• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาการชักในเด็ก

อาการชักในเด็ก

เรื่องอาการชักในเด็ก เป็นอาการที่น่ากลัว ทำให้พ่อแม่เด็กตกใจมาก ที่จริงการชักนี้ไม่ใช่โรค เป็นแต่เพียงอาการแสดงอย่างหนึ่งของโรคเท่านั้น สาเหตุของอาการชักมีมากมาย สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในเด็กก็คือ

อาการชักจากไข้สูง เมื่อมีไข้สูงมากๆ เด็กจะมีอาการชัก คือ มีการเกร็งหรือกระตุกของกล้ามเนื้อที่แขนขาและหน้าตา เมื่อชักเป็นเวลานานจะไม่รู้สึกตัว สาเหตุของไข้ที่ทำให้เกิดอาการชัก คือ ไข้หวัด ต่อมทอนซิลอักเสบ หูอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดบวม กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ โรคที่พบบ่อยอีกอย่างคือ โรคไข้ออกผื่นที่เรียกว่า เหือด (Roseolar infantum) โรคนี้มักจะทำความกังวลให้พ่อแม่มาก เพราะอาการไข้สูงมักเกิน 39 องศาเซนติเกรด เป็นเวลานานถึง 3-4 วัน และมักมีอาการชักร่วมด้วย โรคนี้อาการคล้ายโรคหัด แต่ผื่นออกน้อยกว่า และผื่นจะหายไปภายใน 2-3 วันเท่านั้น พบบ่อยในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 1 ปี อาการชักจากไข้สูงมักเกิดได้บ่อยๆ ในเด็กคนเดียวกัน จะเริ่มเป็นหลังจากเด็กอายุ 6 เดือนเป็นต้นไป เมื่ออายุมากขึ้นสมองจะเริ่มเจริญเติบโต มีความต้านทานต่อความร้อน โอกาสจะชักน้อยลง มักจะหายไปเมื่ออายุครบ 7 ปี ลักษณะที่สำคัญของอาการชักจากไข้สูง คือ จะมีไข้สูงนำมาก่อน และมีความสัมพันธ์โดยตรงกับความสูงของไข้ ส่วนใหญ่มักเกิดอาการชัก เมื่อไข้สูงเกิน 39 องศาเซนติเกรด และเมื่อได้รับการรักษาลดไข้ลงแล้วอาการชักจะหายไป เด็กจะรู้สึกตัวเป็นปกติ ถ้าให้ยาและเช็ดตัวลดไข้ แล้วเด็กอาการไม่ดีขึ้น อาการชักนั้นอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ต้องรีบส่งสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลโดยด่วน

การรักษาอาการชักจากไข้สูง เนื่องจากอาการชักเป็นอาการที่น่ากลัวมาก และถ้าปล่อยให้ชักนานๆ หรือบ่อยๆ อาจมีผลกระทบกระเทือนต่อสมองที่กำลังเจริญเติบโตของเด็ก ทำให้เสื่อมหน้าที่ได้ ฉะนั้นจึงต้องให้การรักษาพร้อมๆ กันดังนี้

1. ให้ทางหายใจสะดวก โดยพยายามดูดเสมหะออกด้วยลูกยางดูดเสมหะหรือสายยาง หรือเครื่องดูดเสมหะ จัดท่าผู้ป่วยให้หายใจสะดวก ใส่ท่อยางในปาก (Mouth gag) หรือขัดด้ามแปรงสีฟันไว้ระหว่างฟัน เพื่อมิให้ผู้ป่วยกัดลิ้น หรือลิ้นตกไปอุดทางเดินหายใจ ระวังอย่าใส่นิ้วเข้าไป เพราะเด็กอาจกัดนิ้ว ทำให้บาดเจ็บได้ การใช้ด้ามช้อนพันผ้าก็อาจมีอันตรายได้ เพราะถ้าผ้าพันไม่ดี อาจทำให้ผ้าหล่นลงไปอุดทางเดินหายใจ หรือเด็กกัดโดยตรงไปที่ช้อนทำให้ฟันหักได้

2. พยายามลดไข้ โดยการเช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดาให้ทั่วทั้งตัว เช็ดมากๆ บริเวณข้อพับต่างๆ และถูตามแขนขาแรงๆ เพื่อให้เส้นเลือดขยายตัว จะได้ระบายความร้อนออกเร็วๆ ใช้น้ำแข็งใส่ถุงพลาสติกหรือผ้าแช่น้ำแข็งวางที่ศีรษะเพื่อให้ศีรษะเย็น การใช้น้ำเย็นจัดเช็ดตัว มีข้อเสียคือทำให้เส้นเลือดหดตัวระบายความร้อนไม่สะดวก จับดูตัวเย็นก็จริงแต่ภายในยังคงร้อนอยู่

3. ใช้ยาลดไข้โดยเหน็บทางทวารหนัก ถ้าไม่มีให้รักษาด้วยวิธีอื่นๆ ไปก่อน รอให้ผู้ป่วยหยุดซักเสียก่อน แล้วจึงให้กินแอสไพรินสำหรับเด็ก (Baby aspirin) ในขนาด 1 เม็ด ต่ออายุ 1 ปี ให้ซ้ำได้ทุก 4 ชั่วโมง ถ้ายังมีตัวร้อนอยู่ ถ้าไม่มีขนาดสำหรับเด็กก็ใช้แอสไพรินขนาดธรรมดา คือ 5 เกรน (4 เท่าของแอสไพรินสำหรับเด็ก)โดยแบ่งตามตามอายุของเด็ก ถ้าอายุประมาณ 1 ปีก็ให้ ¼ เม็ด

4. ยาระงับชัก ให้พาราลดีไฮด์ (Paraldehyde) ½ ซี.ซี. ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ผสมกับน้ำมันพืช 2 เท่า สวนเก็บทางทวารหนัก มักจะหยุดอาการชักได้ใน 2-5 นาที หรือให้ไดอาซีแพม 2-5 มิลลิกรัม ในเด็กต่ำกว่า 5 ปี และ 5-10 มิลลิกรัม ในเด็กอายุเกิน 5 ปี ฉีดเข้ากล้าม

หลังจากหยุดซักแล้วควรให้กินฟีโนบาร์บิทอลขนาด 5 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ต่อวัน แบ่งให้กินวันละ 2 ครั้ง จนกว่าจะหายจากไข้

ผู้ป่วยที่เคยชักควรมีแอสไพริน และฟีโนบาร์บิทอลเก็บไว้ และรีบใก้กินเมื่อมีอาการตัวร้อนเป็นการป้องกันการชักไว้ก่อน

ถ้าการป้องกันดังกล่าวไม่ได้ผล ผู้ป่วยยังมีอาการชัก เมื่อมีไข้อีกควรให้ฟีโนบาร์บิทอลทุกวันเป็นการป้องกันอย่างน้อย 2 ปี แล้วจึงค่อยๆ ลดยาจนหยุดยาในระยะเวลา 6 เดือน ในบางรายถ้ามีอาการชักย่างรุนแรงต้องให้ยาจนพ้นอายุ 5 ปี

โรคลมบ้าหมู

โรคที่พบบ่อยในเด็กอีกชนิดหนึ่ง คือ ลมบ้าหมู (Epitepsy) โรคนี้ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุแต่มีอันตรายมาก ถ้าการชักแต่ละครั้งเป็นเวลานาน ผู้ป่วยจะมีอาการหมดสติทันที บางรายผู้ป่วยจะร้องออกมาก่อน พร้อมๆ กันนั้นจะมีอาการชักเกร็ง และชักกระตุกไปทั้งตัว ถ้าผู้ป่วยกำลังยืนอยู่ก็จะล้มลงกับพื้น และแข็งเกร็งเหมือนท่อนไม้ และจะเริ่มมีอาการกระตุกเป็นระยะๆ ทั้งตัวอีกครั้งหนึ่ง ในระยะชักผู้ป่วยอาจกัดลิ้นตัวเองหรือมีปัสสาวะและอุจจาระออกมาด้วย ระยะเวลาชักอาจสั้นเพียงหนึ่งนาทีก็ได้ บางรายอาจนานนับเป็นชั่วโมงแบบนี้อันตรายมาก ระยะหลังชัก ถ้าชักไม่นานผู้ป่วยจะรู้สึกตัว กลับมาทำอะไรได้ตามปกติได้โดยเร็ว แต่ถ้าชักนานผู้ป่วยจะนอนหลับหลังชักเป็นเวลานานๆ

หลักการรักษาลมบ้าหมู

1. ระมัดระวังปัจจัยที่ทำให้ชัก เช่น การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ กลัวหรือวิตกกังวล อาการไข้ แสงบางอย่าง เป็นต้น

2. ในเด็กที่มีอาการชักรุนแรง การฉีดวัคชีนป้องกันโรคโดยเฉพาะโรคไอกรน ควรรอไปก่อนจนกว่าจะควบคุมอาการชักได้ และควรจะเพิ่มยากันชักอีกเล็กน้อยในระหว่าง 3 วัน หลังฉีดวัคชีน

3. การออกกำลังกายหรือไปในที่หมิ่นเหม่ต่ออันตราย เช่น ปีนต้นไม้ ว่ายน้ำ ควรจะจำกัดในระยะ 3 เดือนแรก ถ้าควบคุมอาการชักได้ดีแล้ว ก็ให้ค่อยๆ เริ่มมีกิจกรรมต่างๆ เหมือนเด็กปกติทุกอย่าง ได้ตามสมควร

4. พยายามให้การดูแลและให้เด็กที่ชักมีกิจกรรมต่างๆ เหมือนเด็กปกติทุกอย่าง เพื่อป้องกัน ปัญหาทางจิตใจและอารมณ์

5. ปกติยาที่ให้มักเป็น ฟีโนบาร์บิทอล ขนาด 5-7 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัมต่อวัน ยาต้องให้นานอย่างน้อย 2-3 ปี หลังจากมีอาการชักครั้งสุดท้าย

อาการชักบางอย่างที่สามารถป้องกันได้ ได้แก่

1. อาการชักจากพิษสารตะกั่ว เด็กอาจได้รับสารตะกั่วจากสี ซึ่งใช่ทาของเล่นหรือทาบ้าน เมื่อได้รับนานๆ เข้า จะทำให้เกิดอาการชักได้ แบตเตอรี่รถยนต์มีตะกั่วอยู่มาก เด็กที่อยู่ในโรงงานแบตเตอรี่ หรือเคยปรากฏที่อำเภอพระประแดง ชาวบ้านเอาแบตเตอรี่ไปใช้เผาเป็นเชื้อเพลิง ทำให้เด็กที่อยู่ในบริเวณนั้นรับตะกั่วเข้าไปในร่างกาย มีอาการชักถึงแก่กรรมหันหลายคน เครื่องมือบางอย่าง เช่น เครื่องเจียระไนเพชรพลอยมีตะกั่ว เป็นส่วนประกอบการป้องกันโรคพิษตะกั่ว คือ ต้องหลีกเลี่ยงจากสารตะกั่วในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เมื่อเร็วๆ นี้ มีหนังสือพิมพ์ลงข่าวเรื่องบ้านผีสิงที่จังหวัดระยอง มีผู้ป่วยชักไม่รู้สึกตัวถึงแก่กรรมไปหลายคน จากการสำรวจพบว่า น้ำในบ่อที่ใช้อยู่มีสารตะกั่วมากถึงขีดเป็นอันตราย ทางราชการจึงปิดบ่อนั้นเสีย

2. อาการชักจากพยาธิขึ้นสมอง เกิดจากการกินเนื้อซึ่งไม่สุก เช่น หอยโข่ง หมู วัว ปลา ซึ่งมีพยาธิอยู่ ฉะนั้นการกินอาหารจำพวกเนื้อ จึงต้องต้มให้สุก

3. อาการชักจากวัณโรคเยื่อหุ้มสมอง และบาดทะยัก สองโรคนี้สามารถให้วัคซีนป้องกันได้ ดังได้กล่าวไว้แล้วในหมอชาวบ้านครั้งก่อนๆ

4. สมองอักเสบ จากเชื้อไวรัส โรคนี้ติดต่อโดยทางยุง ฉะนั้นต้องระวังอย่าให้ยุงกัดเด็ก ทั้งกลางวันและกลางคืน และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

5. ตัวเหลืองในเด็กเกิดใหม่ เด็กเกิดใหม่ที่มีตัวเหลืองมากๆ เนื่องจากมีสารสีเหลืองชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการทำลายของเม็ดเลือดแดงที่เรียกว่า บิลิรูบิน (bilirubin) ไปจับในสมองจะทำให้เด็กมีอาการชัก และอัมพาตไปตลอดชีวิตได้ ฉะนั้นถ้าสังเกตเห็นเด็กมีตัวเหลือง ควรเอาเด็กไปไว้ใกล้หน้าต่างให้รับแสงสว่าง (แต่อย่าเอาไปตากแดด) จะช่วยลดอาการเหลืองได้ แต่ถ้าเหลืองมากขึ้น ควรพาไปหาแพทย์เพราะอาจต้องการการเปลี่ยนเลือด

6. ภาวะขาดอ๊อกซิเจน เช่น เด็กคลอดออกมาไม่หายใจ ต้องรีบให้การแก้ไขทางเดินหายใจให้สะดวกโดยด่วน ฉะนั้น ควรไปฝากครรภ์และคลอดกับผดุงครรภ์ หรือหมอตำแย ซึ่งได้รับการอบรมมาเป็นอย่างดีแล้ว ไม่ควรทำคลอดเองหรือคลอดกับหมอตำแยที่ไม่มีความรู้เพียงพอ

7. การชักจากอารมณ์ เช่น ในเด็กเล็กที่โกรธแล้วร้องไห้จนนิ่งไป ทำให้เด็กหยุดการหายใจ และสมองขาดอ๊อกชิเจนทำให้เกิดอาการชัก (breath holding spells) และเป็นอันตรายต่อสมองได้ ในเด็กโตที่มีความผันผวนทางอารมณ์ ทำให้ชักที่เรียกติดปากว่า ฮีสทีเรีย (hysteria) แท้ที่จริงโรคนี้ไม่ได้เกิดจากความรู้สึกรุนแรงทางเพศ การป้องกันจึงขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดและเข้าใจถึงจิตใจและอารมณ์ของเด็ก

นอกจากนี้มีสาเหตุอื่นๆ อีกมากที่ทำให้เกิดอาการชักในเด็กได้ เช่น ภาวะติดเชื้อในศีรษะ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อต่างๆ ฝีในสมอง ไข้จับสั่น เลือดออกในสมองจากการกระทบกระแทก หรือความปกติทางเลือด เนื้องอกในสมอง ความดันหิตโลหิตสูง เช่น จากโรคไต ภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงของสารบางอย่างในเลือด เช่น น้ำตาล, แคลเซี่ยม, เกลือแร่ต่างๆ ในเลือดต่ำหรือสูงเกิน ความพิการของสมองแต่กำเนิด โรคเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์โดยด่วน

ข้อมูลสื่อ

11-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 11
มีนาคม 2523
นพ.ปรีชา วิชิตพันธ์