• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผลข้างเคียง / โรคหมอทำ / โรคยาทำ

ผลข้างเคียง / โรคหมอทำ / โรคยาทำ



แอสไพรินเป็นยาแก้ปวดลดไข้ มีผลข้างเคียงคือ ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร คนที่เป็นโรคกระเพาะจึงไม่ควรใช้ยานี้”

เตตราซัยคลีนเป็นยาปฏิชีวนะ ไม่ควรใช้ในเด็กเล็ก อาจมีผลข้างเคียงทำให้เด็กโตขึ้น มีฟันเหลืองดำอย่างถาวร”

“เทคโนโลยีทางการแพทย์ย่อมเป็นทวิลักษณ์เฉกเช่นสิ่งต่างๆในโลกนี้ หากใช้ผิดๆอาจทำให้เกิดโรคยาทำหรือโรคหมอทำได้”

ผลข้างเคียง (Side effect)
หมายถึง ผลที่เป็นโทษหรือไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นพร้อมๆ (เคียงข้าง) กับสรรพคุณหรือผลที่พึงประสงค์ ในเรื่องของหยูกยา เรามักจะกล่าวถึงผลข้างเคียงของยาต่างๆควบคู่กับสรรพคุณของมันอยู่เสมอ ดังตัวอย่างดังกล่าวข้างต้น

ผลข้างเคียงของยามีความรุนแรงหรือความชุก (ความบ่อย) มากน้อยขึ้นกับยาแต่ละชนิด บางอย่างอาจเป็นอันตรายถึงตายได้ (เช่น ยาฉีดบางชนิดอาจทำให้แพ้รุนแรงได้) บางชนิด (เช่น แอสไพริน ยาแก้ปวดข้อ สเตอรอยด์) อาจทำให้เกิดโรคกระเพาะได้ บางชนิดมีพิษต่อตับ ต่อไต เป็นต้น
นอกจากหยูกยาแล้ว วิธีตรวจรักษาของแพทย์ก็อาจมีผลข้างเคียงได้เช่นกัน เช่น การฉีดสีเพื่อเอกซเรย์พิเศษ (เช่น ตรวจไต ตรวจสมอง) ก็อาจทำให้แพ้สีที่ฉีดเป็นอันตรายได้

การผ่าตัดต่อมธัยรอยด์ ก็อาจมีผลข้างเคียงคือ ถูกตัดอวัยวะใกล้เคียง เช่น เส้นประสาท (ทำให้เสียงแหบ) หรือต่อมพาราธัยรอยด์ (ทำให้มือชักเกร็ง เป็นตะคริวเพราะขาดแคลเซียม)
กรณีแบเรียมมรณะที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งเกิดกับคนที่ไม่เป็นอะไร แต่ต้องการตรวจเช็กกระเพาะลำไส้โดยการเอกซเรย์กลืนแป้งแบเรียม แต่เกิดความผิดพลาดที่ใช้สารพิษแทนแบเรียมที่ไม่เป็นพิษทำให้ตายทีเดียว 3-4 คน ก็เป็นตัวอย่างร้ายแรงของผลข้างเคียงทางการแพทย์

เราเรียกโรคหรือผลข้างเคียงที่เกิดจากการกระทำของหมอว่า “โรคหมอทำ” (latrogenic disease)
และเรียกโรคที่เกิดจากการใช้ยาว่า “โรคยาทำ”  ดังนั้นจึงควรระลึกอยู่เสมอว่าการแพทย์ย่อมมีข้อดีและข้อเสียเป็นลักษณะสองด้าน (ทวิลักษณ์) ควรศึกษาให้เข้าใจเพื่อที่จะได้รู้จักใช้ประโยชน์จากมัน และหลีกเลี่ยงโทษที่อาจเกิดขึ้นให้มากที่สุด

ในสมัยพุทธกาลได้แบ่งโรคออกเป็น 3 จำพวก ได้แก่
1. โรคที่รักษาก็หาย ไม่รักษาก็หาย
2. โรคที่รักษาหาย ไม่รักษาตาย
3. โรคที่รักษาก็ตาย ไม่รักษาก็ตาย
แต่ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีอันซับซ้อนสามารถก่อให้เกิดโรคยาทำโรคหมอทำได้ (หากใช้กันอย่างประมาท) เห็นจะต้องเพิ่มโรคจำพวกที่ 4 คือ “โรคที่รักษาตาย ไม่รักษาหาย
ความจริงก็คือ โรคในจำพวกที่ 1 หากแต่เกิดผลข้างเคียงจากหมอหรือการใช้ยา จึงกลายเป็นว่าการรักษามีผลเสียมากกว่าไม่รักษา

โรคในกลุ่มนี้มีอะไรบ้าง ก็ฝากแฟนๆลองศึกษาค้นคว้ากันดูเอาเองเถอะครับ

 

ข้อมูลสื่อ

96-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 96
เมษายน 2530
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช