• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฟ้าทะลายโจร

ฟ้าทะลายโจร

ชื่ออื่น

น้ำลายพังพอน (กรุงเทพฯ) ชวงซิมน้อย, เจ๊กเกี้ยงฮี่, โข่วเซ่า (จีน)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Andrographis paniculate Nees วงศ์ Acanthaceae

ลักษณะต้น

เป็นไม้พุ่มเตี้ยสูง 40-80 ซ.ม. ลำต้นลักษณะสี่เหลี่ยม แตกกิ่งก้านสาขามาก ทั้งต้นมีรสขมมาก ใบออกตรงข้ามกัน ตัวใบยาวรีปลายใบเรียวแหลม ยาว 2-8 ซ.ม. กว้าง 1-3 ซ.ม. ขอบใบมีรอยหยักเล็กน้อยเกือบเรียบ ก้านใบสั้นจนแทบจะเรียกว่า ไม่มีก้านใบ ดอกออกจากซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงมีสีเขียว ยาวประมาณ 3 ม.ม. ส่วนโคนติดกันปลายแยกเป็น 5 กลีบเรียวแหลมกลีบดอกติดกันเป็นหลอดสีขาว ปลายแยกเป็น 2 ซีกใหญ่ๆ คล้ายปาก ซีกบนขนาดใหญ่กว่าซีกล่าง

ส่วนปลายยังแบ่งเป็นกลีบเล็กๆ 3 กลีบ มีรอยกระสีม่วง ซีกล่างมีขนาดเล็ก ส่วนปลายมีรอยแยกเป็น 2 กลีบสีขาว เกสรตัวผู้มี 2 อัน ติดกับกลีบดอก ก้านเกสรเป็นเส้นสีขาวบางๆ ยื่นออกมา 2 เส้น มีขนนุ่มๆ ปกคลุมอยู่ ปลายมีอับเรณูสีม่วงดำ ก้านเกสรตัวเมียเป็นเส้นยาวๆ บางๆ สีแดงอมาแตะที่อับเรณูของเกสรตัวผู้ รังไข่มี 1 อัน ผลเป็นฝักทรงกระบอกแบนมีร่องลึกตรงกลางด้านแบบทั้งสองด้าน ฝักยาวประมาณ 1.5 ซ.ม. กว้าง 0.5 ซ.ม. ฝักแก่แล้วแตกตามรอยข้าง ฝักแบ่งเป็น 2 ซีก โดยมีร่องลึกนั้นอยู่ที่ซีกละร่อง เมล็ดสีส้มแดงแข็ง ดูค่อนข้างโปร่งแสง ฝักหนึ่งมีเมล็ดหลายเมล็ด ต้นนี้เป็นไม้ยาที่ชาวจีนนำเข้ามาปลูก มักพบตามบ้านที่ปลูกยาจีน และแพร่พันธุ์ไป อาจพบตามป่าริมถนน หรือใกล้ๆ บ้านเรือนคนได้

การเก็บมาใช้

ใช้เป็นยาได้ทั้งต้น เก็บตอนเริ่มออกดอก เก็บใบล้างสะอาดตากแห้งเก็บไว้ใช้ พอถึงฤดูหนาวตัดทั้งต้นล้างสะอาดหั่นเป็นท่อนตากแห้งเก็บไว้ใช้ หรืออาจใช้สดก็ได้

สรรพคุณ

ทั้งต้น รสขม เย็นจัด ไม่มีพิษ ใช้ดับร้อน แก้พิษ บวม บิดจากแบคทีเรียอย่างเฉียบพลัน กระเพาะอักเสบ ลำไส้อักเสบ ปอดอักเสบ มีหนองในปอด วัณโรค คอเจ็บ ต่อมทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ ความดันโลหิตสูงจนมีอาการปรากฏให้เห็น แผลมีหนองบวมอักเสบ แผลถูกน้ำร้อนหรือไฟลวก งูพิษกัด คางทูม หูชั้นกลางอักเสบและปากอักเสบ

วิธีและปริมาณที่ใช้

ใช้ต้นแห้งหนัก 10-15 กรัม บดเป็นผง หรือต้มน้ำกิน ใช้ภายนอก ต้มคั้นเอาน้ำชะล้างหรือบดเป็นผงผสมทา

ตำรับยา

1. แก้บิดจากแบคทีเรีย (บิดไม่มีตัว หรือบิดชิเกลล่า) ลำไส้อักเสบ ใช้ใบสด 10-15 กรัม ต้มน้ำผสมน้ำผึ้งกิน

2. แก้บิดจากแบคทีเรียอย่างเฉียบพลัน ลำไส้อักเสบ กระเพาะอักเสบ ใช้ต้นแห้ง 10-15 กรัม ต้มน้ำ กินวันละชุด แบ่งกินเป็น 2 ครั้ง เช้า-เย็น

3. แก้หวัด มีไข้ ปวดหัว ท้องเสีย ใช้ต้นแห้งบดเป็นผง ผสมน้ำสุก กินครั้งละ 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง

4. แก้ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ ใช้ต้นแห้งบดเป็นผงผสมน้ำสุก กินครั้งละ 3 กรัม วันละ 3-4 ครั้ง

5. แก้หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ใช้ใบแห้ง 10 กรัม ต้มน้ำกิน

6. แก้วัณโรคปอดในระยะเริ่มแรก

6.1 ใช้ใบแห้งบกเป็นผงผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นเม็ดขนาดเมล็ดถั่วเหลือง กินครั้งละ 15-30 เม็ด วันละ 2-3 ครั้ง กับน้ำสุก

6.2 ใช้ต้นแห้ง 15 กรัม ใบจับไต่กงเล้า (Mahonia bealei (Fort) Carr) 15 กรัม เถาฮงเสี่ยโกยฮ๊วย (Milletia reticulate Benth) 30 กรัม ต้มน้ำ แบ่งให้กินเป็น 2 ครั้ง วันละ 1 ชุด ติดต่อกัน 15-30 วัน เป็น 1 รอบ ของการรักษา

7. แก้ไอกรน ใช้ใบ 3 ใบ ชงน้ำ ผสมน้ำผึ้งกินวันละ 3 ครั้ง

8. แก้ความดันโลหิตสูง จนมีอาการปรากฏให้เห็น ใช้ใบ 5-7 ใบ ชงน้ำกินวันละหลายๆ ครั้ง

9. แก้ปากอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ใช้ใบแห้งบดเป็นผงหนัก 3-5 กรัม ผสมน้ำผึ้งกินร่วมกับน้ำ

10. แก้คออักเสบ ใช้ต้นสดเคี้ยวกลืนช้าๆ ให้ฆ่าเชื้อที่บริเวณลำคอ

11. แก้ไส้ติ่งอักเสบ ใช้ต้นแห้ง 25 กรัม กับดอกเบญจมาศสวน (Chrysanthemum indicum L.) 30 กรัม ต้มน้ำกินวันละ 2 ชุด

12. แก้จมูกอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ปอดฟัน ใช้ต้นแห้ง 10-15 กรัม ต้มน้ำกินหรือใช้ต้นสดตำคั้นเอาน้ำหยอดหูอีกด้วย

13. แก้โรคหนองใน ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ใช้ใบสด 10-15 ใบ ตำผสมน้ำผึ้งชงน้ำกิน

14. แก้บาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ใช้ใบแห้งบดเป็นผงละเอียดผสมน้ำมันพืชทา หรือใช้ใบสดต้ม เอาน้ำที่ต้มเย็นแล้วมาชะล้างบาดแผล

15. แก้พิษงูกัด

15.1 ใช้ใบสดตำ เอาไปอังเหนือควันไฟจนติดน้ำมันจากควันไฟ เอามาพอกที่ปากแผล หรือใช้ใบแห้ง 10-15 กรัม ต้มน้ำกิน

15.2 ใช้ต้นสด 30 กรัม ร่วมกับ Paris polyphylla 10 กรัม ฮั่งชิ้งเช่า (Scutellaria indica L.) เลือกเอาแบบใบแคบ 30 กรัม จั่วจิเช่า ชนิดดอกขาว (Oldenlandia diffusa Roxb) 30 กรัม ต้มน้ำกินวันละ 1-2 ชุด

16. แก้ผด ผื่นคัน ใช้ผงยานี้ 30 กรัม ผสมน้ำมันพืชลงไป จนมีปริมาตร 100 ม.ล. ใช้ทาบริเวณที่เป็น

ตำรับยาสัตว์

1. แก้สัตว์เลี้ยงเป็นบิด ลำไส้อักเสบ ลูกหมูถ่ายเป็นมูก สัตว์ใหญ่ใช้ต้นขนาด 60-90 กรัม สัตว์ขนาดกลางใช้ 12-18 กรัม สัตว์เล็กใช้ 1.6-2.5 กรัม ต้มน้ำกรอกให้กิน หรือบดเป็นผงผสมน้ำ กรอกให้กิน

2. แก้ขี้ขาวในเป็ด โดยใช้ต้นสด ขยี้ปั้นเป็นเม็ดพอกรอกเข้าปากเป็ดได้ ให้กินวันละ 2-3 เม็ด

3. แก้สัตว์เลี้ยงเป็นวัณโรค ใช้ต้นสด จับตั่วกงเล้า (Mahonia bealei (Fort) Carr.) อย่างละ 12 กรัม เปลือกส้ม 30 กรัม ต้มน้ำให้กินครั้งเดียวหมด

รายงานผลทางคลินิกในประเทศจีน

1. แก้โรคติดเชื้อทั้งหลาย และแก้อักเสบ โดยใช้ยานี้แก้โรคติดเชื้อหลายชนิด เช่น หวัดที่มีการติดเชื้อ ฝีพุพอง แผลมีหนอง การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ต่อมทอนซิลอักเสบทั้งเรื้อรังและเฉียบพลัน บิดจากแบคทีเรียอย่างเฉียบพลัน กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบอย่างเฉียบพลัน โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ มดลูกอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ เหงือกฟันอักเสบ โดยใช้วิธีการรักษาต่างๆ กันไปตามความเหมาะสม

ยาเตรียม ปัจจุบันในจีนมีทำในรูปของยาฉีด ยาน้ำและยาเม็ด ต้องมีการวิเคราะห์ส่วนประกอบของพืชก่อน เพราะปลูกต่างที่กันก็อาจมีสารประกอบต่างกัน โดยทั่วไป ใช้แก้โรคติดเชื้ออักเสบทั้งหลาย ใช้ทั้งต้นแห้งหนัก 6-10 กรัม ต้มน้ำกิน วันละ 1 ชุด หรือทำเป็นยาเม็ด (ยา 1 เม็ด คิดเทียบให้มียาสดหนัก 1 กรัม) กินครั้งละ 4-8 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง พวกผิวหนังมีแผลติดเชื้อมีหนองใช้ใบแห้งบดเป็นผง แช่น้ำในอัตราส่วนยาต่อน้ำ= 1 ต่อ 4 เอาผ้าพันแผลชุบน้ำยานี้ไปปิดแผล หูชั้นกลางอักเสบ ก็คั้นเอาน้ำ หรือทำเป็นยาน้ำมาหยอดหูที่เป็น และกินยาเม็ดควบคู่ไปด้วย

2. ใช้ฆ่าพยาธิใบไม้ ใช้สารที่สกัดจากใบ ทำเป็นยาเม็ดหนักเม็ดละ 0.05 กรัม แต่ละเม็ดมีสารสกัดจากต้นนี้ 20 ม.ก. ผู้ใหญ่ให้กินยานี้ครั้งละ 0.1-0.2 กรัม (2-4 เม็ด) วันละ 4-6 ครั้ง จากการรักษาคนไข้ 76 ราย หาย 72 ราย ไม่เห็นผล 4 ราย โดยทั่วไปจากการรักษาใน 3 วัน จะเห็นผลอาการลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในระหว่างการรักษาไม่ปรากฏอาการเป็นพิษแต่อย่างไร นอกจากนั้นอาจใช้ยาเม็ดนี้กินป้องกันพยาธิเหล่านี้โดยผู้ใหญ่ให้กินวันละ 3 กรัม (คิดจากน้ำหนักยาแห้ง) อาจกินครั้งเดียวหรือแบ่งกินเป็น 2 ครั้ง อาทิตย์ละ 3 วัน ติดต่อกัน 5 อาทิตย์ จากการทดลองให้กิน 200 ราย ได้ผลในการป้องกันอย่างแน่นอน ในระหว่างการกินยานี้อาจมีอาการปวดท้องเล็กน้อย ท้องเสีย ปวดเอว เวียนหัว ปวดหัว โดยทั่วไปอาการเหล่านี้จะหายไปเองใน 1-3 วัน อาการข้างเคียงนี้ยังไม่ทราบว่าเกิดจากยาหรือเหตุอื่นใดกันแน่

3. แก้ตับอักเสบ เป็นดีซ่านอย่างเฉียบพลัน ใช้ใบทำเป็นยาฉีดความเข้มข้น 100 % ฉีดเข้ากล้ามเนื้อวันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 2 ม.ล. ขณะเดียวกันก็กินผงใบแห้งที่ทำเป็นยาเม็ดควบไปด้วย ยาเม็ดหนักเม็ดละ 0.2 กรัม กินครั้งละ 2-4 เม็ด วันละ 3 ครั้ง คนไข้บางรายก็ให้วิตามินบีหนึ่ง และวิตามินซีเพิ่มไปอีกด้วย จากการรักษาคนไข้ 32 ราย ระยะเวลาในการรักษา 24-73 วัน คนไข้ที่อยู่คลีนิค หายขาดหมดมี 10 ราย (คิดเป็น 31.2 % ของคนไข้ที่มารักษา) ได้ผลอาการดีขึ้นอย่างเด่นชัด 15 ราย (46.7%) อาการดีขึ้น 6 ราย (18.7 %) ไม่ได้ผล 1 ราย (3.3%) หลังจากให้ยานี้แล้ว อาการไข้จะหายไปภายใน 2 อาทิตย์ อาการตัวเหลืองหายไปภายใน 4-24 วัน ตับที่โตจะคืนสู่สภาพปกติ 90.6% และตับจะกลับทำงานเป็นปกติอีก 31.2 %

4. แก้ปอดอักเสบและทางเดินหายใจอักเสบ ใช้ยาสกัดจากต้นนี้ฉีดเข้ากล้าม ผู้ใหญ่ฉีดวันละ 2-4 ครั้ง เด็กเป็นโรคปอดอักเสบและหลอดลมอักเสบในระยะเริ่มแรก ใช้ฉีดเข้ากล้าม เด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไป ฉีด 2 ม.ล. ต่ำกว่า 1 ขวบลงมา ฉีด 1 ม.ล. วันละ 2 ครั้ง ระยะเวลาในการรักษานานที่สุด 14 วัน สั้นที่สุด 3 วัน มีรายงานผลทางคลินิกว่า ใช้ยานี้รักษาโรคเกี่ยวกับปอดได้หายขาดหมด บางแห่งรายงานว่าแก้ปอดอักเสบที่มีอาการหอบและติดต่อได้ 107 ราย คนไข้มีอายุ 1-9 ขวบ แต่ส่วนมากหลังจากฉีดยาแล้ว 2-4 ชั่วโมง อาการหอบหืดจะลดลง อุณหภูมิของร่างกายจะกลับสู่ระดับปกติในเวลาโดยเฉลี่ย 4 วัน สำหรับอาการที่ปอดมีเสียงหืดหรือครืดคราด เนื่องจากความชื้นจะลดลงภายใน 3-11 วัน ในการรักษาต้องดูอาการของคนไข้ประกอบการรักษาด้วย อาจเพิ่มเตตร้าซัยคลีน หรือ อะมิโนฟิลลิน ประกอบไปด้วยก็ได้ ส่วนมากมักให้ยาแก้ไอน้ำเชื่อมที่มี Promethazine ร่วมกับฉีดยาสกัดนี้ขนาด 2 ม.ล. เข้าตามจุดเส้นสำคัญ (ยาฉีด 2 ม.ล. นี้มีเนื้อยาสกัดคิดเทียบเท่าเนื้อยานี้ 1 กรัม ดอกสายน้ำผึ้ง 0.5 กรัม พลูคาว 0.5 กรัม) ในการฉีดสกัดนี้อาจมีอาการข้างเคียงที่ขึ้นกับคนไข้แต่ละคนไป บางคนอาจมีอาการบวมตามจุดเส้นสำคัญที่ฉีด นอกจากนั้นไม่มีอาการข้างเคียงอื่นใด

5. แก้เด็กที่ระบบย่อยอาหารไม่ดี เป็นบิดจากแบคทีเรียใช้สารสกัดเข้มข้น 20 % ฉีดตามจุดปักเข็มวันละครั้ง เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ฉีด 2 ม.ล. อายุ 2-7 ขวบใช้ 3 ม.ล. 7ขวบขึ้นไปใช้ 4 ม.ล. จุดปักเข็มที่ฉีดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ “จ๊กซำลี่” กับ “เสียงกื่อฮือ” ฉีดสลับกันวันละกลุ่ม แต่ละกลุ่มฉีดวันละ 0.5 ม.ล. จากคนไข้ที่ระบบการย่อยไม่ดี 34 ราย เป็นบิดจากแบคทีเรีย 52 ราย โดยทั่วไปหลังจากฉีดยาแล้ว 1 ครั้ง จะเห็นผล พวกเป็นบิดจากแบคทีเรียจะหายภายใน 2-4 วัน อาจหายขาดเลย หรือมีอาการดีขึ้น เช่นกัน

6. เด็กเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ในระยะเริ่มแรกเด็กอายุ 2-4 ขวบ ให้กินยานี้แห้งหนัก 6.4 กรัม ร่วมกับ เกากัวฉ่าย (Dicliptera chinensis (L) Nees.) แห้งหนัก 6.4 กรัม ต้มน้ำผสมน้ำตาลทราบกิน เด็กอายุ 5-10 ขวบ ก็เพิ่มปริมาณขึ้นตามส่วน จากคนไข้ 16 ราย หลังจากได้กินยาแล้วภายใน 5 วัน อาการไข้ลดลง อาการทั่วไปดีขึ้น และไม่มีผลข้างเคียงอะไร

7. แก้โรคเรื้อน จากการรักษาใช้ยานี้อย่างเดียว ในคนไข้ 32 ราย ลักษณะมีเนื้องอกแบบไม่เป็นพิษ 19 ราย มีก้อนเนื้องอก 7 ราย แบบมีเป็นเส้นๆ อีก 6 ราย ให้กินยาเม็ดนี้ เริ่มแรกให้กินวันละ 16-24 เม็ด (1 เม็ดมีเนื้อยาเทียบเท่ายาสด 1 กรัม) ในระยะต่อมาให้กินวันละ 24-48 เม็ด แบ่งให้กิน 4 ครั้ง ตามลักษณะอาการของคนไข้ และยาฉีดสกัดนี้ 0.5 กรัม หรือให้พวกเกลือโปแตสเซียม 320 ม.ก. ฉีดวันละ 1 ครั้ง ได้ผลหาย 5 ราย มีอาการดีขึ้นอย่างเด่นชัด 16 ราย อาการดีขึ้น 8 ราย หลังจากคนไข้กินยานี้แล้วจะรู้สึกอยากอาหาร น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ร่างกายแข็งแรงขึ้น และไม่ปรากฏอาการเป็นพิษอย่างไร

นอกจากนั้นยังมีคนไข้อีก 53 ราย ที่รักษาร่วมกับยาพวกไดเฟนนีลซัลโฟน จะได้ผลดีขึ้นอย่างเด่นชัด มีอีกรายงานว่าคนไข้ 12 ราย เป็นแบบก้อนเนื้องงอก 11 ราย ใช้การรักษาด้วยยานี้ ร่วมกับยาไดอะมิโนไดเฟนฟีลซัลโฟน ได้ผล อาการดีขึ้นอย่างเด่นชัด 4 ราย อาการดีขึ้น 6 ราย ไม่เห็นผล 2 ราย ขนาดที่ใช้ฉีดเข้ากล้าม 4-5 ม.ล. และใช้กินวันละ 6-24 เม็ด (เม็ดหนึ่งหนัก 0.3 กรัม)

8. แก้งูพิษกัด ใช้ต้นสด 15 กรัม ร่วมกับฆ้องสามย่าน (Kalanchoe laciniata Dc.) สดหนัก 5 กรัม เอาไปตำชงด้วยเหล้าที่หมักจากข้าวกินครั้งเดียวหมด หรือใช้ต้นสดหั่นเป็นฝอยแช่เหล้าหมักจากข้าว 1-2 อาทิตย์ รินมากิน จากการรักษางูพิษกัด 32 รายได้ผลดี

9. แก้ผิวหนังอักเสบ เกิดจากการแพ้ เป็นผดผื่นคัน เกิดจากความชื้นให้กินยาเม็ดวันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 3-4 เม็ด ติดต่อกัน 7 วัน เป็น 1 รอบ ของการรักษา ถ้ายังไม่หายก็รักษาได้ 2-3 รอบ พิจารณาดูให้เหมาะสมกับสุขภาพของคนไข้ และบริเวณที่เป็น จากการรักษาคนไข้ 24 ราย มีเป็นแบบผิวหนังอักเสบลามได้ 7 ราย และแบบไม่ลาม 9 ราย พวกที่เป็นแบบเฉียบพลันและผดผื่นคันเกิดจากความชื้น 8 ราย จากการรักษา 6-8 เดือน หายขาด 4 ราย อาการดีขึ้นอย่างเด่นชัด 15 ราย อาการดีขึ้น 5 ราย

จากสถิติจากเขตต่างๆ ของจีนว่า หลังจากฉีดยานี้เข้าไปแล้ว มีอาการแพ้ 10 ราย ในรายที่แพ้รุนแรง มีอาการจุกแน่นหน้าอก อึดอัด ไม่สบายใจ หน้าซีด ปากเขียว มีเหงื่อเย็นๆ ออก ชีพจรเต้นช้าลง ความดันโลหิตลดลง รายที่แพ้น้อยมีอาการปวดท้อง อาเจียน หอบ ผิวหนังเป็นผื่นคัน เวียนศีรษะ อาจเกิดอาการแพ้ทันทีทันใด หรือเกิดหลังจากฉีดยาแล้ว 5-20 นาที จากการแก้ไขโดยทั่วไป 5-45 นาที อาการจะดีขึ้น มีบางรายใช้เวลาถึง 24 ชั่วโมง จึงกลับสู่สภาพปกติ

ผลทางเภสัชวิทยา

1. สารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) จากต้นนี้ จากการทดลองทางคลินิก มีผลในการฆ่าเชื้อบิดได้ดีกว่าคลอแรมเฟนิคอล และฟูราโซลิโดน (Furazolidone) นอกจากนั้นยังไม่มีผลข้างเคียงและอาการเป็นพิษอีกด้วย จากการทดลองในห้องทดลองใช้ผลึกสารที่แยกออกมาจากต้นนี้จะมีฤทธิ์ฆ่าพยาธิ (พวกที่มีวงจรชีวิตช่วงหนึ่งอยู่ในพวกหอย) และน้ำสกัดยังมีผลในการแก้ปอดอักเสบเนื่องจากพวกแบคทีเรียตัวกลม (Coccus) และเชื้อกรัมบวกด้วย

2. ฤทธิ์อื่นๆ น้ำสกัดและผลึกสารที่ได้จากต้นนี้ ไม่มีผลเด่นชัดต่อหัวใจกระต่ายที่แยกออกจากตัวแต่ส่วนที่สกัดด้วยน้ำ มีผลทำให้การไหลเวียนของโลหิตที่สะโพกของหนูขยายตัวไหลเวียนดีขึ้น ในการทดลองฉีดเข้าหลอดเลือดดำของสุนัขที่ทำให้สลบ โดยใช้ส่วนที่สกัดด้วยน้ำและผลึกสารที่สกัดได้จากต้นนี้ในขนาด 0.1 กรัม/นน. ตัว 1 กก. จะไม่มีผลต่อความดันโลหิตอย่างเด่นชัดผลต่อลำไส้เล็กของหนูตะเภาที่แยกจากตัวมดลูกของหนูใหญ่ไม่เห็นผลเด่นชัด น้ำสกัดมีผลควบคุมการบีบตัวของลำไส้เล็กของกระต่ายที่แยกจากลำตัวทำให้บีบตัวช้าลง

การเป็นพิษ

มีพิษน้อยมากในหมูเล็กกินผลึกที่สกัดได้ (Crude crystals) จากต้นนี้ 10 กรัม/นน. ตัว 1 กก. จะทำให้หนูเล็กเคลื่อนไหวได้ช้าลง และหลับไป หลังจากผ่าท้องดู หัวใจ ตับ ไต ม้าม จากลักษณะภายนอกที่ปรากฏเป็นปกติ ผลการทดลองทดลองให้หนูเล็กกิน 0.5 กรัม/ นน ตัว 1 กก. ติดต่อกัน 10 วัน ก็ไม่เห็นผลการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกี่ยวกับการเจริญเติบโต การกินอาหาร อุจจาระ อารมณ์ ปริมาณเม็ดโลหิตขาวและแดง และปริมาณของโปรตีนในเลือด ถ้าฉีดเข้าช่องท้องขนาด 0.5 กรัม ต่อ 1 เข็ม ภายใน 24 ชั่วโมง หนูเล็ก 2 ตัวตายหมด เช่นเดียวกับการใช้น้ำสกัดจากยาสดฉีด 1 กรัมต่อ 1 เข็ม

ข้อมูลสื่อ

9-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 9
กุมภาพันธ์ 2523
ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ