• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โคไตรมอกซาโซล

โคไตรมอกซาโซล

 

                      


โคไตรมอกซาโซลเป็นยาปฏิชีวนะที่ประกอบด้วยตัวยา ไตรเมโทพริม (TRIMETHOPRIM) และซัลฟาเมทอกซาโซล (SULFAMETHOXAZOLE) ทั้งคู่ต่างเป็นยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย แต่เมื่อมารวมเข้าด้วยกันต่างเสริมฤทธิ์กันจนสามารถทำลายเชื้อแบคทีเรียได้
โคไตรมอกซาโซลจึงเป็นตัวอย่างที่ดีของการนำยา 2 ชนิดมารวมเข้าในเม็ดเดียวกัน แต่ปัจจุบันมียาจำนวนมากที่นำมารวมเข้าในเม็ดเดียวกันแล้วไม่ได้เกิดผลดีอย่างโคไตรมอกซาโซล และยังทำให้ราคาแพงมากกว่าการแยกใช้แต่ละชนิดในคราวเดียวกัน

ตัวอย่าง เช่น นำยาพาราเซตามอล ซึ่งเป็นยาแก้ปวดมารวมกับยาไดอะซีแพม ซึ่งเป็นยากล่อมประสาท แล้วขายในราคาแพงกว่าราคายาพาราเซตามอล 1 เม็ด บวกกับยาไดอะซีแพม 1 เม็ด
ข้อดีเพียงอย่างเดียวของยาในตัวอย่างนี้คือ สะดวกในการกิน แต่ข้อเสียนอกเหนือจากที่ราคาแพงกว่าแล้วคือ หากเกิดแพ้ยาจะไม่ทราบว่า แพ้ยาตัวใด หรือกรณีที่มีอาการปวดซึ่งสามารถรักษาด้วยยาพาราเซตามอลเพียงอย่างเดียวก็ได้ผล คนไข้ที่ใช้ยาชนิดรวมเม็ด ก็จะได้รับยาไดอะซีแพมแถมเข้าไปด้วยโดยไม่จำเป็น

โคไตรมอกซาโซลถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2514 เป็นยาที่ใช้สะดวกและปลอดภัย ปัจจุบันแพทย์นิยมใช้ยาตัวนี้เพื่อรักษาโรคติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ โรคไข้รากสาดน้อย (ไทฟอยด์) โรคพาราไทฟอยด์ โรคท้องร่วงจากเชื้อชิเกลลา โรคติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นโรคที่พบบ่อยในสตรีวัยเจริญพันธุ์ สตรีมีครรภ์ ผู้ชายสูงอายุ และคนที่มีการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ เช่น เป็นนิ่ว

โรคติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ
กลุ่มแรก

การติดเชื้อปรากฏที่กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ คนไข้มีอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะกะปริดกะปรอย แสบร้อน เวลาถ่ายปัสสาวะอาจปัสสาวะขุ่น หรือมีเลือดปน ไม่มีไข้
การรักษา
ในผู้ใหญ่ให้กินยาโคไตรมอกซาโซล 2 เม็ด ทุก 12 ช.ม. ติดต่อกัน 3 วัน ถ้าอาการไม่หายไป ควรปรึกษาแพทย์ถ้าเป็นหญิงมีครรภ์ห้ามใช้ยานี้ ขอให้ใช้ยาแอมพิซิลลินแทน โดยกินขนาด 250 ม.ก. ครั้งละ 1 เม็ด ก่อนอาหาร ½ - 1 ชั่วโมง 3 เวลาและก่อนนอนนาน 3 วันติดต่อกัน ถ้าไม่หาย ต้องปรึกษาแพทย์

กลุ่มหลัง
การติดเชื้อปรากฏที่กรวยไต และ/หรือท่อไต คนไข้มีอาการปวดบั้นเอว มีไข้ หนาวสั่นเป็นพักๆ อาจปวดบิดในท้อง (ถ้าเป็นนิ่วร่วมด้วย) ปัสสาวะขุ่นหรือมีเลือดปน กรณีนี้ควรไปพบแพทย์ทุกราย


โรคไทฟอยด์และโรคพาราไทฟอยด์
เป็นโรคติดเชื้อในกระแสเลือดและอวัยวะหลายแห่ง มีอากรไข้เรื้อรัง อ่อนเพลีย ปวดหัว เบื่ออาหาร ซึมลงเนื่องจากอาการไข้เรื้อรัง เป็นลักษณะอาการของโรคหลายชนิด การวินิจฉัยและการรักษาจึงต้องอาศัยความรู้ความชำนาญมาก คนไข้ที่สงสัยว่าตนเองอาจเป็นโรคกลุ่มนี้จึงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ชัด


โรคท้องร่วงจากเชื้อชิเกลลา หรือโรคบิดไม่มีตัว

เป็นโรคที่ทำให้ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นมูกเลือด ปวดท้องรุนแรง และมักอาเจียนอาจมีไข้ แต่ละครั้งที่ถ่ายมีจำนวนอุจจาระน้อย แต่ถ่ายบ่อย วันหนึ่งอาจถ่าย 20-30 ครั้ง ในเด็กอาจชักและซึมได้
การรักษา
ผู้ใหญ่ให้กินโคไตรมอกซาโซลครั้งละ 2 เม็ด เด็กโตครั้งละ 1 เม็ด ทุก 1-2 ช.ม.ติดต่อกัน 5-7 วัน ส่วนเด็กและสตรีมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์

ผลข้างเคียง
1. ตัวยาไตรเมโทพริม มีฤทธิ์ขัดขวางเอนไซม์ชนิดหนึ่งในร่างกาย ซึ่งทำให้เกิดความพิการได้ในทารกเกิดใหม่และเด็กในครรภ์มารดา จึงห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์และเด็กอ่อน
2. ภาวะภูมิแพ้ทำให้มีผื่นที่ผิวหนัง
3. ในคนที่ไตผิดปกติ อาจเกิดพิษได้
4. คลื่นไส้ อาเจียน พบได้บ่อย และจะหายไปถ้าหยุดยา

ข้อห้ามใช้
- สตรีมีครรภ์
- เด็กเกิดใหม่ (อายุน้อยกว่า 1 เดือน)
- คนไข้โรคไตพิการ

ชื่อการค้า
มีมากมาย เช่น แบกทริม (BACTRIM) เซปทริน (SEPTRIN) แอกทิน (ACTIN) คอเคียว (KOKURE)

ราคา
ชนิดเม็ด - เม็ดละ 1.50-3 บาท แล้วแต่ยี่ห้อ
ชนิดน้ำเชื่อม – ขนาด 30 ม.ล. ขวดละ 7-10 บาท ขนาด 60 ม.ล. ขวดละ 12-18 บาท

 


 

ข้อมูลสื่อ

94-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 94
กุมภาพันธ์ 2530
108 ปัญหายา