• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตอนที่ 4 คอ ( ต่อ )

ตอนที่ 4 คอ ( ต่อ )


 

ความเครียดที่เกิดจากความวิตกกังวล อาจมาจากเศรษฐกิจหรือการงานก็ตาม ก็อาจจะเป็นสาเหตุอันจะทำให้เกิดอาการของกล้ามเนื้อคอเกิดอาการเกร็งและเครียด ก็จะทำให้เกิดอาการปวดคอได้
ถ้าปวดต้นคอร้าวลงแขน ทำให้มือชา แขนไม่มีแรง อันอาจจะเกิดจากแรงกระแทก แรงบิด ที่ทำให้หมอนกระดูกต้นคอทับเส้นประสาทหรือกระดูกงอก กระดูกเสื่อมถูกปลายประสาท อาการเหล่านี้ห้ามนวด หรือในกรณีที่ฉายรังสีเอกซเรย์แล้วพบว่ามีข้ออักเสบก็ทำให้เกิดอาการปวดคอได้เช่นเดียวกัน ก็ห้ามนวดหรือกด

อาการปวดเมื่อยคอ ไม่ว่าจะเกิดมาจากสาเหตุใดๆก็ตาม ปกติแล้วมักจะไม่ค่อยรุนแรงนัก ถ้าหากได้พักผ่อนเพียงพอ ส่วนมากมักเป็นเพียง 4-5 วันก็จะทุเลาลง อาการปวดเมื่อยคอมักจะพบว่า มีอาการปวดคอข้างใดข้างหนึ่ง หรือปวดต้นคอถึงหัวไหล่ บางคนอาจปวดถึงสะบักจะเหลียวหรือหันคอไม่ถนัด คอจะแข็ง บางครั้งก้มหรือเงยไม่ได้ จะหันหัวก็จะต้องหันไปทั้งตัว

การป้องกันการปวดคอนั้น
อาจกระทำได้ง่ายๆโดยตนเองไม่ต้องหาซื้ออุปกรณ์ใดๆ เพียงแต่บริหารบริเวณต้นคอให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณนั้นได้ออกกำลัง โดยให้นั่งตัวตรง เอามือซ้ายหรือขวาแตะไว้ที่หน้าผาก แล้วออกแรงดันไปข้างหลัง แล้วให้คอหรือหัวออกแรงต้านทานเอาไว้ โดยให้ออกแรงฝืนเอาไว้นานประมาณ 10 วินาทีแล้วหยุด ทำเช่นนั้นประมาณ 3-5 ครั้งต่อหนึ่งท่าบริหาร

ต่อไปใช้มือซ้ายดันที่ขมับหรือเหนือบริเวณกกหูไปทางขวามือ โดยให้หัวตอบโต้ปฏิกิริยาที่ถูกดัน โดยฝืนไว้ประมาณ 10 วินาทีแล้วหยุด แล้วเปลี่ยนมาทางด้านขวา โดยทำเช่นเดียวกันกับข้างซ้าย ทำสลับกันครั้งละ 3-5 ครั้ง ต่อหนึ่งท่าบริหาร การบริหารจะเหมาะสมที่สุดควรจะทำในตอนเช้าหลังตื่นนอน
อีกวิธีหนึ่งโดยการเอาสมุดหรือหนังสือเล่มหนาๆหนักพอประมาณวางไว้บนหัวแล้วปล่อยมือเดินเป็นทางตรงหรือเดินเป็นวงกลมก็ได้ การบริหารด้วยวิธีการดังกล่าวจะทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นตรงบริเวณต้นคอแข็งแรง

การนวดเริ่มด้วยให้ผู้ป่วยนั่งขัดสมาธิตามสบาย ผู้นวดนั่งคุกเข่าอยู่ด้านหลังของผู้ถูกนวด แล้วให้นวดหรือกดจากแนวต้นคอลงมาจนถึงบ่า โดยจุดนวดให้นวดหรือกดที่บริเวณด้านข้างของกระดูกต้นคอใต้ตีนผมลงไปเรื่อยๆ จนถึงบริเวณบ่า โดยกดที่จุดให้นิ่งและนานประมาณ 10 วินาที แล้วเลื่อนไปเรื่อยๆ ประมาณ 4-5 จุด จากนั้นให้เลื่อนไปกดที่จุด 2 อันเป็นจุดที่ห่างออกมาอีกเล็กน้อยประมาณ 2 นิ้วมือ หรือห่างจากกระดูกต้นคอประมาณ 3 นิ้วมือ แล้วให้กดเหมือนกับการกดที่จุดแรก แต่ให้เลยลงไปที่หัวไหล่ (ด้านหลัง) ให้ทำสลับกันประมาณ 3-5 เที่ยว เสร็จแล้วก็ให้กดลงตรงกลางของบ่า แล้วให้ผู้ป่วยค่อยๆหันหน้าช้าๆซ้าย-ขวา สลับกัน หากอาการยังไม่ดีขึ้นก็ให้ทำซ้ำอีก (ดูภาพประกอบในหมอชาวบ้าน ฉบับ 92)

หากผู้ป่วยจะรักษาด้วยตนเองให้ปฏิบัติดังนี้คือ ใช้หัวแม่มือข้างใดข้างหนึ่งกดลงบริเวณต้นคอด้านที่ปวด แล้วกดไว้นานประมาณ 10 วินาที จึงคลายมือออก แล้วเลื่อนลงมาเรื่อยๆจนถึงหัวไหล่ หลังจากที่กดและนวดบริเวณต้นคอแล้ว ให้ทำการนวดหรือบีบบริเวณต้นคอถึงหัวไหล่ แล้วให้ใช้ผ้าชุบน้ำร้อนพอประมาณประคบบริเวณที่บีบหรือนวดเป็นการช่วยคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อบริเวณนั้น

หากเกิดอาการเครียด ตึง หรือการเกร็งของกล้ามเนื้อคอก็ใช้วิธีการช่วยตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยใคร โดยให้นั่งบนเก้าอี้ที่มีพนักพิง แล้วให้ประสานมือกันไว้ที่ท้ายทอยโดยให้หัวแม่มือชี้ลงทั้ง 2 ข้าง แล้วให้กดลงท้ายทอย เริ่มตั้งแต่ตีนผมลงมาที่บ่า หรือจะกดในบริเวณข้างเคียงด้วยก็ได้การนวดด้วยตนเองวิธีนี้จะช่วยคลายความเครียดและการเกร็งของกล้ามเนื้อคอได้เป็นอย่างดี ไม่มีอันตรายใดๆ จะกดหนักเบาอย่างไรตามสะดวก 


                                                                                                                                (อ่านต่อฉบับหน้า)
 

ข้อมูลสื่อ

93-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 93
มกราคม 2530
นวดไทย
บุญเทียม ตันติ์เตชรัตน์