• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ทำอย่างไรให้เด็กแข็งแรง

ทำอย่างไรให้เด็กแข็งแรง


เด็กนักเรียนทุกคนมีชั่วโมงพลศึกษาซึ่งถือว่าเป็นการสอนให้เด็กรู้จักออกกำลังกาย เราเคยสงสัยไหมครับว่า กิจกรรมอย่างไหนช่วยให้เด็กฟิตที่สุดระหว่างการเล่นกีฬา เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล ยิมนาสติก หรือการวิ่ง
คำตอบที่ออกมาจากการศึกษาในมลรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา กิจกรรมที่ทำให้เด็กมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงได้ดีกว่าเพื่อนคือ การวิ่ง

ศาสตราจารย์บรู๊ซ ดับบลิว. ทัคแมน แห่งมหาวิทยาลัยฟลอริดาสเตทได้แบ่งนักเรียนในชั้น ป.4 –ป.6 จำนวน 154 คน ออกเป็นสองกลุ่ม โดยการสุ่มตัวอย่าง กลุ่มหนึ่งให้มีกิจกรรมพลศึกษาตามปกติ อันได้แก่ เกม และกีฬา เช่น วอลเลย์บอล, บาสเกตบอล บวกกับการวิ่งบ้างเล็กน้อย อีกกลุ่มให้วิ่งสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที โดยใช้เวลาจากชั่วโมงพลศึกษานั่นเอง
หลังจาก 12 สัปดาห์ เขาก็นำเด็กนักเรียน 2 กลุ่มนี้มาทำการทดสอบความสมบูรณ์ของร่างกายโดยวิธีต่างๆ

ผลแตกต่างอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ความสามารถในทางแอโรบิค (aerobic power) ซึ่งในกรณีนี้ได้แก่ การวิ่ง 800 เมตร เด็กในกลุ่มที่ได้รับการฝึกวิ่งทำเวลาได้ดีกว่ากลุ่มปกติ 18 วินาทีโดยเฉลี่ย
นี่ก็อาจมีคนค้านว่า เด็กที่ได้ฝึกวิ่งก็ย่อมวิ่งเก่งกว่าเป็นธรรมดา

ถ้างั้นลองมาดูผลการตรวจสอบอื่นๆ
ชีพจรของกลุ่มวิ่ง ช้ากว่าอีกกลุ่มอย่างมีความสำคัญทางสถิติ (4 ตุบ ต่อนาที)
ชีพจรของคนเราเป็นเครื่องสะท้อนบอกความฟิตของร่างกาย โดยเฉพาะความสามารถทางแอโรบิคได้โดยทางอ้อม ผู้ที่มีร่างกายฟิตดีจะมีอัตราเต้นของหัวใจ (คือชีพจร) ในเกณฑ์ต่ำ
ดังนั้น การที่ชีพจรของเด็กกลุ่มที่ได้รับการฝึกวิ่ง มีระดับต่ำกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง จึงแสดงว่าเด็กกลุ่มแรกนี้มีความสามารถทางแอโรบิคดีกว่า

ในเรื่องของโรคอ้วนซึ่งกำลังเป็นที่หวั่นวิตกกันและมีรากฐานมาจากความอ้วนสมัยเด็ก การศึกษานี้ก็แสดงว่า เด็กที่วิ่งมีปริมาณไขมันน้อยกว่ากลุ่มที่เล่นพลศึกษาธรรมดา
อย่างไรก็ดี ความแตกต่างในเรื่องของไขมันนี้พบเฉพาะในกลุ่มเด็กชาย ส่วนเด็กผู้หญิงไม่พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างสำคัญ
โดยสรุป การศึกษานี้แสดงว่า การวิ่งช่วยให้เด็กมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงขึ้นอย่างน้อยในแง่ของหัวใจและปอด (ความสามารถทางแอโรบิค) นอกจากนี้ยังช่วยให้เด็กมีปริมาณไขมันลดลง (อย่างน้อยในเด็กผู้ชาย)

ปัญหาอย่างหนึ่งของการชักจูงให้เด็กสนใจการวิ่งคือ กีฬาวิ่งขาดความสนุกสนาน ตื่นเต้น เช่น กีฬาฟุตบอล หรืออื่นๆ
แต่ก็มีผู้ให้ข้อคิดว่า การเรียนวิชาบางอย่างก็น่าเบื่อเหมือนกัน เช่น การคำนวณ แต่ในเมื่อเป็นสิ่งจำเป็นก็กลายเป็นวิชาบังคับสำหรับเด็กทุกคนแนวคิดนี้จะนำมาใช้กับการวิ่งได้หรือไม่ ก็ฝากไปเป็นการบ้าน

ในความเห็นของผู้เขียนเอง ถ้าหากจะปรับปรุงการวิ่งให้มีความสนุกสนานด้วยก็น่าจะอยู่ในวิสัยที่ทำได้

ข้อมูลสื่อ

90-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 90
ตุลาคม 2529
วิ่งทันโลก
นพ.กฤษฎา บานชื่น