• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการปวดท้อง (ต่อ)

การตรวจรักษาอาการปวดท้อง (ต่อ)
 

                  

 
 ในฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงอาการปวดท้องประเภทที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายอุจจาระ และในฉบับนี้จะพูดถึงอาการปวดท้องที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายปัสสาวะ

4. ประเภทที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายปัสสาวะ

4.1 ปวดท้องเพราะปัสสาวะไม่ออก คือ อาการที่ปวดท้องที่เกิดขึ้นเพราะกระเพาะปัสสาวะโป่งตึงจากน้ำปัสสาวะ เนื่องจากไม่สามารถปัสสาวะได้ด้วยสาเหตุต่างๆ เช่นการกลั้นปัสสาวะ เพราะหาที่ปัสสาวะไม่ได้ การอุดตันในท่อปัสสาวะจากก้อนนิ่ว จากต่อมลูกหมากโต หรืออื่นๆ
โดยทั่วไปจะวินิจฉัยภาวะนี้ได้ไม่ยาก เพราะคนไข้จะรู้สึกปัสสาวะ (รู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะ) แต่ไม่ได้ถ่ายหรือถ่ายไม่ได้ แล้วจึงเกิดอาการปวดท้องขึ้น และถ้าตรวจหน้าท้องจะพบว่ากระเพาะปัสสาวะโป่งดังรูปที่ 1

 

 

 

  รูปที่ 1
ภาพแสดงการเคาะนิ้ว

 

 

 

 

 ในคนที่หน้าท้องบางๆ (คนผอม) จะคลำกระเพาะปัสสาวะได้ดังในรูปที่ 1 แต่ในคนที่หน้าท้องหนาๆ (คนอ้วน) หรือหน้าท้องเกร็งแข็ง จะคลำไม่ได้ ต้องใช้วิธีเคาะ (ดูวิธีตรวจหน้าท้องในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 47-51) โดยใช้ปลายนิ้วของมือหนึ่งเคาะบนนิ้วของอีกมือหนึ่งที่วางแนบกับหน้าท้องใกล้กับสะดือจะได้เสียงโปร่ง (จากลมในลำไส้) แล้วเคาะไล่ลงมาเรื่อยๆ เมื่อถึงระดับหนึ่งจะได้เสียงทึบ (จากน้ำปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะที่โป่งพ้นขอบกระดูกหัวหน่าวขึ้นมา)

ในคนปกติ จะไม่มีเสียงทึบในขณะที่เคาะดังกล่าวข้างต้น เพราะกระเพาะปัสสาวะไม่โป่งพ้นขอบกระดูกหัวหน่าวขึ้นมาในเด็กหรือคนที่ขี้อาย บางครั้งก็กลั้นปัสสาวะไว้จนปวดท้องมาก แต่เวลาถามว่าทำไมจึงปวดท้อง จะอายและไม่กล้าตอบว่าปวดปัสสาวะ การวินิจฉัยจึงต้องใช้วิธีตรวจหน้าท้อง และพบว่ากระเพาะปัสสาวะโป่งดังกล่าวข้างต้น

 

 

 

 รูปที่ 2
กระเพาะปัสสาวะโปร่งมากทำให้ท้องน้อยโป่งนูนกว่าส่วนอื่น

 

 

 

 

ในคนที่พูดไม่ได้ (อัมพาต) หรือไม่ค่อยรู้ตัว ถ้าเกิดมีอาการกระสับกระส่าย ทุรนทุรายโดยหาสาเหตุไม่ได้ (โดยเฉพาะถ้าคนไข้ไม่ได้ถ่ายปัสสาวะมาหลายชั่วโมง) ต้องตรวจดูว่ากระเพาะปัสสาวะโป่งหรือไม่เสมอ คนไข้ที่ต่อมลูกหมากโต (ผู้ชาย) หรือเป็นอัมพาตของกระเพาะปัสสาวะ บางครั้งแม้จะมีปัสสาวะราดออกมาเป็นครั้งคราว แต่เมื่อตรวจหน้าท้องหลังจากคนไข้ปัสสาวะแล้ว ใหม่ๆ ก็จะพบกระเพาะปัสสาวะโป่งได้ ซึ่งแสดงว่าคนไข้ปัสสาวะออกไม่หมด ยังเหลือค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเป็นจำนวนมาก

วิธีแก้ไข  : ถ้าปวดท้องจากการกลั้นปัสสาวะ เมื่อให้ถ่ายปัสสาวะแล้วก็จะหายปวดท้องทันที แต่ในบางคนอาจจะปวดระบมอยู่สักพักหนึ่ง โดยเฉพาะถ้ากลั้นไว้นานเกินไป
คนที่กลั้นปัสสาวะไว้นานๆ จนกระเพาะปัสสาวะเพลีย บางครั้งเมื่อเจอห้องส้วมหรือสถานที่ที่จะปัสสาวะได้ กลับปัสสาวะไม่ออกทั้งที่ปวดปัสสาวะ เพราะกระเพาะปัสสาวะเกิดอ่อนแรง (เพลีย) ไม่บีบตัวขับปัสสาวะออกมา และหูรูดที่ขมิบกลั้นปัสสาวะมานาน ไม่ยอมคลายตัวให้ปัสสาวะไหลออกมา แก้ไขได้โดยทำใจให้สบาย อย่ารีบ และปัสสาวะจะค่อยๆไหลออกมาเอง (ยิ่งรีบจะยิ่งปัสสาวะไม่ออก)

ถ้าปวดท้องจากการอุดตันในทางเดินปัสสาวะ เช่น ถ้าเกิดจากก้อนนิ่ว มักจะทำให้เกิดการอุดกั้นทันที นั่นคือ กำลังปัสสาวะอยู่ดีๆ ปัสสาวะหยุดกึกลงทันที และเกิดอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรงในบริเวณท่อปัสสาวะ และ/หรือกระเพาะปัสสาวะ แก้ไขโดยให้นอนพักหรือนั่งพัก ทำใจให้สบายให้กล้ามเนื้อบริเวณท่อปัสสาวะคลายตัวจนหายอาการเจ็บปวดแล้ว ค่อยปัสสาวะใหม่ ถ้าเป็นนิ่วก้อนเล็กอาจหลุดออกมากับน้ำปัสสาวะได้
ถ้าเป็นนิ่วก้อนใหญ่ มักจะไม่มาติดอยู่ในท่อปัสสาวะ แต่จะอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ เมื่อพักให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะคลายตัว และนอนหรือเปลี่ยนท่าไปมาให้ก้อนนิ่วหลุดจากปากกระเพาะปัสสาวะแล้วมักจะปัสสาวะได้ใหม่

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ปัสสาวะไม่ออกเพราะนิ่ว ควรจะทำการผ่าตัดเอานิ่วออกเมื่อมีโอกาสและควรดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันหรือลดโอกาสการเกิดนิ่วและการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
ถ้าเกิดจากต่อมลูกหมากโต ซึ่งจะเป็นเฉพาะในผู้ชายที่อายุมากกว่า 40 ปี คนไข้มักจะมีอาการปัสสาวะอ่อนลง (ไม่พุ่งแรงเหมือนตอนหนุ่มๆ) ลำปัสสาวะเล็กลง ต้องยืนหรือนั่งถ่ายนานขึ้น ๆ กว่าปัสสาวะจะเริ่มออกและกว่าปัสสาวะจะหมดคนไข้ที่ต่อมลูกหมากโต อาจเกิดอาการปวดท้องเพราะไม่ออกอย่างฉับพลันได้ โดยเฉพาะหลังกลั้นปัสสาวะนานๆ นั่งรถนั่งเรือนานเกินไป โดยเฉพาะรถหรือเรือที่กระเทือนมาก กินเหล้ามากเกินไป ท้องผูกมาก เป็นต้น

แก้ไขได้ : โดยให้นั่งพักหรือนอนพัก ทำใจให้สบาย ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ปล่อยให้ปัสสาวะมันค่อยๆไหลรินออกมาเอง ในกรณีที่ปวดท้องเพราะปัสสาวะไม่ออกจากสาเหตุใดก็ตาม และแก้ไขโดยวิธีดังกล่าวข้างต้นแล้วไม่ได้ผล (ยังปัสสาวะไม่ออก) ควรจะรีบไปโรงพยาบาล เพื่อสวนปัสสาวะออก หรือใช้เข็มแทงเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะเพื่อระบายปัสสาวะออก

4.2 ปวดท้องเวลาปัสสาวะสุด คือ เมื่อถ่ายปัสสาวะจวนจะเสร็จหรือเสร็จแล้ว เกิดอาการปวดท้องส่วนล่างหรือปวดบริเวณหัวหน่าว มักเกิดจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียทั่วไป ถ้าไม่มีอาการไข้ตัวร้อน ให้กินยาโคไตรมอกซาโซล (cotrimoxazole) 5 เม็ดหลังอาหารครั้งเดียว (ถ้าแพ้ยาจำพวกซัลฟา ห้ามใช้ยาตัวนี้) และดื่มน้ำมากๆถ้ามีอาการไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว หรือหนาวๆด้วย ให้กินยาโคไตรมอกซาโซล (cotrimoxazole) 2 เม็ด หลังอาหารเช้าและเย็น เป็นเวลา 7-10 วัน (ถ้าแพ้ยาจำพวกซัลฟา ห้ามใช้ยาตัวนี้) และดื่มน้ำมากๆ

ถ้าผู้ป่วยแพ้ยาจำพวกซัลฟา ให้กินยาแอมพิซิลลิน (เม็ดละ 500 มิลลิกรัม) 1 เม็ดก่อนอาหารมื้อเช้า-กลางวัน-เย็น และก่อนนอน (วันละ 4 เม็ด) เป็นเวลา 7-10 วัน (ถ้าแพ้ยาจำพวกเพนิซิลลินห้ามกินยานี้)
ถ้ากินยาแล้วไม่ดีขึ้น ควรไปตรวจปัสสาวะและเพาะเชื้อที่โรงพยาบาล คนไข้ที่ชอบมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะแสบ ขัด หรือขุ่น ควรจะกินน้ำมากๆ (อย่างน้อยวันละ 3-4 ขวดแม่โขง) และห้ามกลั้นปัสสาวะ และหลังร่วมเพศต้องรีบปัสสาวะ และล้างให้สะอาดทันที จะทำให้การติดเชื้อจนเกิดท่อปัสสาวะ และล้างให้สะอาดทันที จะทำให้การติดเชื้อจนเกิดท่อปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบลดน้อยลง

4.3 ปวดท้องและมีความรู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะ หรือเสียวร้าวลงมาบริเวณท่อปัสสาวะ (อวัยวะเพศ) คือ อาการปวดท้องบริเวณสีข้าง หรือบริเวณกระเบนเหน็บ (ด้านหลัง ปวดหลัง) แล้วร้าวลงมาที่ท้องด้านล่างบริเวณหัวหน่าวและอวัยวะเพศ มักจะเกิดจากกรวยไตอักเสบ หรือมีนิ่วในไต มักจะมีอาการไข้หนาวสั่น หรือปวดท้องรุนแรง และปัสสาวะมักจะขุ่น หรือมีตะกอนสีแดง (เม็ดเลือดแดง) นอนก้นเมื่อตั้งทิ้งไว้

ให้การรักษาแบบข้อ 4.2 แต่ถ้าไข้สูงมาก หรือมีอาการรุนแรงมากควรจะไปโรงพยาบาลในขณะที่ปวดท้องรุนแรง อาจให้กินหรือฉีดยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น อะโทรปีน (atropine) บาราลแกน (Baralgan) ครั้งละ   1-2 เม็ด อาจจะช่วยลดอาการปวดได้ 

                                                                                                                                (อ่านต่อฉบับหน้า)


 

ข้อมูลสื่อ

96-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 96
เมษายน 2530
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์