• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

( ตอนที่ 6 )แขน

( ตอนที่ 6 )แขน

 

                     

แขนเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการดำรงชีวิต ธุรกิจการงานต่างๆต้องอาศัยแขนและมือในการเคลื่อนไหวประกอบการงานต่างๆ ทั้งสิ้น หากคนเราขาดแขนและมือแล้วจะกระทำการใดๆก็ดูเหมือนว่าจะไม่สมบูรณ์เสียเลย

สังเกตได้ง่ายๆ คนที่แขนขาดหรือมือขาดนั้นจะไม่สามารถกระทำการใดๆได้ดีเท่าคนที่มีแขนและมือของตนเองอยู่ครบถ้วน ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้โลกได้เจริญทางด้านวิทยาศาสตร์แล้วก็ตามการที่มีแขนและมือเทียมนั้นก็สามารถช่วยคนที่พิการได้บ้างเท่านั้น ฉะนั้นแขนจึงมีความสำคัญอีกส่วนหนึ่งของร่างกาย เราจึงควรที่จะทะนุถนอมแขนของเราไว้ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด
ธรรมชาติได้สร้างแขนขึ้นมาโดยมีกล้ามเนื้อใหญ่ๆอยู่ 2 มัดที่ต้นแขนเพื่อทำหน้าที่ในการงอข้อศอก เหยียดข้องศอก ยก ดึง และผลัก ผู้ชายจะมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงกว่าผู้หญิง (ยกเว้นบุคคลบางจำพวก) หากแต่ผู้เป็นเจ้าของกล้ามนั้นได้ใช้กล้ามเนื้อเกินกำลังที่กำหนดมากเกินไปก็อาจจะทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการตึงเครียดได้


แขน เป็นส่วนที่นับตั้งแต่ปลายของหัวไหล่ลงไปจนถึงข้อมือ ซึ่งอาจรวมถึงมือและนิ้วมือด้วยก็ได้ ตลอดทั้งแขนนั้นยังได้แบ่งหน้าที่และสัดส่วนต่างๆออกเป็น รักแร้ ต้นแขน ข้อศอก ข้อมือ และนิ้วมือ ซึ่งสัดส่วนต่างๆเหล่านี้จะมีกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นต่างๆ ทำหน้าที่สัมพันธ์กันอย่างดีเลิศ หากมีส่วนหนึ่งส่วนใดของแขนไม่ยอมทำงานประสานกับส่วนอื่นๆ ก็จะทำให้แขนทำงานไม่สะดวกหรืออาจจะไม่ยอมทำงานเลยก็ได้ ดังเช่นคนเป็นอัมพาต


รักแร้ เป็นบริเวณที่มีเส้นเลือดและปมประสาทอยู่มากมาย การกดบริเวณนี้โดยมากมักจะกดนิ้วเข้าไปในบริเวณรักแร้ การกดจะกดได้โดยผู้กดจะต้องมีความชำนาญ รู้จุดที่จะกด เพราะบริเวณใต้รักแร้นั้นมีเส้นประสาท เส้นเลือด และเส้นเอ็น จะต้องศึกษาให้ละเอียดก่อนว่า จุดเส้นเอ็น เส้นประสาท เส้นเลือดนั้น แต่ละจุดแต่ละตำแหน่งนั้นอยู่ที่ไหนไม่ใช่ว่ากดลงไปแล้วจะถูกจุดที่ต้องการ เพราะจุดที่บริเวณรักแร้นี้จะมีจุดของเส้นที่พาดผ่านไปยังแขนตลอดจนถึงปลายนิ้ว การกดจะต้องกดด้วยความระมัดระวังอย่างมากเป็นพิเศษ หากกดแล้วผู้ถูกกดมีอาการเสียวแปลบลงไปที่แขน แสดงว่า กดถูกเส้นประสาท จะต้องหยุดกดทันที การเปิดประตูลมก็เช่นกัน ไม่ควรจะเปิดประตูลมในบริเวณที่อยู่ใต้รักแร้ ควรเปิดประตูลมที่อยู่เหนือรักแร้บริเวณด้านหน้าของต้นแขนช่วงที่ติดกับหัวไหล่ด้านหน้าจะเหมาะกว่า การกดควรกดด้วยสันมือ ไม่ควรใช้นิ้ว นอกจากผู้ที่ชำนาญเท่านั้น


ต้นแขน ด้านหน้าและด้านหลังของต้นแขนเป็นกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่ทำหน้าที่งอข้อศอกและเหยียดข้อศอก โดยเฉพาะด้านข้างของต้นแขนจะมีเส้นประสาททอดผ่านจากต้นแขนด้านข้างที่ตรงกลางบริเวณของหัวไหล่ติดกับต้นแขน และที่เหนือบริเวณข้อศอกด้านใน (จุดไฟชอร์ต) จุดที่กล่าวมานั้นทั้ง 2 จุด ห้ามนวดเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบและเส้นประสาทอาจพิการได้ หากจะนวดก็ไม่ควรกดลงที่จุดดังกล่าว ควรจะคลึงเบาๆ ไม่ควรคลึงด้วยความรุนแรง เพราะอาจจะทำให้เส้นประสาทนี้เสียไป กล้ามเนื้อเป็นอัมพาตกระดกข้อมือไม่ได้
ที่ปมกระดูกด้านนอกและด้านในของกระดูกต้นแขนเหนือข้อศอก เป็นที่เกาะของกล้ามเนื้อ กระดูกข้อมือและนิ้วมือมักจะฉีกขาดบ่อยในผู้ที่เล่นกีฬาจำพวกที่ต้องออกแรงหวดเหวี่ยงแขน หรือสะบัดข้อมืออย่างแรง เช่น เทนนิส แบดมินตัน หรือกอล์ฟ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบได้บ่อยๆ กับบุคคลที่ต้องออกแรงยกดึง แบกของหนักๆ โดยเฉพาะกรรมกร คนส่งของ หรือแม่บ้านที่ต้องตักน้ำ หิ้วของหนักเวลาออกนอกบ้านไปจ่ายตลาด มักจะพบว่ามีอาการปวดต้นแขนและปวดบริเวณแขนช่วงล่างใต้ข้อศอก ปวดข้อมือเวลาจะหยิบของหรือตักน้ำ ล้างหน้า หรืออาบน้ำถูตัวจะทำได้โดยไม่สะดวก
อาการต่างๆที่กล่าวมานั้นจะหายได้ด้วยการนวด ไม่ควรจะนำยาแก้ปวดมาใช้ เพราะยาแก้ปวดจะช่วยได้ในระยะเวลาของฤทธิ์ยาเท่านั้นการนวดควรจะให้ผู้ที่มีความรู้เรื่องเส้นทำการนวด หรือหากจะนวดตนเองก็จะนวดได้ โดยให้กดที่บริเวณต้นแขนด้านนอกเหนือรักแร้ ให้กดตั้งแต่บริเวณเหนือรักแร้ด้านหน้าลงมาเรื่อยๆ จนถึงปลายข้อมือด้านนิ้วก้อย โดยให้กดจุดแต่ละจุดห่างกันประมาณ 3 นิ้ว ให้นิ่งและนานประมาณ 10 วินาที กดแรงพอควร ไม่ควรกดหนักมากจนเกินไป เมื่อกดจุดแรกประมาณ 3-5 ครั้งแล้ว ให้กดจุดต่อไปที่บริเวณเหนือรักแร้ด้านใต้หัวไหล่ กดเรื่อยลงมาตลอดแขนจนถึงปลายข้อมือด้านหัวแม่มือ โดยกดจุดแต่ละจุดให้ห่างกันประมาณ 3 นิ้ว ให้นิ่งและนานประมาณ 10 วินาทีเช่นกัน กดนวดตลอดแนวประมาณ 3-5 ครั้งเมื่อกดจุดทั้ง 2 แห่งแล้ว ให้มากดอีกจุดหนึ่งที่บริเวณรอบๆหัวไหล่ โดยห่างจากการกดของจุดที่หนึ่งประมาณ 1 นิ้วมือ และกดเรื่อยๆ รอบหัวไหล่ จนจรดกับจุดที่ 2 ของด้านหลังเหนือรักแร้ แต่ทั้งนี้จะต้องงดการกดจุดตรงบริเวณกึ่งกลางของต้นแขนที่ติดกับหัวไหล่ เพราะบริเวณนี้จะมีน้ำเลี้ยงข้อหัวไหล่ หากกดลงไปจะทำให้อักเสบ บวมแดง ร้อนได้ จึงควรงดเว้นการกดที่บริเวณดังกล่าว

จุดสุดท้ายที่ควรกดคือ บริเวณที่เป็นบานพับของข้อศอกด้านหน้า โดยให้กดตั้งแต่บริเวณกึ่งกลางของบานพับลงมาที่ข้อแขน กดจุดแต่ละจุดให้ห่างกันประมาณ 3 นิ้ว ให้นิ่งและนานประมาณ 10 วินาที และกดซ้ำประมาณ 3-5 เที่ยว ให้ตลอดแนว เพื่อให้เส้นและกล้ามเนื้อต่างๆในบริเวณที่กดได้ยืดและเป็นการคลายความเครียดของกล้ามเนื้อต่างๆอีกด้วยหลังจากที่กดจุดต่างๆแล้ว ควรจะบีบนวดเบาๆหรือใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณที่กดด้วยจะช่วยให้อาการปวดแขนหายเร็วยิ่งขึ้น และช่วยทำให้เลือดลมแล่นดีอีกด้วย 


                                                                                                                                (อ่านต่อฉบับหน้า)
 

ข้อมูลสื่อ

95-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 95
มีนาคม 2530
นวดไทย
บุญเทียม ตันติ์เตชรัตน์