• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกาย (ต่อ)

12. การตรวจร่างกาย (ต่อ)

ก. การตรวจร่างกายทั่วไป (ต่อ)

นอกจากลักษณะหน้าตาแบบหน้ากระดูก หน้าอ้วน หน้ากลม หน้าบวม หน้าฉุ หน้าดุ หน้าเฉยและหน้าเสพติด ที่ได้กล่าวถึงในฉบับก่อนแล้ว ยังมีลักษณะหน้าตาบางอย่างที่ทำให้นึกถึงความผิดปกติต่างๆ ได้อีกเช่น

3.7 หน้าขาว : คือ ผิวพรรณของหน้าที่ดูซีดกว่าปกติ ไม่ว่าคนๆ นั้นจะมีผิวขาว ผิวดำ ผิวแดงดำหรืออื่นๆ (โดยปกติคนที่ผิวขาวหน้าจะเป็นสีชมพู ไม่ใช่สีขาวซีด ดังนั้นถ้ามีสีขาวซีดแสดงว่าผิดปกติ)

คนที่หน้าขาวซีด อาจจะเกิดโรคโลหิตจาง (โรคเลือดจาง) ซึ่งหมายถึงภาวะที่มีเม็ดเลือดแดงน้อย หรือเม็ดเลือดแดงไม่แดงเท่าที่ควร เพราะขาดเหล็กหรือแร่ธาตุอื่นๆ หรือเกิดจากเส้นเลือดในบริเวณหน้าตีบตัว ทำให้มีเลือดไปเลี้ยงบริเวณหน้าน้อย เช่น เวลาตกใจ เวลาเป็นลม เวลาช็อค หรือเกิดจากเป็นด่างขาวทั่วทั้งหน้า ซึ่งพบน้อยมาก (ส่วนมากถ้าเกิดด่างขาวมักจะเกิดเพียงบางส่วนของหน้า ทำให้เกิดเป็นหน้าด่างมากกว่าที่จะเกิดเป็นแบบหน้าขาวซีด)

“ประชาชนทั่วไปสามารถจะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเอง และญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบบ่อยๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษพิสดารอะไรเรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด”จะส่งเสริมวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองจนเป็นหมอได้ เราจะเสนอท่านเป็นประจำเริ่มลงตั้งแต่ฉบับที่1 ปีที่1”

3.8 หน้าแดง : คือ ผิวพรรณของหน้าที่ดูแดงก่ำกว่าปกติ ไม่ว่าคนๆ จะมีผิวขาว ผิวดำ ผิวแดงดำ หรืออื่นๆ

คนที่หน้าแดงก่ำกว่าปกติ อาจจะเกิดจากเม็ดเลือดแดงมาก ซึ่งพบได้ในคนที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจแต่กำเนิดบางชนิด โรคตับหรือโรคไตบางชนิด หรือโรคเม็ดเลือดแดงมากโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือเกิดจากความผิดปกติในเม็ดเลือดแดง (ในส่วนประกอบของเม็ดเลือด) เช่น เวลาหายใจเอาก๊าซหุงต้ม หรือก๊าซจากท่อไอเสียรถยนต์ เข้าไปมากๆ

นอกจากนั้น คนที่หน้าแดงก่ำกว่าปกติ อาจจะเกิดจากภาวะเลือดขึ้นหน้า เช่น เวลาโกรธ (คนบางคนเวลาโกรธหน้าอาจจะขาวซีดก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะหน้าแดง) เวลากินเหล้าหรือกินยาบางอย่างที่ทำให้เลือดขึ้นหน้า หรืออื่นๆ

แต่ต้องระวังอย่าไปปะปนกันกับพวกที่มีผื่นแดงที่หน้า เพราะการมีผื่นแดงที่หน้ามากๆ อาจทำให้หน้ามีลักษณะแดงก่ำได้ วิธีสังเกต พวกที่เป็นผื่นแดง จะเห็นลักษณะของผื่น (ลักษณะขรุขระหรือเป็นปื้น หรือลักษณะผิวที่ดูหยาบและฟูๆ ซึ่งผิดกับคนที่หน้าแดงซึ่งผิวหนังจะไม่มีผื่น

3.9 หน้าดำ : คือ ผิวพรรณของหน้าที่ดูดำกว่าปกติ คนปกติที่ผิวดำหรือคนผิวขาวที่ถูกแดดหน้าก็จะดำได้ แต่เป็นลักษณะดำแบบปกติจึงต้องฝึกสังเกตสีของหน้าเป็นประจำเพื่อจะได้สามารถแยกสีที่ผิดปกติออกจากสีที่ปกติได้อย่างง่ายดาย (เพราะรูปถ่ายจะไม่สามารถถ่ายทอดสีที่ผิดปกตินี้ได้เหมือนของจริง) ลักษณะหน้าดำ (ที่ผิดปกติ) นี้อาจจะแบ่งออกเป็น

ก. หน้าดำของโรคตับ ซึ่งพบในคนที่เป็นโรคตับเรื้อรังสีของหน้ามักจะเป็นสีดำออกแดง แต่ถ้าคนไข้มีอาการตาเหลืองตัวเหลืองด้วย สีของหน้าจะเป็นสีดำ-ปนเหลือง แขนและขาส่วนที่ถูกแดดก็จะดำเช่นเดียวกัน

ถ้าเห็นท้องโต(ท้องมาน)และเท้าบวมทั้ง2ข้างด้วยก็ยิ่งช่วยสนับสนุนว่าเป็นโรคตับเรื้อรังที่เป็นมากแล้ว

ข. หน้าดำจากโรคไต ซึ่งพบในคนที่เป็นโรคไตเรื้อรัง จนร่างกายมีของเสียต่างๆ คั่งอยู่มาก สีของหน้ามักจะเป็นสีเทาปนดำ ถ้าคนไข้ซีดด้วย (คนไข้โรคไตเรื้อรังที่เป็นมากๆจะซีดเพราะร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงไม่ได้) หน้าจะเป็นสีเทาซีด

นอกจากสีที่เปลี่ยนไปแล้ว ผิวหน้าจะมีลักษณะเป็นขุยๆ สกปรกคล้ายมีทรายละเอียดๆ ประๆ อยู่หนังตาและหน้าอาจจะบวมหรือดูฉุๆ คนไข้มักจะผอม ซึม และมีอาการสะอึกหรือคลื่นไส้-อาเจียนด้วย

ค. หน้าดำจากโรคต่อมหมวกไต ซึ่งพบในคนที่ต่อมหมวกไต (ดูรูปที่ 1) ทำงานน้อยกว่าปกติ เช่น ในคนที่เป็นวัณโรคหรือโรคติดเชื้อของต่อมหมวกไต ในคนที่ใช้ยาเพร็ดนิโซโลน (หรือยาอ้วน ยาแก้หืด ฯลฯ ที่ผสมยาเพร็ดนิโซโลน) แล้วหยุดยากะทันหันหรือเกิดไม่สบายด้วยโรคอื่นขึ้นมา ในคนที่ตกเลือดอย่างรุนแรงหลังคลอด เป็นต้น

สีของหน้ามักจะเป็นสีดำคล้ำ รวมทั้งแขนขาและฝ่ามือฝ่าเท้า แม้แต่ลายมือ (ลายบนฝ่ามือและฝ่านิ้วมือ)โดยเฉพาะลายใหญ่ๆ หนาๆ ก็จะกลายเป็นสำดำด้วย (ปกติฝ่ามือและลายมือจะเป็นสีชมพูอ่อน หรือในคนที่ทำงานหนักจนฝ่ามือด้าน (สีเหลืองอ่อน) คลุมอยู่ ริมฝีปาก เยื่อบุในปากและลิ้น ก็จะดำเช่นเดียวกัน

คนไข้ที่ต่อมหมวกไตทำงานน้อยลงมาก จะซูบผอมอ่อนเพลีย ขนรักแร้และขนที่หัวหน่าว จะหลุดร่วงไป ในผู้หญิงเต้านมจะฝ่อเล็กลงด้วย

ง. หน้าดำจากการขาดอาหาร ซึ่งพบในคนที่ขาดอาหารบางชนิด เช่น พวกขาดวิตามินบีห้าหรือไนอะซิน (Niacin) ที่มีชื่อโรคว่าเพลลากร้า (Pellagra) หรือพวกที่ขาดอาหารหลายอย่างที่มีชื่อโรคว่า เพลลากรอยด์ (Pellagroid) ซึ่งในโรคหลังนี้หน้ามักจะไม่ดำ สีของหน้าในโรคขาดวิตามินบีห้าจะเป็นสีดำเกรียม คล้ายถูกไฟไหม้คอและแขนขาส่วนที่ถูกแดดก็จะดำเกรียมเช่นเดียวกัน อาจมีแผลแตกและผิวหนังหลุดลอกแบบถูกไฟไหม้ด้วย (ดูรูปที่ 2 และ 3)

 

 

จ. หน้าดำจากสาเหตุอื่น เช่น โรคผิวหนังหลายชนิดเมื่อเป็นที่หน้าแล้วอาจทิ้งรอยไว้ ทำให้เกิดเป็นลักษณะหน้าดำได้ คนที่เป็นโรคเรื้อรังนานๆ หรือคนที่ใกล้จะตายก็อาจจะมีสีของหน้าคล้ำขึ้นหรือดำขึ้นได้

3.10 หน้าเหลือง : คือ ผิวพรรณของหน้าที่ดูเหลืองกว่าปกติ คนที่ผิวขาว (ขาวเหลือง) เวลาอยู่ในบ้านและไม่ถูกแดดเป็นเวลานานๆ ก็อาจจะทำให้ดูเหลืองได้

หน้าที่ดูเหลืองผิดปกติ ที่ไม่ใช่เกิดจากสีหรือขมิ้นทาแล้ว มักเกิดจาก

ก. หน้าขาว (ดูหัวข้อ 3.7) คือ คนที่ซีดเพราะโลหิตจางจะแลดูเหลืองนิดๆ ด้วย

ข. หน้าเหลืองจริงๆ ซึ่งอาจเกิดจากภาวะดีซ่าน เช่น ในโรคตับ โรคนิ่วในท่อน้ำดี โรคเม็ดเลือดแดงแตก ซึ่งจะทำให้มีอาการตัวเหลืองและตาเหลืองด้วย หรืออาจเกิดจากกินผลไม้ที่มีสีเหลืองหรือสีแดง เช่น ฟักทอง มะละกอ หัวผักกาดแดง ซึ่งจะทำให้มีอาการตัวเหลืองด้วยแต่ตาจะไม่เหลือง

3.11 หน้าเขียว : คือ ผิวพรรณของหน้าที่เป็นสีม่วงดำหรือม่วงปนน้ำเงิน แต่เรามักจะเรียกกันว่า “เขียว” เช่น ถูกบีบคอจนหน้าเขียว หรือหายใจไม่ออกจนหน้าเขียว เป็นต้น

นั่นคือ คำว่า “เขียว” ในที่นี้ ไม่ใช่สีเขียว แต่หมายถึงสีม่วงดำหรือม่วงปนน้ำเงิน ซึ่งเกิดจาก เลือดขาดออกซิเจน ทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายเป็นสีดำ (สีม่วงดำ) จึงทำให้หน้าตา ริมฝีปาก ปลายมือ ปลายเท้า โดยเฉพาะที่เล็บมือเล็บเท้าเขียวไปด้วย

คนที่หน้าเขียวจึงเกิดจากเลือดขาดออกซิเจนซึ่งอาจจะเป็นเพราะโรคหัวใจ โรคปอด โรคเม็ดเลือดแดงผิดปกติ ภาวะช็อค หรือภาวะที่เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายไม่เพียงพอ

การสังเกตสีหน้าจึงช่วยให้รู้ว่าคนไข้เป็นโรคอะไรได้ ถ้าพยายามฝึกฝนตนเองเป็นประจำจนสามารถใช้ตาให้เป็นประโยชน์ในการตรวจร่างกายให้มากขึ้น ก็จะช่วยให้เป็นหมอที่เก่งขึ้น เพราะสามารถวินิจฉัยโรคได้รวดเร็วขึ้น

ข้อมูลสื่อ

12-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 12
เมษายน 2523
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์