• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

( ตอนที่ 7 )หลัง

( ตอนที่ 7 )หลัง

 

                      


หลังเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งที่อยู่ตรงข้ามกับด้านหน้าอก หลังหรือด้านหลังของร่างกายนั้น โดยมากมักจะเข้าใจกันว่าหลังของมนุษย์จะเป็นบริเวณนับตั้งแต่ช่วงหัวไหล่หรือบ่าลงมาเรื่อยๆ จนถึงเอวหรือสะโพก ตามความเข้าใจกันนั้นก็เป็นการเข้าใจที่ไม่ผิด เพราะบริเวณนี้ทั้งหมดก็คือหลังนั่นเอง ไม่มีใครไปเรียกว่า หน้าหรือด้านหน้าเป็นแน่
ดังนั้นเราจึงควรจะต้องรู้ว่าหลังของคนเรานั้นยังประกอบด้วยส่วนต่างๆ ที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปอีก การทำงานหรือความสำคัญต่างๆก็แตกต่างกันไปตามหน้าที่หรือบริเวณที่อยู่ใกล้




หลังของคนเรานั้นแบ่งออกเป็น 2 ตอนด้วยกันคือ ช่วงตอนบนนับตั้งแต่หัวไหล่หรือบ่า (เป็นที่ตั้งของคอ) จากช่วงนี้นับลงไปจนถึงสะบัก หรือกระดูกสันหลังข้อที่ 7 นับเป็นหลังตอนบน
ส่วนตอนล่างนับจากกระดูกสันหลังข้อที่ 8 ลงไปหรือใต้สะบักจนถึงสะโพกหรือบริเวณเหนือก้นเป็นบริเวณหลังตอนล่าง เมื่อเราทราบแล้วว่าหลังประกอบด้วย 2 ส่วนแล้ว ก็มารู้กันว่า ทั้งตอนบนและตอนล่างมีหน้าที่อะไร และหากเกิดอาการพิการควรจะแก้ไขหรือรักษากันอย่างไร หลังตอนบนนั้นประกอบด้วยหัวไหล่ บ่า สะบัก ซึ่งในตอนต้นๆก็ได้กล่าวถึงหัวไหล่กันไปแล้ว ก็ยังเหลือแต่สะบัก
สะบักเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่บนแผ่นหลัง อยู่ใต้หัวไหล่ลงมา มีความสำคัญในการช่วยให้แขนเคลื่อนไหวได้ มีกำลังยกของหนัก และเป็นจุดสำคัญของเส้นเอ็นที่ทอดต่อไปยังแขน ซึ่งเส้นที่ทอดไปยังแขนนั้น ก็มีความสัมพันธ์กับหัวไหล่ด้วย คำว่าสะบักจมไม่ใช่กระดูกสะบักจมหายเข้าไปข้างใน หากแต่เป็นการปวดของกล้ามเนื้อ

สาเหตุของการเกิดสะบักจม

สาเหตุของการเกิดสะบักจมเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไป ไม่เลือกเพศหรือชนชั้นใด แบ่งออกได้หลายสาเหตุดังนี้

1. คนที่ต้องทำงานหนักแบกของหนักเกินไป หรือหาบหามของหนักเกินไป ทำให้ปวดที่บ่าแล้วเจ็บที่สะบัก

2. คนที่ต้องนั่งเขียนหนังสือหรือคนที่ต้องนั่งทำงานจำเจอยู่ในอิริยาบถที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานานๆ หรือเกิดจากจากการเล่นกีฬา หรือเกิดจากการนอนแล้วตกหมอน

3. อาจมาจากเส้นหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบ ก็ทำให้ปวดไปที่สะบักและหัวไหล่โดยกรณีนี้ห้ามนวด

4. อาจเกิดจากแรงกระแทกแรงบิดที่ทำให้หมอนกระดูกคอทับเส้นประสาท หรือกระดูกคองอก กระดูกเสื่อมถูกปลายประสาท กรณีนี้ห้ามนวด


อาการ
สะบักจมมักจะพบเห็นได้มากในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ซึ่งโดยมากจะต้องทำงานหนักมากกว่า อาการที่ว่าสะบักจมนั้นคือ ยกแขนไม่สะดวกมักจะปวดตรงสะบัก ก้มหรือเงยคอไม่ได้เต็มที่ จะหันซ้ายขวาก็ปวดเสียวลงที่สะบัก เวลายกของจะรู้สึกเสียวที่สะบัก เวลานอนจะนอนตะแคงข้างที่ปวดได้ไม่สะดวก บางทีเป็นน้อยก็ให้ปวดตื้อๆ สร้างความรำคาญแก่ผู้ป่วยไม่น้อยทีเดียว ถ้าเกิดสะบักจมแล้วปล่อยทิ้งไว้นานๆ จะทำให้ปวดหลัง ปวดเอวได้


การรักษา
ทำการนวดเฉพาะในกรณีที่ 1 และ 2 เท่านั้น
สะบักจมเป็นอาการของเส้นผิดปกติจากจุดเดิมและอยู่ด้านหลังของร่างกาย ซึ่งแขนของคนเราไม่สามารถจะทำการรักษาตนเองได้ จึงควรจะต้องให้ผู้ที่มีความรู้เรื่องเส้นหรือหมอนวดทำการรักษาให้ด้วยการกดที่หัวไหล่ข้างที่ปวดตั้งแต่ต้นคอเรื่อยลงมาถึงหัวไหล่ด้านใน การกดให้กดจากเบาไปหาหนัก แล้วให้กดนิ่งๆไว้ประมาณ 10 วินาที แล้วจึงยกเปลี่ยนจุดกดใหม่ห่างจากเดิมประมาณ 2-3 นิ้วมือ ทำการกดประมาณ 3-5 ครั้ง

                                             
หลังจากที่กดต้นคอแล้วให้กดใหม่จากจุดต้นคอไล่ลงมาตามกระดูกสันหลัง โดยให้ห่างจากกระดูกสันหลังประมาณ 2 นิ้วมือ กดเรื่อยลงมาจนถึงแนวด้านล่างของกระดูกสะบักหรือประมาณแนวกลางอก โดยกดที่จุดต้นคอจากเบาไปหนัก นิ่งประมาณ 10 วินาที แล้วเปลี่ยนจุดกดใหม่ให้ห่างประมาณ 2 นิ้วมือ ประมาณ 5-7 จุด นับแต่จุดต้นคอลงมาจนถึงสะบักส่วนล่าง ทำการกดประมาณ 3-5 ครั้ง แล้วจึงใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นๆ ประคบเพื่อกันอักเสบและเป็นการคลายเส้นที่จมให้อ่อนตัวหรือจะทา ถู นวด ด้วยน้ำมันที่ให้ความร้อนก็ได้

การดึงกล้ามเนื้อที่อยู่ข้างล่างสะบักจะต้องเป็นผู้ที่มีกำลังนิ้วที่แข็งแรง และมีความชำนาญถึงจะรักษาด้วยการดึงเส้นได้ เมื่อดึงเส้นแล้วก็ควรจะใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นๆ ประคบด้วย สะบักจมนั้นไม่ควรทำการรักษาด้วยตนเองโดยการซื้อยามาใช้ เพราะยาไม่สามารถจะทำให้เส้นสะบักที่จมเข้าที่ได้ ฤทธิ์ยาช่วยได้เพียงแต่บรรเทาอาการปวดเท่านั้น หากปล่อยไว้นานๆจะทำให้การรักษายาก
อาจให้ผู้ป่วยนอนหรือนั่งก็ได้ ถ้าให้นอนก็นอนเอนด้านปวดขึ้นข้างบน แล้ววางหัวแม่มือที่จุดริมกระดูกสันหลัง แต่ไม่ให้โดนกระดูกสันหลัง จะใช้มือเดียวหรือใช้หัวแม่มืออีกข้างหนึ่งช้อนไปบนหัวแม่มือที่วางไว้ริมกระดูกสันหลังก็ได้ แล้วเหยียดแขนให้ตรง ใช้ตัวดันไปข้างหน้า แล้วเพิ่มน้ำหนักลงที่มือช้าๆ จากเบาไปหาหนัก

เริ่มจุดแรกที่บั้นเอวจนถึงสะบักจะใช้มืออีกข้างหนึ่งที่เหลือกดดันเข้าไปรอบๆ สะบัก ทำอยู่ประมาณ
3-6 เที่ยว ถ้าผู้ป่วยนั่ง ผู้นวดก็นั่งหรือยืนข้างหลังผู้ป่วย ใช้มือข้างหนึ่งจับบ่าผู้ป่วยไว้ แล้วใช้หัวแม่มือกดดันไปตามจุดรอบๆสะบักก็หายได้ 


                                                                                                                              (อ่านต่อฉบับหน้า)
 

ข้อมูลสื่อ

96-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 96
เมษายน 2530
นวดไทย
บุญเทียม ตันติ์เตชรัตน์