• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การรักษารากฟัน

การรักษารากฟัน


สำหรับคอลัมน์ “สุขภาพของช่องปาก” ฉบับนี้ ขอนำปัญหาของคุณผู้อ่านมาตอบสลับกับบทความเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศกันเสียบ้าง 


ปัจจุบันดิฉันอายุ 24 ปี ตอนเด็กๆ อายุได้ 8 ปี ได้รับการจัดฟันที่คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ คุณหมอได้บอกว่าฟันซี่ H. incisor ทั้งซ้ายและขวาเป็นฟันตาย แต่ก็ไม่ได้ทำการรักษาแต่อย่างใด
ต่อมาอายุประมาณ 18 ปี ได้ไปทำฟันที่โรงพยาบาลมิชชั่น ทันตแพทย์ได้แนะนำให้รักษารากฟันทั้ง 2 ซี่ดังกล่าว หลังการรักษารากฟันแล้ว ฟันทั้ง 2 มีสีเข้มขึ้นกว่าฟันข้างเคียงจนเห็นได้ชัด
ขอเรียนถามว่า จะมีวิธีการแก้ไขอย่างไรบ้าง การเคลือบด้วยสารเคลือบฟันจะมีข้อดีข้อเสียอย่างไรและมีอายุใช้งานนานเท่าใด เคยเห็นคนที่เคลือบฟันแล้วมีคราบดำตรงระหว่างช่องที่เหงือกต่อกับฟัน มีวิธีการแก้ไขได้อย่างไรหรือไม่

นุภา/ฉะเชิงเทรา
 

 การรักษารากฟัน เป็นผลจากการที่ฟันผุลุกลามมากผ่านทั้งชั้นเคลือบฟันและเนื้อฟัน จนเชื้อโรคสามารถผ่านเข้าไปทำลายในคลองรากฟัน ซึ่งอยู่ตรงกลางของฟัน หรืออาจเกิดจากการที่ฟันได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง เช่น จากอุบัติเหตุ หรือจากการสบฟันผิดปกติ เป็นผลให้มีแรงกระทบตลอดเวลาที่ฟันสบกันในระหว่างการเคี้ยว เป็นเหตุให้ฟันตาย เกิดการอักเสบบริเวณปลายรากฟัน และอาจรุนแรงถึงการมีฝีที่ปลายรากฟันด้วย ซึ่งจะมีผลให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรงอันเนื่องจากแรงดันภายในคลองรากฟัน ทั้งนี้จะบรรเทาอาการปวดได้ โดยการเจาะคลองรากฟันให้ทะลุกับภายนอกเพื่อให้มีทางเดินของหนอง เป็นการลดแรงดันและอาการปวดในที่สุด

ในกรณีที่ภายหลังการรักษารากฟันแล้ว ฟันมีสีเปลี่ยนแปลงในลักษณะสีคล้ำขึ้นนั้น เกิดขึ้นได้ในบางราย เนื่องจากในขณะที่รากฟันอักเสบ หรือในระหว่างการรักษารากฟัน มีเลือดออกในครองรากฟัน ซึ่งจะมีผลให้สีของเลือดเข้าไปในส่วนของเนื้อฟัน แล้วสะท้อนให้เห็นเป็นสีคล้ำดังกล่าว ความเข้มของสีจะขึ้นอยู่กับปริมาณของสีเลือดในเนื้อฟัน

วิธีแก้ไข  : การกำจัดสีคล้ำที่ไม่ต้องการออกไปนี้ อาจทำได้หลายวิธีคือ
การฟอกสีฟัน
โดยการเจาะรูขนาดเล็กที่บริเวณด้านหลังของฟัน แล้วใช้สารละลายไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ขนาดความเข้มข้นค่อนข้างสูง ฟอกสีฟันโดยใช้ความร้อนช่วยด้วย สีจะค่อยๆจางลง ดังนั้นต้องมาฟอกสีฟันหลายครั้งติดต่อกัน จนกว่าจะได้สีที่ต้องการ วิธีนี้เป็นการเก็บรักษาฟันไว้มากที่สุด เพราะมีการกรอฟันเพียงเล็กน้อย แต่เนื่องจากใช้สารละลายไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ความเข้มข้นสูง ถ้ากระเด็นไปกระทบเหงือก จะระคายเคืองมาก จึงต้องใช้ด้วยความระมัดระวังสูง

การฉาบด้วยสารเคลือบฟัน
วิธีนี้จะต้องกรอชั้นเคลือบฟันธรรมชาติด้านหน้า ให้มีช่องว่างพอสำหรับสารเคลือบฟันที่มีสีเหมือนฟันธรรมชาติเข้ามาแทนที่ และต้องไม่ให้การฉาบสารเคลือบฟันหนาเกินงาม ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะได้มีการวิวัฒนาการคุณภาพของสารเคลือบฟันให้มีสีสวยงามและใช้ง่าย แต่สารเคลือบฟันนี้ ก็เช่นเดียวกับวัสดุอุดฟันอื่นๆ ที่มีอายุใช้งานเพียง 5-9 ปี และในกรณีของการใช้สารเคลือบฟันฉาบฟันทั้งด้านนี้ อาจมีอายุใช้งานสั้นลงเนื่องจากแรงขัดสีจากแปรงสีฟัน เป็นต้น

การครอบฟันและเดือยฟัน
โดยปกติ ฟันที่รักษารากแล้ว เนื่องจากเป็นฟันตาย ไม่มีเลือดและประสาทมาหล่อเลี้ยงภายในรากฟัน จึงมีลักษณะเหมือนต้นไม้ตายซากที่ไม่ได้รับน้ำหล่อเลี้ยงจากราก ทำให้มีคุณสมบัติเปราะ แตกหักได้ง่ายกว่าธรรมดา เพื่อป้องกันปัญหาฟันหักกะทันหัน จึงมักแนะนำให้ทำฟันเดือยและครอบฟัน โดยเฉพาะฟันที่จะต้องมีการอุดฟันขนาดใหญ่ โดยการตัดตัวฟันออกหมด ให้เหลือเฉพาะรากฟันในกระดูก แล้วเจาะบางส่วนของรากฟัน เป็นที่ยึดสำหรับเดือยฟันปลอม โดยส่วนปลายของเดือยฝังในส่วนรากนี้ และโผล่อีกส่วนหนึ่งของเดือยฟันเหนือเหงือก เพื่อเป็นที่รองรับครอบฟันอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งในจะได้ครอบฟันปลอมสีสวยงามตามต้องการ
แต่ข้อเสียของวิธีนี้ คือค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพง เพราะต้องทำหลายขั้นตอน แต่ถ้าทำได้เรียบร้อยดี มักจะใช้ได้คงทนถาวรถึง 10-15 ปี หรือถ้าโชคดี อาจใช้ได้ตลอดไป

ในสมัยก่อน ภายหลังการครอบฟันหรือเคลือบฟันไปสักระยะเวลาหนึ่ง จะมีสีดำบริเวณรอยต่อระหว่างเหงือกกับฟัน เนื่องจากกรรมวิธีการใส่ฟันปลอมหรือการเคลือบฟันที่ไม่แนบสนิท และเป็นที่เกาะและเซาะของคราบอาหารและเชื้อจุลินทรีย์ในช่องปาก ทำให้เกิดสี หรือในบางรายอาจเกิดจากเหงือกร่นลงไปจากการแปรงฟันที่ไม่ถูกวิธี ทำให้เห็นรอยต่อนี้ชัดขึ้น แต่ในปัจจุบันวิชาการทางทันตแพทยศาสตร์ได้ก้าวหน้าขึ้นมาก ได้มีวิธีการที่สามารถป้องกันไม่ให้เห็นสีดำที่บริเวณรอยต่อนี้ โดยขอให้ไปรับการรักษาจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งมีความชำนาญเป็นพิเศษ เช่น ในโรงพยาบาล หรือคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆก็จะสามารถลดปัญหาดังกล่าวได้ทางหนึ่ง
จะเห็นได้ว่าปัญหาต่างๆจะตามมาเป็นลำดับ เช่น จากโรคฟันผุอุดฟัน รักษารากฟัน ฟอกสีฟันฉาบสารเคลือบฟัน เดือยฟันและครอบฟัน แล้วก็ยังอาจมีปัญหาอื่นๆตามมาอีก

ดังนั้นการป้องกันโรคในช่อง และการหมั่นตรวจดูความผิดปกติแต่เนิ่นๆ จึงเป็นการดูแลรักษาช่องปากที่ดีที่สุด สมดังคำว่า “กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วแก้ลำบาก”

ข้อมูลสื่อ

96-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 96
เมษายน 2530
ทพ.ประทีป พันธุมวนิช