• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อังกฤษห้ามใช้แอสไพรินในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี

อังกฤษห้ามใช้แอสไพรินในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี

 


จากการศึกษาพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีที่มีอาการของโรคเรย์ซินโดรม มีความสัมพันธ์กับการใช้ยาแอสไพรินในเด็ก

*********************************************************************************************

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2529 นี้ คณะกรรมการติดตามความปลอดภัยเกี่ยวกับการใช้ยาแห่งอังกฤษ ได้ส่งจดหมายถึงเภสัชกร แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขต่างๆ ชี้แจงเกี่ยวกับการใช้ยาแอสไพรินว่า

จากการศึกษาเบื้องต้นบ่งชี้ว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับระบาดวิทยาของเรย์ซินโดรมในประเทศอังกฤษ แตกต่างจากสหรัฐอเมริกา นั่นคือพบว่าอายุของเด็กที่มีโอกาสเป็นโรคนี้ต่ำกว่าในสหรัฐ โดยที่ร้อยละ 93 ของเด็กที่มีอาการ มีอายุต่ำกว่า 12 ปี (ส่วนในสหรัฐพบในเด็กอายุต่ำกว่า 19 ปี)
การศึกษานี้ดำเนินการโดยสมาคมกุมารแพทย์แห่งอังกฤษและศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ โดยทำการศึกษาย้อนหลังในผู้ป่วยเรย์ซินโดรม 229 ราย ในช่วง 4 ปี ตั้งแต่ สิงหาคม 2524 ถึง กรกฎาคม 2528 สรุปได้ว่า มีแนวโน้มว่ามีความสัมพันธ์กันระหว่างเรย์ซินโดรมและการใช้ยาแอสไพรินในเด็ก ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาในสหรัฐ

ดังนั้นคณะกรรมการติดตามความปลอดภัยเกี่ยวกับการใช้ยา มีความเห็นว่า จากหลักฐานที่มีอยู่พอสรุปได้ว่า แม้สาเหตุของเรย์ซินโดรมยังไม่ชัดเจนเพียงพอ แต่แอสไพรินอาจจะเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดกลุ่มอาการนี้ในเด็กบางราย และเนื่องจากมารดาใช้พาราเซตามอลแทนแอสไพรินได้ผลดีอยู่แล้ว จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้แอสไพรินในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เว้นแต่มีความจำเป็นจริงๆ

ปัจจุบันบริษัทยาในอังกฤษได้ถอนยาแอสไพรินสำหรับเด็กจากท้องตลาดโดยสมัครใจ และได้ร่วมมือกับกรมสาธารณสุขและสวัสดิการสังคม ดำเนินการรณรงค์เกี่ยวกับการใช้แอสไพริน ดังต่อไปนี้
1. ยกเลิกการขายแอสไพรินสำหรับเด็ก

2. โฆษณาทางสื่อมวลชน เพื่อห้ามพ่อแม่มิให้ใช้ยาแอสไพรินในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี

3. ในต้นปี 2530 จะทำการเปลี่ยนแปลงฉลากยาแอสไพรินสำหรับผู้ใหญ่ โดยจะเพิ่มคำเตือนว่า ห้ามใช้ในเด็ก

4. จัดทำโปสเตอร์เผยแพร่ความรู้แก่แพทย์ เภสัชกร และบุคลากรสาธารณสุขต่างๆ
แม้ว่าเรย์ซินโดรมจะเป็นกลุ่มอาการที่พบไม่บ่อยนัก และโอกาสที่แอสไพรินจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการนี้มากน้อยเพียงใด จะยังไม่ชัดเจนนักก็ตาม แต่รัฐบาลอังกฤษก็ตระหนักว่าจะต้องเร่งศึกษาติดตามและมีมาตรการป้องกันความปลอดภัยแก่ประชากรเด็กของตนอย่างทันท่วงที

บทบาทของรัฐบาลประเทศต่างๆต่อเรื่องนี้ เช่น
สหรัฐอเมริกา องค์การอาหารและยามีคำเตือนบนฉลากยาแอสไพรินหรือยาที่มีส่วนผสมของแอสไพรินทุกชนิด โดยห้ามใช้ในเด็กหรือวัยรุ่นที่เป็นอีสุกอีใสหรือไข้หวัดใหญ่

มาเลเซีย กระทรวงสาธารณสุข ได้ถอนตำรับยาแอสไพรินสำหรับเด็ก

สิงคโปร์ ให้ถอนตำรับยาแอสไพรินสำหรับเด็ก

บรูไน มีการเรียกร้องให้ร้านขายยาเลิกขายแอสไพรินสำหรับเด็ก

เกาหลีใต้ ให้มีคำเตือนเป็นตัวอักษรสีแดงบนภาชนะบรรจุยาว่า ยานี้มีความสัมพันธ์กับเรย์ซินโดรม

แคนาดา ผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งข้อสังเกตความสัมพันธ์ระหว่างเรย์ซินโดรมกับแสไพริน แต่ทว่าบริษัทผู้ผลิตได้พิมพ์คำเตือนบนฉลากยาโดยสมัครใจ ว่าให้พ่อแม่ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้ในเด็ก

สำหรับประเทศไทย ความเสี่ยงต่อเรย์ซินโดรมมีมากน้อยแค่ไหน ในช่วงอายุเท่าไร และจะมีมาตรการป้องกันอย่างไรบ้าง ใครช่วยตอบที


(เรียบเรียงจาก Reye’s syndrome age of onset in UK appears lower than in U.S., FDC Reports, 16 มิถุนายน 2529 หน้า 6 และ HAI News ฉบับที่ 29, มิถุนายน 2529 หน้า 6)
รศ.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์

 

ข้อมูลสื่อ

89-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 89
กันยายน 2529
รศ.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์