• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ข้อควรระวังก่อนทำการนวด ตอนที่ 2

                              

คอ

ใต้คางเป็นบริเวณที่มีต่อมน้ำลาย ต่อมน้ำเหลืองและหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมอง ซึ่งสามารถคลำชีพจรได้ที่ใต้มุมคาง

การกดที่หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองเส้นนี้ ทำให้ความดันลดลง หน้ามืด ตาลายได้ และถ้ากดนานๆ อาจทำให้สมองขาดออกซิเจน เกิดอันตรายแก่ชีวิต จึงไม่ควรกดหรือปิดเปิดประตูลมที่หลอดเลือดนี้

การกดถูกเส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 ซึ่งทอดผ่านบริเวณนี้ ยังอาจทำให้หัวใจเต้นช้าลงได้
ส่วนล่างของคอที่บริเวณเหนือกระดูกไหปลาร้าขึ้นมา มีร่างแหของเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงแขนทั้งสองและเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกระบังลม การกดหรือนวดบริเวณนี้ อาจทำให้แขนชา หรือหายใจติดขัดได้

ที่ด้านหน้าของคอยังมีต่อมธัยรอยด์ ซึ่งไม่ควรทำการนวด เพราะทำให้อักเสบหรือเจ็บปวดมาก และเลือดออกได้ง่ายมากที่บริเวณนี้

ในกรณีที่มีความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 11 จะมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ที่ทอดลงมาจากท้ายทอย มายังกระดูกหน้าอก จะเกิดอาการคล้ายตกหมอน แต่มีอาการรุนแรงกว่าโดยที่ศีรษะจะหันไปด้านตรงกันข้ามกับกล้ามเนื้อ กล่าวคือกล้ามเนื้อทางซ้ายเกร็งแข็ง ศีรษะจะหันไปทางขวามือ การนวดจึงไม่เกิดผลมากนัก เพราะไม่ได้บรรเทาที่ต้นเหตุ

สรุปได้ว่า ที่ด้านหน้าของคอใต้คาง และฐานของคอเหนือกระดูกไหปลาร้าขึ้นมา ไม่ควรทำการนวด นอกจากเกิดข้อเสียต่างๆที่กล่าวมาแล้ว ยังมีผลทำให้ต่อมน้ำเหลืองบริเวณนี้อักเสบและบวมใหญ่ขึ้น ซึ่งยากต่อการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ

ด้านหลังของคอเป็นบริเวณที่ค่อนข้างปลอดภัย เพราะส่วนใหญ่เป็นกล้ามเนื้อ มักมีอาการปวดเมื่อยได้และเกิดการเครียด ทำให้ปวดศีรษะได้ การนวดที่ท้ายทอยลงมาถึงต้นคอ บ่า จะช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

ไม่ควรทำการดัดดึงคอ เพราะกระดูกคออาจเคลื่อนไปกดทับถูกเส้นประสาททำให้ปวดร้าวชาลงตามแขน และกล้ามเนื้อแขนเป็นอัมพาตได้
ถ้ากระดูกเคลื่อนหรือแตกแทงเข้าไปในไขสันหลัง จะทำให้เกิดอัมพาตทั้ง 2 แขนและ 2 ขา หมดหนทางที่จะทำการรักษา หรืออาจเสียชีวิตได้ทันที เพราะใกล้กับบริเวณก้านสมอง ซึ่งควบคุมการหายใจและการเต้นของหัวใจ

หัวไหล่
ปกคลุมด้วยกล้ามเนื้อที่หนามาก เช่น กล้ามเนื้อสามเหลี่ยม และกล้ามเนื้ออื่นๆ อีกหลายมัด
ทั้งนี้เนื่องจากหัวไหล่มีการเคลื่อนไหวได้มาก จึงหลุดออกง่าย ต้องอาศัยกำลังของกล้ามเนื้อช่วยยึดไว้ตลอดเวลา

                     

ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตครึ่งซีกมักมีอาการไหล่หลุดได้ง่าย การประคองหรือช่วยให้ผู้ป่วยลุกขึ้นนั่งในผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก จึงต้องดึงเฉพาะแขนข้างที่ดี และการนวดใหม่ไม่ควรทำการดัด โดยเฉพาะท่าดัดแขนไปข้างหลัง หรือหมุนแขนเข้าแล้วดัดขึ้นข้างบนซึ่งทำให้หัวไหล่หลุดได้แม้แต่ในคนปกติ

ในรายที่ไหล่ติด เนื่องจากมีการอักเสบของเส้นเอ็นที่ทอดลงมาจากบ่า มักเกิดจากการหิ้วของที่หนักเกินไป สามารถนวดที่ด้านหน้าของหัวไหล่ โดยให้มือไขว้หลังไว้ แต่ที่จุดกึ่งกลางของกล้ามเนื้อสามเหลี่ยมมีถุงน้ำหล่อเลี้ยงข้อต่ออยู่ภายใต้กล้ามเนื้อนี้ การกดบริเวณนี้ อาจทำให้ถุงน้ำอักเสบซึ่งรุนแรงมากเกิดอาการปวดบวม และร้อนอย่างเฉียบพลัน จึงไม่ควรกดที่กึ่งกลางของหัวไหล่

ในกรณีที่ผู้ป่วยยกแขนไม่ขึ้นด้วยตนเอง แต่คนอื่นยกให้ได้สูงเท่าแขนอีกข้างหนึ่งได้ เป็นอาการของกล้ามเนื้อที่ยึดข้อไหล่ฉีกขาด ไม่ควรนวดหรือดัด เพราะอาจทำให้ฉีกขาดมากขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์

รักแร้
เป็นบริเวณที่มีเส้นเลือด และปมประสาทมากมาย การกดบริเวณนี้ ต้องระมัดระวังอย่างมาก
ถ้าเกิดอาการเสียวแปลบลงที่แขน แสดงว่ากดถูกเส้นประสาท ต้องหยุดกดทันที การปิดเปิดประตูลมบริเวณนี้ ต้องทำด้วยความระมัดระวัง
 

ข้อมูลสื่อ

108-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 108
เมษายน 2531
นวดไทย
โครงการฟื้นฟูการนวดไทย