• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาแก้แพ้

ยาแก้แพ้

“มีสารมากมายหลายชนิดในโลกนี้ ที่สามารถทำให้คนเราเกิดอาการแพ้ได้”

พวกเราคงเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วว่า คนนี้แพ้ฝุ่น คนนั้นแพ้ยา บางคนก็แพ้อากาศ แพ้อาหารทะเล แพ้เสื้อผ้าที่ทำจากไนล่อน แพ้ผ้าห่ม แพ้ขนสัตว์ แพ้เครื่องสำอาง แพ้เกสรดอกไม้ ฯลฯ มีสารมากมายหลายชนิด ในโลกนี้ที่สามารถทำให้คนเราเกิดอาการแพ้ได้ แล้วแต่ว่าใครจะแพ้อะไร ถ้าเราแพ้สารชนิดใดชนิดหนึ่ง ร่างกายก็จะมีปฏิกิริยาต่อต้านสิ่งนั้น และปฏิกิริยานี้ก็ปรากฏออกมาในรูปของอาการแพ้

ลักษณะของอาการแพ้

อาการแพ้อาจเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย สร้างความรำคาญแก่เรา ทำให้เราดำรงชีวิตอย่างไม่สงบสุขนัก เช่น อาการแพ้ที่แสดงออกมาในรูปของอาการเป็นผื่น แดง คัน หรือบวมขึ้นมา อาการดังกล่าวนี้อาจเกิดเฉพาะที่ คือ เกิดขึ้นเฉพาะบริเวณที่สัมผัสถูกต้องกับสารต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น การแพ้เครื่องสำอาง พวกครีมทาหน้า ครีมลอกสิวฝ้า ทำให้ใบหน้ามีอาการเป็นผื่นแดงบวมเห่อขึ้นมา การแพ้เสื้อชั้นในที่ทำด้วยไนล่อน ทำให้บริเวณที่สัมผัสกับเสื้อชั้นในนั้น เป็นผื่นแดงขึ้นมาคล้ายเป็นโรคผิวหนัง ฯลฯ หรืออาจจะกระจัดกระจายไปทั่วตัว ในลักษณะของผื่นลมพิษ

นอกจากนี้ อาการแพ้ยังแสดงออกมาในรูปของการเป็นหวัดแพ้อากาศ มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล (น้ำมูกมักจะมีลักษณะใสและไม่มีสี) ไอ จาม คันคอ ถ้าอาการแพ้รุนแรงหน่อย ก็อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหอบ เหนื่อย หายใจไม่ออก (เช่น คนเป็นหืด) ในกรณีที่อาการแพ้รุนแรงมาก จะเกิดอาการความดันเลือดลดตัวลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายตกอยู่ในภาวะช็อค เป็นลมหมดสติ และอาจถึงแก่ความตายได้ ถ้าแก้ไขไม่ทันท่วงที

วิธีแก้ไขและป้องกันอาการแพ้

1. ถ้าทราบว่าตนเองแพ้สารอะไร ให้หลีกเลี่ยงจากสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้นั้นๆ เช่น แพ้ฝุ่น ก็ให้พยายามอยู่ในที่ๆ ไม่มีฝุ่น หรือมีฝุ่นน้อย แพ้ผ้าห่มที่ทำจากขนสัตว์ ก็ให้ใช้ผ้าห่มชนิดอื่นแทน แพ้กุ้ง ปู ปลา หรืออาหารทะเล ก็งดเว้นเสีย ให้กินอาหารชนิดอื่น

ที่สำคัญที่สุดที่ขอกล่าวในที่นี้ คือ เรื่องของการแพ้ยา ถ้ากินยา ทายาหรือใช้ยาตัวใดแล้ว มีอาการเป็นผื่นแดงคัน บวม คลื่นไส้ อาเจียนมาก ใจสั่น ใจเต้นรัว หอบ เหนื่อย หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก ฯลฯ ถ้ามีอาการเหล่านี้ (แต่ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ) ให้หยุดใช้ยาชนิดนั้นทันทีและเลิกใช้ยานั้นอีกต่อไป เพราะถ้าใช้อีกก็จะเกิดอาการแพ้อีก และยาบางชนิด เช่น เพนนิซิลลิน ถ้าใช้ชนิดกิน อาการแพ้จะไม่รุนแรงมากนัก อาจเป็นเพียงผื่นคัน แต่ถ้าฉีดแล้วจะเกิดอาการแพ้รุนแรงทำให้ช็อค และตายได้

นอกจากนี้ตัวผู้ที่แพ้ยาเอง ตลอดจนญาติพี่น้องผู้ใกล้ชิด ควรช่วยกันจดจำไว้ด้วยว่า ผู้ป่วยคนนั้นแพ้ยาชื่ออะไร ถ้าไม่ทราบ ควรสอบถามจากแพทย์ผู้ให้ยา หรือร้านที่จ่ายยานั้นๆ มาให้ เพื่อที่ว่าจะได้แจ้งให้แพทย์ทราบได้ว่า แพ้ยาชนิดนั้นๆ ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น เพื่อว่าแพทย์จะได้เลี่ยงไปใช้ยาตัวอื่นแทน ในกรณีที่ต้องใช้ยาที่แพ้ตัวนั้นในการรักษา

แต่ในกรณีที่เกิดอาการแพ้ขึ้นโดยที่ยังไม่ทราบว่าแพ้อะไร หรือไม่เคยมีอาการแพ้เกิดขึ้นมาก่อน เราก็จำเป็นต้องค้นหาสารต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ควรลองนึกทบทวนดูว่า ได้ใช้อะไรใหม่ในระยะนั้นหรือไม่ ถ้าใช่ ก็สันนิษฐานได้ว่า อาจแพ้ของสิ่งนั้น ควรหยุดใช้สิ่งนั้น ถ้าแพ้สิ่งนั้นแน่ อาการแพ้จะค่อยๆ ทุเลาหายไปได้เอง แต่ถ้าหาสาเหตุไม่ได้ ก็ต้องไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำการทดสอบดูว่า เราแพ้สารอะไรกันแน่ และหลีกเลี่ยงให้พ้นจากสิ่งนั้นเสีย

2. ในกรณีที่หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้ไม่ได้ เราก็ต้องใช้วิธีใหม่ คือ หาวิธีทำให้ร่างกายเกิดความเคยชิน หรือ ยอมรับสิ่งนั้น ไม่ต่อต้านสิ่งนั้น โดยการกระตุ้นให้ร่างกายคุ้นเคยกับสิ่งที่เคยแพ้ทีละนิดๆ นานวันเข้า ร่างกายจะเคยชิน ไม่ต่อต้านสิ่งนั้นอีก อาการแพ้จะหยุดลง อันที่จริง พวกเราหลายคนก็คงจะเคยใช้วิธีนี้มาบ้างแล้ว เช่น ในคนบางคน ที่ไม่เคยดื่มเหล้า เบียร์ หรือ เครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ ครั้งแรกๆ จะเกิดอาการผื่นแดงคันทั่วตัว เราก็มักจะพูดว่า ต้องกินต่อให้ผื่นหาย วิธีนี้ก็เป็นหลักการเดียวกับที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น คือ ค่อยๆ สร้างความเคยชินให้ร่างกายยอมรับแอลกอฮอล์ หรือ เหล้า หรือ เบียร์ นั้น เพียงแต่ถ้าเราแพ้สารอื่น เช่น ฝุ่นละออง อาหารทะเล ขนสัตว์ ฯลฯ นั้น วิธีการที่จะทำให้ร่างกายเกิดความเคยชินค่อนข้างยุ่งยาก และต้องอาศัยการวินิจฉัย และรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

3. การใช้ยา ยาที่ใช้รักษาอาการแพ้มีหลายชนิด ได้แก่

3.1 ยาแก้แพ้หรือแอนตี้ฮีสตามิน (Antihistamine) เป็นยาแก้แพ้โดยตรง เช่น คลอร์เฟนิรามีน บรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine) ฯลฯ ใช้ลดน้ำมูก แก้อาการคัดจมูก เวลาเป็นหวัดหรือแพ้อากาศกับบรรเทาอาการแพ้ต่างๆ

3.2 ยาพวกสเตอรอยด์ เช่น เพร็ดนิโซโลน เด๊กซ่าเมธาโซน ฯลฯ ยาพวกนี้เหมาะที่จะใช้เป็นยาแก้แพ้ในรูปของยาทา เพื่อรักษาบรรเทาอาการแพ้ทางผิวหนัง ไม่ควรใช้กินยา เพราะเป็นยาที่มีอันตรายสูงมาก

3.3 แอดรีนาลีน ใช้แก้โรคหืดหอบ และอาการช็อคของร่างกายกะทันหัน จากการแพ้ยา เช่น แพ้ยาฉีดเพนนิซิลลิน ฯลฯ ยาที่ใช้ ใช้ความเข้มข้น 1:1,000, 0.2-0.5 ซี.ซี. ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ควรมีเตรียมไว้ให้พร้อม เผื่อจะต้องแก้ไขอาการช็อคจากการแพ้ยา จะได้มียาใช้ทันท่วงที

ยาแก้แพ้ที่ควรรู้จักและพอจะหาซื้อมาใช้ได้เอง

1. ยาแก้แพ้คลอร์เฟนิรามีน มีทั้งชนิดเม็ด และชนิดน้ำ ชนิดเม็ดจะมีตัวยา เม็ดละ 4 มิลลิกรัม ชนิดน้ำจะมีตัวยา 2-2.5 มิลลิกรัม ต่อช้อนชา (หรือ 5 ซี.ซี.)

ยาแก้แพ้คลอร์เฟนิรามีน เหมาะสำหรับใช้แก้อาการแพ้จากสาเหตุต่างๆ เช่น แพ้ยา แพ้อาหาร หรือ แพ้สารอื่นๆ ซึ่งทำให้มีอาการเป็นลมพิษ ผื่นคัน แพ้อากาศ ช่วยลดน้ำมูก แก้อาการคัดจมูกเมื่อเวลาเป็นหวัด ยานี้เหมาะที่จะใช้ลดน้ำมูกในระยะเริ่มเป็นหวัด มีน้ำมูกใส ไม่ควรใช้เมื่อน้ำมูกข้นเหนียว เพราะจะยิ่งทำให้น้ำมูกนั้นยิ่งข้นเหนียวขึ้น

  • ผู้ใหญ่ ให้กินยานี้ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง, หลังอาหาร และก่อนนอน
  • เด็ก ควรให้กินชนิดน้ำเชื่อม ครั้งละ 1 ช้อนชา วันละ 3-4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน

ข้อควรระวังสำหรับการใช้ยานี้

(รวมทั้งยาอื่นๆ ที่เป็นยาแก้แพ้ผสมอยู่ด้วย)

1. ยานี้ทำให้ง่วงนอนได้ ดังนั้น เมื่อกินยานี้แล้ว ไม่ควรทำงานควบคุมเครื่องจักร หรือขับขี่รถยนต์เพราะจะทำให้เกิดอันตรายได้

2. กินยานี้แล้ว ห้ามกินยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ดื่มเหล้า เบียร์ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เจือปน เพราะอาจกดระบบประสาทจนทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

3. ยานี้มักมีผสมในยาแก้หวัดชนิดต่างๆ ที่มีขายตามท้องตลาด ดังนั้นเวลากินยาแก้หวัด จึงควรปฏิบัติตนเหมือนยาแก้แพ้เช่นกัน

4. ในเด็ก ไม่ควรให้ยาชนิดนี้มาก ควรให้เพียงขนาดน้อย เพราะถ้าให้ยาขนาดสูงไป จะทำให้เด็กเกิดอาการกระวนกระวาย และบางรายอาจถึงกับชักได้

ยานี้มีราคาค่อนข้างถูก ชนิดเม็ดขององค์การเภสัชกรรม ราคาเม็ดละ 5 สตางค์ ชนิดน้ำเชื่อม ขวดละ 60 ซี.ซี. ราคา 5 บาท

2. ขี้ผึ้งเพร็ดนิโซโลน ขององค์การเภสัชกรรม (ชนิดหลอด 5 กรัม ราคา 5 บาท, 15 กรัม ราคา 10 บาท) เป็นยาขี้ผึ้งสำหรับทาภายนอก เหมาะที่ใช้ทารักษาอาการผื่นคัน ที่เกิดจากแพ้สารต่างๆ เวลาใช้ให้ทาบางๆ บริเวณที่เป็นผื่นคันต่างๆ ควรจะดีขึ้น ภายใน 3-4 วัน ควรทายาต่อจนอาการผื่นหายสนิทดี แต่ถ้าจะใช้ยานี้กับเด็กต้องระวัง ควรใช้แต่เพียงเล็กน้อย และไม่ควรทาเป็นบริเวณกว้าง เพราะผิวหนังเด็กยังอ่อน ยาจะถูกดูดซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่ร่างกายได้ ทำให้เกิดผลเสียแก่ร่างกายได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าเด็กมีผื่นขึ้นบริเวณกว้าง ควรพาไปให้หมอตรวจดู

นอกจากนี้ ยังมียาแก้แพ้อีกตัวหนึ่ง ซึ่งเรานำมาใช้กินแก้เมารถ เมาเรือ คลื่นไส้ อาเจียน เวลาเดินทาง ยานี้ คือ ยาเม็ดไดเมนฮัยดริเนต (Dymenhydrinate) ให้ใช้ครั้งละ 1 เม็ด เวลาจะเดินทาง แต่ใช้แล้วอาจมีอาการง่วงซึมได้ บางคนอาจง่วงหลับไปเลย เวลากินยานี้จึงต้องระวังเช่นเดียวกับกินยาแพ้ตัวอื่น

อาการแพ้ และยาแก้แพ้ที่กล่าวมาตั้งแต่ต้น เราไม่ได้หมายรวมถึง อาการแพ้ท้อง และยาแก้แพ้ท้องด้วย กรณีที่มีอาการแพ้ท้อง ในหญิงที่เริ่มตั้งท้องในช่วง 3-4 เดือนแรก ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการใช้ยา (รวมทั้งยาแก้แพ้ท้องและยารักษาโรคทุกชนิด) เพราะยาหลายชนิดเป็นอันตรายต่อทารกในท้อง ทำให้ทารกพิกลพิการได้ หากแพ้ท้องไม่มาก ก็ไม่ต้องกินยาแก้แพ้ นอกจากมีอาการแพ้มาก ก็ให้กินยา “วิตามินบี 6”

ข้อมูลสื่อ

11-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 11
มีนาคม 2523
ยาน่าใช้
ภก.พนิดา จารุศิลาวงศ์