• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บุหรี่ : ยาพิษที่ทำให้ตายผ่อนส่ง

บุหรี่ : ยาพิษที่ทำให้ตายผ่อนส่ง

การซื้อบุหรี่สูบนั้นเอาเงินไปโยนทิ้งน้ำเสียยังดีกว่า

มนุษย์เรานิยมการสูบบุหรี่มาตั้งแต่สมัยโบราณ จนในปัจจุบันนี้ก็ยังมีผู้สูบบุหรี่เป็นจำนวนมาก จะเห็นได้ว่าโรงงานผลิตบุหรี่ทุกแห่งทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่ง สามารถขายบุหรี่ได้เป็นร้อยเป็นพันล้านบาท ในเวลาเดียวกัน ก็มีผู้พยายามคัดค้านและชี้แจงเรื่องอันตรายของการสูบบุหรี่ต่อสุขภาพของมนุษย์ จากทุกมุมโลกมาเป็นเวลาช้านาน ในประเทศไทยนั้น ตั้งแต่ผู้เขียนยังเป็นเด็ก จำได้ว่าท่านเจ้าคุณภักดีนรเศรษฐ์เคยลงโฆษณาคัดค้านการสูบบุหรี่ในหนังสือรายเดือนบางเล่ม มีใจความว่า “การซื้อบุหรี่สูบนั้น เอาเงินไปโยนทิ้งน้ำเสียยังดีกว่า” ผู้เขียนคิดว่าท่านหมายความว่า การสูบบุหรี่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์เรา ถ้าเอาเงินค่าบุหรี่ไปโยนทิ้งน้ำยังจะดีกว่า เพราะในบางครั้ง อาจมีคนไปงมเอาเงินนั้นมาใช้ได้อีก ต่อมาเมื่อผู้เขียนเติบโตขึ้นและได้มีโอกาสมาทำงานในวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้ตระหนักว่า อันตรายของการสูบบุหรี่ต่อสุขภาพของมนุษย์เรานั้น มีมากมาย จนในปัจจุบันนี้ เมื่อผู้เขียงมองเห็นคนที่กำลังสูบบุหรี่ ทำให้เกิดความรู้สึกสงสารว่า คนคนนั้นกำลังนำเอาพิษภัยอันตรายให้แก่สุขภาพของตนเองโดยไม่จำเป็นเลย

พิษที่มีอยู่ในบุหรี่

ควันของบุหรี่ ประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิดด้วยกัน เช่น นิโคติน, น้ำมันดิน, แอมโมเนีย, แคดเมี่ยมและก๊าซคาร์บอนโมน็อกไซด์ ฯลฯ

นิโคติน เป็นส่วนประกอบที่ทำให้มีการติดบุหรี่ เมื่อเลิกสูบบุหรี่จะก่อให้เกิดอาการผิดปกติได้ระยะหนึ่ง ทั้งนี้เพราะสารนิโคติน ไปกระตุ้นหรือไปกดประสาทก็ได้ อาการที่เกิดขึ้นมากน้อยแล้วแต่จำนวนและระยะเวลาที่สูบบุหรี่

สารที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น สารพวกเบ๊นซไพรีน พบได้ในส่วนที่เป็นน้ำมันดินของควันบุหรี่ สารพวกนี้ได้เคยมีการทดลองนำไปสัมผัสกับผิวหนังหรือทางเดินลมหายใจของสัตว์ทดลอง ก็ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้

สารเคมีพวกอื่นที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองในระบบทางเดินลมหายใจ สารเหล่านี้เมื่อเข้าไปในหลอดลมเป็นต้นเหตุทำให้มีการหลั่งเอาน้ำเมือกหรือมิวคัส ออกมาจากเนื้อเยื่อที่บุหลอดลม ทำให้หลอดลมหดรัดตัวและมีขนาดเล็กลง นอกจากนั้น ยังทำให้คุณสมบัติในการขับถ่ายสิ่งแปลกปลอมออกจากหลอดลมเสื่อมลง การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ อาจทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือโรคมะเร็งของปอดได้

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นส่วนประกอบร้อยละ 1-5 ของควันบุหรี่ สารฮีโมโกลบิน ในเม็ดเลือดแดงของมนุษย์ มีหน้าที่สำคัญในการรับเอาก๊าซอ๊อกซิเจน (อากาศดี) ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย สารฮีโมโกลบินนี้จะรับก๊าซคาร์บอนโมน็อกไซด์ได้ดีด้วย ในคนสูบบุหรี่จึงทำให้สารฮีโมโกลบินรับก๊าซอ๊อกซิเจนน้อยลง ทำให้ร่างกายขาดอ๊อกซิเจน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำงานของเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย ดังนั้นจะพบว่า คนที่สูบบุหรี่มีสมรรถภาพในการออกกำลังกายน้อยลงก๊าซคาร์บอนโมน็อกไซด์ยังเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคของหลอดเลือด ตัวอย่างเช่น โรคหลอดเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบตัน เป็นต้น ดังนั้นจะเห็นว่า คนที่สูบบุหรี่อาจมีอาการเจ็บหน้าอกเวลาออกแรง นอกจากนั้นแล้วยังอาจทำให้เกิดการผิดปกติเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ด้วย

บุหรี่ทำให้อายุสั้น

มีรายงานเกี่ยวกับอันตรายของการสูบบุหรี่ ที่น่าเชื่อถือได้ดีจากประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2520 เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ของแพทย์ ได้รายงานไว้ว่า พวกแพทย์เพศชายอายุ 35-65 ปี ที่สูบบุหรี่มีอันตรายด้วยโรคต่างๆ เป็นสองเท่าของแพทย์ที่ไม่สูบบุหรี่ ในรายงานนี้ยังได้กล่าวถึงการคำนวณในแง่สถิติไว้ว่าการสูบบุหรี่ทุกมวนทำให้อายุสั้นลงประมาณ 5½ นาทีและได้กล่าวว่า อันตรายของการสูบบุหรี่ต่อสุขภาพของผู้ที่สูบบุหรี่ จะลดลงเท่ากับคนที่ไม่สูบบุหรี่ ภายหลังที่เลิกสูบบุหรี่แล้ว 10-15 ปี

บุหรี่กับมะเร็งปอด

อันตรายของการสูบบุหรี่นั้น มีอยู่มากมาย ที่เห็นสมควรนำมากล่าวไว้ ได้แก่ โรคมะเร็งของปอด โรคมะเร็งของปอดนี้มีข้อเกี่ยวพันทางสถิติกับการสูบบุหรี่อย่างชัดเจน จะเห็นได้ว่า สถิติอัตราตายของโรคนี้เพิ่มมากขึ้นได้สัดส่วนกับอัตราการผลิตบุหรี่ที่เพิ่มขึ้นในทุกประเทศ มีรายงานการศึกษาทางแพทย์หลายแห่ง ที่แสดงว่า โรคมะเร็งของปอด พบเป็นคนสูบบุหรี่จัดประมาณ 5-50 เท่าของคนที่ไม่สูบบุหรี่

เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างโรงมะเร็งของปอดกับการสูบบุหรี่นี้ ผู้เขียนได้เคยทำการศึกษาในโรงพยาบาลศิริราช พบว่า ผู้ป่วยทั่วที่มารับการตรวจโรคในภาควิชาอายุรศาสตร์ ผู้ชายสูบบุหรี่ร้อยละ 64.5 ผู้หญิงสูบบุหรี่ร้อยละ 10.4 ในผู้ป่วยทั่วไป ผู้ชายอายุระหว่าง 40-70 ปี มีประวัติการสูบบุหรี่ร้อยละ 80 เมื่อเปรียบเทียบผู้ป่วยมะเร็งของปอด 250 รายพบว่า เป็นผู้ชายที่มีประวัติสูบบุหรี่ร้อยละ 92.4 ผู้หญิงสูบบุหรี่ร้อยละ 17.2 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในแง่สถิติอย่างชัดเจน

ในปัจจุบันนี้ โรคมะเร็งของปอดเป็นโรคที่ร้ายแรง และพบได้บ่อยมาก จัดว่าเป็นสาเหตุของการตายมากที่สุดในบรรดาโรคมะเร็งทั้งหลายของผู้ชาย ผู้ป่วยโรคมะเร็งของปอด มีอาการไอเรื้อรัง, เจ็บหน้าอก, น้ำหนักลด, เหนื่อยง่าย พบได้บ่อยในผู้ชาย อายุประมาณ 40 ปีหรือมากกว่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคนที่สูบบุหรี่จัดดังกล่าวโรคนี้ถ้าตรวจพบในระยะแรกเริ่ม อาจได้รับการรักษาหายได้ แต่ถ้ามาหาแพทย์ในระยะที่โรคนี้ลุกลามไปมาก ผู้ป่วยจะมีอาการทุกข์ทรมานเป็นอย่างยิ่ง และการรักษาได้ผลน้อยหรือไม่ได้ผลเลย

บุหรี่กับโรคหัวใจ

โรคที่เกี่ยวพันกับการสูบบุหรี่อีกพวกหนึ่ง ได้แก่ โรคหัวใจ และหลอดเลือด เป็นโรคที่พบได้บ่อยเช่นเดียวกัน เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยถึงแก่กรรมปีละมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคหัวใจ อันเนื่องจากหลอดเลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบตัน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ เป็นลมหรือถึงแก่กรรมได้ทันที โรคนี้พบได้ในคนสูบบุหรี่จัด ประมาณสามเท่าของคนที่ไม่สูบบุหรี่ อาการเริ่มแรกอาจมีอาการเหนื่อยง่าย หรือมีอาการเจ็บอกเวลาออกกำลังกาย ถ้าผู้ป่วยหยุดสูบบุหรี่จะพบว่าอาการเหล่านี้ลดน้อยลง และถ้าหยุดสูบบุหรี่เกินกว่า 10 ปี จะมีอัตราตายจากโรคหลอดเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจน้อยลงเท่ากับคนปกติ นอกจากโรคของหลอดเลือดที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจแล้ว โรคหลอดเลือดที่ส่วนอื่นของร่างกายก็เกี่ยวพันกับการสูบบุหรี่ ตัวอย่างเช่น โรคหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองตีบตัน ทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคอัมพาตก็พบ ก็พบได้ในคนที่สูบบุหรี่จัด ถึงห้าเท่าของคนที่ไม่สูบบุหรี่ เป็นต้น

การสูบบุหรี่ทุกมวน ทำให้อายุสั้นลงประมาณ 5 ½ นาที

บุหรี่กับสารพัดโรค

โรคอื่นที่พบบ่อย ซึ่งมีข้อเกี่ยวกับการสูบบุหรี่อย่างชัดเจน ได้แก่ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและโรคถุงลมในปอดโป่งพอง ซึ่งพบได้บ่อยมากในคนที่มีประวัติสูบบุหรี่ โรคนี้เป็นเรื้อรัง มีอาการไอ, เหนื่อยหอบ, เวลาออกกำลังกาย ไม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างคนปกติ อาการของโรคนี้ จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนกระทั่งผู้ป่วยถึงแก่กรรมในที่สุด การเลิกสูบบุหรี่เป็นวิธีการที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยเหล่านี้

ผู้ที่สูบบุหรี่จัดจะพบมีอัตราการเป็น โรคแผลเปื่อยในกระเพาะอาหาร เป็นสองเท่าของคนที่ไม่สูบบุหรี่ นอกนนากนั้น ยังมีผู้ศึกษาพบว่า เด็กทารกที่เกิดจากมารดาที่สูบบุหรี่ จะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเด็กที่เกิดจากมารดาที่ไม่สูบบุหรี่ สารนิโคตรินและก๊าซคาร์บอนโมน็อกไซด์ในเลือดของมารดาที่สูบบุหรี่ อาจจะผ่านเข้าไปในกระแสเลือดของทารกในครรภ์ อาจทำให้เกิดความผิดปกติหรือทำให้เด็กถึงแก่กรรมในครรภ์ได้บ่อยกว่าเด็กที่เกิดจากมารดาที่ไม่สูบบุหรี่ นอกจากนั้น การสูบบุหรี่ยังมีอันตรายต่อสุขภาพได้อีกหลายอย่างด้วยกัน ได้แก่ โรคของฟันและเหงือก, โรคตา, โรคหืด รวมทั้งโรคติดเชื้อชนิดต่างๆ ซึ่งพบได้ในคนสูบบุหรี่จัด มากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ เป็นต้น

ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ แต่หายใจเอาควันบุหรี่เข้าไป เช่น ในรถยนต์ปรับอากาศหรือในห้องปรับอากาศที่มีคนสูบบุหรี่อยู่ ผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่เหล่านั้น ก็อาจมีอันตรายต่อหัวใจและปอดได้ ตัวอย่างเช่น มีผู้ศึกษาพบว่า ระดับก๊าซคาร์บอนโมน็อกไซด์ในเลือดของคนที่ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งนั่งอยู่ในรถยนต์ที่ปิดหน้าต่างหมดทุกด้าน จะเพิ่มขึ้นสองเท่า ถ้ามีผู้ที่สูบบุหรี่ในรถยนต์คันนั้นประมาณ 10 มวน ในหนึ่งชั่วโมง

การป้องกันอันตรายจากบุหรี่

ผลร้ายจากสารเป็นพิษชนิดต่างๆ ในบุหรี่ อาจลดน้อยลง ถ้าใช้บุหรี่ที่ทำจากสารอื่นแทนใบยาสูบ ใช้บุหรี่ก้นกรอง, หรือโดยการทำให้ควันบุหรี่เข้าในร่างกายลดน้อยลง เช่น โดยการเจาะรูเล็กๆ ที่กระดาษมวนบุหรี่ ให้ควันออกเสียบ้าง เป็นต้น

การป้องกันอันตรายจากบุหรี่ ได้แก่ การให้สุขศึกษาแก่เยาวชนและเด็กนักเรียนทั่วไป ให้ทราบถึงอันตรายที่จะเกิดจากการสูบบุหรี่ ครูและบิดามารดาเป็นผู้ที่มีความสำคัญในการแนะนำให้เด็กเข้าใจถึงผลร้ายของการสูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่ให้เป็นแบบอย่าง ควรมีกฎหมายบังคับไม่ให้มีการขายบุหรี่ให้แก่เยาวชน แพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข มีหน้าที่แนะนำให้ผู้ป่วยทั่วไป ทราบถึงอันตรายของบุหรี่ ควรจัดให้มีคลินิกเฉพาะสำหรับบำบัดผู้ที่ติดบุหรี่ออกกฎหมายห้ามมีการสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะต่างๆ อย่างจริงจัง เช่น ในโรงภาพยนตร์, รถประจำทาง ฯลฯ ห้ามมีการโฆษณาขายบุหรี่ในหน้าหนังสือพิมพ์, วิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ เป็นต้น

โรคมะเร็งของปอด พบเห็นในคนสูบบุหรี่จัด ประมาณ 5-50 เท่าคนที่ไม่สูบบุหรี่

เป็นที่รับรองกันทั่วไปแล้วว่า การสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ได้มากมาย เปรียบได้กับโรคระบาดต่างๆ ที่เคยทำลายชีวิตมนุษย์เป็นจำนวนมาก มาตั้งแต่อดีตกาล เพียงแต่ว่าอันตรายของการสูบบุหรี่ เกิดขึ้นช้าๆ ไม่มีอาการชัดเจนเท่านั้น ดั้งนั้นจึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ประชาชนทั่วไปจะต้องทราบถึงวิธีป้องกันและบำบัดรักษาอันตรายจากการสูบบุหรี่

ถ้ามีอาการหงุดหงิด, นอนไม่หลับ, ไม่มีสมาธิ ระหว่างอดบุหรี่ ให้กินยากล่อมประสาท เช่น ไดอาซีแพม (ขนาด 2 มิลลิกรัม และ 5 มิลลิกรัม เม็ดละ 15-20 สตางค์) ครั้งละ 1-2 เม็ด ซ้ำได้ทุก 8 ชั่วโมง

ข้อมูลสื่อ

12-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 12
เมษายน 2523
บทความพิเศษ
ศ.นพ.บัญญัติ ปริชญานนท์