเลย แต่คนแก่อีกหลายคนที่ยังอยากมีชีวิตอยู่ และอยากได้ทำคุณประโยชน์แก่มนุษย์ชาติ แม้แต่ในวันสุดท้ายของชีวิต หัวข้อต่อไปนี้ เป็นเพียงข้อเสนอที่คนส่วนใหญ่เห็นด้วย คือ

1. ผู้ที่มีอายุมาก เช่น เกิน 90 ปี และมีโรคเรื้อรังติดตัวอยู่

2. ในคนที่เป็นมะเร็ง ระยะสุดท้าย

3. ในคนที่รู้แน่ว่าเมื่อช่วยไปก็จะไม่ฟื้นตัวสมบูรณ์เหมือนคนปกติ

บทส่งท้าย

มีตัวอย่างของจริงอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อประมาณ 3-4 ปี มานี้เอง บิดาของคุณหมอเติมชัย ท่านอายุ 74 ปีแล้ว อยากจะไปเชียงใหม่ คุณหมอเติมชัย เป็นอาจารย์อาวุโสผู้หนึ่งของโรงพยาบาลศิริราช ทราบดีว่าบิดาเป็นโรคหัวใจ และได้เคยสอนวิธีช่วยบิดาให้แก่คุณแม่และพี่สาว หากมีเหตุทำให้บิดาต้องมีอันหัวใจหยุดเต้นไป ก็ให้คุณแม่เป็นผู้ผายปอด โดยวิธีเป่าลมเข้าทางปาก และพี่สาวเป็นคนกดนวดหัวใจ ได้ลองให้คุณแม่และพี่สาวซ้อมทำครั้งหนึ่งและเชื่อว่าพอทำได้ เมื่อคุณพ่อคุณแม่และพี่สาวไปเชียงใหม่พร้อมกัน ขณะที่อยู่เชียงใหม่ วันหนึ่ง คุณแม่เห็นคุณพ่อหมดสติอยู่ในห้องน้ำ จึงเรียกพี่สาวช่วยกันหามคุณพ่อออกมาในที่ที่พอจะช่วยได้ถนัด คุณแม่ลงมือผายปอดโดยการเป่าเข้าปาก และพี่สาวก็กดหัวใจเพื่อให้หัวใจเต้น ทำอยู่สักครู่หนึ่ง ซึ่งคงจะไม่เกิน 2-3 นาที คุณพ่อก็ฟื้น และคุณพ่อได้รับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลอีกเล็กน้อยก็เป็นปกติ และได้กลับเล่าให้ลูกชายฟังที่กรุงเทพฯ ท่านยังมีชีวิตอยู่ต่อมาอีกนาน ได้เป็นความอบอุ่นของคุณแม่เป็นมิ่งขวัญของลูกหลาน ได้ประกอบบุญกุศลอีกมากมายกว่าจะถึงวันสุดท้ายของท่าน

ข้อมูลสื่อ

8-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 8
ธันวาคม 2522
รศ.นพ.เกษียร ภังคานนท์