• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กินให้ได้ประโยชน์

กินให้ได้ประโยชน์


การกินอาหารให้เป็นของคนทั่วๆไปนั้น ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในฉบับที่แล้ว ฉบับนี้จะกล่าวถึงการกินให้เป็นสำหรับคนท้อง สำหรับแม่ลูกอ่อน สำหรับทารก สำหรับเด็ก

⇒ การกินให้เป็นขณะตั้งครรภ์และให้นมลูก

ในระยะที่ตั้งครรภ์ แม่ต้องกินอาหารสำหรับตนเองและสำหรับลูกในท้องด้วย จึงจำเป็นต้องกินอาหารมากขึ้น
คำแนะนำง่ายๆ คือ ให้กินอาหาร 5 หมู่ เป็นประจำทุกๆวัน และกินเพิ่ม คือไข่วันละ 2 ฟอง นมถั่วเหลืองหรือนมวัว (ถ้ามี) วันละ 1-2 แก้ว หรือกินอาหารเพิ่มพิเศษเทียบเท่ากับข้าวราดแกง 1 จาน หรือก๋วยเตี๋ยวเตรียมพิเศษ 1 ชามถ้ากินเพิ่มได้แบบนี้จะทำให้แม่และลูกแข็งแรง ไม่ต้องกลัวเรื่องการคลอดเพราะมีบริการทุกตำบลและทุกอำเภออยู่แล้ว

แม่ในชนบทยังกินอาหารไม่พอกับที่ร่างกายต้องการ จึงทำให้ลูกเกิดมามีน้ำหนักน้อยไปน้ำหนักเด็กแรกเกิดนั้นควรจะเป็น 3 กิโลกรัม ถ้ากินอาหารไม่พอจะมีน้ำหนักต่ำกว่านี้ระยะหลังคลอด แม่ที่ให้นมลูกก็ควรกินอาหารเพิ่มขึ้น เหมือนๆกับระยะที่ตั้งท้อง เพื่อให้มีน้ำนมแม่พอเพียงกับการเติบโตของลูก
ที่มีการกล่าวโทษว่า อาหารบางอย่างเป็นอาหารแสลง เป็นสาเหตุของการคลอดไม่ออก การเกิดแผลและการเกิดมีไข้หลังคลอดนั้นไม่เป็นความจริง
เพราะในทางการแพทย์เราอธิบายได้ว่าทำไมถึงคลอดไม่ได้ เด็กอยู่ในท่าขวางหรือหัวไม่ลง การเกิดมีแผลอักเสบ และมีไข้ก็มักจะเกิดเพราะขาดความสะอาดในระหว่างการคลอดแล้วมีเชื้อโรคเข้าไป ต้องรีบรักษาจึงจะหายไม่ควรไปโทษอาหารแต่อย่างใด

 

⇒ การกินอาหารให้เป็นสำหรับวัยทารก
ทารกคือวัยตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงอายุ 1 ปีวัยนี้มีความสำคัญมากเพราะมีการเติบโตเร็ว ต้องพึ่งพาอาศัยแม่และผู้เลี้ยงดู นอกจากนี้ยังเจ็บป่วยง่าย อาหารที่ต้องการนั้นจะต้องมีคุณค่าสูง มีความสะอาดด้วย การเติบโตของสมองและการพัฒนาการของทารกก็เป็นไปอย่างรวดเร็ว อาหารที่เหมาะสม คือนมแม่ ซึ่งจะพอเพียงต่อการเจริญเติบโตของทารกเป็นอย่างดีไปจนถึงอายุ 6 เดือน

แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองนั้นถือได้ว่า ได้ให้มรดกที่ดีที่สุดแก่ลูกในวัยนี้ และควรจะให้ลูกได้กินนมแม่ต่อไปถึง 18 เดือนนมแม่นอกจากให้อาหารพอเพียงกับลูกแล้ว ยังให้ภูมิต้านทานโรคต่างๆด้วย เช่น ภูมิต้านทานโรคท้องเสีย โรคหวัด จึงทำให้เด็กไม่เจ็บป่วย นอกจากนี้ขณะที่ให้ลูกกินนมแม่นั้นก็เป็นการสร้างความสัมพันธ์อย่างล้ำลึกระหว่างแม่กับลูก เพราะนมแม่ทุกหยดนั้นกลั่นจากเลือดของแม่โดยแท้
เมื่อถึงวัยอันควรก็ควรให้อาหารเสริมที่เหมาะสมดังนี้
อายุแรกเกิด-3 เดือน ให้กินนมแม่อย่างเดียว
อายุครบ 3 เดือน เริ่มให้กล้วยสุกครูด ข้าวบดใส่น้ำแกงจืด
อายุครบ 4 เดือน เริ่มให้ตับบด ไข่แดงสุก หรือถั่วต้มเปื่อย
อายุครบ 5 เดือน เริ่มให้ปลาและผักใบเขียวบด หรือฟักทอง
อายุครบ 6 เดือน เริ่มให้อาหาร 1 มื้อ (ข้าว ปลาหรือไข่) และให้กล้วยหรือมะละกอสุกเป็นอาหารว่าง
อายุครบ 7 เดือน เริ่มให้เนื้อสัตว์บด และให้ไข่ทั้งฟองได้
อายุครบ 8-9 เดือน เริ่มให้อาหาร 2 มื้อ
อายุครบ 10-12 เดือน เริ่มให้อาหาร 3 มื้อ

ในระยะที่ทารกได้อาหารเสริมดังกล่าวนั้น ควรให้นมแม่ไปด้วย และต้องระวังในเรื่องความสะอาดให้มาก เพราะถ้าเตรียมหรือให้อาหารไม่สะอาด ก็จะเกิดโรคท้องเสียได้ปัญหาที่พบกันมากในชนบทขณะนี้คือ ให้อาหารเสริมเร็วไป เช่น อายุ 2-3 วันก็ให้กินน้ำข้าวย้ำหรือกล้วย ทำให้เกิดอาการแน่นท้อง จุกเสียดท้อง บางรายให้มากๆ เกิดกระเพาะแตกก็มีนอกจากนี้การให้อาหารที่ไม่สะอาดมักจะทำให้เกิดเป็นโรคท้องเสียกันมากจนต้องปลอบใจกันไปว่า “เด็กท้องเสียเพราะยืดตัว” จริงๆต้องพูดว่า เด็กท้องเสียเพราะได้อาหารสกปรกถ้าทารกได้นมแม่และอาหารเสริมพอก็จะเติบโตดี
มีน้ำหนักเป็น 6 กิโลกรัม (2 เท่าแรกเกิด) เมื่ออายุ 5 เดือน
เป็น 9 กิโลกรัม (3 เท่าแรกเกิด) เมื่ออายุ 1 ปี
และเป็น 12 กิโลกรัม (4 เท่าแรกเกิด) เมื่ออายุ 2 ปี

 

⇒ การกินอาหารให้เป็นสำหรับเด็กวัยต่อมา
เมื่อเด็กโตขึ้นมาพ้นวัยทารกแล้ว ก็ควรที่จะได้รับอาหาร 5 หมู่เป็นประจำ และควรได้รับนมแม่ต่อมาจนถึง   1 ½ - 2 ปี จากนั้นก็อาจให้ดื่มนมถั่วเหลืองหรือนมวัวสดเป็นประจำทุกๆวัน วันละ 1-2 แก้ว
นมถั่วเหลืองนั้นอาจเตรียมได้ในระดับชุมชน และนมวัวนั้นหากมีการเลี้ยงโคนมก็อาจเก็บเก็บนมให้เด็กๆวันละ 1-2 แก้ว โดยต้มให้สุกเพื่อเป็นการทำลายเชื้อโรคก่อนให้เด็กดื่มเด็กๆมักจะมีนิสัยชอบเล่นมากกว่าชอบกิน พ่อแม่ที่เลี้ยงควร เอาใจใส่ให้เด็กได้รับอาหาร 5 หมู่ และให้ได้อาหารที่สะอาดเป็นประจำ

อาหารที่ด้อยปะโยชน์ เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม ลูกกวาด ขนมขบเคี้ยวทอฟฟี่ต่างๆ ควรจะหลีกเลี่ยง เพราะนอกจากจะเสียเงินโดยได้ประโยชน์ไม่มากนัก ยังทำให้เด็กเบื่ออาหารและเกิดฟันผุได้อีกด้วย
เมื่อเด็กโตขึ้นจนเป็นผู้ใหญ่ก็ให้กินอาหารเหมือนคนทั่วๆไป ดังได้กล่าวมาแล้วใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 86

 


 

ข้อมูลสื่อ

87-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 87
กรกฎาคม 2529
กินถูก...ถูก
ศ.นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์