• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หยุดคิดสักนิดก่อนให้ลูกคุณกินยา

หยุดคิดสักนิดก่อนให้ลูกคุณกินยา



การมีสุขภาพกาย และใจที่ดี ย่อมเป็นที่ปรารถนาของมนุษย์ทุกคน ทุกเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีสุขภาพดีของบุคคลอันเป็นที่รักของตน ดังจะเห็นตัวอย่างได้บ่อยครั้งว่า บางครอบครัวจำเป็นต้องขายไร่ นา วัว ควาย หรือหยิบยืมเป็นหนี้สินเพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพ ยิ่งไปกว่านั้น เราก็สามารถพบเห็นได้ทั่วไปว่า การบนบานศาลกล่าวหรือการรับการรักษาจากผู้วิเศษ ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ชาวบ้านมักจะต้องยึดเหนี่ยวเป็นที่พึ่งสุดท้ายของตน เพื่อดำรงชีวิตไว้ให้ได้นานที่สุด

ดังนั้นเมื่อยาแผนปัจจุบันได้เริ่มเข้ามาแพร่หลายในประเทศไทยราว 100 ปีมานี้ กับทั้งได้พิสูจน์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า มีสรรพคุณในการรักษาโรคได้รวดเร็ว รูปแบบน่ากินน่าใช้กว่าการเยียวยารักษาโรคแต่ดั้งเดิม จึงทำให้คนไทยหันมายึดเหนี่ยวเป็นที่พึ่ง เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพของตน และครอบครัวอย่างยินดีและเต็มใจ จนเห็นผลให้ปริมาณการบริโภคยาปีหนึ่งๆ ในปัจจุบันมากกว่า 25,000 ล้านบาท ซึ่งประมาณการว่า 2/3 ของยาที่บริโภคนั้นเป็นการบริโภคที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ นั่นคือ การใช้ยาที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้มากเกินไป ทั้งยาที่มีพิษสูง บ่อนทำลายสุขภาพ และยาที่มีสรรพคุณไม่ตรงกับโรค ส่วนยาที่ควรจะต้องใช้กลับไม่ได้ใช้ เพราะประชาชนขาดความรู้ที่ถูกต้อง ขาดการบริการที่มีคุณภาพ เหล่านี้เป็นต้น

และเมื่อหันมาพิจารณาการใช้ยาในเด็ก ก็พบว่ามีปัญหามากมายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ทั้งๆที่โดย
โนธรรมสำนึกแล้ว ผู้ผลิตและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกๆฝ่ายจำเป็นจะต้องใช้ความระมัดระวังในการผลิตการควบคุม การจำหน่าย การสั่งใช้ และการใช้ให้รัดกุมเป็นพิเศษ เพราะว่าร่างกายของเด็กนั้นยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ กลไกในการป้องกันร่างกายยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ฉะนั้นหากจะได้รับยาที่ไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดผลร้ายแรงมากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่าตัวกระทั่งอาจก่อให้เกิดความพิการ สูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะบางส่วนไปจนตลอดชีวิตทีเดียว คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายจึงควรระมัดระวัง อย่าให้ความรักลูกกลับมาเป็นการทำลายลูกของคุณโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์เลย

ข้อแนะนำทั่วไปเกี่ยวกับการใช้ยาในเด็ก
1. อย่าทดลองใช้ยากับเด็ก
โปรดอย่าเชื่อคำโฆษณาจูงใจต่างๆ แล้วทดลองซื้อยามาใช้กับลูกของคุณโดยไม่ตรวจสอบให้แน่ชัด เพราะยาบางอย่างไม่ทำให้เกิดโทษในทันที แต่จะมีผลอันไม่พึงประสงค์ตามมาภายหลัง เช่น ยาเตตราซัยคลีนในชื่อการค้าต่างๆ นั้นห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 8 ขวบ เพราะจะทำให้ฟันเหลือง คล้ำดำไปตลอดชีวิต หากใช้กับหญิงมีครรภ์ จะทำให้เด็กที่คลอดมามีการเจริญของกระดูกช้ากว่าปกติ

2. เด็กเล็กร่างกายยังไม่สามารถทำลายพิษยา และขับถ่ายได้อย่างสมบูรณ์
หากใช้ยาที่มีพิษสูง จะทำให้เกิดอันตรายมากยิ่งขึ้น เช่น การใช้ยาคลอแรมเฟนิคอล จะทำให้เด็กเป็นโรคโลหิตจางชนิดร้ายแรงถึงตายได้

3. อย่าใช้ยาเกินขนาด
การที่เด็กได้รับยาปริมาณมากเกินไป มิใช่จะทำให้โรคหายเร็วขึ้น แต่กลับจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ก่อนใช้ยาจึงควรศึกษาขนาดใช้ที่ถูกต้องให้แน่ชัดเสียก่อน

ทัศนคติบางประการเกี่ยวกับการใช้ยาในเด็ก
⇒ การกินวิตามินมากๆจำเป็นแค่ไหน?
คุณแม่ทั้งหลายมักจะกังวลเมื่อเห็นลูกของตนไม่อ้วนเท่าลูกคนอื่น จึงมักไปหาซื้อวิตามิน หรือยาบำรุงสารพัดชนิดมาให้ลูกกินตามคำโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ซึ่งแทนที่จะเป็นคุณบางครั้งกลับเป็นโทษร้ายแรงต่อร่างกายเด็ก โดยพ่อแม่เองไม่ทราบ สังเกตไม่เห็น เพราะผลที่เกิดขึ้นไม่ชัดเจน ไม่เฉียบพลัน พอทราบก็สายเกินไปแล้ว

วิตามินเป็นอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่ร่างกายต้องการเล็กน้อยเท่านั้น หากได้รับอาหารตามปกติแล้ว ก็ไม่น่าจะขาดวิตามินเลย หรือถ้าเกรงว่า จะได้รับไม่เพียงพอก็ควรให้เด็กกินอาหารจำพวกผัก ผลไม้ นม ไข่ ซึ่งอุดมไปด้วยวิตามิน และยังมีคุณค่าทางอาหารชนิดอื่นๆด้วย ย่อมดีกว่าการไปหาซื้อวิตามินมาให้ลูกกิน เพราะวิตามินบางตัวกินเข้าไปมากเกินร่างกายก็ขับออก กินเข้าไปเท่าใดก็ขับส่วนเกินออกหมด แต่วิตามินบางตัว เช่น เอ ดี อี จะสะสมอยู่ในร่างกาย เมื่อมีปริมาณมากเกินไปก็ทำให้เกิดโทษ เช่น เด็กที่มีวิตามินเอสะสมมากเกินไป จะทำให้เบื่ออาหาร คัน มีอาการทางผิวหนัง น้ำหนักลด ส่วนวิตามินดี หากได้รับมากเกินไปจะมีผลต่อระบบเลือด ปัญญาอ่อน เป็นต้น 

⇒ ยากระตุ้นให้อยากอาหารมีประโยชน์จริงหรือ?
พ่อแม่บางคนอยากเห็นลูกกินอาหารได้เยอะๆ โดยไม่หาสาเหตุที่แท้จริงว่า ทำไมเด็กจึงกินอาหารได้น้อย หรือเบื่ออาหาร เช่น เด็กอาจจะกินขนมหวาน หรือน้ำอัดลมเข้าไปมาก อาหารซ้ำซากไม่น่ากิน ฯลฯ พ่อแม่มักไปหาซื้อยากระตุ้นให้เด็กอยากกินอาหารมาให้ลูก ซึ่งมักจะได้แก่ยาซัยโปรเฮปตาดีน ซึ่งความจริงแล้วยาชนิดนี้เป็นยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก ซึ่งหากใช้บ่อยๆ หรือติดต่อกันนานๆจะทำให้เด็กง่วง ซึมเซา พัฒนาการของเด็กผิดปกติ
ดังนั้นหากลูกไม่อยากทานอาหาร จึงควรหาสาเหตุที่แท้จริง แล้วแก้ไขให้ถูกจุดดีกว่าที่จะวางระเบิดเวลาไว้ให้ลูก 


ยาที่มีปัญหาและไม่ควรใช้ในเด็ก
จากการทำแบบสอบถามแพทย์และเภสัชกรในโรงพยาบาลชุมชนและร้านขายยาทั่วทุกภาคในประเทศไทย ซึ่งมีประการณ์และติดตามผลการใช้ยาในเด็ก พอประมวลได้ว่ายาที่ไม่ควรใช้และไม่จำเป็นต้องใช้ที่ยังแพร่หลายอยู่ในท้องตลาดทั่วไป มีดังตัวอย่างต่อไปนี้ เช่น

ชื่อยา

ปัญหา

1. ยาแก้ปวดลดไข้ เช่น ไดไพโรน

 

 

 

 

    ยาแอสไพรินผง

- ยาแก้ไข้เด็กตรางู ใช้คำว่า ยาแก้ไขเด็กยานี้ไม่ควรใช้อย่างยิ่งในเด็ก

- ยาไดไพโรน ทำให้เสี่ยงต่อภาวะขาดเม็ดเลือดขาวอย่างรุนแรง (agranulocytosis)

- ยาผงทำให้แบ่งขนาดใช้ไม่ถูกต้องได้ง่าย เพราะการใช้ยาในเด็กควรมีขนาดยาที่เที่ยงตรงมาก

2. ยาปฏิชีวนะ เช่น คลอแรมเฟนิคอล (ผง)

 

 

 

 

เตตราซัยคลีน (ผง)

- ทำให้ไขกระดูกฝ่อ เม็ดเลือดถูกทำลาย ห้ามใช้ในเด็ก

- หลายยี่ห้อ เช่น คลอแรมติน ฮีโรเซติน ทำเป็นหลอดคล้ายไอศกรีมซึ่งเป็นรูปแบบไม่เหมาะสม

- ชาวบ้านนำไปใช้เป็นยาลดไข้

- เช่น คาอูลิน ออรีโอมัยซินเด็ก ฯลฯ ทำให้กระดูกผุไม่เจริญ ฟันและกระดูกดำอย่างถาวร

3. ยาบำรุง เช่น ซัยโปรเฮปตาดีน

- มักทำในรูปวิตามินรวม ซัยโปรเฮปตาดีน ยานี้เป็นยาแก้แพ้ ลมพิษ ไม่ใช่ยากระตุ้นให้อยากอาหาร

- ใช้ยานี้นานๆมีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก

4. ยาคุมธาตุแก้กวน

- ยาพวกที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ในปริมาณสูง และพ่อแม่มักผสมกับนมให้ลูกกิน จึงทำให้เด็กได้รับแอลกอฮอล์มากเกินจำเป็น

ยาต่างๆที่ยกมากล่าวถึงในที่นี้ เป็นเพียงตัวอย่างจำนวนน้อยเท่านั้น ยังมียาชนิดอื่นๆที่ควรระมัดระวังในการใช้ และเลิกใช้อีกหลายชนิด สมควรที่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งหลายจะต้องแสดงความรับผิดชอบ แต่ในขณะที่การแก้ไขที่ต้นตอของปัญหายังไม่เป็นจริง คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายก็คงจะต้องใช้ความระมัดระวังเอาเองไปก่อน ในขณะนี้องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสาธารณสุขต่างๆ กำลังรณรงค์เรื่องการใช้ยาที่เหมาะสมในเด็ก จึงหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกท่านที่เกี่ยวข้องกับเด็กด้วยดี ทั้งในแง่ของการขยายวงการรณรงค์และการร่วมกันรวบรวมปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ใช้ยาในเด็กของท่าน เพราะว่า “สังคมไทยจะพัฒนา ประชากรเด็กจะต้องมีสุขภาพดี”

ร่วมรณรงค์การใช้ยาที่เหมาะสมในเด็ก โปรดติดต่อที่โครงการรณรงค์เพื่อการใช้ยาที่เหมาะสมในเด็ก 132/14 ซ.อรพิน ถ.พระราม 6 พญาไท กรุงเทพฯ 10400 โทร.279-1905

 

 

 

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

96-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 96
เมษายน 2530
108 ปัญหายา
รศ.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์