• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฟังเตียง

ฟังเตียง

 

 

คำว่า “เตียง” เป็นภาษาที่หมอนิยมใช้กันบ่อยๆ

เตียงในที่นี้หมายถึง เตียงผู้ป่วยใน, พูดง่ายๆ ก็คือ เตียงที่ให้ผู้ป่วยนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
โดยทั่วไป 1 เตียง รับผู้ป่วยได้ 1 คน เช่น รพ. 30 เตียงก็สามารถรับผู้ป่วยในได้อย่างเต็มที่ 30 คน
เรานิยมบอกขนาดของโรงพยาบาลว่า ใหญ่เล็กขนาดไหน หรือมีความสามารถแค่ไหนด้วยจำนวนเตียงของโรงพยาบาลนั้นๆ เช่น รพ.ขนาด 10 เตียง (รพ.ที่มีเตียงรับผู้ป่วยจำนวน 10 เตียง, หรือ 10 คน), รพ.ขนาด 30 เตียง, 60 เตียง, 150 เตียง, 200 เตียง, 500 เตียง, 1,000 เตียง เป็นต้น

คุณผู้อ่านคงเดาได้ว่า รพ. 60 เตียง ย่อมมีแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ และขีดความสามารถมากกว่า รพ. 10 เตียง, และ รพ. 500 เตียง ย่อมมีขีดความสามารถมากกว่า รพ. 150 เตียง เนื่องเพราะเตียงของ รพ.ในแต่ละแห่งมีจำกัดเท่ากับขนาดของรพ.นั้นๆ จึงมักมีปัญหาเรื่องเตียงไม่พอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นรพ.ที่มีคนนิยมมากๆ
ผู้ป่วยหนักที่จำเป็นต้องรับไว้รักษาใน รพ. ถ้าหากเจอปัญหาว่ามีผู้ป่วยในนอนเต็มเตียงของ รพ.อยู่ก่อนแล้ว ก็มักจะได้รับการขอร้องให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น ด้วยเหตุผลว่า “เตียงเต็ม” หรือ “ไม่มีเตียง” (ถ้าญาติและผู้ป่วยไม่เข้าใจก็มักว่าหมอช่างใจไม้ไส้ระกำ บางคนพาลด่าว่าเป็น “โรงฆ่าสัตว์” ไปเสียเลยก็มี)

คุณผู้อ่านอาจจะบอกว่าก็หาเตียงเสริมเช่นเดียวกับเก้าอี้เสริมของโรงภาพยนตร์ไม่ได้หรือ?
ข้อนี้ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ (เช่น เป็นโรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกลหรือการคมนาคมไม่สะดวก) ทางโรงพยาบาลจะไม่เสริมเตียงให้, เพราะมันไม่ใช่เพียงแต่เพิ่มเตียงให้ผู้ป่วยนอนเท่านั้น มันยังต้องเพิ่มคนและอุปกรณ์ในการดูแลรักษาพยาบาลอีกด้วย ซึ่งเมื่อมีอยู่จำกัดตามขนาดของโรงพยาบาล การเพิ่มผู้ป่วยเกินขีดที่วางไว้ก็อาจทำให้คุณภาพของการรักษาพยาบาลลดลงได้

คุณผู้อ่านอาจเคยพาญาติไปตรวจที่รพ. หมอวินิจฉัยว่า จำเป็นต้องรับไว้ผ่าตัด แต่บังเอิญเป็นโรคที่รอได้ เช่น ไส้เลื่อน ริดสีดวงทวาร เส้นเลือดขอดที่เท้า ตาเป็นต้อกระจก ต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น หมอมักจะให้ใบนัดฟังเตียงแก่คุณซึ่งอาจจะมีข้อความในทำนองที่ว่า “วันนัดกรุณายื่นใบนัดนี้เพื่อฟังเตียง ก่อน 09.30 น. มิฉะนั้นถือว่าสละสิทธิ์”
ก็อย่าประหลาดใจว่า เตียงมันพูดได้หรือไง หมอจึงนัดมาให้ฟัง มันหมายถึงว่า “ให้มาฟังหรือตรวจสอบดูว่ามีเตียงว่างที่จะรับผู้ป่วยหรือยัง!” บางคนอาจถึงเทียวไปเทียวมาฟังเตียงหลายเที่ยวกว่าจะได้เตียงนอนในโรงพยาบาลคุณผู้อ่านอาจถามว่า ทางรพ.จะจัดระบบการนัดฟังเตียงให้เกิดความสะดวกแก่ผู้ป่วยมากขึ้น เช่น ให้โทรศัพท์มาถาม แทนการเทียวไปเทียวมา ได้ไหม?
ข้อนี้น่าคิด ก็ขอฝากถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกแห่งเลยครับ

 

ข้อมูลสื่อ

88-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 88
สิงหาคม 2529
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช