• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง

วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง

“วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง มักเป็นในเด็กก่อนวัยเรียน ที่พบบ่อยที่สุด คือ อายุ 1-2 ปี”

แดงอายุได้ 1 ขวบแล้ว กำลังน่ารัก กำลังหัดตั้งไข่และหัดพูด มารดาสังเกตว่าแดงตัวร้อนและร้องไห้โยเย กินข้าวไม่ได้ ซูบผอมลงจึงพาไปหาแพทย์ แพทย์สงสัยว่าเป็นหวัดได้ให้ยามากิน อีก 2-3 วัน ต่อมาอยู่ดีๆ แดงก็มีอาการชัก ไม่รู้สึกตัว พ่อแม่รีบพาส่งโรงพยาบาล แพทย์รีบให้ยากันชักและเจาะหลังเอาน้ำไขสันหลังมาตรวจ พบว่าแดงเป็นวัณโรคเยื่อหุ้มสมอง แดงต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลถึง 6 เดือน พ่อแม่เสียค่าใช้จ่ายไปมากมาย เสียเวลาทำมาหากิน เพราะด้วยความรักลูกต้องคอยมาเฝ้าดูตลอดเวลา ทำให้รายได้ของครอบครัวลดลงอย่างน่าใจหาย

เมื่อแดงโตขึ้น ไปเข้าโรงเรียน แดงเรียนหนังสือไม่ได้ดี พ่อของแดงพยายามทุกวิถีทางที่จะช่วยแดงที่บ้านเพื่อให้แดงเรียนได้ แต่ไม่สามารถจะช่วยได้ แดงกินข้าวจุ ดื่มน้ำมาก ตัวอ้วนใหญ่ แต่ไม่มีแรงและเรียนก็ไม่ได้ดี เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ทำงานไม่ได้ดี

ขอย้อนกลับไปเมื่อแดงเริ่มเป็นโรคนี้ใหม่ๆ หมอถามว่า ที่บ้านมีผู้ใหญ่ในบ้านมีอาการไอเรื้อรัง หรือไอเป็นเลือดบ้างไหม ปรากฏว่ามีคนไอเป็นเลือดอยู่ 2 คน ในบ้านเดียวกัน แต่ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกัน หมอบอกว่าแดงได้รับเชื้อวัณโรคจากผู้ใหญ่ พ่อแม่จึงแยกครอบครัวไปอยู่ที่อื่น แดงมีน้องอีก 2 คน ซึ่งสมบูรณ์ดีทั้งร่างกายและสมอง แต่ด้วยความปั่นป่วนในครอบครัว ทั้งในด้านเศรษฐกิจและความผิดหวังของพ่อแม่ที่มีต่อแดง ทำให้น้องๆ ขาดความเอาใจใส่จากพ่อแม่ การเรียนและชีวิตการทำงานของเด็กจึงดำเนินไปอย่างเรื่อยเฉื่อย ชีวิตของน้องๆ แดงควรจะดีกว่านี้ ถ้าพี่ไม่เป็นวัณโรคเยื่อหุ้มสมอง

นี่เป็นตัวอย่าง รายหนึ่งของเด็กที่เป็นวัณโรคเยื่อหุ้มสมองในหลายๆ รายนับไม่ถ้วนที่เกิดขึ้นกับเด็กในประเทศเรา ผมได้ติดตามผู้ป่วยรายนี้มาเป็นเวลาประมาณ 30 ปีแล้ว

วินิจฉัยโรคอย่างไร

การวินิจฉัยในระยะแรกของโรคยากมาก ถ้าย้อนกลับไปอ่านตอนแรกจะเห็นได้ว่า เด็กมีอาการคล้ายเป็นหวัดธรรมดานั่นเองแต่นานหน่อย เมื่อมีอาการชักแล้ว แสดงว่าเป็นมาก บางคนกล่าวว่าเป็นแล้วตายเสียดีกว่า เพราะเป็นภาระของครอบครัวมาก ดังได้แสดงไว้ในตัวอย่างข้างต้น ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องให้การวินิจฉัยโรคและให้การรักษาก่อนที่จะมีอาการของวัณโรคเยื่อหุ้มสมอง

เชื้อวัณโรคจะทำให้เกิดโรคขึ้นได้ในอวัยวะหลายแห่ง ที่บ่อยที่สุดก็คือ ปอด ถัดไปก็คือ ต่อมน้ำเหลืองที่คอ, ตา, เยื่อหุ้มสมอง, ไต, กระดูก ฯลฯ ในรายที่เป็นมากๆ จะกระจายไปตามกระแสเลือด ไปยังทุก ๆ ส่วนของร่างกาย ซึ่งนับว่าร้ายแรงที่สุด อาการที่พบได้บ่อย ตามลำดับมีดังนี้ คือ

1.น้ำหนักตัวลด

2.เด็กไม่สบาย กวนโยเย ไม่เล่น ไม่กินอาหาร

3.มีไข้ต่ำๆ เรื้อรัง

4.ไอเรื้อรัง เด็กอาจไม่มีอาการไอเลยก็ได้ เด็กที่เป็นวัณโรคปอดแตกต่างกับผู้ใหญ่ คือ จะไม่ไอเป็นเลือด ที่สำคัญคือ เด็กจะเป็นวัณโรคปอด หลังจากออกหัดหรือเป็นไอกรน

ฉะนั้นอาการที่สำคัญของวัณโรคในเด็ก คือ น้ำหนักตัวลด มีไข้เรื้อรัง เด็กท่าทางไม่สบายโดยเฉพาะ หลังจากออกหัดหรือเป็นไอกรน นอกจากนั้นก็เป็นอาการที่เกิดขึ้นที่อวัยวะอื่นๆ เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ตาแดงอักเสบเรื้อรัง และมีจุดขาวๆ อยู่ที่รอบตาดำที่เรียกว่า ฟลิคเทนนูล่าคอนจังติไวตีส (Phlyctenular Conjunctivitis) คอแข็ง ชัก ปัสสาวะเป็นเลือด ข้อใหญ่ๆ อักเสบ

วิธีการที่สำคัญที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคในเด็ก คือ การตรวจสอบที่เรียกว่า ทูเบอร์คิวลินเทสต์ (Tuberculin Test) ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีที่ทดสอบแล้วได้ผลบวก คือ มีผื่นนูนแดง เส้นผ่าศูนย์กลางเกิน 5 ม.ม. ถือว่ากำลังเป็นวัณโรคทุกราย ต้องให้การรักษาติดต่อกัน 1-2 ปี

ในเด็กเมื่อได้รับวัคซีนป้องกันวัณโรคแล้ว (บี.ซี.จี. วัคซีน) ถ้าเกิน 10 ม.ม. แสดงว่าเป็นวัณโรค ต้องให้การรักษาเช่นเดียวกัน แต่ถ้าอยู่ระหว่าง 5-10 ม.ม. ปฏิกิริยาอาจเกิดจาก บี.ซี.จี. หรือจากโรควัณโรคต้องใช้การวินิจฉัยอย่างอื่นช่วย เช่น เอ๊กซเรย์ เพาะเชื้อจากน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร เพาะเชื้อจากน้ำไขสันหลัง วัณโรคปอดเป็นโรคที่พบบ่อยมาก ในรถเมล์ 1 คัน จะมีผู้ป่วยเป็นวัณโรคทุกคัน พบได้สูงถึง 2% ทั้งในชนบทและในเมือง

การวินิจฉัยวัณโรคเยื่อหุ้มสมอง ค่อนข้างจะยาก เด็กมีอาการไข้ ผอมลง โยเย ไม่กินข้าว อาเจียน ซึม คอแข็ง ชัก ที่สำคัญคือ วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง มักเป็นในเด็กก่อนวัยเรียน ที่พบบ่อยที่สุดคือ อายุ 1-2 ปี ถ้าสงสัยแพทย์จะเจาะหลัง เพื่อตรวจน้ำไขสันหลังทันที

เมื่อผมเป็นแพทย์ประจำบ้านกุมารเวชศาสตร์ เมื่อได้รับโทรศัพท์กลางดึกว่าเด็กชักมา ก็ต้องเดินหลับตามาทำการเจาะหลัง เพราะถ้าเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบไม่ว่าจากเชื้ออะไรต้องให้การรักษาโดยเฉพาะ คือ ให้ยาปฏิชีวนะอย่างรีบด่วน บางคืนต้องตื่นมาเจาะหลังถึง 2-3 คน มีแพทย์อยู่ 2 คนต้องอยู่เวรคืนเว้นคืนและยังมีผู้ป่วยหนักๆ อย่างอื่น อีก เช่น ท้องเสีย ปอดบวม ฯลฯ

 

รักษาวัณโรคโดยเร็ว

เมื่อวินิจฉัยโรคได้แล้วต้องรีบรักษาโดยเร็ว ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ โปรดจำไว้ว่า วิธีเดียวที่จะหายจากโรคนี้คือ ต้องกินยารักษาวัณโรคตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ต้องกินทุกวันอย่าให้ขาด ปกติจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี ยาที่ใช้รักษา คือ ไอโซไนอาซิด, (Isoniazid ย่อว่า I.N.H. ไอ.เอน.เอช.) สเตร็ปโตมัยซิน (Streptomycin) พี.เอ.เอส. (P.A.S.) เป็นที่น่าแปลกใจทั้งๆ ที่เรามียารักษาได้อย่างชงัด และมีวัคซีนซึ่งป้องกันโรคได้ แต่โรคนี้ยังคงมีมากอยู่ในประเทศไทย เข้าใจว่าเนื่องจาก ประชาชนยังไม่เข้าใจถึงความสำคัญของการกินยาอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลานานหรือไม่มีเวลา ไม่มีเงินทอง ที่จะมารับยาจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้ป่วยเป็นวัณโรค จำเป็นต้องมารับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้หายขาดเพราะถ้าเป็นเรื้อรังอยู่ นอกจากเป็นอันตรายติดตัวท่านเองแล้ว ท่านอาจกระจายเชื้อโรคไปให้บุตรหลานของท่าน อาจจะทำให้เด็กซึ่งกำลังบริสุทธิ์น่ารักเป็นวัณโรคเยื่อหุ้มสมองไม่ตายก็พิการไปตลอดชีวิต โปรดระลึกอยู่เสมอว่าชีวิตของท่านและอาจจะครอบครัวของท่านด้วยขึ้นอยู่กับยานี้เท่านั้น การรักษาอื่นๆ เช่น อาหารดี อากาศบริสุทธิ์

การพักผ่อนถึงแม้จะมีประโยชน์ในการรักษาโรคนี้ก็ดี แต่มีความสำคัญน้อยมากเมื่อเทียบกับยาเฉพาะโรค สิ่งเหล่านี้มีประโยชน์ในสมัยก่อนที่เรายังไม่มียานี้รักษาโดยเฉพาะ แต่สมัยนี้ถ้าเรากินยารักษาวัณโรคอย่างสม่ำเสมอและถูกต้องแล้วเราสามารถไปทำงานได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องไปอยู่ในสถานพยาบาลที่มีอากาศดี อาหารดี กินวิตามิน หรือน้ำมันตับปลาอีกต่อไป บางคนเข้าใจผิดว่า ถ้าได้พักผ่อนกินอาหารดี กินวิตามินหรือน้ำมันตับปลา แล้วจะหายได้เอง อาจเป็นได้แต่โอกาสน้อยมาก

ป้องกันเมื่อไร

วัคซีนป้องกันวัณโรคหรือที่เรียกว่า บี.ซี.จี. วัคซีน (B.C.G. Vaccine) สามารถฉีดได้ตั้งแต่แรกเกิด และฉีดเพียงครั้งเดียวก็เพียงพอ รัฐบาลก็ฉีดให้ฟรี ทำไมจึงฉีดกันน้อยมากโดยเฉพาะชนบท ผมคิดว่าเนื่องจากประชาชน หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบางท่าน ไม่เข้าใจถึงความสำคัญของโรคนี้ โดยเฉพาะคือ ความร้ายแรงของวัณโรคเยื่อหุ้มสมอง ขอให้ท่านดูตัวอย่างของ ด.ช.แดง เหตุการณ์เช่นนี้เป็นเรื่องที่ร้ายแรงและทนทุกข์ทรมานยิ่งกว่าโรคอื่นๆ ทั้งหมด เพราะพิการไปจนตลอดชีวิต ในสังคมที่ต้องต่อสู้กันทุกวันนี้ ถ้าสมองพิการเสียอย่างก็ลำบากที่จะต่อสู้กับชีวิตสืบไป เป็นโปลิโอ ถึงแม้จะพิการแต่ส่วนใหญ่ ก็สมองยังดีอยู่ เท่าที่ผมได้ไปสำรวจในชนบทพบว่าเด็กได้รับการปลูกฝีและฉีดวัคซีนป้องกันอหิวาห์กันมาก โดยเฉพาะในเด็กนักเรียนเพราะเป็นการง่ายในการรวบรวมผู้ที่จะมารับการป้องกัน แต่วัณโรคเยื่อหุ้มสมองมักเป็นในเด็กวัยก่อนเรียน จำเป็นต้องได้รับการป้องกันตั้งแต่แรกเกิด หรือเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ เพื่อป้องกันวัณโรคเยื่อหุ้มสมอง วัณโรคปอดนั้นไม่เป็นไร เพราะรักษาให้หายได้โดยไม่พิการ

ผมเคยไปกับนักศึกษาแพทย์ที่ไปอยู่ในอำเภอหนึ่งในโครงการเวชศาสตร์ชุมชน ได้พบว่าในหมู่บ้านมีผู้ป่วยเป็นวัณโรคเป็นจำนวนมาก นักศึกษา จึงทำเป็นโครงการวิจัยสำรวจความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติตนของชาวบ้านเกี่ยวกับวัณโรคและได้เอา บี.ซี.จี. ไปฉีดให้อย่างทั่วถึง ได้เขียนรายงานในวารสารการแพทย์อย่างสวยงามและมีค่าอย่างยิ่ง โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือในการวิจัยที่หรูหรา หรือมีราคาแพงอย่างใด เรามีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และเทคโนโลยีสูง แต่ไม่สามารถกระจายไปยังประชาชนได้ทั่วถึง เพราะประชาชนยังไม่เข้าใจไม่มาหาเรา เราจึงจำเป็นต้องออกไปให้บริการเขา

ผมจึงขอฝากความคิดมายังประชาชนและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้ช่วยกันให้เด็กที่สาธารณสุขให้ช่วยกันให้เด็กที่คลอดออกมาทุกคนได้รับการฉีด บี.ซี.จี. เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ โดยการอธิบายให้ประชาชนเข้าใจและร่วมมือกันในการรณรงค์ป้องกันวัณโรคในโอกาสแห่งวันขึ้นปีใหม่ด้วยเถิด จะทำให้เด็กจำนวนมากไม่ต้องตายหรือพิการไปจนตลอดชีวิต และท่านจะได้บุญกุศลอย่างมหาศาลอีกด้วย

ข้อมูลสื่อ

8-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 8
ธันวาคม 2522
นพ.ปรีชา วิชิตพันธ์